Skip to main content
sharethis

ชีวิตผู้ลี้ภัยรัฐกะเหรี่ยง-กะเรนนี 10 เดือนหลังรัฐประหาร ที่ส่วนใหญ่ยังคงต้องหลบซ่อนตามป่าเขา ขณะที่ความกังวลต่อไฟสงครามพื้นที่ชายแดนเพิ่มสูงขึ้น พร้อมถกกับคนวิชาการถึงบทบาททางการทูตต่อมาตรการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเพื่อความมั่นคงในประเทศ และยกระดับทางการทูตกดดัน ‘มินอ่องหล่าย’

  • จำนวนผู้ลี้ภัย/ผู้พลัดถิ่นภายใน ยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากการทำสงครามระหว่างทหารพม่าและกองกำลังชาติพันธุ์ ตลอด 10 เดือนหลังรัฐประหาร
  • สถานการณ์ผู้ลี้ภัยรัฐกะเหรี่ยง-กะเรนนี ยังคงต้องลี้ภัยตามป่าเขา เนื่องจากหวั่นเกรงอันตรายจากการปะทะในพื้นที่กองกำลังชาติพันธุ์ ที่จะกลับมาปะทุหลังฤดูฝนผ่านพ้น
  • ภาคประชาชนชี้ว่า ความขาดแคลนปัจจัย 4 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะข้าวสาร อาหาร ยา และเครื่องนุ่งห่ม 
  • ช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการจัดการผู้ลี้ภัยของรัฐไทยในสมัยประยุทธ์ สะท้อนความวิตกของรัฐบาล กลัวผู้ลี้ภัยตกค้างเหมือนค่ายผู้ลี้ภัย 9 ค่าย ที่อยู่มานานกว่า 30 ปี ทำให้มองข้ามหลักมนุษยธรรม เร่งผลักผู้ลี้ภัยกลับ 
  • นักวิชาการเสนอใช้การทูตกำหนดเขต Humanitarian Corridor ชายแดนทั้งไทย-พม่า กำหนดเขต No-Fly Zone กันพม่าทิ้งระเบิด ละเมิดอธิปไตยของไทย  
  • เสนอใช้บทบาททางการทูตหนุนมาตรการจัดการผู้ลี้ภัย พร้อมชวนรัฐไทยปรับเปลี่ยนแนวคิดการจัดผู้ลี้ภัยเท่ากับความมั่นคงของประเทศไทย หากสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านไทยไม่สงบ ผลกระทบจะตกอยู่กับไทย และยกระดับทางการทูตกดดันมินอ่องหล่าย

หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร การปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง และสงครามในพื้นที่ชายแดนระหว่างฝ่ายความมั่นคงเมียนมาและกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายพื้นที่ส่งให้จำนวนผู้ลี้ภัย/ผู้พลัดถิ่นภายในขยายตัวขึ้น 

รายงานสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม หมายเลข 13 จัดทำโดย สำนักงานองค์การสหประชาชาติเพื่อการประสานงานกิจการมนุษยธรรม หรือ OCHA คาดการณ์ว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ ก.พ. 64 จนถึง 6 ธ.ค. 64 จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในทั่วประเทศเมียนมา เพิ่มขึ้นเป็น 284,700 คน แบ่งเป็นฝากตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 173,000 คน ตะวันตกเฉียงเหนือ 93,000 คน และรัฐฉาน และกะฉิ่น 18,000 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้หญิง เด็ก และคนชรา รวมถึงเยาวชน และคนรุ่นใหม่ ที่หนีการประหัตประหารจากกองทัพพม่า

หากการสู้รบในพื้นที่กองกำลังชาติพันธุ์ยังคงดำเนินต่อไป มีแนวโน้มมากขึ้นว่าจะมีผู้ลี้ภัยเข้ามาที่ประเทศไทย เพื่อหนีสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศต้นทาง ยกตัวอย่างกรณีเมื่อ มี.ค. - เม.ย. 2564 มีชาวกะเหรี่ยงนับพันต้องอพยพมาที่ชายแดนไทย ริมแม่น้ำสาละวิน หลังถูกเครื่องบินรบกองทัพพม่าทิ้งระเบิดในเขตมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง และในฤดูแล้งนี้ มีความกังวลมากขึ้นว่าการปะทะตามแนวชายแดนจะกลับมาปะทุอีกครั้ง

ดังนั้น การทำรัฐประหารพม่ากำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยหันมาทบทวนนโยบายผู้ลี้ภัยอีกครั้งในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังจะได้รับผลกระทบเต็มๆ แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น อยากจะชวนมาอัปเดตสถานการณ์ผู้ลี้ภัย/ผู้พลัดถิ่นภายในในรัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะเรนนี ซึ่งมีพรมแดนติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน 

ผู้ลี้ภัย หมายถึงผู้ที่อพยพถิ่นฐานเดิมและข้ามฝั่งมาดินแดนต่างประเทศ เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านความไม่สงบ หนีการประหัตประหารที่เป็นอันตรายต่อชีวิต 

ผู้พลัดถิ่นภายใน หมายถึงผู้ที่ละทิ้งที่อยู่ถิ่นฐานเดิมด้วยเหตุจำเป็น เช่น สถานการณ์การสู้รบ สงครามกลางเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ทำให้ต้องหนีออกมาจากที่เดิม แต่ยังคงอยู่ภายในประเทศมาตุภูมิของตนเอง ไม่ได้ข้ามฝั่งชายแดน หรือไปต่างประเทศ 

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยเขตรัฐกะเหรี่ยง เขตมือตรอ

ในเดือน มี.ค. 2564 เป็นต้นมา การสู้รบระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองทัพพม่ากลับมาสู้รบกันอีกครั้ง แม้ว่าความขัดแย้งระหว่าง KNU และกองทัพพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ชนวนเหตุความขัดแย้งระลอกใหม่นี้มาจากความไม่พอใจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 กองทัพพม่ามีการตั้งค่ายทหารในจังหวัดมือตรอ เขตอิทธิพลของกองกำลัง KNU กองพล 5 และสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสบียงเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว แม้ว่าปี พ.ศ. 2563 ทาง KNU ยื่นคำขาดให้กองทัพพม่าถอนฐานทัพทั้งหมดออกไป แต่ดูเหมือนกองทัพพม่าจะไม่หยี่ระต่อเรื่องนี้เท่าใดนัก ขณะที่อีกปมปัญหาหนึ่ง อาจเป็นเรื่องของจุดยืนทางการเมืองของ KNU ที่ออกมาต่อต้านกองทัพพม่าอย่างแข็งขันตั้งแต่ช่วงแรกของเหตุการณ์รัฐประหารเมียนมา

ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2564 มีรายงานกองทัพพม่าใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่เป้าหมายพลเรือนใน จ.มือตรอ หลายครั้ง จนส่งผลให้เกิดการพลัดถิ่นเป็นวงกว้าง ชาวบ้านหลายคนลี้ภัยในเขตป่า หวังให้ธรรมชาติช่วยเร้นกายจากการโจมตีของกองทัพพม่าขณะที่ราษฎรพม่าอีกนับพันลี้ภัยมายังริมลำน้ำสาละวินฝั่งไทย จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ทางการไทย ‘ผลักดันกลับ’ ในไม่กี่วัน

เกิดอะไรขึ้นในมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง เดือน มี.ค. - มิ.ย. 2564

คณะทำงานภาคประชาสังคมติดตามการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรเอ็นจีโอหลายหน่วยงาน เคยยื่นรายงานต่อคณะกรรมาธิการกรรมาธิการชายแดน ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ รัฐสภา และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) เมื่อ 8 ก.ค. 64 สรุปสถานการณ์ฝั่งมือตรอ ดังนี้ 

 27 มี.ค. 64 กองทัพพม่าเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในเขต จ.มือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ที่บ้านเดปูนุ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกองบัญชาการ KNU กองพล 5 และอีกอย่างน้อย 13 หมู่บ้าน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 16 ราย และบาดเจ็บอย่างต่ำ 20 ราย และมีราษฎรเมียนมา ราว 7,000 คนลี้ภัยความไม่สงบ ข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทย ที่ ต.เสาหิน ต.แม่คง ต.แม่ยวม ซึ่งอยู่ อ.แม่สะเรียง และฝั่งบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 

29 มี.ค.-31 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ทางการไทยผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง แม้ว่าสถานการณ์ในจังหวัดมือตรอยังไม่สงบ อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยบางส่วนได้รับการยกเว้นไม่ได้ถูกผลักดันกลับไป จำนวน 500 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก สตรี และคนชรา แต่ทั้งหมดจะถูกผลักดันกลับภายใน 1 สัปดาห์ต่อมา

ขณะที่ผู้ลี้ภัยที่ถูกผลักดันกลับไปพื้นที่ จ.มือตรอ ยังไม่สามารถกลับไปยังเขตชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ได้ เพราะหวั่นเกรงอันตรายจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่า ทำให้คนส่วนใหญ่ลี้ภัยในเขตป่าเขา และริมแม่น้ำสาละวิน ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง 

6 เม.ย. - 15 เม.ย. 2564 ยังมีรายงานการโจมตีในพื้นที่เขตมือตรออย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อกลางเดือน เม.ย. KPSN ประเมินว่า มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายใน เพิ่มขึ้นสูงถึง 7,600 คน   

15 เม.ย. 2564 มีชาวบ้านกะเหรี่ยงลี้ภัยมาฝั่งไทยตรงข้ามพื้นที่ราท่า รัฐกะเหรี่ยง และตรงข้ามบ้านแม่นึท่า รวมทั้งหมด 2,633 คน ก่อนที่ในวันที่ 16 เม.ย. 64 ทางการไทยได้เริ่มปฏิบัติการเจรจาทำความเข้าใจให้กลับบ้าน โดยอ้างว่าไม่มีการโจมตีทางอากาศในเมืองมือตรอแล้ว การกลับบ้านจึงถือว่าปลอดภัย ทำให้ผู้ลี้ภัยเกือบ 2,000 คน จำต้องข้ามสาละวินกลับไปยังบ้านแม่หนึท่า ริมแม่น้ำสาละวิน ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง เหลือเพียงเด็กและคนชราเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในฝั่งไทยต่อ

27 เม.ย. 2564 กองกำลัง KNLA กองพล 5 โจมตีฐานทหารพม่า ‘ซอแลท่า’ ตั้งอยู่ริมลำน้ำสาละวิน ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่กองทัพพม่าตอบโต้ KNLA ด้วยการโจมตีทางอากาศที่เป้าหมายพลเรือนในเมืองบูโท และหมู่บ้านในเขตดาเกว่ ตั้งแต่ 27-29 เม.ย. 2564 นอกจากนี้ กองทัพพม่ามีการใช้โดรนสอดแนม และกระสุนปืนครกยิงเข้าใส่หมู่บ้านหลายแห่งในเขตดาเกว่ ส่งผลให้ราษฎรกะเหรี่ยง ราว 3,112 คน ต้องลี้ภัยมายังชายแดนฝั่งรัฐไทยอีกครั้ง 

ฐานซอแลท่าของกองทัพพม่าก่อนถูกโจมตี ถ่ายจากบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

อย่างไรก็ตาม 28 เม.ย. 64 ทางการไทยผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ แต่ 29 เม.ย. 64 ประชาชนกลับเข้ามาในฝั่งไทยอีกครั้ง เนื่องจากมีการโจมตีทางอากาศและการภาคพื้นดิน และภายใน 1 สัปดาห์นับแต่วันแรกที่เข้ามา ผู้ลี้ภัยทยอยถูก ‘ผลักดัน’ กลับวันละ 1-2 จุดทุกวันจนหมด

หลัง 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 64 ยังคงมีรายงานการโจมตีภาคพื้นดินและอากาศใน จ.มือตรอ ทำให้ชาวบ้านยังคงลี้ภัยในป่า ชาวบ้านเผยความรู้สึกด้วยว่า พวกเขากลัวโดรนสอดแนมจนไม่กล้ากลับเข้าไปอาศัยที่บ้านตามเดิม และไม่กล้าที่จุดไฟ หรือก่อแสงสว่างในช่วงกลางคืน เพราะกลัวถูกโจมตี

ตลอดเดือน พ.ค. 64 รายงานจากคณะทำงานภาคประชาสังคมติดตามการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา เผยว่า ใน จ.มือตรอ ยังคงมีการสู้รบระหว่างกองกำลัง 2 ฝ่ายอยู่ จำนวน 193 ครั้ง และมีรายงานกองทัพพม่าใช้กระสุนปืนใหญ่ยิงเข้าใส่บ้านเรือนประชาชน จำนวน 98 ครั้ง 

ผลจากการสู้รบ ทำให้มีชาวกะเหรี่ยง ประมาณ 300 คน ลี้ภัยมาฝั่งไทย ที่จำนวนน้อยลงเนื่องจากผู้ลี้ภัยไม่ค่อยกล้าลี้ภัยฝั่งไทยแล้ว เพราะกลัวการถูกผลักดันกลับ และคาดว่ามีประชาชนออกไปหลบอยู่ในป่าเกือบ 7,000 คน โดยส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน เพื่อที่ถ้ามีเหตุการณ์โจมตีทางอากาศอีก จะได้ลี้ภัยข้ามมาฝั่งประเทศไทย

‘ไปไม่ได้ กลับก็ไม่ได้’ ชีวิตผู้ลี้ภัยยังคงต้องเร้นกาย

เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพแห่งชาติชาวกะเหรี่ยง (KPSN) ซึ่งเป็นองค์กรชาวกะเหรี่ยงที่ทำงานด้านมนุษยธรรม เผยแพร่รายงานเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่านับตั้งแต่เดือน มิ.ย. - พ.ย. 2564 กองทัพพม่ายังคงทิ้งระเบิดทางอากาศภายใน จ.มือตรอ เป็นจำนวนสูงถึง 770 ครั้ง เพื่อตอบโต้การจรยุทธตัดการส่งเสบียงไปค่ายทหารพม่าในพื้นที่มือตรอของ KNLA รวมถึงมีรายงานทหารพม่าทำการปล้นทรัพย์สินในบ้านเรือนและจับกุมและทำร้ายชาวบ้าน

จากการประเมินของ KPSN และ OCHA ระบุว่าการทำสงครามในเขตพื้นที่กำลังชาติพันธุ์ จ.มือตรอ ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในชาวกะเหรี่ยงระหว่างเดือน ก.พ. - 6 ธ.ค. 2564 ประมาณ 50,000-82,000 คน และปัจจุบัน แม้สถานการณ์ความไม่สงบก่อนหน้านี้จะดีขึ้น แต่ชาวบ้านยังคงลี้ภัยในเขตป่ารกชัฏฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย บางส่วนลี้ภัยอยู่ริมสาละวินฝั่งพม่า เผื่อกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย หรือการทิ้งระเบิดบริเวณพื้นที่ใกล้แม่น้ำ ก็สามารถหนีมาฝั่งไทยได้ทันการณ์

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นภาพผลกระทบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้สื่อข่าวได้คุยกับ ‘หลวง’ สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการ (ผอ.) ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง จ.มือตรอ และซูซานล่ะล่ะโซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการผู้หญิง เด็ก และเยาวชน แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เพื่อให้เล่าถึงสถานการณ์ล่าสุดของผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยงปัจจุบัน

หลวง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการโจมตีทางอากาศมาโดยตลอดตั้งแต่ มี.ค. - ก.ค. 2564 แต่ในเดือน ก.ค.เป็นต้นมา สถานการณ์การสู้รบใน จ.มือตรอ เบาบางลง เครื่องบินสำรวจก็ไม่ได้บินมาบ่อยเหมือนช่วงเดือน มี.ค. - มิ.ย. ทำให้หลายคนกล้ากลับมาอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน หรือ IDP Camp กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกหลายคนยังไม่กลับเขตชุมชนและเลือกลี้ภัยในเขตป่าเขา หรือตามตะเข็บชายแดนต่อ เนื่องจากยังคงหวั่นเกรงสถานการณ์ความไม่สงบ รวมถึงชาวบ้านบางคนที่อาศัยในหมู่บ้านใกล้ค่ายทหารพม่า ยังไม่กล้ากลับบ้าน

‘หลวง’ สันติพงษ์ มูลฟอง ผอ.ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน

“ยิ่งตอนนี้ชาวบ้านมีความวิตกกังวลมากขึ้น เพราะว่าโดยสถานการณ์ปกติทั่วไปอยู่แล้ว ช่วงฤดูแล้งหลังฝนหยุด ก็มักจะเกิดเหตุการณ์สู้รบกันปะทุขึ้นมา มาปีนี้คิดว่าน่าจะกังวลมากกว่าปีก่อนๆ เพราะว่าเหตุการณ์เดิมมันยังอยู่ในความทรงจำ แล้วก็ความรุนแรงข้างในมันก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง” ผอ. ศูนย์พัฒนาเครือข่ายฯ กล่าว 

ซูซานล่ะล่ะโซ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ผลจากสงครามภายในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัยหญิง หลายคนรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกสิ้นหวัง และรู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พอทิ้งไว้นานก็กลายเป็นบาดแผลในจิตใจ นอกจากนี้ เธอกล่าวด้วยว่า ผู้ลี้ภัยในป่ามักมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่รู้ว่าจะถูกทหารพม่าโจมตีเมื่อไร

“เรื่องน่าเศร้าที่สุด คือแม้ว่าพวกเขาพยายามซ่อนตัวในป่า ทหารของ SAC (ผู้สื่อข่าว - กองทัพพม่า) ก็ยังพยายามค้นหาและฆ่าพวกเขา” ซูซานล่ะล่ะโซ กล่าวเพิ่ม

ข้าวสาร-อาหารที่ต้องพึ่งพิงจากภายนอก 

นอกจากความรู้สึกที่ได้รับผลกระทบจากไฟสงคราม ทั้ง ‘หลวง’ สันติพงษ์ มูลฟอง และ รมต. จาก NUG กล่าวตรงกันว่า ผู้ลี้ภัยในรัฐกะเหรี่ยง ยังคงขาดแคลนปัจจัย 4 โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เนื่องจากการโจมตีของพม่ากินเวลายาวนานหลายเดือนในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูทำนาของชาวบ้าน ทำให้ชาวนาในปีนี้ไม่สามารถทำนาปลูกข้าวได้ ไม่มีข้าวทานประทังชีวิต 

‘บางวัน ผู้ลี้ภัยได้ทานเพียงแค่ซุปผักเท่านั้นเอง’ ซูซานล่ะล่ะโซ เล่าให้ฟัง  

‘หลวง’ สันติพงษ์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ก่อนช่วงโควิด-19 ผู้พลัดถิ่นภายในต้องพึ่งพิงข้าวสารจากฝั่งไทยเป็นหลัก เป็นจำนวนประมาณ 80-90% แต่หลังมีสงครามในพื้นที่ ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านต้องพึ่งพิงข้าวและของบริจาคจากฝั่งไทยมากขึ้น

“ปัจจัยการดำรงชีพ ส่วนใหญ่คือพึ่งจากฝั่งไทย โดยนำเข้าจากผ่านจุดผ่อนปรน 2-3 จุด ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งข้าวสาร ซึ่งเป็นอาหารหลักก็มาจากฝั่งนี้ ทีนี้เมื่อปีนี้เขาไม่สามารถทำการผลิตได้อีก ก็แทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องนำเข้าจากประเทศไทย” 

“ทีนี้นำเข้าจากประเทศไทย ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติมันก็คือการค้าขายได้ เขาก็สามารถหาของป่า หาน้ำผึ้ง หาอะไรที่เอาไปขายแล้วมาซื้อข้าวได้อยู่ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ก็ไม่สามารถที่จะไปรับจ้าง ไปหาของป่าได้ ก็ต้องอาศัยของที่บริจาคช่วยเหลือเป็นหลัก” หลวง กล่าว พร้อมระบุว่า หลังจาก ก.ค. 64 ทางการไทยมีนโยบายเปิดจุดผ่อนปรนที่ชายแดนฝั่งแม่ฮ่องสอน บ้านแม่สามแลบ ก็ทำให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อาศัยฝั่งรัฐกะเหรี่ยงได้สะดวกขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นช่องทางไม่ทางการ เนื่องจากมีความรวดเร็วกว่า

ภาพผู้ลี้ภัยรัฐกะเหรี่ยง ในพื้นที่ จ.มือตรอ ประเทศพม่า ถ่ายเมื่อ 30 เม.ย. 64 โดย สำนักข่าวชายขอบ

รมต.จาก NUG ระบุว่า เรื่องเร่งด่วนนอกจากอาหารแล้ว ช่วงที่ผ่านมา สภาพอากาศในเขตมือตรอ หนาวมากขึ้น แต่ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มีผ้าห่มและเครื่องนุ่งห่มป้องกันความหนาวไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้วิธีก่อไฟเพื่อให้ตัวเองอบอุ่น 

สันติพงษ์ กล่าวว่า ผู้พลัดถิ่นภายในต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะโรคมาเลเลียที่มียุงเป็นพาหะ โรคท้องร่วง และท้องเสีย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้ชีวิตในป่าที่ไม่มีสุขอนามัยที่ดี และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคก็ไม่สะอาดเท่าที่ควร ซึ่งตอนนี้ทางมูลนิธิฯ ก็พยายามบริจาคเครื่องกรองน้ำเข้าไปติดตั้งให้ผู้ลี้ภัยตามจุดต่างๆ ในรัฐกะเหรี่ยง 

แต่ถ้ากรณีที่ประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บสาหัส ก็ต้องส่งมารักษาตัวในฝั่งไทย ซึ่งขั้นตอนการส่งตัวไม่ได้มีระบบระเบียบที่เป็นแบบแผน ต้องขอทางการไทยเป็นกรณี ซึ่ง ‘หลวง’ สันติพงษ์ เสนอว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เวลาที่คนที่ต้องเข้ามารักษาฝั่งไทย ต้องผ่านการคัดกรองจากสถานพยาบาลที่อิตูท่า รัฐกะเหรี่ยง ให้แพทย์และพยาบาลประเมินอาการเบื้องต้นว่า มีเหตุจำเป็นต้องเข้ามารักษาฝั่งไทยไหม จากนั้น ก็ออกใบส่งตัว และส่งต่อให้โรงพยาบาลฝั่งไทยได้เลย ไม่ต้องรอขออนุมัติเป็นกรณีๆ ไป  

ขณะที่ซูซานล่ะล่ะโซ กล่าวด้วยว่า อีกปัญหาที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญคือการขาดสถานที่กักตัวในพื้นที่ชายแดน ซึ่งตอนนี้ทาง NUG ก็พยายามหาพื้นที่ตรงนี้ให้ เพื่อที่คนที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวก สามารถใช้เป็นสถานที่กักตัวได้ 

ท้ายที่สุด ในการรับมือเหตุการณ์สู้รบพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า บ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลายฝ่ายคาดว่าการสู้รบจะกลับมาปะทุหลังฤดูฝน แต่ 'หลวง' สันติพงษ์ เชื่อมั่นว่า ประสบการณ์จากปีที่แล้ว ทำให้คนทำงานในพื้นที่ทั้งองค์กรภาคประชาชน และผู้นำชุมชน มีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือสงครามบริเวณชายแดน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

สถานการณ์ผู้พลัดถิ่นรัฐกะเรนนี 

รัฐกะเรนนี เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมียนมา มีอาณาเขตราว 300,000 ไร่ มีพรมแดนทางเหนือติดกับรัฐฉาน ทางใต้และตะวันตกติดกับรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกติดกับไทย จ.แม่ฮ่องสอน ชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเรนนี หรือกะเหรี่ยงแดง 

รายงานจากเครือข่ายภาคประชาสังคมกะเรนนี (Karenni Civil Society Network) ระบุว่าการทิ้งระเบิด และการใช้กระสุนปืนใหญ่โจมตีหมู่บ้านในกะเรนนี เริ่มเมื่อช่วงเดือน พ.ค.เป็นต้นมา เพื่อตอบโต้กองกำลังพลเรือนที่ต่อสู้กับกองทัพพม่า โดยการทิ้งระเบิด และการยิงปืนใหญ่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน และเป็นการเลือกเป้าหมายพลเรือนอย่าง โรงเรียน หรือโบสถ์ นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า ทหารพม่าจะจับประชาชน เพื่อทรมาน และสังหาร เพื่อสร้างความหวาดกลัว ไม่กล้าสู้ทหารอีกด้วย  

ผลจากความรุนแรงภายในรัฐ ส่งผลให้รัฐกะเรนนีมีผู้พลัดถิ่นภายในเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ทางภาคตะวันออก โดยรายงานจาก OCHA เผยด้วยว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหารพม่าจนเดือน ธ.ค.นี้ มีผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเรนนี สูงถึง 85,000 คน ขณะที่รายงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมกะเรนนี ประเมินว่า ตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายในอาจสูงถึง 100,000 คน และเช่นเดียวกับผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยง ประชาชนชาวกะเรนนีอีกหลายคนต้องลี้ภัยตามป่าเขา เพื่อไม่ให้ถูกกองทัพพม่าโจมตี

ปัจจัย 4 ยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วน 

แดนเนียล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายใน โดยระบุว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่รัฐกะเรนนีในช่วงเดือน ก.ค. ยังคงมีการยิงกันอยู่ แต่ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา สถานการณ์การสู้รบในพื้นที่ก็เบาบางลงไป 

แดนเนียล รมต.กระทรวงมหาดไทย รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

ปัญหาของผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเรนนี ไม่แตกต่างจากทางรัฐกะเหรี่ยง คือการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการขาดแคลนด้านปัจจัย 4 โดยเฉพาะอาหารและข้าวสาร การขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มในช่วงฤดูหนาว และเรื่องเวชภัณฑ์ ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาได้รับรายงานได้ว่าชาวบ้านในรัฐกะเรนนีติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดี มีแพทย์ที่คอยช่วยเหลือรักษาอาการอยู่ 

น้ำเพื่อการบริโภคยังไม่เพียงพอ รมต.แดนเนียล สำทับว่า บนพื้นที่ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในการหาน้ำเป็นไปอย่างลำบาก ชาวบ้านต้องทำอุปกรณ์ต่อท่อมาจากลำธาร ซึ่งมีระยะทางไกลเข้าไปในแคมป์ แต่หลังจากฤดูฝน ลำธารมีน้ำไม่พอ ก็ส่งผลต่อชีวิตของคนในค่ายตามมา 

รมต.มหาดไทย ระบุด้วยว่า ทุกวันนี้ผู้พลัดถิ่นภายใน อยู่ด้วยความหวาดกลัวกันมาก เนื่องจากถ้าทหารพม่าพบ หรือมีเหตุยิงปะทะในระยะใกล้กับจุดที่ผู้พลัดถิ่นภายในอยู่ ก็ต้องเก็บข้าวของคอยหนีอยู่ตลอด บางทีทหารพม่าใช้ปืนใหญ่ยิงเข้ามาในหมู่บ้าน ซึ่งผู้หญิง และคนแก่ จะหลบไม่ทัน นอกจากนี้ ทางแดนเนียล เผยด้วยว่าสถานการณ์ในกะเรนนีทหารพม่ามีการสกัดกั้นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ หากกองทัพพม่าเจอแพทย์ หรือคนทำงานมูลนิธิ ก็อาจถูกจับกุม หรือถูกโจมตีได้ 

รัฐมนตรีมหาดไทยจาก NUG เรียกร้องว่า เขาอยากให้ทางประชาคมโลกช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายในโดยเฉพาะเรื่องข้าวสาร ซึ่งในระยะยาวมีแนวโน้มขาดแคลนอย่างมาก และอยากเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศ หรือรัฐบาลไทยกดดันให้พม่าอำนวจคืนประชาชน หรืออาเซียนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่า 

ผู้ลี้ภัยในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 29 เม.ย. 2564 (ถ่ายโดย Metta Charity)

ต้นเหตุปัญหาการจัดการผู้ลี้ภัยจากเมียนมา

หลายฝ่ายประเมินว่าหลังฤดูฝน สงครามในพม่าจะกลับมาปะทุอีกครั้ง และผลกระทบจะไม่ใช่แค่ในฝั่งพม่า ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน อาจต้องรับหน้าที่หน้าด่าน รับบทหนักช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่อ แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในสมัยประยุทธ์ กลับเต็มไปด้วยคำวิจารณ์ขรมจากเอ็นจีโอ ถึงการละเมิดมาตรการ "Non-Refoulment" อยู่ตลอดเวลา และจะมาคุยกับนักวิชาการว่า รัฐไทยควรช่วยเหลือทางการทูตกับผู้ลี้ภัยอย่างไร และเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้

ย้อนไปเมื่อ 8 ก.ค. 64 คณะทำงานภาคประชาสังคมติดตามการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา เคยส่งรายงานสรุปสถานการณ์ในเมียนมา ต่อกรรมาธิการชายแดนฯ เพื่อให้รัฐบาลไทยมีการแก้ปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัยจากเมียนมา 

ในเอกสารวิจารณ์การทำงานของฝ่ายความมั่นคงไทยต่อมาตรการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจาก จ.มือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา หลังชาวบ้านหลายพันต้องอพยพเข้ามา เพราะกองทัพพม่าใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเขตชุมชนหลายแห่งเมื่อ 27 มี.ค. 64 ว่าละเมิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ‘Non-Refoulment’ หรือชื่อไทยคือหลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย 

หลักการ Non-Refoulment กล่าวโดยสรุปคือ หากมีเหตุให้เชื่อว่า ถ้าหากบุคคลนั้นเข้ามาเพราะมีเหตุให้เชื่อจริงๆ ว่ามีการประหัตประหาร ก็ต้อง “ไม่ผลักดันกลับ” โดยไม่เกี่ยวว่าต้องไปประเมินว่ามันมีสงครามหรือไม่ ต้องช่วยให้อยู่ได้ก่อนเป็นการชั่วคราว 

ไม่ใช่ครั้งเดียว แต่แทบทุกครั้งที่มีผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงเข้ามาในช่วง มี.ค. - เม.ย. 64 รวมถึงมาตรการจัดการผู้ลี้ภัยจากเมียวดี ซึ่งเข้ามาใน อ.แม่สอด จ.ตาก หลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่าง KNU และกองทัพพม่า ที่เมืองเลเก๊ะก่อ รูปแบบคือรัฐไทยจะเปิดพื้นที่ชั่วคราวรับผู้ลี้ภัย เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นจนกว่าเหตุการณ์ที่ประเทศต้นทางจะสงบ จากนั้น เมื่อเหตุการณ์สงบจะรีบผลักดันกลับประเทศ

การจัดการของผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะกรณีมือตรอ หรือเมียวดี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐไทยยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ขอเล่นบทม้าอารีย์ ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือค่ายผู้ลี้ภัยแน่นอน และจะไม่ใจดีกับผู้ลี้ภัยให้อาศัยในไทยนานเกินไป เพราะกลัวบานปลายตกค้างเหมือนค่ายผู้ลี้ภัย 9 แคมป์ที่ 30 กว่าปี ยังไม่สามารถกลับประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งพบว่าการผลักดันกลับประเทศของไทย มันเป็นการผลักดันทั้งที่ประเทศต้นทางยังไม่สงบ และมีลักษณะของการกดดันร่วมด้วย  

นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ 24 ธ.ค. 2564 กล่าวว่าแม้ไทยจะพร้อมดูแลผู้ได้รับผลกระทบด้านที่พัก อาหารและยา แต่จะไม่มีการตั้งศูนย์พักพิงขึ้น เพราะศูนย์พักพิงที่มีอยู่ในขณะนี้ซึ่งมีผู้ลี้ภัยอยู่ประมาณ 9 หมื่นคนก็มีปัญหาอยู่แล้ว

ศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือค่ายผู้อพยพเมียนมา มีอยู่ 9 แห่งในประเทศไทย โดย 4 แห่ง อยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน คือค่าย ค่ายแม่ละอู ค่ายแม่ลามาหลวง บ้านใหม่ในสอย และบ้านแม่สุรินทร์ จังหวัดตาก มี 3 แห่ง คือบ้านแม่หละ อุ้มเตี้ยม และบ้านแม่นุโพ จ.ราชบุรี มี 1 แห่ง คือ บ้านค่ายถ้ำหิน และ จ.กาญจนบุรี 1 แห่ง บ้านต้นยาง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สื่อพม่าเผยกองทัพพม่าใช้เครื่องบินโจมตีบริเวณเลเกก่อ-ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยมาไทยอีกระลอก

ก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรช์ วอต์ช ประจำภูมิภาคเอเชีย ฟิล โรเบิร์ตสัน เคยโพสต์ทวิตเตอร์เมื่อ 20 ธ.ค. 64 ท้วงติงทางการไทย ไม่ให้รีบส่งผู้ลี้ภัยจากเมียวดีกลับประเทศต้นทาง เนื่องจากอาจตกเป็นเป้าโจมตีของกองทัพพม่าได้ 

 

ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เวลาพูดถึงการจัดการผู้ลี้ภัยของรัฐไทย แน่นอนว่ารัฐไทยมีแผนปฏิบัติรองรับชัดเจน ดำเนินการโดยฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงมหาดไทย 

แม้ว่าจะมีแผนรองรับ แต่ภาณุภัทร กล่าวว่า ส่วนจะได้ใช้หรือไม่ เป็นอีกคำถามหนึ่ง ปัญหาประการหนึ่งการเตรียมแผนรับมือของไทย การไม่ทราบจำนวนผู้ลี้ภัย/พลัดถิ่นภายในในฝั่งเมียนมา เพื่อประเมินทำแผนรองรับ แม้ว่าในทางปฏิบัติจะสามารถงัดเอาข้อมูลจากภาคประชาสังคมได้ แต่ก็ยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนด้วยปัจจัยหลายอย่างเช่นการอพยพย้ายถิ่นของชาวบ้าน พื้นที่ป่ารกชัฏ หรือการสำรวจข้อมูลในภาวะสงครามเองที่เป็นตัวขัดขวาง เมื่อประเมินไม่ได้ รัฐไทยก็จะไม่ได้เตรียมแผนรองรับ 

นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการเมื่อพูดถึงการจัดการผู้ลี้ภัย อาจารย์จากรัฐศาสตร์สำทับว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องทัศนคติ ที่รัฐไทยมองว่าหากใจดีหรือผ่อนปรนนโยบายเรื่องผู้ลี้ภัยมากเกินไป จะกลายแรงดึง (Pull factor) มีผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ อพยพเข้ามามากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจารย์รัฐศาสตร์มองว่าไทยจะไม่สามารถหยุดได้ ตราบเท่าที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีปัญหาเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ ผู้ลี้ภัยจะเข้ามาฝั่งไทยต่อเนื่อง 

ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หากต้องการจัดการปัญหา อาจารย์จากจุฬาฯ เสนอว่ารัฐไทยควรเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ลี้ภัยใหม่ ให้เข้ามาทำงานเป็นแรงงานในไทย เพราะไทยต้องการแรงงานจากพม่าเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว 

“ความต้องการแรงงานในไทยก็เยอะ ที่ต้องการแรงงานจากพม่าอยู่แล้ว ทำไมเราไม่พยายามที่จะผลักคนกลุ่มเหล่านี้จำนวนหนึ่งให้เข้าสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ด้วย” อาจารย์จากจุฬาฯ เน้นย้ำ พร้อมชี้ว่าถ้ารัฐไทยกังวลในประเด็นนี้ สิ่งสำคัญคือไทยต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือ กองทัพพม่า 

แก้ปัญหาผู้ลี้ภัยด้วยการทูต 

สร้าง Humanitarian Corridor ที่แนวชายแดน

ภาณุภัทร ฝากข้อเสนอ 3 ระยะด้านการจัดการผู้ลี้ภัยและด้านการทูต ในระยะสั้น ภาณุภัทร มองว่า แม้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องปลายทาง แต่ไทยต้องทำ คือ ‘Humanitarian corridor’ หรือระเบียงทางมนุษยธรรม โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่มีผู้ลี้ภัยจากเพื่อนบ้านเข้ามา เพื่อให้สามารถส่งความช่วยเหลือถึงผู้ลี้ภัย และปกป้องความมั่นคงของรัฐได้

ภาณุภัทร กล่าวต่อว่า นโยบาย ‘Humanitarian corridor’ คือการกันโซนหรือพื้นที่ 5 ถึง 10 กิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่สำหรับส่งความช่วยเหลือทั้งในฝั่งไทยและฝั่งพม่า 

ฝั่งไทยอาจจะมีการให้หน่วยงานองค์การระหว่างประเทศร้องขอให้เข้ามาดำเนินการ ประสานงานกับไทย แล้วก็ให้ภาคประชาสังคมหรืออื่นๆ เข้ามาตั้งสถานี เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ในฝั่งพม่า humanitarian corridor สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือให้เขาเข้ามาอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น 

ต่อจากนั้น ต้องมีการกำหนดเขต ‘No Fly Zone’ คือไม่ให้มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด เพราะมีการทิ้งระเบิดเมื่อไร กระทบกับอธิปไตยกับฝั่งไทยเสมอ  

“หมายความว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มันคือการปกป้องความมั่นคงของรัฐชาติ ถ้าหากยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราไม่สร้าง humanitarian corridor และมีระเบิดมาโจมตีตรงพื้นที่ชายแดน แรงระเบิดมาจากกระแทกเข้ามาฝั่งไทยก็ได้ หรือแรงระเบิดมาตกฝั่งไทยก็ได้ ไทยกระทบแล้ว เพราะฉะนั้น ที่กั้นโซน No Fly Zone สร้าง humanitarian corridor สุดท้ายแล้วมันก็เพื่อประโยชน์ของไทยด้วยซ้ำไป นี่คือผลประโยชน์ที่คุณบอกว่า คือเรื่องเขตแดน เรื่องของอำนาจอธิปไตย” อาจารย์จากรัฐศาสตร์ ระบุ

ต่อมา ก็คือในการดำเนินการส่วนนี้อาจจะต้องมีการสร้างคณะทำงานขึ้นมา เพื่อเตรียมหน่วยงานต่างๆ และหน่วยงานเหล่านี้ก็จะมีทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ หรือรัฐบาลต่างประเทศด้วย ที่จะเข้ามาร่วมกับคณะทำงาน และไทยสามารถเป็นผู้นำได้ 

ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับความคิดของสันติพงษ์ ที่มองว่าควรมีการบูรณาการการทำงานไม่ว่าจะเป็น องค์กรเอ็นจีโอต่างประเทศ สหประชาชาติ ภาคประชาสังคม หรือหน่วยงานรัฐต้องสามารถทำงานร่วมกันได้ และนอกจากนี้ ข้อเสนอของรัฐไทยยังสอดคล้องต่อจุดยืนของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้มีค่ายผู้ลี้ภัยในเขตไทย

กดดัน 'มินอ่องหล่าย'

หากต้องการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยระยะยาว บทบาทการทูตเจรจากับกองทัพพม่าต้องเข้ามามีส่วนสำคัญ ภาณุภัทร เสนอว่า ไทยต้องปรับบทบาทการทูตเกี่ยวกับเมียนมาทั้งหมด เปลี่ยนตำแหน่งตัวใหม่ในเชิงนโยบายจาก ‘ผู้ประสานงาน’ (coordinator) ไปสู่ ‘การเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ (stakeholder) ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในเมียนมา เพราะตราบใดที่เมียนมาไม่สงบ ผลกระทบเกิดขึ้นกับไทยทั้งสิ้น 

อาจารย์จากจุฬา มองว่า จุดอ่อนนโยบายการทูตไทยคือไม่กล้าแข็งกร้าวกับเมียนมา ไม่ได้ใช้ทรัพยากรที่มีต่อรองกับกองทัพพม่า ทั้งที่พม่าพึ่งพาไทยมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เรื่องเศรษฐกิจ การส่งออกก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ไทยควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้ต่อรองกับกองทัพพม่า 

ถ้าเกิดการสู้รบระหว่างชาติติพันธุ์กับพม่า สุดท้ายใครรับภาระ กองทัพไทยรับภาระ กระทรวงมหาดไทยรับภาระ หน่วยงานราชการไทยทั้งสิ้น ถ้าหากว่าไทยไม่มองว่าตัวเองคือ ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ แล้ว ทางแก้ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น 

เข้าหารัฐบาลคู่ขนานพม่า

สามคือรัฐบาลไทยต้องเข้าหาและเจรจากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เพื่อกดดันกองทัพพม่า 

ภาณุภัทร กล่าวต่อว่า ถามว่าทำไมถึงสำคัญ สำคัญเพราะว่าอย่าลืมว่า NUG มีสิ่งหนึ่งคือ ‘ความชอบธรรม’ โดยผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ (Special Rapporteur) บอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะกดดันกองทัพพม่าได้มีอยู่ 3 อย่าง การคว่ำบาตรทางด้านอาวุธ การจำกัดขีดความสามารถทางการเงิน และความชอบธรรม (legitimacy) ถ้าไทยสามารถจำกัด 3 มิติตรงนี้ ก็สามารถกดดันกองทัพพม่าได้ โดยไทยจะผลักดันให้ NUG เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของเมียนมา

“เพราะฉะนั้นถ้าไทยอยากจะคุยกับฝั่งพม่าใช่ไหม รัฐบาลของมินอ่องลาย โอเคคุยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็คุยกับฝั่งของ NUG ไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะไม่รู้เลยว่า สถานการณ์จะเกิดขึ้น หรือพลิกแพลงไปอย่างไร” อาจารย์รัฐศาสตร์ กล่าว  

ระยะยาว ไทยควรยกสถานะบทบาทของตัวเองในอาเซียนมากกว่านี้ ไทยเป็นคนที่พม่าเพิ่งพาไทยมามากตลอด ไทยเป็นคนพาพม่าเข้าสู่การเป็นสมาชิกอาเซียน แต่ไทยไม่เคยใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ ท้ายที่สุดไทยอาจจะเป็นตัวชูโรงที่จะพูดหรือนำบทสนทนา และอาจนำไปสู่การผลักดันกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ต่อการจัดการผู้ลี้ภัย และค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ซึ่งนี่ก็คือผลประโยชน์ของรัฐไทย 

หมายเหตุ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government - NUG เป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแย่งชิงอำนาจการบริหารประเทศเมียนมาจากกองทัพ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. 2564 สมาชิกคณะรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ส.ส.พรรคชาติพันธุ์ต่างๆ และนักกิจกรรมการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย โดยมี วินมยิ้ด เป็นประธานาธิบดี และ อองซานซูจี เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ

มีการปรับเนื้อหามาเป็นปัจจุบัน เมื่อ 4 ม.ค. 2565 โดยเพิ่มความหมายของผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายใน และมีการเพิ่มเติมเครดิตแผนที่ 'ชายแดนไทย-พม่า อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน' เป็นแผนที่ของ @ Mymekong.org 2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net