Skip to main content
sharethis

'ศิริกัญญา ก้าวไกล' เสนอ 3 ขั้นตอนปลดภาระการบินไทย แนะรัฐบาลเจรจาลดทุน-ลดหนี้ ก่อนเพิ่มทุน เสนอหาผู้ร่วมทุนรายใหม่-แปรรูปเอกชน 100% ด้าน 'คลัง' ยันไม่ใส่เงินเพิ่มทุนการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้น ชี้ส่วนทุนติดลบนับแสน หากใส่เงินลงไปเท่ากับเป็นการถมทะเล ระบุ การคงสภาพเป็นบริษัทเอกชน ทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้
.

10 พ.ค. 2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วันนี้ (10 พ.ค.64) เมื่อเวลา 10.00 น. ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้มีการจัดแถลงข่าวออนไลน์ถึงกรณีที่จะมีการพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟู

ศิริกัญญากล่าวว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และเจ้าหนี้ คุยข้ามหัวประชาชนไทยไปมา แต่กลับไม่เคยสื่อสารโดยตรงกับประชาชน ทั้งที่การช่วยเหลือการบินไทยต่องใช้ภาษี หรือหากจะค้ำประกันหนี้ เจ้าหนี้ก็จะมาเก็บจากผู้ค้ำซึ่งก็พวกเราประชาชนคนไทยทุกคนป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี

“รัฐบาลต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการเข้าช่วยเหลือการบินไทย หวังผลตอบแทนอย่างไรบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่เป็น ทางเลือกไหนดีกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีคำตอบจากรัฐบาล”

แผนฟื้นฟูให้พนักงานเสียสละ แต่นายทุนไม่ลดหนี้

ศิริกัญญายังได้พูดถึงการทำแผนฟื้นฟูที่แผนธุรกิจในส่วนของการลดต้นทุนทำได้ค่อนข้างดี แต่ส่วนแผนการเงิน

“ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชมคณะผู้บริหารที่ทำแผนธุรกิจไว้ได้ดี และได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ นั่นก็คือสามารถจำนวนพนักงานลงไปได้ถึง 13,000 คน ลดจำนวนตำแหน่งผู้บริหาร รวมทั้งมีการเซ็นสัญญาใหม่ที่มีการปรับลดค่าตอบแทนลง”

“แต่สำหรับแผนการเงินก็ถือว่ายังไม่น่าพอใจ สิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังไปเจรจากับเจ้าหนี้มีใจความหลักคือ หนี้ของธนาคารพาณิชย์ไม่มีการลดหนี้ แต่เป็นการยืดหนี้ออกไปอีก 10 ไม่มีการแปลงหนี้เป็นทุนสำหรับเจ้าหนี้เดิม ผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีการลดทุน มีแค่การลดหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ การขอกู้เพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 5 หมื่นล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ยังต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันมากกว่า 25,000 ล้านบาท”

ศิริกัญญาเน้นย้ำว่าแผนนี้ประนีประนอมกับทุกฝ่ายมากเกินไป เกรงใจนายทุนมากเกินไป ไม่ยอมเจ็บแต่จบเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวครึ่งๆ กลางๆ  เพื่อซื้อเวลาเท่านั้น

3 ข้อเสนอ เจ็บแต่จบ ปลดภาระขาดทุนสะสมการบินไทย

ในส่วนของการหาทางออกนั้น ศิริกัญญามีข้อเสนอให้รัฐบาล 3 ข้อ เพื่อล้างขาดทุนสะสม ทำให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก และสามารถทำให้การบินไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

“ข้อเสนอแรก คือ #การลดทุน เราจำเป็นต้องลดทุนเพื่อล้างการขาดทุนสะสม ปัจจุบันการบินไทยขาดทุนสะสม 161,898 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ -128,742 ล้านบาท เสนอให้ลดทั้งทุนที่ชำระแล้วและส่วนของทุนอื่น ๆ ซึ่งการลดุนเดิมไม่ใช่อะไรนอกจากเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น”

“ขั้นที่สอง เจ้าหนี้ต้องยอมเจ็บ #ต้องมีการลดหนี้หรือแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นกู้ต้องร่วมรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่ง คิดเป็นตัวเลขกลมๆ หนี้ที่สามารถลดได้อยู่ที่ประมาณ 300,00 ล้านบาท ถ้าขอ haircut หรือลดหนี้ได้ 40% จะสามารถทำกำไรลดขาดทุนสะสมได้ถึง 120,000 ล้านบาท”

แต่ข้อควรระวังทุกคนพูดถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้  ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป เพราะผู้ถือหุ้นหรือผู้ฝากเงินสหกรณ์ล้วนแต่เป็นประชาชนรายย่อย

“ขั้นสุดท้าย เมื่อลดหนี้จนผลของการขาดทุนสะสมเหลืออยู่น้อย แล้ว #การเพิ่มทุนใหม่อาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล ถ้ารัฐบาลต้องแทรกแทรงเสนอให้ต้องกำหนดแผนการขายหุ้นออกที่ชัดเจนใน 3-5 ปี เพื่อไม่ให้เกิด moral hazard”

นอกจากนี้ ศิริกัญญายังเสนอให้พิจารณาการเปิดประมูลผู้ร่วมทุนใหม่ หรือหาสายการบินอื่นควบรวมได้ ซึ่่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ฺBritish airways ของอังกฤษที่ควบรวมกับ Iberia ของสเปน, Air France ของฝรั่งเศสที่ควบรวมกับ KLM ของเนเธอแลนด์ การบินไทยในช่วงเริ่มต้นก็เป็นการร่วมทุนเช่นเดียวกัน 

“ดังนั้นดิฉันสรุปว่าแผนการนี้เป็นแผนที่เจ็บแต่จบ คือการลดส่วนของทุน เจรจาลดหนี้ และถ้ามีการเพิ่มทุนโดยรัฐต้องมีแผนการออกใน 3-5 ปี เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก และสามารถรอดพ้นปัญหาถ้าเกิด shock ขึ้นมาในขณะนี้ และจะเป็นการแก้ปัญหาการบินไทยอย่างยั่งยืน” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ moral hazard ตามคำอธิบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าเป็น ภาวะหรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเสี่ยงภัยสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการกระทำอันไม่สุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์จากการเอาประกันภัย เช่น ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ฆ่าผู้เอาประกันชีวิตเพื่อหวังได้รับเงินจากผู้รับประกันชีวิต หรือผู้เอาประกันอัคคีภัยเจตนาวางเพลิงเพื่อหวังเงินค่าสินไหมทดแทน

คลังยันไม่ใส่เงินเพิ่มทุนการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้น ชี้ส่วนทุนติดลบนับแสน หากใส่เงินลงไปเท่ากับเป็นการถมทะเล ระบุ การคงสภาพเป็นบริษัทเอกชน ทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้

ขณะที่กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานท่าทีกระทรวงการคลังว่า ปานทิพย์ ศรีวิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)จะไม่เข้าไปใส่เงินเพิ่มทุนให้แก่บริษัทตามที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจาก ขณะนี้ ส่วนทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ติดลบนับแสนล้านบาท หากกระทรวงการคลังใส่เงินเข้าไป จะถือว่า ใส่เงินเข้าไปถมทะเล

“ส่วนของทุนเขาติดลบเป็นแสน ถ้าเพิ่มทุน ก็เท่ากับว่า เอาเงินไปถมทะเล เพิ่มไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ และตอบคำถามประชาชนไม่ได้ว่า เอาเงินไปใส่ทำไม และ จะเอาเงินจากไหน ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงการคลังไม่เพิ่มทุน ขณะที่ ผู้ถือหุ้นอื่นยอมใส่เงินเพิ่มทุน สัดส่วนหุ้นเราก็จะไดรูทลงเป็นธรรมชาติ”

ต่อคำถามที่ว่าหากต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจะต้องซื้อหุ้นคืนไหม ผอ.สคร.กล่าวว่า ตอนนี้ รัฐถือหุ้นในการบินไทยในสัดส่วนใหญ่สุดที่ 49.99% ถ้าจะเป็นรัฐวิสาหกิจรัฐต้องถือหุ้นเกิน 50% ฉะนั้น ต้องซื้อคืน หรือ แค่ 0.02% ก็เป็นแล้ว ซึ่งหุ้นก็มีขายในตลาดใครก็เข้าไปซื้อได้ แต่ขณะนี้ คลังซื้อไม่ได้ เพราะถ้าคลังซื้อก็เท่ากับว่า จะถือหุ้นเกิน 50%

ส่วนความช่วยเหลือด้านอื่นๆนั้น ผอ.สคร.กล่าวว่า ต้องไปดูที่รูปแบบความช่วยเหลือว่า รัฐจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง เพราะมีหลายมิติ และพันกันหลายเรื่อง แต่ที่พูดๆกันเป็นส่วนๆมันไม่ตอบโจทย์ ต้องดูว่า ทางไหนที่ทำได้ และ ทางไหนไม่ตัน ถึงแม้เราอยากจะทำ แต่กฎหมายบอกทำไม่ได้ ก็เป็นทางตัน ฉะนั้น ก็ต้องหาแนวทางอื่นที่เป็นไปได้ ซึ่งแต่ละทางก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

เมื่อถามว่า ในมุมสคร.มองว่า รัฐควรเข้าไปช่วยเหลือบริษัทในทางใดได้บ้าง ผอ.สคร.ตอบว่า ตอนนี้ เราเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เขา ซึ่งเขาคงสถานะการเป็นบริษัทเอกชน การให้ความช่วยเหลือใดๆจากภาครัฐนั้น ถือว่า เราไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ถ้าเข้าไปช่วยเหลือ จะถือว่า เราเลือกปฏิบัติ

“เนื่องจาก เขาไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นบริษัทเอกชนที่กำลังล้มละลาย การที่รัฐบาลจะเอาเงินเข้าไปช่วย จะเข้าข่ายอะไร จะใช้อำนาจอะไร ความเป็นรัฐมันมีหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ใครขาดทุนอยู่ เช่น บริษัทหนึ่งขาดทุนแล้วให้รัฐไปช่วย ก็เท่ากับเราไปเลือกปฎิบัติ เช่น นกแอร์จะล้มละลาย หรือ ไลออนแอร์ ขาดทุน ขอให้รัฐไปช่วยเหลือ ก็ทำไม่ได้ เพราะเราเป็นแค่ผู้ถือหุ้น อยู่ๆจะเข้าไปช่วยโดยไม่มีสถานะอะไร มันทำไม่ได้”

ต่อคำถามที่ว่า จำเป็นต้องคุยกับกระทรวงคมนาคมในประเด็นที่จะให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เธอกล่าวว่า บทบาทของกระทรวงคมนาคม คืออะไร และจะให้ไปคุยกับเขาในฐานะอะไร เพราะการบินไทยเขาเป็นเอกชน ซึ่งตามกฎหมายล้มละลายอำนาจเป็นของผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ขณะที่ กระทรวงการคลังเองก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ กับ ผู้ถือหุ้น เท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net