รัฐบาลฝ่าย ปชต. พม่า พร้อมเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) ของพม่าประกาศจุดยืนพร้อมแก้กฎหมายมอบสัญชาติให้ชาวโรฮิงญาหลังร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และเรียกร้องให้ชาวโรฮิงญาเข้าร่วมกับ NUG เพื่อต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหาร

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2564 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าได้ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนเกี่ยวกับสิทธิของชาวโรฮิงญาอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ เคยประกาศจุดยืนครั้งหนึ่งแล้ว ว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับศาลโลกในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพม่า และอยู่ระหว่างพิจารณาฟ้องศาลโลกเกี่ยวกับการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ของฝ่ายเผด็จการทหาร

สำนักข่าว Myanmar Now เล่าว่าการออกประกาศครั้งนี้เป็นความพยายามในการยุติข้อกังขาเกี่ยวกับจุดยืนของ NUG ในประเด็นเกี่ยวกับสถานะสัญชาติของชาวโรฮิงญาในพม่า แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า NUG จะยกเลิกกฎหมายสัญชาติฉบับ พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นตัวการทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเป็นผู้ไร้สัญชาติทันที หลังจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ

สำหรับกฎหมายใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ฉบับเดิม NUG ระบุว่าจะ “มอบสัญชาติโดยวางอยู่บนหลักของการเกิดในเมียนมาร์” หรือ “การเกิดเป็นลูกของพลเมืองเมียนมาร์” แม้ว่าจะเกิดอยู่นอกอาณาเขตของประเทศเมียนมาร์ก็ตาม นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า “ชาวโรฮิงญามีสิทธิในการได้รับสัญชาติตามกฎหมายที่จะสอดคล้องกับบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและหลักการของสหพันธรัฐประชาธิปไตย”

สมาชิกทั้ง 27 คนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกรัฐสภาของพม่าก่อนเกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ กำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันมากยิ่งขึ้นให้ประกาศจุดยืนเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา หลัง NUG ก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางเมษายน  

หนึ่งในแรงกดดันดังกล่าวมาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ในระหว่างการรับฟังความเห็น แบรด เชอร์แมน สมาชิกสภาผู้แทนของสหรัฐอเมริกาได้ตั้งคำถามกับจอ โม ตุน ผู้แทนถาวรของเมียนมาร์ในสหประชาชาติว่า “รัฐบาลนี้ (หมายถึง NUG) จะมอบเอกสารสัญชาติให้กับชาวโรฮิงญาที่เกิดในเมียนมาร์หรือเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยหรือไม่”

จอ โม ตุน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยชูสามนิ้วเพื่อต่อต้านการรัฐประหารเมียนมาร์ในการประชุมขององค์การสหประชาชาติ และขณะนี้เป็นตัวแทนของ NUG ระบุว่า นโยบายของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าจะวางอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายฉบับเดิมที่นำมาปรับปรุงแก้ไข หลังจากได้ยินคำตอบ แบรด เชอร์แมน จึงวิจารณ์ว่า “การที่คุณบอกว่าเราจะดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่น่าจะเหมือนกับรัฐบาลหลังยุคนาซีที่บอกว่าเราจะดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมของเยอรมนี”

สำนักข่าว Myanmar Now เล่าต่อว่า แถลงการณ์ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติฉบับล่าสุดนี้พยายามแสดงจุดยืนให้ต่างจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) ของอองซานซูจีที่เคยปกป้อง “ปฏิบัติการกวาดล้าง” ชาวโรฮิงญาของทหารใน พ.ศ. 2560 ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยไปอยู่ในค่ายลี้ภัยแออัดของบังกลาเทศกว่า 750,000 คน นอกจากนี้ อองซานซูจียังพยายามหลีกเลี่ยงการเรียกชาวโรฮิงญาว่าเป็นชาวพม่า แต่เรียกแทนว่าเป็น “ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่”

ในประเด็นนี้ NUG ระบุว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับศาลโลกในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งนี่เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ NUG ประกาศจุดยืนเช่นนี้ โดยในครั้งนี้ NUG ระบุว่า “เราเจตนาว่าหากจำเป็น เราจะริเริ่มกระบวนการต่าง ๆ เพื่ออนุมัติให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามามีอำนาจในคดีต่าง ๆ ที่กระทำผิดภายในเมียนมาร์ต่อชาวโรฮิงญาและชุมชนอื่น ๆ”

NUG ดูเหมือนจะเชื่อว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หลาย ๆ คนจะหันมายอมรับการเรียกร้องความยุติธรรมและสิทธิในการมีสัญชาติของชาวโรฮิงญามากยิ่งขึ้น เนื่องจากคนทั้งชาติ “เห็นอกเห็นใจสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ขณะที่ตอนนี้ทุกคนกำลังเผชิญกับความโหดร้ายทารุณและความรุนแรงที่กระทำโดยกองทัพเช่นกัน”

หลัง NUG ประกาศจุดยืนในแถลงการณ์ล่าสุด หลายฝ่ายแสดงความเห็นต่อแถลงการณ์ดังกล่าวต่างกันออกไป

ด้าน Tom Andrews ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าขององค์การสหประชาชาติกล่าวว่าแถลงการณ์นี้ถือเป็น “ก้าวสำคัญและน่าสนใจในการมุ่งไปข้างหน้า”

ตามข้อสังเกตของสำนักข่าว The Guardian เห็นว่าแถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความพยายามของ NUG ในการเชิญชวนให้ชาวโรฮิงญามาเข้าร่วมกับ NUG เพื่อต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารที่มีมิน อ่อง ลาย เป็นผู้นำ

ส่วนด้าน ตุน ขิ่น ประธานองค์การชาวพม่าโรฮิงญาในสหราชอาณาจักรบอกกับสำนักข่าว The Guardian ว่ารู้สึกยินดีที่มีการประกาศแถลงการณ์เช่นนี้ออกมา แต่ยังรอความชัดเจนจาก NUG มากกว่านี้ โดย ตุน ขิ่น ระบุว่า “NUG สำคัญมากที่จะต้องยอมรับว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา หากเราไม่สามารถเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในอดีตได้ เราไม่มีทางสร้างอนาคตร่วมกันได้”

สำนักข่าว Myanmar Now วิเคราะห์ว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการโต้แย้งกันภายในกลุ่มนักกิจกรรมที่ต่อต้านระบอบเผด็จการ เนื่องจากหลายภาคส่วนในสังคมพม่ายังคงต่อต้านการมอบสัญชาติให้กับชาวโรฮิงญาอย่างหนัก และไม่ถือว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนของชาติพม่า แม้จะอยู่ในดินแดนพม่ามานานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท