Skip to main content
sharethis

วิโรจน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการวัคซีนด้วยการ “เซ็ตซีโร่” เริ่มต้นระบบใหม่ เปิดเผยจำนวนวัคซีนในคลัง เชื่อมฐานข้อมูลเข้าส่วนกลาง และกระจายสู่หน่วยย่อย แก้ปัญหาวัคซีน VIP พร้อมฝากถึงนายกฯ “อย่าขอให้ประชาชนรับความเสี่ยง ถ้ายังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล”

21 มิ.ย. 2564 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงจุดบริการฉีดวัคซีนหลายแห่งทั่วประเทศ ประกาศเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากแผนเดิมที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะฉีดให้บุคคลทั่วไปที่ลงทะเบียนผ่านระบบ ‘หมอพร้อม’ ในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับประชาไทถึงปัญหาการกระจายวัคซีนในระดับส่วนกลางและภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งยังก่อให้เกิดช่องโหว่ ‘วัคซีน VIP’ พร้อมเสนอแนะแนวทาง “เซ็ตซีโร่” เริ่มต้นระบบใหม่ช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการวัคซีน

ฐานข้อมูลวัคซีนกระจัดกระจาย ไม่เชื่อมโยง

วิโรจน์ กล่าวว่า หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศให้แต่ละท้องถิ่นหรือหน่วยงานจัดทำระบบจองฉีดวัคซีนขึ้นมาเอง จนทำให้มีแอปพลิเคชันหรือช่องทางการลงทะเบียนฉีดวัคซีนจำนวนมาก เช่น กทม. มีไทยร่วมใจ สำนักงานประกันสังคมเปิดให้นายจ้างส่งชื่อลูกจ้างผู้ประกันตนเพื่อสั่งจองวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขก็ร่วมมือกับผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อเปิดจองวัคซีน หลายๆ จังหวัดก็มีระบบเป็นของตัวเอง เช่น ‘นนท์พร้อม’ ของ จ.นนทบุรี ‘หมอประจวบพร้อม’ ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ก็มี ‘ก๋ำแปงเวียง’ จ.เชียงใหม่ หรือ จ.อุดรธานี ก็มีแอปพลิเคชัน ‘วัคซีนอุดรเปิดเมือง’ เป็นต้น ซึ่งวิโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลการลงทะเบียนหรือการจองผ่านระบบต่างๆ เหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่

“ในการทำงานด้านฐานข้อมูล (Database) จะเรียกว่า Synchronization (การประสานเชื่อมโยงกันของข้อมูล) คือข้อมูลมันซิงค์กันหรือเปล่า มีการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ามายังฐานข้อมูลกลางของระบบหมอพร้อม (MOPH-IC) หรือเปล่า เราต้องมองว่าฐานข้อมูลกลางของหมอพร้อมเป็นเหมือนโกดังสินค้า (warehouse) ที่ดูแลสต็อกของวัคซีน ถ้าระบบการจองต่างๆ ไม่ได้เชื่อมโยงเข้ามาที่สต็อกวัคซีนในโกดัง ไม่ได้เชื่อมมาที่วัคซีนที่พร้อมจะส่งมอบ ไม่ได้เชื่อมมาที่วัคซีนที่มีอยู่ หากเป็นเช่นนั้นจึงน่ากังวลมากๆ ว่ายอดจองวัคซีนอาจเกินกว่าที่มีอยู่ในสต็อก หรือจองเข้ามาเกินยอดที่สามารถส่งมอบได้” วิโรจน์กล่าว พร้อมระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความซ้ำซ้อนของระบบจองวัคซีนอาจจะทำให้การจัดการวัคซีนสต็อกมีปัญหาในอนาคต

“ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งจองผ่านหมอพร้อม จองผ่านไทยร่วมใจ จองผ่านค่ายมือถือด้วย แล้วนายจ้างยังส่งชื่อเข้าระบบประกันสังคมอีก หรือบางคนมีบ้านอยู่นนทบุรีอีกหลังหนึ่ง บ้านคุณพ่อคุณแม่อยู่นนทบุรี ก็มาจองผ่านนนท์พร้อมอีก แล้วคำถามคือข้อมูลเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่” วิโรจน์กล่าว

วิโรจน์บอกว่าตนสอบถามผู้รับวัคซีนผ่านระบบไทยร่วมใจบางคนที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน และแนะนำให้บันทึกอาการไม่พึงประสงค์ผ่านระบบหมอพร้อม แต่เมื่อเปิดแอปพลิเคชันหมอพร้อมขึ้นมา ปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นถูกระบุว่าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ทำให้ตนเชื่อว่ามีแอปพลิเคชันบางตัวหรือระบบบางระบบที่ไม่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหมอพร้อม

การฉีดซิโนแวคกับแอสตราเซเนกามันฉีดกันคนละศักยภาพอย่างไร ถ้าฉีดซิโนแวคต้องฉีดเสยขึ้น ถ้าฉีดแอสตราเซเนกาต้องฉีดกดลงหรือฉีดเฉียงๆ หรืออย่างไร ผมคิดว่ามันฟังไม่ขึ้น มันคือแผนการส่งมอบหรือแผนการจัดหานั่นแหละ ถ้าวันนี้มันดีเลย์จากแผนการจัดหาหรือไม่สามารถส่งมอบให้กับประชาชนได้ตามคำมั่นก็ต้องบอกกับประชาชนตรงๆ

วิโรจน์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าโครงการไทยร่วมใจซึ่งมีจุดให้บริการทั้งหมด 25 จุดและมีกำลังฉีดได้ถึงวันละ 50,000 โดส เฉลี่ยแล้วคือฉีดได้ 2,000 โดส/วัน ตัวเลขดังกล่าวเป็นการคำนึงถึงศักยภาพในการฉีดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงสต็อกวัคซีนและแผนการส่งมอบวัคซีนที่ในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ หากจำนวนวัคซีนมีไม่เพียงพอกับศักยภาพก็จะทำให้เกิดปัญหา ซึ่งวิโรจน์กล่าวว่าทั้งหมดนี้เป็นการคิดคำนวณพื้นฐานในระบบโลจิสติกส์ทั้งสิ้น

“ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่า ‘ฉีดเร็ว วัคซีนจึงไม่พอ’ ผมไม่เข้าใจว่าจะฉีดเร็วหรือฉีดช้ามันทำให้สต็อกวัคซีนมันงอกหรือมันหดได้อย่างไร” วิโรจน์กล่าว ทั้งยังระบุว่าการให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าระบบลงทะเบียนวัคซีนมีปัญหาที่อาจจะขาดการประสานงานกัน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาในการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลอย่างแน่นอน หากไม่แก้ปัญหาส่วนนี้ การเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ผ่านหมอพร้อมในวันที่ 24 มิ.ย. นี้จะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน

วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีการเปิดให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโดยไม่ได้คำนึงถึงสต็อกวัคซีนและจำนวนวัคซีนที่สามารถส่งมอบได้ ด้วยเหตุนี้ ตนจึงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลจำนวนวัคซีนที่สามารถส่งมอบให้กับโรงพยาบาลหรือจุดฉีดวัคซีนต่างๆ เป็นรายสัปดาห์ ไม่ใช่บอกแบบด่วนๆ แล้วจบไป

“ผมทราบดีว่าการผลิตวัคซีนซึ่งเป็นชีววัตถุมีความซับซ้อนมากกว่าการผลิตยาหรือสินค้าตัวอื่น จึงอาจจะรายงานตัวเลขแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่อย่างน้อยๆ ต้องรายงานตัวเลขขั้นต่ำได้ หรืออย่างน้อยก็บอกเป็นช่วงจำนวนโดสที่สามารถส่งมอบได้ เช่น ส่งมอบได้ 5-6 แสนโดส หรือ 5-8 แสนโดส” วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมกรณีวัคซีน 61 ล้านโดส โดยระบุว่าก่อนหน้านี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีและเพจไทยคู่ฟ้า เคยประกาศแผนรับมอบวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งเขียนชัดเจนว่าไทยจะได้รับวัคซีนเท่าไรในแต่ละเดือน แต่อยู่ดีๆ กลับมีข่าวออกมาว่าวัคซีน 61 ล้านโดสเป็นตัวเลขศักยภาพของการฉีด แต่ตนสงสัยว่าทำไมศักยภาพการฉีดต้องระบุยี่ห้อวัคซีนด้วย

“การฉีดซิโนแวคกับแอสตราเซเนกามันฉีดกันคนละศักยภาพอย่างไร ถ้าฉีดซิโนแวคต้องฉีดเสยขึ้น ถ้าฉีดแอสตราเซเนกาต้องฉีดกดลงหรือฉีดเฉียงๆ หรืออย่างไร ผมคิดว่ามันฟังไม่ขึ้น มันคือแผนการส่งมอบหรือแผนการจัดหานั่นแหละ ถ้าวันนี้มันดีเลย์จากแผนการจัดหาหรือไม่สามารถส่งมอบให้กับประชาชนได้ตามคำมั่นก็ต้องบอกกับประชาชนตรงๆ” วิโรจน์ กล่าว

นอกจากนี้ วิโรจน์ กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลต่างๆ ออกมาประกาศเลื่อนนัดฉีดวัคซีน และบอกให้ประชาชนตรวจสอบนัดหมายใหม่ผ่านระบบของโรงพยาบาล อย่ายึดวันนัดหมายใน ‘หมอพร้อม’ ซึ่งระบบนัดหมายที่เป็นทางการของรัฐ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้ล่มสลายลงแล้ว

การออกแบบระบบที่ ‘โง่เขลา’ สร้างช่องโหว่ให้ ‘วัคซีน VIP’

เมื่อถามถึงกระแสข่าว ‘วัคซีน VIP’ ที่ใช้โควตา ส.ส. หรือเส้นสายในหน่วยงานรัฐ วิโรจน์ กล่าวว่า กระแสข่าวดังกล่าวไม่ใช่ข่าวลือ เพราะวัคซีน VIP มีอยู่จริง ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่ปรากฏเป็นข่าวหรือเป็นคลิปตามที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือกรณีเช่นนี้ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวนั้นมีอีกมากเท่าไร

วิโรจน์ กล่าวว่า จากการให้สัมภาษณ์ของอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงฯ จัดสรรวัคซีนให้จังหวัดต่างๆ ตามจำนวนที่ลงทะเบียนเข้ามา แต่ ศบค. เป็นผู้ควบคุมดูแลการกระจายวัคซีนในระดับที่ย่อยลงไปอีก ซึ่งผู้วาราชการจังหวัดก็เป็นผู้ที่อยู่ใต้อำนาจของ ศบค. อีกที เพราะฉะนั้น คำถามคือเมื่อส่งต่อวัคซีนไปยังหน่วยงานระดับย่อยแล้ว วัคซีนเหล่านั้นไปถึงมือของหน่วยงานที่เล็กย่อยลงไปอีกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ทุกจุดให้บริการคงได้รับวัคซีนครบตามจำนวนที่กระทรวงฯ จัดส่ง แต่อาจมีการ ‘กั๊ก’ วัคซีนไวให้กลุ่มผู้มีอุปการะคุณของโรงพยาบาลนั้นๆ

“สมมติว่าลงทะเบียนจองมา 700 คน แต่เอาเข้าจริงๆ อาจจะมีคนที่มาฉีดแค่ 650 คน ปกติแล้ววัคซีนต้องกระจายไปให้ครบทุกคน (ตามที่จอง) เพราะรัฐบาลต้องคิดว่าทุกคนจะต้องมาฉีด แต่พอถึงวันจริง คนอาจจะมาน้อยกว่านั้นมากในบางจุดฉีด ซึ่งก็อาจจะเป็นผลมาจากการกวาดต้อนรายชื่อให้คนมาลงทะเบียนหมอพร้อมในช่วงแรกๆ เลยเกิดเป็นอุปสงค์เทียม หรืออุปสงค์ที่เกิดจากการข่มขู่หรือขู่บังคับ พอถึงวันจริงก็ไม่มาตามนัด” วิโรจน์ กล่าว พร้อมระบุว่าตามหลักแล้ว รัฐบาลต้องส่งวัคซีนให้แต่ละจุดฉีดเกินจำนวนที่จองเข้ามา เพื่อเป็นการบริหารสถานการณ์หน้างานตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่มีเคสรายชื่อในระบบหมอพร้อม แต่ตกหล่นจากระบบของโรงพยาบาล เป็นต้น

โดยสามัญสำนึกแล้ว ทุกคนเข้าใจว่าการออกแบบฐานข้อมูลต้องเชื่อมโยงกัน คือมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คุณจะออกแบบการทำงานฐานข้อมูลชุดเดียวกัน แต่ให้การจัดการฐานข้อมูลทั้งหมดเป็นอิสระต่อกัน มันก็มั่วสิครับ มันก็เละตุ้มเป๊ะสิครับ

อย่างไรก็ตาม วิโรจน์เชื่อว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นกรณีวัคซีนเหลือมากกว่า ซึ่งทำให้ทางโรงพยาบาลเกิดความชะล่าใจ และคิดว่าวัคซีนที่เหลือสะสมเหล่านี้สามารถนำไปฉีดให้กับใครก็ได้ ซึ่งคำว่า ‘ใครก็ได้’ ในความหมายนี้ คือ คนในระบบอุปถัมภ์ เริ่มจากคนใกล้ชิดบอกกันปากต่อปากไปเรื่อยๆ เป็นระบบ ‘รู้แล้วเหยียบเอาไว้’ แต่ไม่เคยมีใครเหยียบจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว วัคซีนส่วนเกินที่เหลืออยู่ในมือของโรงพยาบาลจึงเริ่มไม่พอ ซึ่งวิโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่า ‘อาจจะ’ มีการดึงวัคซีนตามในระบบมาทดแทนให้คนให้คนในระบบอุปถัมภ์ส่วนนี้ก็เป็นได้ จนเกิดเป็นระบบวัคซีน VIP

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วิโรจน์ยกตัวอย่างกรณีการจองคิวฉีดวัคซีนของระบบประกันสังคม ที่นายจ้างส่งชื่อลูกจ้างในระบบประกันสังคม ม.33 เข้ามาเป็นหลักพัน แต่ถึงวันจริงมีคนมาฉีดแค่หลักร้อย ซึ่งเขาคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการลงทะเบียนฉีดวัคซีนซ้ำซ้อน ลูกจ้างบางคนอาจจะใช้สิทธิ์ฉีดวัคซีนกับระบบอื่นแล้ว จึงไม่มารับวัคซีนตามที่นายจ้างจองให้ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการจัดการฐานข้อมูลที่ไม่เป็นระบบ

“อย่าไปโทษประชาชนนะ คนที่อยากฉีดวัคซีน เขาก็ต้อลงทะเบียนทุกช่องทางที่มี แล้วช่องทางเหล่านั้นก็ไม่ใช่ช่องทางเถื่อน มันเป็นช่องทางที่รัฐจัดให้ทั้งสิ้น ฉะนั้นอย่ามาโทษประชาชนว่าฉีดแล้วทำไมไม่ไปยกเลิก โดยสามัญสำนึกแล้ว ทุกคนเข้าใจว่าการออกแบบฐานข้อมูลต้องเชื่อมโยงกัน คือมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คุณจะออกแบบการทำงานฐานข้อมูลชุดเดียวกัน แต่ให้การจัดการฐานข้อมูลทั้งหมดเป็นอิสระต่อกัน มันก็มั่วสิครับ มันก็เละตุ้มเป๊ะสิครับ” วิโรจน์ กล่าว

“ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปรับรู้ เพราะนี่มันคือสามัญสำนึกของคนที่ออกแบบฐานข้อมูลอยู่แล้ว มันไม่ใช่ภาระของประชาชนที่ต้องไปยกเลิก ถ้าคุณออกแบบระบบฐานข้อมูลให้เป็นระบบแมนวล (manual) ฉีดแล้วต้องไปยกเลิกเองแบบนี้ ผมคิดว่ามันเป็นการออกแบบระบบที่โง่เขลาที่สุด ถ้าคุณไปถามคนที่ทำงานวิศวกรรมออกแบบระบบ เขาห้ามทำแบบนี้เลยนะ” วิโรจน์ กล่าว

แก้ปัญหา ‘วัคซีน VIP’ ด้วยการแก้ระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลใหม่

วิโรจน์ กล่าวว่า การทำระบบฐานข้อมูลวัคซีนให้เชื่อมโยงทั้งหมดจะช่วยให้ ศบค. หรือกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางสามารถมองเห็นข้อมูลการกระจายวัคซีนในภาพกว้าง และสามารถตรวจสอบสต็อกวัคซีนตามจุดฉีดต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้บริการจัดการวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการกั๊กวัคซีนให้กับกลุ่มคน VIP

“เราต้องเซ็ตซีโร่ (Set Zero) ตั้งต้นกันใหม่ อย่าทำให้ปัญหามันยุ่งเหยิงไปกว่านี้” วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ อธิบายหลักการจัดการสต็อกโดยทั่วไปแบบเข้าใจง่ายๆ ให้ฟังว่า ร้านค้าต้องมีการตรวจนับสินค้าในสต็อก และถ้าพบว่ายอดสั่งซื้อมีมากกว่าจำนวนสินค้าในคลัง สิ่งที่ร้านค้าทำคือการแจ้งลูกค้าล่วงหน้าว่าต้องรอสินค้าหรือขอเลื่อนการจัดส่ง ไม่ใช่รอให้ถึงวันส่งมอบ แล้วค่อยมาบอกลูกค้าหน้างานว่าไม่มีสินค้า แน่นอนว่าลูกค้าต้องไม่พอใจ การตรวจนับสต็อกเป็นสิ่งที่เจ้าของร้านคำนวณล่วงหน้าได้และเป็นหลักหารพื้นฐานในการบริการจัดการ

หากมีการจัดการฐานข้อมูลที่ดี เมื่อเกิดปัญหาวัคซีนไม่พอก็สามารถเลื่อนฉีดวัคซีนได้อย่างเป็นระบบ และสามารถชี้แจงต่อประชาชนได้อย่างตรงไปตรงมา ลดเวลาตรวจสอบทีละจุดทีละขั้นตอน ต่อให้กระทบการฉีดวัคซีนทั้งระบบ แต่อย่างน้อยก็จะทำให้การนัดหมายผ่านระบบหมอพร้อมมีความน่าเชื่อถือ และช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่หน้างาน

[ประชาชน]เสี่ยงด้วยชีวิต เสี่ยงด้วยปากท้อง เสี่ยงด้วยชีวิตของคนที่เขารักหรือคนในครอบครัว ท่านนายกฯ จะบอกว่าให้มาเสี่ยงกับผมโดยไม่บอกข้อมูลแบบนี้ไม่ได้เลยนะ แล้วใครจะไปเสี่ยงกับคุณ

“ถ้าคุณประกาศเลื่อน ประชาชนอาจจะต่อว่าคุณ คุณก็ต้องโค้งคำนับ ขอโทษด้วยใจ แล้วสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก จะบริหารจัดการให้ดี และในกรณีที่ต้องเลื่อนอีก คุณก็เลื่อนในระบบหมอพร้อม แล้วชี้แจงประชาชนไปสิว่ามันเกิดจากอะไร หรือหากต้องการระดมวัคซีนในสต็อกมาฉีดในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก คุณก็มีเหตุผล ก็บอกประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อยไปสิว่าเพราะอะไร ผมว่าประชาชนรับฟังได้ แต่การเลื่อทุกครั้งต้องมีวันนัดหมายใหม่และมีเหตุผล ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนไปยืนช็อกที่หน้างาน หรือประกาศตอน 5 ทุ่มแบบไทยร่วมใจว่าเลื่อนฉีด แบบนี้มันสะท้อนการจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพ” วิโรจน์ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดประเทศ 120 วันภายใน 14 ต.ค. ทำได้ ถ้าจัดการดี

วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าตนเชื่อว่าศักยภาพในการฉีดวัคซีนและการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีสูงมาก ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 500,000 โดสสามารถทำได้หากประเทศเรามีวัคซีนเพียงพอ มีการกระจายและจัดการฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกหักทอนจากระบบ VIP จนทำให้สต็อกวัคซีนรวนไปหมด หาก “เซตซีโร่” แล้วบริหารจัดการวัคซีนให้ดี ตนเชื่อว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครบและเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 14 ต.ค. ที่จะถึงนี้ นับจากวันที่นายกฯ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (30 มิ.ย. 2564)

พร้อมกันนี้ วิโรจน์ ยังฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าให้เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ทั้งจำนวนและแผนการกระจายวัคซีนอย่างตรงไปตรงมาที่สุด รวมถึงต้องเปิดเผยสัญญาที่รัฐบาลทำไว้กับบริษัทแอสตราเซเนกา ไม่ใช่พูดลอยๆ ว่าขอให้ประชาชนรับความเสี่ยงไปกับตัวเอง

“ท่านายกฯ บอกว่าอยากให้ประชาชนแบกรับความเสี่ยงไปด้วยกัน ถ้าใครเป็นนักลงทุนจะรู้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง และเขาจะพูดคำว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนก่อนการตัดสินใจผ่านหนังสือชี้ชวน’ ขนาดลงทุนด้วยเงินยังต้องมีหนังสือชี้ชวน ยังต้องมีข้อมูลรายละเอียดแจ้งให้กับผู้ลงทุนทราบก่อนตัดสินใจแบกรับความเสี่ยงนั้น ดังนั้นการเสี่ยงในครั้งนี้ตามที่ท่านนายกฯ พูด [ประชาชน]เสี่ยงด้วยชีวิต เสี่ยงด้วยปากท้อง เสี่ยงด้วยชีวิตของคนที่เขารักหรือคนในครอบครัว ท่านนายกฯ จะบอกว่าให้มาเสี่ยงกับผมโดยไม่บอกข้อมูลแบบนี้ไม่ได้เลยนะ แล้วใครจะไปเสี่ยงกับคุณ” วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

*หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net