กองทัพพม่าสั่งปล่อยตัวนักโทษ 2,296 คน มีผู้ประท้วงและนักข่าวรวมอยู่ด้วย

กองทัพพม่าสั่งปล่อยตัวนักโทษ 2,296 คนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีนักกิจกรรมการเมืองรุ่นเยาว์ และนักข่าวหลายรายที่รายงานข่าวผู้ประท้วงได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ แดนนี เฟนสเตอร์ บก.บริหารของ ฟรอนเทียร์เมียนมายังอยู่ในเรือนจำ

สองนักข่าวที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 ประกอบด้วย เคซอนเนว่ (หน้า-ซ้าย) นักข่าว Myanmar Now และ เหย่เมียวขั่น (หน้า-ขวา) ช่างภาพข่าว ทั้งสองคนถูกจับกุมวันเดียวกัน ช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาเดียวกัน คือ มาตรา 505[a] (ที่มา Khit Thit Media)
 

1 ก.ค. 64 สำนักข่าว Myanmar Now และอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 ระบุว่า กองทัพพม่ามีคำสั่งปล่อยนักโทษออกจากเรือนจำทั่วประเทศพม่า รวมทั้งสิ้น 2,296 ราย ทั้งนี้ มีรายงานว่า นักข่าวหลายคนได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันหลายคน 

ขณะที่ Myanmar Now รายงานเพิ่มด้วยว่ามีนักโทษประมาณ 700 คน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่ง หนึ่งในนั้นมี เคซอนนเว่ นักข่าวพม่า วัย 24 ปี จากสำนักข่าว Myanmar Now หลังเธอถูกจำคุกเป็นระยะเวลา 124 วัน 

ทั้งนี้ เคซอนนเว่ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 64 ขณะรายงานข่าวการประท้วงต้านกองทัพพม่าในนครย่างกุ้ง โดยเธอถูกตั้งข้อหา ละเมิดมาตรา 505[a] ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

นอกจากนี้ ยังมีช่างภาพสื่อมวลชน เหย่เมียวขั่น จาก Myanmar Pressphoto Agency และ อ่องเหย่โก นักข่าวจาก 7 Day News ทั้งสองคนถูกจับกุมวันเดียวกับเคซอนนเว่ และถูกตั้งหาเดียวกัน 

นอกจากนักข่าว 3 คนที่ได้รายงานว่าได้รับการปล่อยตัวไปแล้วข้างต้น ทางสำนักข่าว อิระวดี รายงานเพิ่มว่า มีนักข่าวพม่าอีก 3 คนได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน ประกอบด้วย บ่านยาร์อู บรรณาธิการอิสระ โซยาร์ซาร์ตุน นักข่าวอิสระ และ เฮงปแยะซอ จากสำนักข่าว ‘Zeekwat Media’ โดยทั้งหมดถูกจับกุมในวันเดียวกับ เคซอนนเว่ เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และถูกตั้งข้อหาเดียวกันทุกคน   

 โลโก้แคมเปญ #BringDannyHome เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยเหลือแดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสหรัฐฯ ที่ถูกจับกุมที่พม่า อย่างเร่งด่วนที่สุด
 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักข่าวอีกหลายคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ หนึ่งในนั้นมี แดนนี เฟนสเตอร์ บรรณาธิการบริหาร แห่ง ฟรอนเทียร์เมียนมา ซึ่งถูกจับกุมที่สนามบินนานาชาตินครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 ขณะรอขึ้นเครื่องบินไปที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กระทรวงต่างประเทศมะกัน เรียกร้องปล่อยตัวนักข่าวสหรัฐฯ ที่ถูกจับในพม่า

ขณะที่ Myanmar Now อ้างอิงข้อมูลจากสมาชิกครอบครัวของผู้ได้รับการปล่อยตัว ระบุว่า มีนักกิจกรรมการเมืองรุ่นเยาว์ และนักกวีหลายคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงต้านรัฐประหาร ไ้ดรับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเห็นจากผู้สังเกตการณ์การเมืองพม่าต่อกรณีนี้ว่า เพราะเหตุใดกองทัพพม่าถึงต้องปล่อยนักโทษการเมือง 

อนึ่ง รายงานจาก โครงการข้อมูลการคุมตัวนักข่าวแห่งพม่า (Detained Journalist Information Myanmar) ซึ่งเป็นโครงการที่เก็บรวบรวมข้อมูลการคุกคามและจับกุมดำเนินคดีต่อสื่อมวลชน และสำนักข่าว เปิดเผยว่า ตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 มีนักข่าวถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น 50 ราย และเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีนักข่าวถูกตัดสินโทษข้อหา ยุงยง และชักชวนให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล หรือ มาตรา 505[a] อีก 4 ราย

ขณะที่รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ผ่านมา 5 เดือนหลังการรัฐประหาร มีประชาชนที่ออกมาประท้วงต้านกองทัพพม่าอย่างสันติ ถูกคร่าชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 883 ราย มีประชาชนถูกจับกุม 6,421 ราย อยู่ในระหว่างควบคุมตัว หรือถูกตัดสินคดีไปแล้ว 5,224 ราย และประชาชนที่กำลังหนีการจับกุมตามหมายจับของกองทัพ 1,988 ราย 

ศาลตัดสินจำคุก 2 เดือน นศ.พม่า ม.มหิดล ผู้ถูกทหารจับกุมที่บ้านเกิด

สืบเนื่องจากการรายงานข่าวของ ประชาไท เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 64 ต่อกรณี ‘ซอลินเต็ด’ นักศึกษาปริญญาโท ชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง ในสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเดินทางกลับไปทำงานวิจัยทีสิสปริญญาโท ที่บ้านเกิดเมืองพะอัน เมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยง ก่อนจะเข้าร่วมการประท้วงต้านรัฐประหาร และถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับกุมเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 

ใบหน้าของซอลินเต็ด นักศึกษาปริญญาโท ชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง (ที่มา กลุ่มเฟซบุ๊ก Free Saw Lin)
 

เหตุการจับกุมตัวนักศึกษา ม.มหิดล เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 ขณะที่เขากำลังขับรถยนต์กลับบ้านในเมืองพะอัน พร้อมกับลูกสาวของเขาวัย 4 ขวบ แต่ขณะกลับบ้าน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกให้หยุด และตรวจค้นภายในรถยนต์โดยไม่มีหมายค้น ซึ่งทหารพบเอกสารต่อต้านรัฐบาลในรถของเขา จึงทำให้เขาถูกจับกุมตัว ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 505[a] ซึ่งระบุว่า ใครก็ตามที่ให้ความคิดเห็น อันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือเผยแพร่ ‘ข่าวลวง’ หรือ ‘ปลุกปั่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้กระทำอาชญากรรมต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล’ ถือว่ามีความผิด อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี 

ต่อมา วันที่ 6 เม.ย. 64 ซอลินเต็ด ถูกนำตัวมาที่ศาลเมืองพะอันเพื่อพิจารณาคดี แต่ก็ไม่ได้ถูกพิจารณาคดีในวันนั้นเนื่องจากมีการพิจารณาคดีนักโทษเยอะมาก จนศาลไม่สามารถทำงานทันภายในวันเดียว เย็นวันเดียวกัน ภรรยาของซอลินเต็ดสังเกตุว่าตัวของซอลินเต็ดไม่ได้อยู่ในรถที่นำนักโทษกลับเรือนจำ เธอจึงพยายามไปตามหาตัวเขากับหน่วยงานต่างๆ โดยเธอไปหาทั้งที่เรือนจำ และสถานีตำรวจ ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนทราบว่าซอลินเต็ดอยู่ที่ไหน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ครอบครัวของซอลินเต็ดก็ไม่ได้ข่าวคราวของเขาอีกเลย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นศ.พม่า ม.มหิดล ร่วมชุมนุมต้าน รปห. ถูกจับไม่ทราบชะตากรรม

ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งวันนี้ (1 ก.ค. 64) จาก เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อกรณีความคืบหน้าซอลินเต็ด นักศึกษาในสถาบันฯ โดยเบญรัตน์ ระบุว่าเจอตัว ‘ซอลินเต็ด’ ที่เมืองพะอัน เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 64 แต่ก่อนหน้านี้ ช่วงเวลาที่ซอลินเต็ด หายไป เขาถูกนำตัวไปสอบสวนที่กรุงเนปิดอ นานถึง 2 สัปดาห์ โดยไม่มีการแจ้งญาติ หรือสมาชิกครอบครัวว่าทำไมต้องพาเขาไปดำเนินการสอบสวนถึงเมืองหลวง จนกระทั่งภรรยาของ ซอลินเต็ด พบตัวเขาที่เมืองพะอัน เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เบญรัตน์ ระบุถึงความคืบหน้าที่ซอลินเต็ด ถูกทางการดำเนินคดีเพิ่มว่า ขณะนี้ ซอลินเต็ด ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน ข้อหา ครอบครองรถยนต์ที่ไม่ได้มีการจดทะเบียน (รถยนต์คันเดียวกับที่ถูกทหารจับกุมเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64) ขณะที่ข้อหามาตรา 505[a] ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี 

ประมวลกฎหมายอาญาพม่า มาตรา 505[a] ถือเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อเล่นงานผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับกองทัพพม่า โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ นักข่าว ตลอดจนคนดังวงการบันเทิง ที่ออกมาเรียกร้องให้สาธารณชนเข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืนจะถูกทางการตั้งข้อหา 505[a] เป็นส่วนมาก ขณะที่ไป่ต่านคูน ดาราและนายแบบชื่อดังชาวพม่าที่คนไทยส่วนใหญ่น่าจะคุ้นหู ก็ถูกกฎหมายมาตรานี้เล่นงานเช่นกัน

 

แปลและเรียบเรียง

Myanmar Now multimedia reporter among hundreds of detainees released from Insein Prison

Myanmar Junta Frees Political Prisoners and Journalists

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท