คุมเข้มแรงงานเก็บลำไย จ.เชียงใหม่ หลังมีคลัสเตอร์ COVID-19 ที่ อ.จอมทอง

คกก.โรคติดต่อเชียงใหม่ ออกมาตรคุมเข้มคนงานเก็บลำไย ให้ขึ้นทะเบียน ตรวจคัดกรอง SWAB แรงงานต่างถิ่นก่อนเข้า-ออกพื้นที่ หลังเกิดคลัสเตอร์ระบาดที่ ต.แม่สอย อ.จอมทอง เกษตรกรผู้ปลูกลำไยหวั่นแรงงานขาดแคลน


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวของศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำวันที่ 22 ก.ค 2564 ว่าจากกรณีที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ในพื้นที่ ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแรงงานรับจ้างเก็บลำไย และมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ดังนั้นทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ออกมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไย ผู้ประกอบการกิจการรับซื้อลำไย และผู้รับจ้างเก็บลำไย โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

ให้เกษตรกรชาวสวนลำไย ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานรับจ้างเก็บลำไย ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 ก.ค. 2564 โดยสามารถยื่นเรื่องผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเกษตรตำบล และให้เข้ารับการอบรม เรื่อง การเก็บลำไยคุณภาพ ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19 โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ตาม วัน เวลา และสถานที่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอได้กำหนดไว้ โดยเกษตรกรที่มีอาชีพเก็บลำไยให้รับจ้างเก็บลำไยได้เฉพาะในหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอของตนเองเท่านั้น หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานรับจ้าง ไปต่างพื้นที่ เช่น ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ให้ถือว่าเป็นแรงงานต่างถิ่น  

ส่วนแรงงานต่างพื้นที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใน จ.เชียงใหม่ จะต้องขึ้นทะเบียนแรงงานจากพื้นที่ต้นทาง ทั้งนี้เกษตรกรที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 จะได้รับเอกสารรับรองจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และได้รับบัตรประจำตัวการขึ้นทะเบียนแรงงานรับจ้างเก็บลำไยในพื้นที่ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนเกษตรกรที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามกำหนดแล้ว จะได้รับการผ่อนผันไม่ต้องตรวจหาเชื้อ

สำหรับเจ้าของสวนลำไย หรือ ผู้ว่าจ้างเก็บลำไย จะต้องจ้างแรงงานที่มีบัตรประจำตัวขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น โดยเจ้าของสวนจะต้องกำกับให้ผู้รับจ้างเก็บลำไย ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด–19 อย่างเคร่งครัด หากพบเห็นว่าผู้รับจ้างเก็บลำไยมีอาการผิดปกติ เข้าข่ายต่อการติดเชื้อ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยด่วน  ทั้งนี้หากผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ จะต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังในกลุ่มคนงานเก็บลำไย โดยขอให้ผู้ประกอบการโรงรับซื้อผลไม้ (ล้ง) ผู้ประกอบการสถานที่คว้านลำไย เจ้าของสวนลำไย จัดทำรายชื่อผู้รับจ้างงาน ทะเบียนผู้มาใช้บริการ และเลขทะเบียนรถรับส่งสินค้า พร้อมแจ้งรายชื่อคนงานเก็บลำไยในสังกัดให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อส่งมอบให้แก่สาธารณสุขอำเภอ เพื่อนำไปตรวจคัดกรอง (SWAB) ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ

ในการนี้ให้เกษตรอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ เจ้าพนักงานควบคุมโรค จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองตามมาตรการ D-M-H-T-T แก่ผู้ประกอบการและคนงานเก็บลำไย เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ แรงงานที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น ๆ ต้องกรอกข้อมูลในระบบ CM-CHANA ก่อนเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง จากนั้นให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ ส่วนกลุ่มที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด รวมถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (SWAB) ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ และกักตัวจนครบ 14 วันก่อนเข้าทำงานทุกราย

นอกจากนี้ขอให้ทุกอำเภอกำหนดมาตรการเข้า-ออก พื้นที่ของคนงานเก็บลำไย โดยจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ SWAB แล้วเท่านั้น ถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้า-ออก พื้นที่ได้

Cluster ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่


ณ วันที่ 22 ก.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน Cluster ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วจำนวน 66 คน

ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมามีรายงานข่าวว่ามีชาวแม่ฮ่องสอน 3 ราย ที่เข้ามารับจ้างเก็บลำไยทั้งครอบครัวจำนวน 6 คน ที่ ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เริ่มแรกพบผู้มีผลบวก 3 คน เพราะทีมโควิดชุมชน ต.แม่สอย สังเกตเห็นว่ามีอาการป่วยคล้ายกับโรคไข้หวัดติดต่อกันหลายคน จึงแจ้งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่งไปตรวจหาเชื้อและเริ่มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นมีลักษณะเป็น Cluster

ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค. 2564 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกคำสั่ง 2 คำสั่ง คือ คำสั่งที่ 82/2564 และ คำสั่งที่ 83/2564 เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว สืบเนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจอมทอง รายงานผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ในลักษณะกลุ่มก้อน ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ อ.จอมทอง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงออกคำสั่ง ดังนี้ 

1. ให้ปิด ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 14 วัน และให้บ้านขุนแปะ หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง เป็นพื้นที่ควบคุมการเดินทางเข้า-ออก

2. ขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ งดการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค

3. ขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่ ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ งดการเดินทางออกนอกหมู่บ้าน และให้อยู่ในเคหสถาน งดทำกิจกรรมรวมกลุ่มโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลดการเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค

4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอจอมทอง ดำเนินการจัดระเบียบ ระบบและควบคุมติดตามผู้ที่เดินทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ในตำบลแม่สอย สำหรับบ้านขุนแปะ ผู้ที่จะเดินทางเข้า- ออกจะต้องได้รับอนุญาตจากกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ดังกล่าว

5. ให้นายอำเภอจอมทองในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอจอมทองและเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่ออำเภอจอมทอง กำกับและควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย     

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2564 ถึงวันที่ 1 ส.ค. 2564

ทั้งนี้ข้อมูลจากสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ พบว่า ณ วันที่ 22 ก.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน Cluster ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วจำนวน 66 คน

เกษตรกรภาคเหนือหวั่นช่วงเก็บเกี่ยวลำไย ก.ค.-ก.ย. 2564 แรงงานขาดแคลน

เกษตรกรผู้ปลูกลำไยรายหนึ่งใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่าการออกข้อบังคับเข้มงวดของจังหวัด ยิ่งจะทำให้การหาแรงงานมาเก็บลำไยยากขึ้นโดยเฉพาะผู้ปลูกลำไยรายใหญ่ ปีที่แล้วเมื่อโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ก็หาแรงงานยากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก 

เพราะโดยปกติในรอบหลายปีมานี้เกษตรกรนิยมใช้แรงงานชาวไทยภูเขาซึ่งค่าแรงจะต่ำกว่าแรงงานพม่าหรือไทใหญ่ แต่พอมีโควิด-19 เมื่อปี 2563 ชาวไทยภูเขาเองก็ไม่กล้าออกจากพื้นที่ มาปีนี้หากจะหาทั้งแรงงานชาวไทยภูเขา หรือแรงงานชาวพม่าและไทใหญ่ ก็น่าจะยากขึ้นไปอีก รวมทั้งมาตรการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ก็จะทำให้แรงงานขาดแคลนหนักกว่าเดิม ส่วนในรายเล็กก็ใช้แรงงานในครอบครัวที่เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้วไม่น่าได้ผลกระทบอะไร ผู้ปลูกลำไยรายใหญ่ก็คงต้องจำใจจ้างแรงงานในพื้นที่ที่มีค่าแรงสูง

"แรงงานจากบนดอยเขาก็ไม่กล้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว จะหาแรงงานพม่าไทใหญ่ก็เข้าพื้นที่ยาก เพื่อนบ้าน อสม. ผู้ใหญ่บ้านจับตาอยู่ แรงงานจึงขาดแคลนแน่ แต่รายเล็กคงไม่ได้ผลกระทบอะไรเพราะเก็บกันในครอบครัว ส่วนรายใหญ่คงต้องจ้างคนในพื้นที่แทนคนข้างนอก ค่าจ้างแพงหน่อย แต่ก็เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย" เกษตรกรผู้ปลูกลำไยรายหนึ่งใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่

ด้านเกษตรกรผู้ปลูกลำไยอีกรายที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ระบุถึงสถานการณ์ในพื้นที่และให้ข้อสังเกตว่า เกษตรกรหลายรายไม่ได้ลงทุนใส่ปุ๋ย ใส่สารเร่งลำไยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2563) อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์โควิด ตนเองมีลำไยอยู่ที่บ้านไม่กี่ต้นก็ไม่ได้ดูแลมากนัก เพราะยังกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 

"ไปทำงานในตัวเมืองเป็นหลัก ลำไยที่บ้านไม่ค่อยได้ดูแล เพราะปีที่ผ่านมาจนมาถึงปีนี้สถานการณ์โควิดรุนแรง ถ้าจะลงทุนใส่ปุ๋ยใส่สาร ก็กลัวจะไม่คุ้ม ไม่รู้จะขายได้ไหม จะมีคนรับซื้อไหม" เกษตรกรผู้ปลูกลำไยรายหนึ่งใน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ กล่าว

อนึ่งข้อมูลจากเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าสถานการณ์การผลิตและการเก็บเกี่ยวลำไย ปี 2564 ที่ให้ผลผลิตในฤดู จำนวน 260,900 ตัน ยังคงมีผลผลิตที่ไม่ได้เก็บเกี่ยว 257,692 ตัน คิดเป็น ร้อยละ 98.77 ซึ่งคาดการณ์จะมีปริมาณเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือน ส.ค. 2564 

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ จ.เชียงใหม่ ณ 23 ก.ค. 2564 จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 35 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 (ระลอกเดือน เม.ย.) จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 4,974 ราย และรักษาหายแล้ว 4,273 ราย

ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 652 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลสนาม 332 ราย โรงพยาบาลรัฐ 207 ราย โรงพยาบาลเอกชน 111 ราย โรงพยาบาลต่างจังหวัด 2 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 20 ราย

ผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 506 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 115 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 29 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 2 ราย โดยในวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 29 ราย

ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้มีผู้ประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 815,837 คน คิดเป็นร้อยละ 68 ของเป้าหมายประชากร 1,200,000 คน ซึ่งมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 216,368 คน รวมจำนวน 303,647 โดส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท