Skip to main content
sharethis

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้โครงการ 'ม.33 เรารักกัน' ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ระบรัฐธรรมนูญห้ามเลือกปฏิบัติเฉพาะเชื้อชาติ ไม่รวมถึงสัญชาติ ด้าน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สวนผู้ตรวจการแผ่นดินปราศจากการยึดโยงกับหลักการสากล ขณะที่โควิด-19 มีผลกระทบต่อพลเมืองทุกคนภายใต้บังคับของรัฐไทย ย้ำต้องดูแล เยียวยา ฟื้นฟู จากผลกระทบจึงต้องได้รับการดูแลจากรัฐโดยเท่าเทียม

29 ก.ย. 2564 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือแจ้งแก่แรงงานข้ามชาติโดยระบุว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เหตุห้ามเลือกปฏิบัติเฉพาะเชื้อชาติ มิใช่สัญชาติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและตัวแทนแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยของผู้ได้รับสิทธิตามโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่กีดกันสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประกันสังคมตามมาตรา 33 

นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังได้มีหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ดังนี้

  1. ตรวจสอบและเสนอแนะต่อกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้น เป็นการขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย หรือไม่
  2. เสนอแนะให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรียกเลิกเงื่อนไขการกำหนดการเยียวยาในโครงการดังกล่าวเฉพาะผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินส่งกลับมาถึงแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นโดยสรุปดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล โดยห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุผลความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ฯลฯ

โดยที่คำว่า “เชื้อชาติ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “น. ผู้ที่ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน” ส่วนคำว่า “สัญชาติ” หมายถึง “น. ความเกิด, การเป็นขึ้น, ความอยู่ในบังคับ คือ อยู่ในความปกครองของประเทศชาติเดียวกัน, (กฎ) สถานะตามกฎหมายของบุคคลที่แสดงว่าเป็นพลเมืองหรือคนในบังคับของประเทศใดประเทศหนึ่ง”

จะเห็นได้ว่าการถือสัญชาติเป็นสิ่งบ่งชี้ให้ทราบในทางกฎหมายถึงสถานะของบุคคลนั้นๆ ว่ามีความเกี่ยวพันหรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่ง อันก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ในฐานะพลเมืองของรัฐนั้น การมีสัญชาติย่อมก่อให้เกิดความผูกพันในทางกฎหมายกับรัฐที่ตนถือสัญชาติโดยมีทั้งสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด อันมีความแตกต่างจากบุคคลที่ถือสัญชาติของรัฐ  ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “เชื้อชาติ” ที่หมายถึงลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของคนที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดและแสดงออกในลักษณะของพันธุกรรม รูปลักษณ์ทางกาย สีผิว เส้นผม นัยน์ตา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมดำเนินการโครงการ “ม.33เรารักกัน” ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น กรณีนี้จึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติและมิได้ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลดังที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างแต่อย่างใด

การดำเนินการโครงการ “ม.33เรารักกัน” ตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้

ขณะที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาชี้ว่า ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินปราศจากการยึดโยงกับหลักการสากล อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อพลเมืองทุกคนภายใต้บังคับของรัฐไทย และการดำเนินนโยบายในลักษณะที่เป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมีผลต่อพลเรือนทุกคนจากการใช้มาตรการของรัฐ ดังนั้นการดูแล เยียวยา ฟื้นฟู จากผลกระทบจึงต้องได้รับการดูแลจากรัฐโดยเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net