Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' ร่วมวงเสวนาคลับเฮาส์ หัวข้อ "45 ปี 112" เล่าเส้นทาง 10 ปีแห่งการรณรงค์แก้ไข ม.112 จากคดีอากงในนามนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ สู่ฐานะนักการเมืองร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ และการเคลื่อนไหวในนามคณะก้าวหน้า ชี้ ถ้าไม่ปฏิรูปตั้งแต่วันนี้ อนาคตอาจเสียหายมหาศาล

 

5 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (5 ต.ค. 2564) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมวงเสวนาออนไลน์หัวข้อ "45 ปี 112" จัดโดยกลุ่ม Active Citizen (พลเมืองตื่นรู้) ในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) และบันทึก 6 ตุลา โดยมีการเล่าถึงเส้นทางการรณรงค์ตั้งแต่สมัยเป็นนักวิชาการกับกลุ่มนิติราษฎร์ จนเปลี่ยนบทบาทเป็นนักการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ จวบจนถึงการเคลื่อนไหวต่อหลังจากถูกยุบพรรค

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่า สภาพปัญหาของการใช้ ม.112 นั้นน่าจะเป็นที่เห็นชัดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขให้มีโทษเพิ่มขึ้น และการใช้อย่างกว้างขวางและไม่มีมาตรฐาน ซึ่งจะพบว่าการใช้งาน ม.112 เป็นปฏิกิริยากับการเมืองในช่วงหนึ่งๆ เช่น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่คณะรัฐประหารมีการเพิ่มโทษเป็น 3-15 ปี ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก และมากกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก หลังรัฐประหาร 2549 และการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ก็มีการใช้ ม.112 เพิ่มขึ้น มีผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิตในคุก ก็คือ 'อากง' และล่าสุดมีการใช้ใหม่หลังเหตุการณ์ต่อเนื่องของการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ที่แม้แต่เด็กอายุ 12-13 ก็ถูกแจ้งความดำเนินคดี

ม.112 จึงสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองและคลื่นความคิดของประชาชนที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ จึงต้องมีการใช้กฎหมายแบบนี้มาตลอด ตอนที่เป็นนักวิชาการก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักวิชาการรุ่นก่อนว่า เวลาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องกฎหมายมหาชนสำหรับประเทศไทย จะยกเว้นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ ในฐานะที่เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญ และในฐานะประมุขแห่งรัฐ ดังนั้น อะไรที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยก็ต้องพูดได้ ภายใต้กรอบที่ประเทศนี้อนุญาต ก็คือยังเป็นราชอาณาจักรอยู่

ปิยบุตรเล่าต่อไปว่าสมัยนั้นรณรงค์ยากมาก เพราะความรู้สึกของประชาชนยังไม่ไกลถึงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับเรื่องรัชสมัยที่ส่งผลทางความคิดต่อประชาชนคนไทย จึงเจอทั้งการถูกองว่าล้มเจ้า หาสถานที่จัดงานข้างนอกไม่ได้ เครือข่ายการเมืองและราชการไม่ได้สนับสนุนเต็มที่ การจัดงานสมัยนั้นก็มีปัญหากับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพราะโดนกดดันมาอีกที สมัยนั้นมีคนเสื้อแดงอิสระจำนวนมากที่ส่งคนมาร่วมฟังเสวนา ร่วมลงชื่อ ตอนนั้นน่าจะไปจบทีสามหมื่นกว่าชื่อ เคยเดินสายไปที่ จ.เชียงใหม่ ได้รายชื่อจากดีเจต้อยมาลังหนึ่ง ถือว่าเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายก็ตกไป และหลังสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ดีเจต้อยก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเผาสถานที่ราชการ มีโทษประหารชีวิต ต่อมาได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต และยังอยู่ในคุกที่ จ.อุบลราชธานี

ช่วงที่รณรงค์เรื่อง ม.112 เคยมีคนในแวดวงรอยัลลิสต์ที่อยู่ในรั้วในวังมาพูดว่า เข้าใจว่ามีปัญหา แต่ทำไมไม่เสนอแก้ในวงปิดลับๆ ทำไมต้องมาเข้าชื่อ ก็คิดว่าเข้าชื่อมันผิดตรงไหน เพราะกฎหมายนี้กระทบกับการใช้สิทธิเสรีภาพ การเข้าชื่อก็เป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดของอนุรักษ์นิยมในไทยว่า เขาคิดว่าถ้าเราเอา 1 แล้วจะไปอีก 10 พอมาถึงปี 2563-2564 ที่มีการดำเนินคดีด้วย ม.112 มาเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าใช้ไปเรื่อยๆ นั้นไม่ได้ ก็มาคิดย้อนหลังว่า ทำไมเขาไม่หยุด ก็เชื่อว่า เขาคงคิดว่าถ้าเราเอา 1 แล้วจะไป 10 ถ้าเข้าชื่อปฏิรูป ต่อไปก็อาจจะเข้าชื่อจนไม่มีไปเลยใช่หรือไม่

ลดเพดานเพื่องานการเมือง

ปิยบุตรเล่าต่อว่า หลังรัฐประหาร 2557 แล้วประชามติแพ้ ก็มาตั้งพรรคการเมือง คำถามหนึ่งที่ไม่เคยคุยกันเลยตอนตั้งพรรคคือเรื่องเกี่ยวกับการผลักดันแก้ ม.112 ตอนที่ตั้งพรรคก็มีข่าวมาเต็มว่าปิยบุตรและธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ที่เป็นพวกล้มเจ้าจะมาตั้งพรรคการเมือง ตอนนั้นก็เชื่อว่าตั้งได้ แต่ภายในพรรคก็มีส่งสัญญาณมาว่าไม่สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เพราะเรื่องดังกล่าว ก็ถือว่ามีปัญหาอยู่ อย่างในภาคใต้คือเดินงานไม่ได้เลย วันนั้นก็ปรึกษาหารือกัน แล้วก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเป็นการกลืนเลือดครั้งใหญ่ ถ้าให้คิดย้อนหลัง ข้อผิดพลาดที่มีก็คือเรื่องนี้ เป็นข้อผิดพลาดส่วนบุคคล เพราะตอนนั้นไม่มีความจำเป็นจะต้องบอกว่าจะไม่ทำ เงียบๆ ไปก็ได้ หนีไปเรื่อยๆ ก็ได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงขนาดนั้น

เมื่อเข้าไปในสภาได้ก็เรื่องใหญ่อีก บรรยากาศในตอนนั้น ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยนั้นไม่มีปัญหาต่อกัน เพราะพอจะรู้จักกันมาก่อน แต่ซีกรัฐบาลนั้นพบว่ามีความกังวลมาก เคยมี ส.ส. คนหนึ่งจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ตอนนี้ก็หลุดจากสถานภาพ ส.ส. ไปแล้ว มานั่งคุยแสดงความกังวล ก็ได้ใช้เวลานานมากเพื่อจะบอกว่าเราสามารถทำงานร่วมกันได้ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีเกร็ดอีกเรื่อง ปกติตอนที่อภิปรายนั้น เวลาพูดคำว่าระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ได้จริงจังกับการใส่คำว่า "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีกษัตริย์ เพราะประเทศนี้เป็นราชอาณาจักรอยู่แล้ว จึงไม่พูดให้ซ้ำซ้อน แต่กลายเป็นว่าพอจะพูดคำนี้ก็จะจับตากันว่าทำไมไม่พูด จะได้สร้างความปลอดภัยให้ตัวเองและเพื่อน สุดท้ายก็ตัดสินใจพูด ก็ต้องการอธิบายว่าสิ่งที่พวกคุณคิดว่าเราเข้ามาจะล้มล้างนู่นนี่ ไม่ใช่ เราต้องการเข้ามาจัดการเรื่องความเป็นประชาธิปไตยต่างๆ แต่พอพูดแล้ว เพื่อนๆ ก็มาจับไม้จับมือว่าอาจารย์ยอมพูดแล้ว เรารอดแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่รอด

สุดท้ายก่อนที่จะชะตาจะขาด ก็มีวาระที่สภาต้องพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพเป็นของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นก็เตรียมเนื้อหามามาก ว่ามันไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยอย่างไร เมื่อกรอเทปจะเห็นว่าตอนจะพูด ประธานพยายามขัดมาก ก็เลยไม่ได้พูด เลยสรุปด้วยคำว่า "ปกเกล้า ไม่ปกครอง" วันนั้นก็สำเร็จระดับหนึ่งตรงที่เสียงโหวดเป็นเอกภาพ ถ้าให้ประเมินย้อนหล้ง เพื่อนหลายคนที่ตัดสินใจไม่ไปต่อกับเราก็คงเพราะเรื่องนี้ น่าจะเหมือนสมัยพรรคพลังประชาชน ที่มีการย้ายออกเพราะมีคนโทรไปถามว่า คุณรู้ไหมคุณสู้อยู่กับใคร ตนเข้าใจว่าหลายคนไม่ได้อยากเป็นงูเห่า แต่พอมีแรงเสียดทานเรื่อยๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลง

ชวนพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ให้เป็นปกติ

ปิยบุตรมองว่า ไม่ว่าตนจะถอยอย่างไร กลุ่มรอยัลลิสต์สุดโต่งก็คงไม่เชื่อถือ ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนขนาดนี้ คิดว่าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาดีกว่า ตอนที่อยู่ปารีสก็มานั่งคิดว่า สุดท้ายถ้าเราจะประคับประคองทุกอย่างไปหมดโดยไม่ชัดเจนกับอะไรสักอย่าง เราจะไม่ได้อะไรเลย ในเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ส่วนตัวก็มีทักษะการอภิปรายต่างๆ ทั้งนี้ ส่วนตัวก็ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ต่อให้วันหนึ่งล้างกันได้ก็ไม่คิดเรื่องการเมืองในสภาแล้ว แต่มีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้ไปต่อได้ ได้มีบทบาททางการเมืองและการบริหารประเทศต่อได้ คนรุ่นตนควรทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อให้พวกเขาได้ขึ้นมามีบทบาทในประเทศนี้ จึงคิดว่าจะปวารณาตัวเองในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนหน้านี้เคยเสนอร่างหมวด 2 แล้ว หรือเรื่องกฎหมายอื่นๆ ไม่ว่าการแก้ ม.112, พ.ร.ก. โอนกำลังพลฯ หรือ พ.ร.บ.การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถ้าตราบใดก็ตามสถานะของกษัตริย์ยังเป็นแบบนี้ และยังมีรัฐบาลแบบประยุทธ์ จันทร์โอชา มันจะจบไม่ลง จะปะทะกันแบบนี้ตลอด และไม่รู้จะไปจบกันแบบไหน ส่วนตัวคิดว่าคงเสียหายมหาศาลแน่ เหตุใดจึงไม่แก้ตั้งแต่วันนี้ ยอมรับว่าช้างตัวนี้เปิดออกมาหมดแล้ว ไม่มีอะไรปกคลุมอีกแล้ว

วัยรุ่นหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ส่วนตัวเห็นว่า ถ้ายังอยากรักษาสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องปฏิรูปตอนนี้ ถ้าไม่เปลี่ยนเลย กลัวว่าวันหนึ่งจะไปถึงจุดที่สังคมไทยไม่เคยเห็นมาก่อน การชุมนุมของราษฎรได้ทำให้เรื่องสถาบันกษัตริย์กลับมาพูดอย่างเปิดเผย แต่พอโดนนิติสงครามบดขยี้ ข้อสามก็หายไปจากที่สาธารณะ ความกล้าของคนรุ่นใหม่จะถูกบดขยี้ด้วยคดีความจนไม่สามารถแสงออกได้ แล้วก็จะหายไปกับกาลเวลา คำถามว่าจะทำยังไงให้กลับไปเท่าเดิม ก็ต้องช่วยกันพูดต่อ นักวิชาการ บุคคลสาธารณะในสภาอาจจะต้องพูดกันมากขึ้นด้วยทักษะแบบที่เรามี เราพูดในลักษณะที่คนละสไตล์กับเยาวชนพูดก็จะช่วยยกระดับในการพูดได้ต่อ การรณรงค์เรื่องแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดตอนนี้ คือ การเข้าชื่อยกเลิก ม.112 พร้อมกับความผิดฐานดูหมิ่นกษัตริย์ ประมุขรัฐต่างประเทศ ผู้พิพากษา หรือนักการทูต ให้เลิกไปพร้อมกันเลย ซึ่งสมัยนี้ก็เข้าชื่อออนไลน์ได้แล้วด้วย

เรื่องปฏิรูป เคยโพสต์หลายครั้งว่าจะสำเร็จได้ สุดท้ายสถาบันฯ ต้องเอาด้วย และรัฐบาลต้องเอาด้วย องคาพยพอนุรักษ์นิยมจะต้องเอาด้วย ด้านหนึ่งก็หวังว่าคงไม่ต้องคุยในที่ลับ มีรอยัลลิสต์หลายคนที่ไม่ใช่หน้ามืดตามัวและเห็นปัญหาเรื่องนี้อยู่ อย่างเรื่อง ม.112 หรือเรื่องทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในวงข้าว วงกาแฟพูดกันหมด แต่ในที่สาธารณะไม่คุยกัน ถ้าคนกลุ่มนี้ออกมาพูดก็จะช่วยได้เยอะ อารมณ์และน้ำเสียงกรพูด (mood and tone) เป็นเรื่องสำคัญในการคุยเรื่องข้อสาม น้ำเสียงในแบบอื่นควรช่วยขยับให้มากไปกว่าที่คนรุ่นใหม่กำลังพูด ไม่เช่นนั้นจะมีคนไม่กี่กลุ่มที่พูดแล้วก็จะถูกกีดกันไปชายขอบในที่สุด จึงควรช่วยกันพูดเรื่องสถาบันให้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามีกลุ่มรอยัลลิสต์ที่พูดเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์มาก หรือถ้าเป็นพรรคการเมืองก็อาจจะต้องให้มีสัญญาณบางอย่างถึงจะยกมือ ความยากคือ รัฐบาลที่นำโดยประยุทธ์นั้น คนแบบนี้ไม่มีทางเห็นปัญหาข้างต้น ถ้านายกฯ ยังชื่อประยุทธ์ ยังไงก็ไปไม่ถึงข้อสามแน่นอน เหมือนสมัยที่รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรเปลี่ยนเป็นรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ แล้วจึงมีการอะลุ่มอล่วยขึ้น ส่วนตัวคิดว่าการใส่คดีเรื่อยๆ คงจบด้วยการนิรโทษกรรม เพียงแต่ไม่รู้จะจบตอนไหน การจบแบบนี้หมายความว่าฝ่ายชนชั้นนำต้องคิดว่าไปต่อแบบนี้ไม่ได้ ต้องเริ่มต้นกันใหม่

เลขาธิการคณะก้าวหน้ากล่าวปิดท้ายว่า ปีหน้าจะครบ 10 ปี (การรณรงค์แก้ไขมาตรา 112) การเอากฎหมายเข้าสภาทำได้ 2 ทาง คือ ประชาชนเข้าชื่อ หรือ ส.ส. เสนอ เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปที่เห็นฉันทามติพอสมควรก็คือเรื่อง ม.112 ปีหน้าถ้าครบ 10 ปี น่าจะกลับมาหาทางรณรงค์กัน มองว่าเป็นการรณรงค์ระยะยาว ไม่ต้องกำหนดวันปิด รณรงค์ไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้ประเด็นอยู่ในพื้นที่สาธารณะตลอดและเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net