Skip to main content
sharethis

ขณะที่ในวันที่ 13 ต.ค. ประชาชนชาวไทยกำลังรำลึกถึงการจากไปของรัชกาลที่ 9 วันดังกล่าวยังเป็นวันลดภัยพิบัติสากลตามมติขององค์การสมัชชาแห่งสหประชาชาติด้วย โดยวันนี้มีขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยง และการลดความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติในระดับโลก

เนื่องในโอกาสดังกล่าว เพจเฟซบุ๊กของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าได้โพสต์จัดกิจกรรมใส่ชุดพื้นเมือง มือซ้ายชูสามนิ้วและมือขวาทาบไว้ที่อกซ้าย พร้อมโพสต์ข้อความติดแฮชแท็ก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่าประเทศพม่าไม่ได้เผชิญกับเพียงภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเผชิญกับภัยพิบัติจากน้ำมือของมนุษย์อันได้แก่อำนาจของระบอบเผด็จการทหารด้วย

สำหรับข้อความจากโพสต์ของเพจรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าที่ประกาศล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2564 มีรายละเอียด ดังนี้

“เมียนมาขณะนี้กำลังเผชิญกับภาระเกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติถึง 3 อย่าง ได้แก่ พายุ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว ซ้ำยังต้องเผชิญกับโรคระบาด และการรัฐประหารซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติการทางมนุษยธรรมอย่างร้ายแรงภายในประเทศ สถานการณ์นี้สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนที่เปราะบางและถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบอย่างมาก นอกจากนี้ ปฏิบัติการกวาดล้างทั่วประเทศยังบีบให้ประชาชนหลายพันคนต้องพลัดถิ่นในประเทศของตนเองด้วย”

“จากวิกฤติการณ์ที่ประกอบกันเหล่านี้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนและความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและถูกทำให้พลัดถิ่นโดยความขัดแย้งทางการทหารโดยเฉพาะในพื้นที่ชาติพันธุ์ต่างๆ เราจึงคิดการรณรงค์สาธารณะนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติจากน้ำมือของมนุษย์”

“เนื่องในวันที่ 13 ต.ค. เป็นวันลดภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Reduction) หรือเรียกย่อๆ ว่าวันดีดีอาร์ เราขอแสดงความระลึกถึงและห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วยการสวมใส่ชุดพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และวางมือขวาบนหัวใจของเราเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมนุษยชาติ ส่วนมือซ้ายชูสัญลักษณ์สามนิ้วเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ

ดังนั้น เราจึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านเข้าร่วมในการรณรงค์ครั้งนี้ด้วยการเขียนข้อความสั้นๆ เกี่ยวกับชุดพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ของท่าน เขตชาติพันธุ์ที่ท่านพูดถึง วิธีการที่ท่านจะยืนหยัดร่วมกันกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบและประเด็นอื่นๆ บนโซเชียลมีเดีย

โปรดใช้แฮชแท็กเหล่านี้พร้อมกับข้อความของท่าน

#OnlyTogether

#DRRDay2021Myanmar

#StopManmadeDisasterinMyanmar

ต้องร่วมมือกันเท่านั้น เราจะช่วยโลกนี้ได้ !

ต้องร่วมมือกันเท่านั้น เราจะได้ประชาธิปไตย !”

หลังเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ในวันที่ 13 ต.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าได้โพสต์รูปภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยจัดเสวนาออนไลน์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

การรณรงค์วันลดภัยพิบัติสากลโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า

การรณรงค์วันลดภัยพิบัติสากลโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า

ในวันเดียวกัน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าโพสต์ข้อมูลด้วยว่า งบประมาณกว่า 1.5 พันล้านจ๊าด (หรือประมาณ 26 ล้านบาท) ของกระทรวงกิจการด้านมนุษยธรรมและบริหารจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่านั้น กว่า 95% ถูกนำมาใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคณะรัฐประหาร และมีเพียง 5% เท่านั้นที่ถูกใช้ไปเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ หากไม่มีการยึดอำนาจเกิดขึ้น เงินดังกล่าวคงถูกใช้ไปกับการสร้างระบบรับมือภัยพิบัติได้มากขึ้น

“นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างว่าผู้มีอำนาจสามารถสร้างกระทบต่อการลดภัยพิบัติได้อย่างไร” เพจเฟซบุ๊กรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่ากล่าว

ภัยพิบัติทางธรรมชาติในพม่า

พม่าเป็นประเทศที่มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่เปราะบางต่อภัยทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพายุไซโคลน น้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว และสึนามิ จากข้อมูลของ OCHA หรือสำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติ พบว่ามีเหตุการณ์ภัยพิบัติสำคัญๆ ดังนี้

  • พ.ค. 2551 พายุไซโคลนนาร์กีสส่งผลให้ในพม่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 140,000 คน และอีก 2.4 ล้านคนต้องสูญเสียบ้านและวิถีชีวิตไปทั้งหมดหรือบางส่วน
  • มิ.ย. 2553 เหตุการณ์น้ำท่วมที่รัฐยะไข่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 68 คน และมีครอบครัวได้รับผลกระทบกว่า 29,000 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจนไม่อาจฟื้นฟูได้กว่า 800 หลัง
  • ต.ค. 2553 พายุไซโคลนกิริ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 45 คน ประชาชนกว่า 100,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบในรูปแบบอื่น ๆ ด้วยกว่า 260,000 คน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 20,300 หลัง และมีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 17,500 เอเคอร์ และเขตประมงอีกกว่า 50,000 เอเคอร์ที่ได้รับผลกระทบ
  • ส.ค. 2554 น้ำท่วมทั่วประเทศพม่า ทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 86,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบในด้านอื่น ๆ กว่า 287,000 คน ในเขตอิรวดีเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีผู้พลัดถิ่นกว่า 48,000 คน และมีพื้นที่ทำกิน ที่พักอาศัย ถนน และสะพานได้รับความเสียหายกว่า 136,000 เอเคอร์
  • พ.ย. 2554 แผ่นดินไหวในภาคเหนือของพม่าขนาด 6.8 ริกเตอร์ ส่งผลให้มีประชาชนถูกฆ่ากว่า 16 คน และได้รับบาดเจ็บ 52 คน นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือน 400 หลัง โรงเรียน 65 แห่ง และสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนากว่า 100 แห่งที่ได้รับความเสียหาย
  • พ.ค. 2555 พายุฤดูร้อนส่งผลให้ประชาชนกว่า 120,000 คนในรัฐยะไข่ต้องลี้ภัยไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยล่วงหน้าโดยการสนับสนุนของรัฐบาลพม่า (ที่มาจากการเลือกตั้ง) แม้พายุจะส่งผลกระทบต่อบังกลาเทศ แต่ผลกระทบต่อประชาชนในพม่านั้นค่อนข้างจำกัด

ทั้งนี้ นอกจากนี้ข้อมูลจาก OCHA ยังระบุด้วยว่าระหว่างปี 2545-2556 มีผู้ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนขนาดใหญ่ 3 ครั้งกว่า 2.6 ล้านคน มีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 500,000 คน และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 2 ครั้งกว่าอีก 18,000 คน

ภัยพิบัติจากฝีมือมนุษย์

นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว พม่ายังเผชิญกับภัยพิบัติที่ถูกมองว่ามาจากฝีมือมนุษย์ด้วย ตัวอย่างเช่น ในกรณีของพายุไซโคลนนากีสใน พ.ศ. 2551 นั้น รัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพิกเฉยต่อปัญหา และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาใน พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาในพม่าต้องลี้ภัยไปอยู่ในค่ายลี้ภัยแออัดของบังกลาเทศกว่า 750,000 คน และมีผู้ถูกฆ่าข่มขืนจากการกวาดล้างกว่า 25,000 คน

แม้อองซานซูจีจะเคยออกมาปกป้องการกระทำอันโหดร้ายของทหารเกี่ยวกับการกวาดล้างชาวโรฮิงญา แต่หลังการรัฐประหาร รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าประกาศพร้อมให้ความร่วมมือแก่ศาลโลก และจะพิจารณาแก้กฎหมายสัญชาติเพื่อรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าวในฐานะรัฐบาลอันชอบธรรม

จากข้อมูลของสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งติดตามและบันทึกเหตุการณ์จับกุมและเข่นฆ่าประชาชนโดยรัฐบาลทหารพม่า พบว่า ที่ผ่านมามีประชาชนถูกฆ่าไปกว่า 1,160 คน และมีผู้ถูกจับกุมกว่า 8,800 คนตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติไม่ได้มาจากธรรมชาติเท่านั้น แต่มาจากฝีมือของมนุษย์ก็มีเช่นเดียวกัน

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net