Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน แจ้ง ตร.ดินแดงให้มาตรวจบัตรและจับแรงงานข้ามชาติที่มายื่นหนังสือที่กระทรวง คนงานหวั่นถูกผลักดันกลับ ด้านนักปกป้องสิทธิ์เร่งช่วยเหลือ มองรัฐคุกคามสิทธิแรงงาน

 

29 ต.ค. 64 เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีตำรวจ สน.ดินแดง จับกุมแรงงานข้ามชาติ จำนวน 8 ราย เป็นชาย 4 และหญิง 4 ที่ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงาน ขณะที่พวกเขาเดินทางมายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้า เรื่อง ข้อเสนอแก้ไขปัญหาในกลุ่มแรงงานข้ามชาติระหว่างการระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 และร้องเรียนกรณีมีตำรวจรีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน

ศิววงศ์ สุขทวี สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือและปกป้องสิทธิแรงงาน ที่ไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน พร้อมแรงงานข้ามชาติ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า วันนี้สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง พาสมาชิกที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ประมาณ 50 คน มาติดตามข้อเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งยื่นหนังสือตั้งแต่เมื่อ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา และระหว่างที่แกนนำเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในห้องประชุม ก็มีโทรศัพท์จากสมาชิกที่นั่งรออยู่ที่ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงานบอกว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจบัตร และเอกสาร และก็พาตัวแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้พกเอกสารขึ้นรถตำรวจไปที่ สน.ดินแดง เมื่อแกนนำได้ทราบเรื่องดังกล่าว ก็ออกห้องประชุมทันที เพื่อไปติดตามแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุม ซึ่งตำรวจอ้างเหตุแห่งการจับกุมว่า เพราะแรงงานข้ามชาติทั้ง 8 ไม่พกบัตรมา จึงขอนำตัวไปตรวจเช็กที่สถานีตำรวจ 

ศิววงศ์ กล่าวต่อว่า การจับกุมแรงงานข้ามชาติเพียงแค่เขามาติดตามข้อเรียกร้อง ทำให้ตนรู้สึกภาครัฐไม่เป็นมิตร และไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้แรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง 

ตำรวจเข้ามาตรวจบัตรแรงงานที่กระทรวงแรงงาน

สุธิลา ลืนคำ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่ติดตามการจับกุมที่ สน.ดินแดง กล่าวถึงเหตุการณ์เพิ่มว่า ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมแรงงานข้ามชาติ มีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานคนหนึ่งใส่เสื้อ ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ มากระซิบกับทางตำรวจ หลังจากนั้น ตำรวจจึงมาขอตรวจบัตรแรงงานข้ามชาติที่มายื่นหนังสือติดตามข้อเรียกร้องที่ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงาน สุธิลา กล่าวด้วยว่า ตำรวจใช้กิริยามารยาทคุกคามคนงานข้ามชาติในการขอตรวจบัตรด้วย  

หลังจากประชาชนติดตามไปที่ สน.ดินแดง สุธิลา พบว่า แรงงานข้ามชาติผู้ถูกจับกุมถูกตำรวจยึดโทรศัพท์เพราะไม่ต้องการให้คนงานติดต่อคนข้างนอกได้ ขาดสิทธิเข้าถึงทนายความ และตำรวจกันไม้ให้ผู้ติดตามเข้าไปอยู่กับผู้จับกุมระหว่างการดำเนินการสอบสวนด้วย 

แรงงานข้ามชาติ 8 คนถูก ตร.ดินแดงไปที่ สน.

ขณะที่ผู้สื่อข่าวโทร.สอบถามต่อกรณีการจับกุมเพื่อตรวจเอกสารแรงงานข้ามชาติทั้ง 8 คน กับโสภณ แย้มชมชื่น รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ดินแดง อ้างว่ายังไม่ทราบ เพราะตำรวจยังไม่ส่งเรื่องมาให้ 

ล่าสุด เมื่อเวลา 12.57 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเพิ่มว่า ตำรวจ สน.ดินแดง แจ้งให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. มารับตัวแรงงาน 7 คน จากทั้งหมด 8 คน เนื่องจากคนหนึ่งมีเอกสาร เพื่อไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ซอยสวนพลู เพื่อทำเรื่องผลักดันกลับประเทศต้นทาง

ทั้งนี้ ระหว่างที่สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนติดตามการจับกุมที่ สน.ดินแดง ตำรวจมีการสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนถ่ายรูปในสถานีตำรวจ โดยอ้างว่าเป็นสถานที่ราชการ ขณะเวลาเดียวกัน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาขอถ่ายรูปประชาชน และตรวจบัตรแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทำให้มีข้อกังวลว่า ตำรวจอาจมีการคุกคามประชาชนหลังจากเหตุการณ์นี้ 

สุญญากาศรอมติ ครม. 28 กันยา

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รายงานผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อเวลา 13.00 น. แรงงานข้ามชาติทั้งหมดถึงสำนักงาน ตม. สวนพลูแล้ว สักพักจึงมีทนายและหน่วยงานอื่นๆ ติดตามมา มีการแยกคนงานไปที่ห้องกักเพื่อสอบสวนประมาณ 1 ชม.

ตม. เจรจาขอให้เครือข่ายแรงงานฯ ยกเลิกการระดมพลที่สำนักงาน ตม. จึงจะเริ่มเจรจา ระหว่างนั้นมีการแยกตัวคนงานออกไปโดยไม่ให้เครือข่ายแรงงานฯ หรือทนายความเข้าสังเกตการณ์ ปรากฏว่าคนงานได้เซ็นเอกสารรับสารภาพไปแล้วทั้งที่ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารอะไร เพราะคนงานทั้ง 7 รายอ่านภาษาไทยไม่ได้ และไม่มีล่ามและทนายช่วยคนงานข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า การจับกุมแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารครั้งนี้ชอบธรรมหรือไม่ เนื่องจาก มติ ครม. วันที่ 28 ก.ย. 64 ที่ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารอยู่ในประเทศไทยต่อได้ถึง 13 พฤศจิกายน 2564 แต่เจ้าหน้าที่ ตม. ระบุว่า เนื่องด้วยมติ ครม.นี้ยังไม่ได้รับการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ยังไม่มีผลบังคับใช้ในกฎหมาย และแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการคุ้มครอง

เวลา 16:00 น. ตม. เจรจาต่อรองว่าจะไม่ดำเนินคดี แต่ช่วงที่รอประกาศมติ ครม. 28 กันยา ก็ต้องทำเรื่องผลักดันส่งกลับตามกฎหมายที่มีอยู่ต่อไป ระหว่างนี้ คนงานชาวกัมพูชาที่ไม่มีเอกสารทั้ง 7 คนจะถูกนำไปกักตัวในสถานกักกันของรัฐตามมาตรการรักษาความปลอดภัยโควิด-19 ที่สโมสรตำรวจ จำนวน 14 วัน ก่อนถูกผลักดันออกนอกประเทศ จนกว่าจะมีการประกาศใช้มติ ครม. 28 กันยา ฉบับดังกล่าว โดยหากยังไม่มีการประกาศภายใน 14 วันนี้ จะต้องทำเรื่องต่ออายุชะลอการส่งกลับ

นักสิทธิมองรัฐคุกคามแรงงาน

ศิววงศ์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน กล่าวถึงการดำเนินการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ 7 คนว่า ก็จะเร่งทำเรื่องต่ออายุชะลอการส่งกลับ 

ตามที่เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเป็นคนแจ้งความจับแรงงานข้ามชาติทั้ง 8 คนด้วยตัวเอง ศิววงศ์ ระบุว่าไม่ยืนยัน แต่ทาง สน.ดินแดง ได้รับแจ้งจากกระทรวงแรงงานให้ไปตรวจบัตรแรงงานข้ามชาติที่มายื่นข้อเรียกร้อง ดังนั้น เมื่อเรื่องเกิดในพื้นที่กระทรวงแรงงาน ก็ไปได้ที่กระทรวงแรงงานต้องรับผิดชอบ

ศิววงศ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ตอนนี้ คนงานทั้ง 7 คนต้องอยู่ที่สถานกักกันของรัฐจำนวน 14 วัน แต่เราก็หวังว่าเขาจะปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนด 

“เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน คงต้องมีการเคลื่อนไหวให้รัฐมนตรีแรงงานรับผิดชอบเรื่องนี้แน่ๆ เพราะว่ามันเป็นการคุกคามแรงงาน อย่างที่จังหวัดอื่นๆ เขาเตรียมตัวแล้วว่าจะดำเนินการตามมติ ครม. แต่ทำไมกระทรวงแรงงานทำแบบนี้” ศิววงศ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ส่วนเรื่องรูปแบบคงมีการหารือก่อน และแจ้งอีกที 

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงข้อกังวลด้วยว่า หากไม่มีการประกาศมติ ครม. ฉบับเห็นชอบวันที่ 28 กันยายน 2564 หรือมีการประกาศลงราชกิจจาฯ แล้วปรากฏว่าไม่เป็นคุณกับคนงาน ก็จะต้องผลักดันส่งคนงานกลับยังประเทศต้นทาง (กัมพูชา) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net