Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จ.มุกดาหาร เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ P-MOVE ชี้การปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่มีความผิดพลาดบกพร่องเหมารวมไม่แยกแยะ ที่ประชุมมีผลสรุปให้คณะทำงานช่วยเหลือสนับสนุนดำเนินการทำแนวเขตแปลงผู้ได้รับความเดือดร้อน

 

29 ต.ค.2564 กลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จ.มุกดาหาร รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมแก่งกะเบา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ประชาชนจาก หมู่ 5,6 และ 13 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร กว่า 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลงที่ 2 จากกรณีที่หน่วยป้องกันรักษาป่า มห.1  (คำป่าหลาย) เข้าตรวจยึดพื้นที่ ตัดฟันต้นยาง พร้อมข่มขู่ไม่ให้เข้าทำกินในพื้นที่ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลงที่ 2 ท้องที่ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร

การประชุมคณะทำงานในครั้งนี้ได้มี เอกราช มณีกรรณ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร ครรชิต โล่ห์คำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) อนุลักษ์ พิกุลศรี เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมุกดาหาร นิธิโรจน์ จงจิตกิตติ์ธนา เจ้าหน้าที่ศูนย์ป่าไม้มุกดาหาร นรินทร์ อินทรีย์ หัวหน้าป้องกันรักษาป่าที่ มห.1 (คำป่าหลาย) เวช ไชยบัน กำนันคำป่าหลาย คณะทำงานช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ และชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

เอกราช มณีกรรณ์ ประธานคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ได้กล่าวถามต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าข้อมูลการตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชย์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งนายนรินทร์ อินทรีย์ ก็ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าในขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรไปมากกว่าเดิม เนื่องจากยังไม่มีแผนที่ปี 57 ที่เป็นแผนที่ป่าหลังคำสั่ง คสช.ที่ 66 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 มิ.ย 2557 ซึ่งต้องทำเรื่องขอแผนที่กับทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้

ปราโมทย์ ผลภิญโญ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะทำงานช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ได้ตั้งคำถามต่อที่ประชุมว่าในเมื่อยังไม่มีแผนที่ปี 57 ก่อนหน้านี้เอาฐานข้อมูลอะไรไปปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าจนทำให้เกิดผลกระทบ หากผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการครั้งนี้ปรากฏร่องรอยการใช้ที่ดินก่อนออร์โธสีปี 45 และอยู่ระหว่างปี 45-57 สิ่งที่เกิดความเสียหายไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร เรื่องที่ผูกพันต่อเนื่องมติ ครม. 6 พ.ย 61 ในการแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องมาจากมาตรการตามคำสั่ง 64,66 หรือแม้กระทั้งเรื่องการปลูกป่าชาวบ้านก็ขอยกเลิกให้มีการปลูกป่าที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังพิพาทเนื่องยังไม่มีกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต้องวนไปที่เดิมว่าต้องมีแผนที่ปี 57 แล้วช่วงที่ดำเนินการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ใช้หลักเกณฑ์วิธีการฐานข้อมูลอะไรดำเนินการ ไม่ว่าเรื่องของการร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าพนักงานสอบสวน การปลูกต้นไม้ การทำลายอาสินต่างๆ

“การที่จะพิจารณาดำเนินการใด ๆ ต้องมีหลักเกณฑ์ที่มาที่ไป ซึ่งใช้เงื่อนไขตามหลักเกณฑ์คำสั่งที่66/2557 ก็ต้องไปดูตามหลักเกณฑ์วิทยุสั่งการ ศปป.4 กอ.รมน. 7 ข้อ และเอามาทาบระหว่างแผนที่ออร์โธสีสองช่วง  คือ 45 กับ 57 มาทาบกับบริเวณพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการ ถ้าปรากฏร่องรอยการใช้ที่ดินทั้งก่อน 45 และ 57 เขาควรที่จะมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ แต่การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นลักษณะเหมารวมไม่แยกแยะว่าใครเป็นเกษตรกรคนยากไร้มีใครเป็นคนที่ไม่เข้าเงื่อนไขตาม ศปป.4 กอ.รมน. ซึ่งเรามีข้อมูลเบื้องต้นว่า 67 ราย ปรากฏร่องรอยการใช้ที่ดินก่อนออร์โธสีปี 45 จำนวน 17 ราย ซึ่ง 10 ราย มี ส.ป.ก.4-01 นั้นแสดงว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน แล้วอีก 7 รายไม่มีควรที่จะได้รับการผ่อนปรนให้ทำประโยชน์ตามมติ ครม.30 มิถุนายน 41 เพราะปรากฏร่องรอยออร์โธสีปี 45 ส่วนปี 45 กับ 57 มีจำนวนมากก็ต้องมาคัดกรอง แต่นี้เหมารวมกันหมด มายึดที่ยึดทาง ทำลายผลผลิตของเขา” ปราโมทย์กล่าว

ในส่วนของประเด็นเรื่องแนวทางการสำรวจตรวจสอบแปลงที่ดิน ข้อมูลราษฎรผู้เดือดร้อน แนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติของราษฎร ต.คำป่าหลาย นั้น  นายปราโมทย์ก็ได้กล่าวถามต่อที่ประชุมว่าคณะทำงานจะออกแบบแนวทางในการตรวจสอบการถือครองที่ดินของกลุ่มผู้เดือดร้อนยังไง ซึ่งมีขอพิจารณา หนึ่ง พื้นที่เป้าหมายการตรวจสอบอยู่ตรงไหน สอง จะมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขวิธีการในการตรวจสอบยังไง ซึ่งตอนนี้มีเรื่องที่ผูกพันต่อเนื่องมาหลังจากเกิดปัญหาพิพาทกันเมื่อปี 59 เป็นต้นมา เพราะมีภาระผูกพันทางคดีที่มีการไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าพนักงานสอบสวนไว้ ครั้นชาวบ้านจะไปยืนแปลงก็มีความกังวลว่าจะเป็นปัญหาในทางข้อกฎหมาย ซึ่งต้องปรึกษาหารือกันว่าจะมีมาตรการยังไงถึงจะไม่กระทบสิทธิชาวบ้านเพราะเรื่องราวข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎ

ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ได้ทำการสรุปถึงแนวทางการทำงาน 2 ประเด็น หนึ่ง การตรวจสอบการเข้าตรวจยึดตัดฟันทำลายอาสินของราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลที่ 2 ต.คำป่าหลาย เป็นไปตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ คณะทำงานฯ จะดำเนินการทำหนังสือถึง ฐิติกร เงาะปก ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินการในขณะนั้น เพื่อให้ดำเนินการชี้แจงพร้อมหลักฐานและในการประชุมคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ครั้งต่อไปให้นายฐิติกร เงาะปก เข้าร่วมประชุมเพื่อมาชี้แจง สอง ในเรื่องทางการสำรวจตรวจสอบแปลงที่ดินของราษฎรผู้เดือดร้อนมอบหมายให้คณะทำงานช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานภาคประชาชนดำเนินการทำแนวเขตแปลงของราษฎรแต่ละแปลงให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วให้แจ้งคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ เพื่อจะได้กำหนดการลงพื้นที่ดำเนินการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net