Skip to main content
sharethis

ศิษย์เก่าจุฬาเป็นเดือดเป็นแค้น เมื่อองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬา มีมติเอกฉันท์ ให้ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวในฟุตบอลประเพณี เพราะสะท้อนระบอบอำนาจนิยม คนไม่เท่ากัน เป็นภาพแทนวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ศักดินา

สำนักบริหารกิจการนิสิต ประกาศสอบสวนเอาผิดทางวินัย อ้างว่ายอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด เคารพเสรีภาพทางวิชาการ แต่ในฐานะ “สถาบันการศึกษาชั้นสูง” หากพบว่านิสิตแสดงออกมีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อบุคคลที่เป็นที่เคารพเทิดทูนสักการะของผู้อื่น ไม่เคารพต่อความเห็นต่าง หรือความเชื่อความเลื่อมใสของผู้อื่น จุฬาย่อมไม่อาจนิ่งเฉย ถือเป็นหน้าที่ที่จะดำเนินการเพื่อกล่อมเกลานิสิตให้อยู่ในครรลองของความรู้คู่คุณธรรม

แปลว่าอะไร เคารพเสรีภาพทางความคิด แต่ห้ามไปกระทบกระเทือนบุคคลที่ผู้อื่นเคารพเทิดทูน ไม่งั้นเก้าอี้ฟาด! แล้วพูดทำไมเสรีภาพทางวิชาการ ไม่ต่างอะไรกับระบอบอำนาจที่ใช้กฎหมายอำมหิตปิดปาก บังคับให้เคารพ

ความรู้คู่คุณธรรม ของ “สถาบันการศึกษาชั้นสูง” คืออะไร คือการเป็นเสาหลัก กปปส. ทั้งศิษย์เก่าคณาจารย์ แล้วอดีตอธิการบดี อดีตนายกสภามหาวิทยาลัย ก็เข้าไปรับใช้รัฐประหารเป็น สนช. สปช.

มติ อบจ.เป็นเอกฉันท์ กรรมการ 11 คน ผู้แทนคณะ 18 คน ที่มาจากเลือกตั้ง สภานิสิต ชมรมเชียร์ ก็สนับสนุน มีแต่ศิษย์เก่าดิ้นพล่าน รัฐมนตรีดีอีเอสที่ไล่จับคนเห็นต่าง อ้างว่ามีแต่คนอยากแบก งั้นมาแบกเองไหม

ดาราโพสต์ภาพตัวเองได้รับเลือกให้อัญเชิญพระเกี้ยว ไม่เห็นมีใครโพสต์ภาพแบกอยู่ข้างล่างอย่างภาคภูมิใจ สมัยชัยวุฒิเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ปัจจุบันเด็กไม่อยากแบกแล้ว ก็ยังไปกะเกณฑ์นิสิตหอใน ซึ่งกลัวถูกตัดแต้ม เดี๋ยวไม่ได้อยู่หอ ต้องมาแบกอย่างจำใจ จึงมีความเคลื่อนไหวให้เลิกมาหลายปี

องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ชิงสอบถามความคิดเห็น เลิกฟุตบอลประเพณีไปเลยดีไหม เพราะคนจัดคือสมาคมศิษย์เก่า แต่เอาภาระมาโยนรุ่นปัจจุบัน ถ้าอยากจัดก็จัดกันเอง อยากแบกก็ไปหาคนมาแบกเอง

ว่าตามความจริง ฟุตบอลประเพณีทุกวันนี้ที่มีค่าให้คนสนใจ คือพาเหรดแปรอักษรล้อการเมือง ส่วนฟุตบอลในสนามที่ไปเอานักบอลดังๆ มายัดเสื้อมหาลัย ไม่มีใครดูหรอก หลายปีมานี้พวกศิษย์เก่าก็คลั่ง แปรอักษรแสบทั้งจุฬาธรรมศาสตร์ ถ้ายกเลิกเสียน่าจะพอใจ

ฟุตบอลประเพณีเริ่มในปี 2477 เมื่อธรรมศาสตร์ก่อตั้งโดย อ.ปรีดี คณะราษฎร ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวเพิ่งมีปี 2507 สมัยตุ๊ ประภาส เป็นอธิการจุฬา แต่ก็ทำเล็กๆ เพิ่งจะมา 50-60 คนแบกไม่กี่สิบปีนี้เอง

พูดลงไประหว่างบรรทัด ก็รู้ว่าสู้กันเรื่องอะไร คนรุ่นเก่าตื่นตระหนก คนรุ่นใหม่ชูสามนิ้วถอดรื้อฟอกล้างวัฒนธรรมความเคารพ ที่ตัวเองเคยยึดเหนี่ยว เหมือนโลกแตกสลาย กลัวตายแล้วกลับมาเกิดใหม่จะไม่มีที่ยึดเหนี่ยวอีกต่อไป ประวัติศาสตร์จะถูกชำระ การอ้างบุญุคุณต่างๆ จะถูกตีค่าใหม่ ว่าเป็น propaganda หรือไม่

การเกิดม็อบคนรุ่นใหม่ 3 สิงหา 10 สิงหา 16 สิงหา 2563 ทำให้คนรุ่นเก่าอนุรักษนิยมตกใจ “แผ่นดินไหวทางวัฒนธรรม” แต่เมื่อม็อบไปจนสุด อำนาจใหญ่โตมหึมาไม่ยอมเปลี่ยน ก็เกิดอาการล้า มองดูเหมือนม็อบฝ่อ แกนนำถูกจับกุมคุมขัง ครั้งแรกยังต่อสู้เรียกร้องจนได้ประกัน ครั้งหลังยิ่งมายิ่งขยายวง ทั้งจับ 112 จับ “ทะลุฟ้า” ว่าสาดสีฝ่าฝืนข้อกำหนดประกันตัว

รัฐบาลชูกระแสเปิดประเทศ กลบความล้มเหลวโควิด ขณะที่ใช้กฎหมายอำมหิตปราบคนรุ่นใหม่ ดึงคนส่วนใหญ่ไปฝากความหวังกับการเลือกตั้ง แต่ก็ลากถูไปยังไม่ยุบสภา ในกระแสเช่นนี้ ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีทางสู้ ความพยายามระดมม็อบใหญ่วันที่ 31 ตุลา ถ้ามีคนน้อย แกนนำที่เหลือก็คงทยอยถูกจับกุมคุมขังไม่ได้ประกัน

แต่อำนาจอนุรักษ์ไม่ตระหนัก ว่านี่ไม่ใช่แค่การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในระบอบรัฐสภาผ่านพรรคการเมือง เหมือนที่เคยเป็นมา (ชนะเลือกตั้งถูกรัฐประหารถูกยุบพรรค) คนรุ่นใหม่กำลัง “ปฏิวัติ” การเมืองวัฒนธรรม โดยเอาตัวเองเข้าแลกอย่างกล้าหาญ ขณะที่แกนนำถูกจับกุมคุมขัง กระแสวิจารณ์ท้าทายในโลกออนไลน์ก็แผ่ไปอย่างกว้างขวาง ทั้ง 112 อำนาจตำรวจ อำนาจศาล กองทัพ ไปจนหลักสูตรล้าหลัง ครูบ้าอำนาจ คณบดี อธิการ ปิดกั้นเสรีภาพ

ไม่เชื่อไปดูในโลกออนไลน์ ถ้าจะไล่จับกุมคุมขัง คงได้เป็นแสนเป็นล้าน

นี่คือสงครามถอดรื้อทั้งหมด เพื่อบอกว่าวันนี้คุณมีอำนาจล้นฟ้า แต่วันหน้าคุณไม่มีที่ยืน คนรุ่นใหม่แบบนิสิตจุฬาที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย จะฟอกล้างความเคารพศรัทธาดั้งเดิมทั้งหมด จะชำระประวัติศาสตร์ propaganda ประเมินคุณค่าใหม่ ชักพรมออกจากใต้เท้า

แล้วรัฐทำอะไร วิษณุ เครืองาม บอกให้แต่งเพลงปลุกใจ ขำตาย โลกสมัยนี้ยังจะครอบงำความคิดใคร

อำนาจอนุรักษ์ที่ไม่ยอมปรับตัว ไม่มีทางเอาชนะความคิดคนรุ่นใหม่ ขังตัวได้แต่ขังจิตวิญญาณไม่ได้ กดหัวได้แต่ความคิดแพร่ขยายไปหมดแล้ว

คงเหลือแต่คนรุ่นเก่าคลั่งอยากเอาหัวโขกฝาตายไปอยู่บนฟ้า

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th/politics/news_6704269

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net