Skip to main content
sharethis

หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 พบผู้หญิงญี่ปุ่นได้รับเลือกเป็น ส.ส.เพียง 45 คน หรือ 9.7% จาก ส.ส.465 คน โดยผู้หญิงลงสมัครทั้งหมด 186 คน หรือ 17.7% ของผู้ลงสมัครทั้งหมด รัฐบาลเรียกร้องให้พรรคการเมืองส่งผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าให้ผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งระดับชาติให้ได้ 35% ภายในปี 2568


ผู้หญิงญี่ปุ่นได้รับเลือกเป็น ส.ส.เพียง 45 คน หรือ 9.7% จาก ส.ส.465 คน โดยผู้หญิงลงสมัครทั้งหมด 186 คน หรือ 17.7% ของผู้ลงสมัครทั้งหมด | ที่มาภาพประกอบ: goo ニュース

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 มัตสึโนะ ฮิโรกาซุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงว่ารัฐบาลจะเรียกร้องให้พรรคการเมืองช่วยผู้หญิงมากขึ้นในการลงสมัครรับเลือกตั้งระกับชาติ ทั้งนี้จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 พบว่าจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 465 คน นั้นมีผู้หญิงเพียง 45 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.7 โดยจำนวนที่นั่งที่ผู้หญิงได้รับเลือกเข้ามานั้นลดลง 2 ที่นั่งจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2560 ซึ่งสัดส่วนในการเลือกตั้งครั้งก่อนมีผู้หญิงได้รับเลือกร้อยละ 10.1

มัตสึโนะกล่าวว่า ตัวแทนผู้หญิงในจำนวนเท่านี้ยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานระดับโลก ซึ่งการขยายการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในการนำความคิดเห็นของสาธารณชนเข้ามาเป็นนโยบาย ในเมื่อผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมดของญี่ปุ่นนั้นเป็นผู้หญิงประมาณถึงร้อยละ 52 เลยทีเดียว

มัตสึโนะ ระบุว่ารัฐบาลจะเรียกร้องให้พรรคต่าง ๆ พยายามมากขึ้นเพื่อยกระดับอัตราส่วนของผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง ด้วยการวางเป้าหมายที่เป็นตัวเลขหรือด้วยวิธีการอื่น ๆ นอกจากนี้รัฐบาลจะสนับสนุนพรรคการเมืองทั้งหลายด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศแก่พรรคการเมืองผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น จัดทำเอกสารหรือสื่อที่นำมาใช้ฝึกอบรมต่อต้านการละเมิดทางเพศในที่ประชุมของพรรคการเมือง เป็นต้น

'เร็งโง' สหพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น เลือกผู้หญิงคนแรกเป็นประธาน
ผลสำรวจคนทำงานเอกชนในญี่ปุ่น พบตำแหน่ง 'ผู้จัดการ' เป็น 'ผู้หญิง' เพียง 8.9%
เผยคนทำงานภาครัฐในญี่ปุ่นตำแหน่ง ผอ. เป็นผู้หญิงเพียง 5.9% เท่านั้น

อนึ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ต.ค. ผู้ลงคะแนนเสียงในญี่ปุ่นเลือกพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) พรรคแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรค LDP ของนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะแห่งญี่ปุ่น คว้าสิ่งที่เรียกว่าเสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพโดยเด็ดขาดมาได้ต่อให้ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลมาเสริม โดยนี่รับประกันว่าพรรค LDP จะสามารถผ่านร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างง่ายดาย

พรรค LDP ได้ที่นั่งทั้งหมด 261 ที่นั่งจากทั้งหมด 465 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคโคเมโต (NKP) พรรคร่วมรัฐบาล ได้ที่นั่งสุทธิ 32 ที่นั่ง ด้านพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญ (CDP) จะยังคงเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ครองที่นั่งมากที่สุด โดยได้มา 96 ที่นั่ง ลดลง 13 ที่นั่งจากที่เคยมีมาก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนพรรคนิปปง อิชิง (Japan Innovation Party) ได้ 41 ที่นั่ง เพิ่มจากจำนวนเดิมกว่า 3 เท่า

การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เป็นแรกนับตั้งแต่ญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายในปี 2561 ที่เรียกร้องให้พรรคการเมืองพยายามหาผู้สมัครชายและหญิงในจำนวนที่เท่ากัน แต่มีผู้หญิง 186 คน เท่านั้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในด้านจำนวนผู้ลงสมัครที่เป็นผู้หญิง แต่ตัวเลขนี้ยังห่างไกลที่จะสร้างความเท่าเทียมกับผู้ชาย 

พรรค LDP มีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 20 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดของพรรค 261 คน ในขณะที่พรรค CDP ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลักของญี่ปุ่นมีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 13 คนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดของพรรค 96 คน 

ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 120 จาก 156 ประเทศ จากรายงาน Gender Gap Report ของ World Economic Forum ประจำปี 2564 ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงที่ลงสมัครรับเลือกตั้งระดับชาติเป็น ร้อยละ 35 ภายในปี 2568


ที่มาเรียบเรียงจาก
Fewer women elected in Lower House poll despite empowerment law (The Japan Times, 1 November 2021)
Govt. to urge parties to add female candidates (NHK, 2 November 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net