Skip to main content
sharethis

'โทโมโกะ โยชิโนะ' ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานของ 'เร็งโง' สหพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น ระบุว่าจะผลักดันการแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างเพศในที่ทำงาน เพื่อช่วยเสริมศักยภาพผู้หญิงญี่ปุ่น


'โทโมโกะ โยชิโนะ' ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานของ 'เร็งโง' สหพันธ์แรงงานที่มีสมาชิกทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 7 ล้านคน | ที่มาภาพ: JTUC-RENGO

29 ต.ค. 2564 โทโมโกะ โยชิโนะ ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานของ 'เร็งโง' (RENGO) สหพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น ระบุว่าเธอจะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างเพศทั้งด้านค่าจ้างและสภาพการทำงาน เพื่อช่วยเสริมศักยภาพของผู้หญิงในญี่ปุ่นให้มากขึ้น

โยชิโนะ ผู้ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ให้ดำรงตำแหน่งประธานเร็งโง ซึ่งเป็นสมาพันธ์แรงงานที่มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน กล่าวว่า "ฉันจะทำให้การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดของเร็งโง มุ่งไปในทิศทางที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ"

โยชิโนะ ผู้นำหญิงคนแรกของเร็งโง ซึ่งเป็นสหพันธ์แรงงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานต่าง ๆ ในญี่ปุ่นในปี 2532 ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน เพราะเธอทำงานในโรงงานผลิตจักรเย็บผ้าขนาดกลางหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย และเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่ประกอบด้วยบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากผู้นำองค์กรแรงงานรุ่นก่อน ๆ ในญี่ปุ่น ที่มักเป็นผู้ชายที่ทำงานในบริษัทและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ใหญ่ ๆ เท่านั้น

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 เธอได้รับเลือกเป็นรองประธานสมาคมแรงงานโลหะ เครื่องจักรและการผลิตแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAM) ซึ่งยังเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของ JAM ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานของเร็งโง

โยชิโนะ วัย 55 ปี กล่าวว่าในตอนแรกแม้แต่เธอก็ยังสงสัยว่าภูมิหลังของเธอจะมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่ 

"แต่แล้วฉันก็นึกถึงผู้หญิงที่มีความสามารถหลายคนที่ต้องออกจากงานไป เพราะพวกเธอไม่ได้รับความก้าวหน้าในอาชีพ" โยชิโนะ กล่าว "ฉันควรทำต่อไป และตัดสินใจว่าจะไม่พลาดโอกาสนี้ที่จะทลายเพดานช่องว่างระหว่างเพศในญี่ปุ่น"

ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 120 จาก 156 ประเทศ ในการจัดอันดับช่องว่างทางเพศในปีนี้โดย World Economic Forum และแม้จะมีกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศในญี่ปุ่น แต่ผู้หญิงกลับได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย พวกเธอยังถูกกีดขวางไม่ให้ดำรงตำแหน่งบริหารในที่ทำงาน เช่น โรงเรียน และที่อื่น ๆ

ผลสำรวจคนทำงานเอกชนในญี่ปุ่น พบตำแหน่ง 'ผู้จัดการ' เป็น 'ผู้หญิง' เพียง 8.9%
เผยคนทำงานภาครัฐในญี่ปุ่นตำแหน่ง ผอ. เป็นผู้หญิงเพียง 5.9% เท่านั้น

ภารกิจสำคัญประการแรกของโยชิโนะ ได้แก่การเจรจาประจำปีระหว่างสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของเร็งโงกับบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมด้านเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ 'ฟุมิโอะ คิชิดะ' เข้าร่วมด้วย โดยมีการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการกระจายรายได้ผ่านการขึ้นเงินเดือนที่สูงขึ้นให้แก่พนักงาน

ในญี่ปุ่นผู้หญิงหลายคนต้องทำงานพาร์ทไทม์หรือทำงานชั่วคราว เนื่องจากบริษัทในญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมกีดกันกันไม่ให้พวกเธอกลับเข้าไปทำงานเต็มเวลาหลังจากลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นบทบาทที่ผู้ชายญี่ปุ่นไม่กี่คนเท่านั้นที่จะช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร และกลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤต COVID-19

โยชิโนะ กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนแนวคิดดั้งเดิมเหล่านี้ รวมทั้งประเด็นค่าจ้างที่สมเหตุสมผลด้วย

"สังคมที่มีการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้น่ารื่นรมย์สำหรับผู้หญิง จะเป็นที่พึงพอใจสำหรับทุกคน" เธอกล่าว "การเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้หญิง จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้" 


ที่มาเรียบเรียงจาก
First female to head Japan labor union vows to empower women (Japan Today, 23 October 2021)
Yoshino to be 1st woman to chair Japan’s largest labor group (MARI FUJISAKI, The Asahi Shimbun, 29 September 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net