Skip to main content
sharethis

ประชาชนรวมตัวกัน 'ชูสามนิ้ว-ใส่ครอปท็อป' บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เพื่อแสดงออกถึงความไม่ชอบธรรมของคำสั่งศาลที่ไม่ให้ประกันตัว 'รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล' ในคดี ม.112 จากการแต่งกายด้วยชุดครอปท็อป (เสื้อเอวลอย)

20 พ.ย. 2564 เพจ iLaw รายงานว่าประชาชนรวมตัวกัน 'ชูสามนิ้ว-ใส่ครอปท็อป' บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงออกถึงความไม่ชอบธรรมของคำสั่งศาลที่ไม่ให้ประกันตัว "รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล" ในคดี ม.112 จากการแต่งกายด้วยชุดครอปท็อป (เสื้อเอวลอย) โดยกิจกรรมในวันดังกล่าว นอกจากมีการชูสามนิ้ว การแต่งกายด้วยชุดครอปท็อบแล้ว ยังมีการร้องเพลง และอ่านคำประกาศยืนยันว่า การใส่ชุดครอปท็อปและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นสิทธิเสรีภาพ

โดยกิจกรรมในวันนี้ (20 พ.ย.) เริ่มมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาถึงหน้าหอศิลป์ตั้งแต่เวลา 15.30 น. โดยมีการเล่นดนตรี และชูป้าย พร้อมแต่งกายคล้ายชุดครอปท็อป 


 
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีนครบาลปทุมวันมีการกระจายกำลังกันทั่วบริเวณ และมีการตั้ง “จุดคัดกรอง” เป็นรั้วเหล็กกั้นสำหรับเข้าและออกที่ตำรวจแจ้งว่า ไว้เพื่อตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมาย อย่างน้อย 3 จุดได้แก่

๐ บริเวณริมถนนพระราม 1 (ด้านซ้ายของหน้าหอศิลป์)
๐ บริเวณริมถนนพญาไท (ด้านขวาหอศิลป์)
๐ บริเวณ Skywalk ระหว่าง หอศิลป์ กทม. และห้ามสยามดิสคัพเวอรี่

หลักจากนั้น ในเวลา 16.45 น. กลุ่มราษดรัม ได้เริ่มกิจกรรมการแสดงดนตรี โดยมีการตีกลอง พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” ก่อนจะมีการร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และ เพลง “เราคือเพื่อนกัน”

จากนั้น ตัวแทนของผู้จัดกิจกรรมได้มีการเชิญชวนประชาชนที่สวมชุดครอปท็อป (เสื้อเอวลอย) มายืนร่วมกันเพื่ออ่านคำประกาศของกิจกรรมในวันนี้ โดยคำประกาศ ระบุว่า

"เราประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ขอยืนยันว่า

1. การใส่เสื้อครอปท็อปเพื่อการรณรงค์เป็นสิทธิ

2. การวิพากษ์วิจารณ์หรือสถาบันกษัตริย์เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

3. การคิดและวิธีการแสดงออกทางความคิดตามเสรีภาพจะต้องไม่ถูกควบคุม ไม่ถูกลิดรอนสิทธิ ประชาชนจะต้องไม่ถูกจองจำในเรือนจำจากคดีทางการเมืองคดีทางความคิด

4. สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการได้รับการประกันตัวเป็นของประชาชนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข"

หลังอ่านคำประกาศ ผู้จัดกิจกรรมได้มีการประกาศยุติการชุมนุม แต่ทว่า มวลชนที่มาร่วมกิจกรรมยังคงอยู่ในพื้นที่ และยังมีการแสดงดนตรีต่อ

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เริ่มต้นจากการตั้งกิจกรรมในเฟสบุ๊ก เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ในชื่อ "ใครจะใส่เสื้อครอปมันผิดอะไร" และในกรุ๊ปกิจกรรมดังกล่าว มีการเผยแพร่แถลงการณ์ด้วย ดังนี้

"แถลงการณ์ เสื้อครอบท็อปที่ฉันใส่ ไม่ใช่ภัยความมั่นคงแห่งชาติ

ประชาชนไทยกำลังถูกรัฐบาลริดรอน สิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งการแสดงออก การพูด และแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 'รุ้ง ปนัสยา' ทั้งที่คดีความยังไม่ถูกตัดสิน จากคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีใส่ครอปท็อปเดินสยามพารากอน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าการใส่ครอปท็อปนั้น เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และอ้างว่าเกรงจะกระทำผิดซ้ำจึงไม่ได้รับการประกัน

ด้วยเหตุนี้แสดงให้เห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัติร์ย์ สิทธิและเสรีภาพ ในการคิด พูดหรือแสดงออก โดยวิธีการใดๆ ก็ตามของประชาชน ได้ถูกควบคุมและถูกปิดกั้น ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่แม้แต่ เสรีภาพในการแต่งกายของประชาชนยังถูกจำกัด การวิพากษ์วิจารณ์โดยการสวมเสื้อครอปท็อปกลายเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติ เพียงเพราะกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร นับเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรงและสร้างผลกระทบต่อ สิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อถูกกกล่าวหาและถูกควบคุมตัวในเรือนจำ โดยไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาคดีหรือมีการตัดสินของศาล ซึ่งเป็นการย้ำปัญหาของกฎหมายมาตรานี้และการดำเนินคดีที่มีการลงโทษทั้งที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่าผิดและอยู่หมวดความมมั่นคงแห่งชาติ

นอกจากนั้นกฎหมายนี้ไม่เหมือนหมิ่นประมาาททั่วไปที่ไม่สามารถยกความจริงอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมาเพื่อเป็นเหตุในการไม่ต้องรับผิดได้ เป็นการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์

ดังนั้นเราจึงขอยืนยันว่า การใส่เสื้อครอปท็อปเพื่อการรณรงค์เป็นสิทธิ การวิพากษ์วิจารรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รวมถึงการคิด และวิธีการแสดงออกทางความคิดตามเสรีภาพจะต้องไม่ถูกควบคุม ไม่ถูกริดรอนสิทธิ ประชาชนจะต้องไม่ถูกจองจำในเรือนจำจากคดีทางการเมืองหรือคดีทางความคิด สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และ สิทธิในการได้รับการประกันตัวเป็นของประชาชนทุกคน อย่างไม่มีเงื่อนไข"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net