Skip to main content
sharethis

รัฐสภานิวซีแลนด์มีมติผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้แก้ใบสูติบัตรที่สะท้อนกับอัตลักษณ์ตัวตนทางเพศสภาพได้ ส่งผลให้ผู้มีเพศสภาพหลากหลายเป็นตัวของตัวเองในทางกฎหมายได้ไม่ว่าจะเป็น คนข้ามเพศ, นอนไบนารี, อินเตอร์เซ็กส์ และ "ทาคาทาปุย" ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวเมารี

เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในประเทศนิวซีแลนด์เมื่อรัฐสภานิวซีแลนด์มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านร่างกฎหมายที่ว่า "กฎหมายการจดทะเบียนสูติบัตร, มรณบัตร, ทะเบียนสมรสและความสัมพันธ์" ซึ่งอนุญาตให้คนเปลี่ยนแปลงเพศในใบสูติบัตรของตัวเองให้เป็นไปตามเพศสภาพปัจจุบันของพวกเขาได้โดยอาศัยกระบวนการขั้นตอนที่ง่ายขึ้น จากเดิมที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการแก้ตรงจุดนี้ต้องผ่านการพิจารณาของศาลครอบครัวและต้องไปปรากฏตัวรวมถึงเปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลให้ศาลรับรู้

การผ่านร่างกฎหมายใหม่นี้นับเป็นชัยชนะสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ, นอนไบนารี, อินเตอร์เซ็กส์ และ ทาคาทาปุย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตามภาษาเมารี ร่างกฎหมายใหม่นี้จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาพไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์เวลาจะเปลี่ยนเพศตามสูติบัตรอีกต่อไป เพราะการให้หลักฐานทางการแพทย์เหล่านี้มีลักษณะล่วงล้ำเนื้อตัวร่างกายของบุคคล

เอลิซาเบธ เคเรเคเร ส.ส. จากพรรคกรีนของนิวซีแลนด์กล่าวยินดีทั้งน้ำตาเมื่อมีการผ่านร่างกฎหมายนี้ว่า กฎหมายใหม่นี้ทำให้บุคคลไม่ต้องปล่อยให้ศาลเป็นผู้ตัดสินใจในชีวิตแทนพวกเขาอีกต่อไป และทำให้กลุ่มคนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด (cis-gender) ผู้ไม่เคยสนใจไยดีไม่ต้องมาตัดสินใจแทนกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาพอีกต่อไป

เคเรเคเรกล่าวในฐานะที่เธอเป็นทาคาทาปุยผู้สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาพว่า ภูมิใจมากที่เสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภา หลังจากที่มีการกีดกันเลือกปฏิบัติจากระบบมาเป็นเวลาหลายรุ่น การทำกิจกรรมรณรงค์มาหลายสิบปีและการมีส่วนร่วมในสภามาหลายปีในที่สุดกฎหมายที่พวกเขาหลักดันก็ผ่านร่างสภาได้

ร่างกฎหมายนี้มีการเสนอเป็นครั้งแรกในปี 2560 โดยในทีแรกนั้นร่างกฎหมายนี้เป็นแค่การเสนอให้เน้นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลเพื่อพิจารณาเรื่องการทำศพว่าจะฝังศพหรือฌาปนกิจ แต่หลังจากที่มีการอ่านร่างต่อสภาในครั้งแรกแล้วมีการเรียกร้องให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสูติบัตรเข้าไปด้วยเพื่อให้เป็นไปตามข้อร้องเรียนนักกิจกรรม อัลลิสัน แฮมบเล็ตต์

ทางคณะกรรมาธิการสภาเห็นด้วยกับการปรับปรุงร่างกฎหมายแต่ต้องใช้ใบประกอบการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เรียกว่า "Supplementary Order Paper" (SOP) ทำให้มีการเลื่อนพิจารณาออกไปเป็นปี 2562 เพราะต้องผ่านการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายนี้รวมถึงการทำประชาพิจารณ์โดยคณะกรรมาธิการอีกชุดหนึ่ง ส่งผลให้กฎหมายใหม่นี้ใช้เวลานาน

เคเรเคเรเปิดเผยว่าในขั้นตอนที่ผ่านมามีอุปสรรคจากการรับฟังคำปรึกษาที่มีผู้เสนอแก้ร่างกฎหมายนี้ในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ ทำให้เธอและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นทาคาทาปุย, คนข้ามเพศ, อินเตอร์เซ็กส์ และนอนไบนารี ต่างก็เจ็บปวดและไม่พอใจการกีดกันเลือกปฏิบัติและการปั่นหัวกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อกฎหมายนี้ผ่านร่างแล้ว เคเรเคเรยังบอกว่ามันจะเป็นหนึ่งในกฎหมายชุดแรกๆ ในกฎหมายอีกหลายๆ ชุดที่ให้สิทธิในเรื่องเหล่านี้

ยาน ทิเนตติ รัฐมนตรีกิจการภายในของนิวซีแลนด์ผู้ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้กล่าวว่ามันเป็นวันที่น่าภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเอาเทียรัว ซึ่ง "เอาเทียรัว" เป็นชื่อที่ชาวเมารีใช้เรียกประเทศนิวซีแลนด์

ทิเนตติบอกว่าสภาโหวตเห็นชอบกับการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมผู้คนที่หลากหลายและต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามเธอยังบอกว่าชาวนิวซีแลนด์ที่เกิดนอกประเทศอาจจะผิดหวังเพราะในตอนนี้กฎหมายนี้ครอบคลุมแค่สูติบัตรของชาวนิวซีแลนด์ที่เกิดในประเทศเท่านั้น พวกเขาจะทำให้มีการพิจารณาเรื่องนี้และทำการปรึกษาหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อทำให้การพัฒนานี้ดียิ่งขึ้น

"ในวันนี้เป็นวันที่เกี่ยวกับการคำนึงถึงอย่างครอบคลุม การมีสิทธิที่จะมีสูติบัตรในแบบของตัวเองได้นั้นเป็นสิ่งที่จะสะท้อนภาพตัวตนของคุณอย่างที่คุณเป็นจริงๆ" ทิเนตติกล่าว

นอกจากนี้ทิเนตติยังกล่าววิจารณ์กลุ่มคนที่ต่อต้านการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมในกฎหมายใหม่นี้ด้วยว่า ตลอดกระบวนการร่างและแก้ไขกฎหมายนี้ มีผู้คนที่เผชิญการดูถูก เหยียดหยาม และกีดกันเลือกปฏิบัติต่อ ผู้คนเหล่านี้แค่ต้องการที่จะได้รับการยอมรับในตัวตนแบบที่พวกเขาเป็นและได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเคารพในเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทิเนตติบอกว่าในฐานะที่เธอเป็นหญิงตามเพศกำเนิด (cis woman) คนหนึ่ง เธอขอยืนหยัดเคียงข้างหญิงข้ามเพศ (transgender woman) การเหยียดเพศหญิงต่อหญิงข้ามเพศก็นับเป็นการเหยียดเพศหญิงเช่นกัน ดังนั้นเธอจึงจะขอยืนหยัดท้าทายการกีดกันเลือกปฏิบัติเหล่านี้

กฎหมายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 18 เดือนจากนี้


เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net