สึกปรับห้าหมื่น: ปัญหาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทย 2

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

3. ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนิสิตนักนักศึกษาฝ่ายบรรพชิตจากการบังคับใช้ระเบียบและประกาศสึกปรับห้าหมื่น
พระเณรที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวบวชเรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยมอยู่ แล้วเกิดไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ในนามของพระหรือเณร (โดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์) หากลาสิกขาก็ต้องพบจุดจบเหมือนกัน คือ ถ้าไม่จ่ายค่าปรับห้าหมื่นบาทก็ต้องออกจากมหาลัยสงฆ์ ทิ้งการเรียนไปเสียเปล่าๆ ไม่ได้เรียนเรียนต่อ เพราะถ้าบวชมาสมัครเรียนแล้วลาสิกขาในระหว่างยังไม่สำเร็จการศึกษา และยังประสงค์จะเรียนต่อไปอีกจนจบหลักสูตร สิ่งที่ผู้สึกจะต้องโดนต่อจากนี้ก็คือ ค่าเทอมที่จ่ายไปแล้วตอนบวช + ค่าปรับห้าหมื่นบาท + ค่าเทอมที่ต้องจ่ายแพงราคาเดียวกับโยมในเทอมถัดๆ ไปอีกต่างหากจนกว่าจะเรียนจบหลักสูตร ซึ่งผู้สึกจะต้องจ่ายแพงมากกว่านิสิตนักศึกษาฝ่ายคฤหัสถ์ (โยม) ที่เรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยกันตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีสุดท้ายเลยทีเดียว (แพงกว่าโยมเกือบ 2 เท่า) เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิต (พระ) หวาดกลัวการลาสิกขาเป็นอย่างยิ่ง จนต้องบวชยาวตลอดหลักสูตรด้วยความจำนน 

นี่มันไม่ใช่การบวชเพราะศรัทธาเหมือนก่อนสมัครเรียนอีกต่อไป แต่เป็นการบวชเพราะถูกบังคับให้บวชยาวหลังสมัครเรียนต่างหาก 

ภายใต้กฎระเบียบและประกาศของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 สถาบัน นี้ ทำให้ผู้บวชไม่มีทางเลือก ต้องยอมบวชตามความประสงค์ของผู้ต้นคิดระเบียบสึกปรับห้าหมื่นเท่านั้น สุดท้ายถ้าผู้ลาสิกขาอยากจะเรียนต่อก็ต้องจ่ายค่าปรับ 50,000 บาท ให้กับทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ ถ้าผู้บวชต้องการลาสิกขาโดยไม่ต้องถูกปรับห้าหมื่นบาท ผู้ลาสิกขาจะต้องทำการดร็อปการเรียนไว้ก่อนสิกขา แต่ถ้ากลับมาศึกษาต่ออีกเมื่อไหร่ก็ต้องกลับมาบวชใหม่อีกด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมว่าการอุปสมบท (บวชเป็นพระ) แต่ละครั้ง ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง หรือไม่ก็ตัดปัญหาไปเลยโดยการทิ้งการเรียนแล้วลาสิกขามาสมัครเรียนใหม่ในชั้นปีที่ 1 ของปีถัดไป ซึ่งต้องเสียเวลาเรียนไปอีกเป็นปีๆ หรืออาจจะหลายปีกว่านั้น ถ้าสึกในขณะที่เรียนในชั้นที่สูงกว่าชั้นปีที่ 1 ขึ้นไปแล้วลาสิกขากลับมาสมัครเรียนชั้นปีที่ 1 ใหม่ 

การบวชยาวนานภายใต้ระเบียบนี้ เมื่อผู้สมัครเรียนไม่สามารถลาสิขาได้จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา พระเณรเหล่านั้นต้องตั้งหน้าตั้งตาหาเงินทุกวิถีทางเพื่อจะหาเงินมาจ่ายค่าเทอม บ้างก็รบกวนทางบ้าน บ้างก็ต้องรอกิจนิมนต์ซึ่งนานๆ จะมีครั้งหนึ่ง จนต้องขอผ่อนค่าเทอมไปก่อน พระบางรูปต้องประกอบมิจฉาชีพหลอกลวงญาติโยมเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอมก็มี 

4. ข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ กับ นิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิต          
เรื่องการแจ้งเตือนระเบียบและประกาศสึกปรับห้าหมื่น ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 สถาบัน ก็มีความบกพร่องสูงมาก เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่ผู้รับสมัครเรียนจะไม่แจ้งเตือนพระเณรล่วงหน้าเรื่อง “สึกปรับห้าหมื่นบาท” แล้ว ยังแจ้งเตือนภายหลังไม่ครบประเด็นอีกต่างหาก อย่างเช่น ฝั่ง มมร. ก็บอกแค่ว่า “สึกปรับห้าหมื่น” เท่านั้น แต่ไม่บอกอีกว่า “ต้องปฏิบัติงานรวมระยะเวลาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือน และต้องชำระค่าบำรุง (ค่าปรับ) มหาวิทยาลัยตั้งแต่ห้าหมื่นบาทขึ้นไป แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท คือจะปรับห้าหมื่นบาทหรือแพงมากกว่านั้นเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท” เป็นต้น ถ้าฝั่ง มจร. ก็บอกแค่ว่า “สึกปรับห้าหมื่น” เท่านั้น แต่ไม่บอกต่อไปอีกว่า “เขาจะปรับห้าหมื่นบาท หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับทาง มจร. ส่วนกลาง (ซึ่งไม่เคยมีนิสิตรูปใดเคยรู้เรื่องนี้และได้รับแจ้งภายหลังไม่ครบประเด็น) ” ความบกพร่องนี้อาจดูเล็กน้อยแต่สร้างปัญหาร้ายแรงให้กับนิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิตที่ต้องการบวชเพียงชั่วคราวเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับทางบ้านตามประเพณีของคนไทยที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ที่เขาเชื่อว่าทางบ้านจะได้บุญจริง ๆ แต่ผู้บวชเรียนกลับได้บวชนานกว่านั้น โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองของผู้บวชเรียนก็ไม่ได้ต้องการให้ลูกหลานบวชยาวนานขนาดนั้น ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเขาจบจากโรงวัดมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์ 

ปัญหาใหญ่ของระเบียบและประกาศ 2 ฉบับนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่พระเณรแต่ละรูปมาสมัครเรียนแล้ว ระเบียบและประกาศก็ถูกเก็บไว้ในเว็บไซต์ที่สลับซับซ้อนมากเกินไป เหมือนถูกซ่อนเร้นเอาไว้เป็นอย่างดี ทำให้ยากแก่การค้นหาอย่างยิ่ง สิ่งนี้ถือเป็นอุปสรรคตั้งแต่ครั้งแรกก่อนสมัครเรียนจนถึงหลังสมัครเรียน 

ภายหลังสมัครเรียนไปแล้ว ต่อให้มารู้ทีหลังว่า ในมหาวิทยาลัยสงฆ์มีเรื่องสึกปรับห้าหมื่นด้วย แต่พิมพ์หาในอินเตอร์เน็ตเท่าไหร่ก็แทบไม่ปรากฏอยู่ดี เพราะตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจมาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ พวกเขาก็เสิร์ชดูข้อมูลของมหาวิทยาลัยสงฆ์ล่วงหน้ากันมาแล้วทั้งนั้น ก็จะเจอแต่ข้อมูลที่ไม่ใช่สึกปรับห้าหมื่นทั้งนั้น นี่เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่จะมาสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ นึกไม่ถึงเลยว่าจะมีระเบียบสึกปรับห้าหมื่นด้วยซ้ำ เป็นเหตุให้ผู้สมัครเรียนไม่ตระหนักถึงปัญหาว่า หากสึกแล้วจะโดนปรับเงินแบบแพงหูฉี่เช่นนี้ 

ยิ่งมีนิสิตนักศึกษาฝ่ายคฤหัสถ์ทั้งชายและหญิงเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้นิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิต (พระ) ไม่รู้สึกเอะใจเลยด้วยซ้ำกับกรณีดังกล่าว พระเณรที่เพิ่งเรียนจบ ม. 6 จากโรงเรียนวัดมาหมาดๆ ที่มาสมัครเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ใหม่ๆ พวกเขาจะรู้เรื่องสึกปรับห้าหมื่นก่อนล่วงหน้านั้นย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน หากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่บอกกล่าวแจ้งเตือนพวกเขาล่วงหน้าก่อน 

ส่วนผู้รู้ก่อนก็ไม่เคยบอกผู้สมัครเรียนรุ่นหลัง (ปกติก็ไม่มีใครบอกใครอยู่แล้ว) เพราะเว็บไซต์ที่มีข้อมูลสึกปรับห้าหมื่นดังกล่าวนี้ เป็นเว็บไซต์ที่แม้แต่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ทุกชั้นปี ทั้งเก่าและใหม่เกือบทั้งมหาวิทยาลัย แทบจะไม่รู้จักเว็บไซต์นี้ด้วยซ้ำ นอกจากจะไม่รู้ชื่อเว็บไซต์ดังกล่าวนี้แล้ว พวกเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มันเป็นระเบียบ ประกาศ หรือเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง ? ฯลฯ ต่อให้รู้ว่ามันเป็น ระเบียบ ประกาศ พวกเขาก็ไม่รู้จักชื่อมันอยู่ดีว่า มันอยู่ในระเบียบที่มีชื่อว่าอะไร ? มันอยู่ในประกาศที่มีชื่อว่าอะไร ? เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการสืบค้น พอเกิดปัญหาขึ้นก็ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนแถได้ และโยนความผิดให้กับพระเณรผู้สมัครเรียนเพียงฝ่ายเดียวว่า “ทำไมเธอไม่รู้จักถามล่วงหน้าก่อน” เป็นต้น

ถ้าพระเณรผู้สมัครจะสอบถามเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงฆ์จริงๆ เขาคงสอบถามไปในแง่อื่นๆ มากกว่า พวกเขาคิดไม่ถึงหรอกว่า จะมีกรณีสึกปรับแบบนี้อยู่บนโลกใบนี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดและเป็นความรู้ใหม่มากๆ ที่ไม่ว่าผู้สมัครเรียนใหม่หน้าไหนก็นึกไม่ถึงกันทั้งนั้น เพราะมันเกินวิสัยพวกเขาจริงๆ พระเณรส่วนใหญ่หรือทั้งหมดที่มาสมัครเรียนปกติก็ไม่มีพระเณรรูปใดสอบถามเรื่องนี้อยู่แล้ว มีแต่รีบกรอกใบสมัครให้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็รีบกลับกันทั้งนั้น นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 

ครั้งแรกที่พวกเขาได้ยินพวกเขาถึงกับตกใจและอุทานออกมาว่า “มีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ”? ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับพระเณรในงานกฐินที่วัดแห่งหนึ่ง มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนธรรมดาหรือพระเณรจะสงสัยเรื่องอะไรแบบนี้ง่ายๆ ถ้าไม่ใช่ระดับนักกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์พอสมควร ถึงจะมีความสงสัยมากพอที่จะสงสัยเรื่องอะไรทำนองนี้ได้ตั้งแต่ทีแรกที่เข้ามาสมัครเรียน 

ไม่มีทางที่พระเณรมาผู้มาสมัครเรียนใหม่จะถามว่า “ถ้าผมสมัครเรียนตอนบวชแล้วสึกระหว่างเรียน ผมจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเกี่ยวกับกรณีนี้ไหมครับ?” ไม่คำถามแบบนี้ และไม่มีหรอกที่พระเณรที่มาสมัครเรียนใหม่ๆ จะถามว่า “ถ้าสึกจะโดนปรับมั้ยครับ?” “ถ้าสึกผมต้องเสียอะไรบ้างครับ?” มีแต่พระที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็สมัครเรียนรีบเขียนชื่อลงในใบสมัครด้วยคำนำหน้าชื่อว่า “พระ” หรือ “สามเณร” พอเปิดเทอมเรียนไปได้สักพักแล้ว เมื่อพระเณรเหล่านั้นไม่รู้ อีกไม่นานเขาก็ลาสิกขาระหว่างเรียนเท่านั้นเอง นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในมหาวิทยาลัยสงฆ์ เว้นแต่ว่าจะมีคนที่รู้เรื่องนี้มาก่อนแล้วเตือนพวกเขาล่วงหน้า แต่แล้วเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็แทบไม่ได้บอกกล่าวแจ้งเตือนล่วงหน้าอะไรแก่ผู้สมัครเรียนตั้งแต่แรกเลยทั้งสิ้นเช่นกัน 

ส่วนผู้สมัครเรียนใหม่ที่รู้เรื่องนี้แล้วบอกต่อ เขาก็จะเลือกบอกเฉพาะกับคนที่ตัวเองสนิทจริงๆ กับเฉพาะพวกพ้องของตนเองเท่านั้น นอกนั้นเขาก็ไม่บอก ยิ่งผู้สมัครเรียนใหม่ด้วยกันไม่เคยรู้จักกันเขายิ่งไม่บอก ส่วนรุ่นพี่ก็ไม่ได้บอกอะไรรุ่นน้องเลยเช่นกัน จะเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตากันจริงๆ ก็ช่วงหลังเปิดเทอมไปแล้ว ทำให้ผู้สมัครเรียนใหม่ไม่มีช่องทางที่จะเข้าถึงข้อมูลสึกปรับห้าหมื่นนี้ได้เลย พอเกิดเรื่องขึ้นภายหลัง เจ้าหน้าที่บางคนก็โยนความผิดให้แก่นิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิตว่า “เขาลงในเว็บให้นิสิตนักศึกษาแล้ว ทำไมนิสิตนักศึกษาไม่เข้าไปค้นไปหาอ่านเอง” หรือ “ทำไม่รู้จักถามก่อน” เป็นต้น หรือเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ บางคนถึงกับแถไปดื้อๆ ว่า “การสมัครเข้ามาตอนบวชก็ดี การสึกในขณะเรียนก็ดี หรือจะกระทำการใดๆ ก็แล้วแต่ ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทุกๆ กรณีในมหาวิทยาลัยสงฆ์มันมีระเบียบของมันไว้หมดแล้ว แล้วทำไมไม่รู้จักถาม?!” การโยนความผิดลักษณะเช่นนี้ ถือว่าไม่เป็นธรรมกับพระเณรผู้สมัครเรียนอย่างยิ่ง ซ้ำร้ายกว่านั้น ทาง ม.สงฆ์ ได้เอาคู่มือในหลักสูตรเก่าที่แจกไม่หมด (ที่ไม่มีระเบียบสึกปรับห้าหมื่น) มาแจกให้กับพระเณรผู้สมัครเรียนใหม่ โดยไม่แจ้งเตือนล่วงอีกต่างหาก และยิ่งกรณีแบบนี้ ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่จะแถหรือโยนความผิดให้กับผู้สมัครเรียนหรือพระเณรนิสิตนักศึกษา 

พระเณรที่เข้ามาสมัครเรียนจะได้รับรู้มันจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีคนที่รู้เรื่องนี้แล้วมาบอกเขาล่วงหน้า หรือการรับทราบจากการที่อาจารย์ประกาศในวันปฐมนิเทศ หรือไม่ก็ตอนเปิดเทอมแล้วสึกมาเรียน จากนั้นก็ถูกเรียกตัวไปให้รีบกลับไปบวชใหม่ภายในก่อนเข้าพรรษา หรือไม่ก็เรียกปรับ 50,000 บาท นั่นแหละผู้ลาสิกขาถึงจะรู้ แต่กว่าจะรู้ได้ตอนนั้นมันก็สายไป ลาสิกขาก็ไม่ทันแล้ว แก้ไขข้อมูลการสมัครเรียนอะไรก็ไม่ได้แล้ว เพราะตอนสมัครเรียนได้ลงชื่อด้วยคำนำหน้าว่า “พระ” หรือ “เณร” ไปเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายจำเป็นต้องบวชลากยาวโดยดุษฎี

5. มูลเหตุแห่งการพิพาท
เหตุพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์กับนิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิต เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จึงไม่ได้บอกกล่าวหรือสอบถามซึ่งกันและกัน อีกฝ่ายหนึ่งมีเจตนาที่ยื้ออีกฝ่ายหนึ่งเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่ยอมแจ้งเตือนล่วงหน้า แต่แจ้งเตือนภายหลังจากที่ส่งข้อมูลของผู้สมัครเรียนถูกส่งไปถึงส่วนกลางแล้ว จนแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว มูลเหตุมีกรณีศึกษาดังนี้  

ปัญหาที่เกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่   
จากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนที่ได้ประสบด้วยตัวเองเอง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงฆ์เพิ่มเติมอีกภายหลัง พบว่า ม.สงฆ์ แต่ละแห่ง มีเจ้าหน้าที่ที่แตกต่างกันไป ดังนี้   

เจ้าหน้าที่ประเภทที่ 1 เจ้าหน้าที่เห็นผู้สมัครเรียนเป็นเพศบรรพชิต (พระเณร) จึงเข้าใจว่าผู้สมัครเรียนจะไม่ลาสิกขาจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา จึงไม่ได้บอกกล่าวแจ้งเตือนเรื่องระเบียบสึกปรับห้าหมื่นแก่ผู้สมัครเรียนฝ่ายบรรพชิต

เจ้าหน้าที่ประเภทที่ 2 มีการแจ้งเตือนก่อนล่วงหน้าแก่นิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิตที่มาสมัครเรียน ว่าถ้าไม่ต้องการลาสิกขาระหว่างเรียนอยู่ ขอให้ลงชื่อคำนำหน้าว่า “นาย” แล้วจ่ายค่าเทอมราคาเดียวกับโยม แต่ถ้าต้องการบวชจนสำเร็จการศึกษา ก็ให้กรอกคำนำหน้าชื่อว่า “พระ” จะบวชตลอดหรือจะลาสิกขาระหว่างเรียน ก็อย่าลืมตัดสินใจให้ดีก่อน เพราะถ้าลงคำนำหน้าชื่อว่า “พระ” มันก็จะมีผลบังคับไปตลอดการศึกษา บอกอย่างนี้กับพระเณรทุกๆ รูป ที่เข้ามาสมัครเรียนตั้งแต่วันแรกก่อนเขียนใบสมัครแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าพระเณรรูปนั้นจะจดจำเอาสิ่งที่เจ้าหน้าที่ได้บอกแล้วตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาสมัครเรียนไหมเท่านั้นเอง 

เจ้าหน้าที่ประเภทที่ 3 ไม่ต้องการให้ผู้สมัครเรียนฝ่ายบรรพชิตลาสิกขาระหว่างเรียน จึงไม่บอกกล่าวแจ้งเตือนล่วงหน้า

เจ้าหน้าที่ประเภทที่ 4 นอกจากจะไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าแล้ว ยังสาธยายคุณของการสมัครเรียนในนามพระภิกษุ ว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ และโน้มน้าวให้ผู้สมัครเรียนกรอกข้อมูลสถานภาพในนามบรรพชิต

เจ้าหน้าที่ประเภทที่ 5 นอกจากจะไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าแล้วยังแถอีกว่า “การสมัครเข้ามาตอนบวชก็ดี การสึกในขณะเรียนก็ดี หรือจะกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทุกๆ กรณีที่ทำในมหาวิทยาลัยสงฆ์มันมีระเบียบของมันไว้หมดแล้ว แล้วทำไมไม่รู้จักถาม?!” และโยนความผิดให้กับผู้สมัครเรียนฝ่ายบรรพชิต และยังพูดในทำนองประชดว่า “ถ้าอยากเสียเงิน 50,000 บาท ก็สึกซะสิ ถ้าไม่อยากถูกปรับ 50,000 ก็บวชอยู่ต่อเท่านั้นเอง”       

ปัญหาที่เกิดจากนิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิต
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ก่อนที่ฝ่ายบรรพชิตจะมาสมัครเรียน ได้มีการสืบค้นเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ก่อนล่วงหน้ามาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่ปรากฏระเบียบสึกปรับ 50,000 บาท แต่อย่างใด ดังนั้น จึงสิ้นความสงสัยที่จะสอบถามกรณีการลาสิกขาระหว่างเรียนดังกล่าว นอกจากนั้นในมหาวิทยาลัยสงฆ์มีนิสิตนักศึกษาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มาเรียนด้วยกัน ดังนั้น ผู้สมัครเรียนฝ่ายบรรพชิตจึงคิดว่าการลาสิกขาระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เช่นเดียวกับไม่เคยถามระหว่างเรียน

พวกเขายังไม่เคยรู้จักว่ามี ระเบียบและประกาศ 2 ฉบับที่เกี่ยวการลาสิกขาและการปรับด้วยซ้ำ และพระเณรส่วนใหญ่ก็ไม่เคยได้ยินคำว่าสึกปรับห้าหมื่นที่ไหนมาก่อนด้วย พวกเขาเพิ่งมาได้ยินครั้งแรกก็วันปฐมนิเทศหรือหลังเปิดเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์นี่เอง และไม่มีช่องทางใดๆ เลย ที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ได้เลยตั้งแต่ก่อนเข้าสมัครเรียนยันหลังเปิดเทอม

เหตุพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์กับนิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิต เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จึงไม่ได้บอกกล่าวหรือสอบถามซึ่งกันและกัน อีกฝ่ายหนึ่งมีเจตนาที่ยื้ออีกฝ่ายหนึ่งเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่ยอมแจ้งเตือนล่วงหน้า แต่แจ้งเตือนภายหลังจากที่ส่งข้อมูลของผู้สมัครเรียนถูกส่งไปถึงส่วนกลางแล้ว จนแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว  

ผลสุดท้ายเมื่อเจ้าหน้าที่รู้กติกาก่อนผู้สมัครเรียนแต่ไม่แจ้งผู้สมัครเรียน พอเกิดปัญหาขึ้นบรรพชิตก็ต้องทวงถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าก็โทษบรรพชิตว่า “ทำไมไม่ถาม?” (ถ้าไม่เคยได้ยินเรื่องสึกปรับห้าหมื่นมาก่อนต่อให้สงสัยยังไงก็สงสัยไปในแง่อื่นๆ อยู่ดี แง่อื่นๆ ที่มันไม่ใช่กรณีสึกปรับห้าหมื่น ต่อให้สอบถามเจ้าหน้าที่บรรพชิตก็ตั้งคำถามได้ไม่ตรงกับกรณีสึกปรับห้าหมื่นอยู่ดี เปรียบเหมือนการซื้อหวยที่ไม่เคยถูกรางวัลที่หนึ่งเลยหรือไม่ใกล้เคียงเลยด้วยซ้ำ พระเณรผู้สมัครเรียนก็เช่นกัน จะมีก็แค่หนึ่งในร้อยที่จะสงสัยว่า “สึกก่อนเรียนจบจะถูกปรับหรืออะไรยังไงมั้ยน้อ?” ถึงจะได้ถามเรื่องนี้) บรรพชิตก็ตอบโต้เช่นกันว่า “เจ้าหน้าที่รู้ดีทำไมถึงไม่บอกผู้สมัคร ทำไมต้องรอให้ถามแต่ฝ่ายเดียวด้วย?” อย่างนี้เป็นต้น จะว่าไปแล้วถ้าเกิดเจ้าหน้าที่มีเจตนาอยากจะได้นักบวชไว้ประดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ตัวเองทำงานอยู่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จริงๆ แล้วจงใจจะไม่บอกเรื่องนี้แก่บรรพชิตผู้สมัครเรียนตั้งแต่แรกจริงๆ อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการ พอเกิดเรื่องขึ้นก็แค่โยนความผิดให้บรรพชิตว่า “ทำไมไม่ถาม?” ก็แค่นั้น นี่คือชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงฆ์กับนิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิด   

ข้อพิพาทระหว่างบรรพชิตด้วยกัน
ฝ่ายที่ต้องการจะบวชตลอดหลักสูตร หรือบวชตลอดชีวิตมีการตั้งแง่ลบกับผู้ที่จะลาสิกขาระหว่างเรียน แม้ว่าพวกเขาจะมีเหตุผลจะเพียงพอแค่ไหนก็ตาม ฝ่ายที่บวชตลอดหลักสูตรจะไม่มีความเห็นอกเห็นใจใดๆ ทั้งสิ้น กับผู้ที่จะลาสิกขาระหว่างเรียน ถึงจะแม้จะมีความจำเป็นแค่ไหนก็ตาม ถ้ารับฟังก็จะรับฟังเพื่อที่จะตำหนิกลับไปเท่านั้น เพราะมองว่า ผู้ที่ลาสิกขาระหว่างเรียนเป็นพวกแหกคอกนอกครู เป็นพวกแปลกแยก ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้ (ไม่เหมือนพวกตน) เป็นพวกที่ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่สมควรเห็นอกเห็นใจในทุกกรณี ถึงแม้ว่าผู้ที่ดำริจะลาสิกขาไม่ได้ลาสิกขาไปเพราะเรื่องผู้หญิงก็ตาม แต่ควรถูกประณามมากกว่า เพราะคนพวกนี้เป็นคนไม่ดี มีการกล่าวหาผู้ที่จะลาสิกขาว่า อยากใส่ชุดครุยบ้าง อยากสึกเพื่อจะรีบไปตามผู้หญิงบ้าง เป็นต้น

ฝ่ายที่ไม่ประสงค์จะบวชตลอดหลักสูตร หรือบวชเพื่อจะอุทิศเท่านั้น ผู้ที่ไม่ประสงฆ์จะบวชตลอดหลักสูตร ถูกตราหน้าว่า “สึกเพราะรีบอยากได้สีกา” บ้าง “อยากใส่ชุดครุยอย่างลูกชาวบ้านชาวช่องเขา” บ้าง ฯลฯ และข้อครหาโจมตีอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาเหล่านี้ ทำให้นิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิตที่ไม่ประสงค์จะบวชยาวถูกโจมตี

บรรพชิตทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้เรื่องระเบียบสึกปรับห้าหมื่นมาก่อนเหมือนกัน แต่มีเป้าประสงค์ที่แตกต่างกันในการเข้ามาบวช แต่ฝ่ายที่ต้องการบวชตลอดหลักสูตร หรือตลอดชีวิตมักกล่าวตำหนิ ซ้ำเติม ผู้ที่ไม่บวชตลอดหลักสูตร ถึงขั้นบูลลี่กัน เพียงเพราะเห็นว่า ฝ่ายที่ไม่บวชตลอดหลักสูตรไม่สามารถบวชได้ตลอดเหมือนกับพวกตน แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เป็นบรรพชิตก็เกิดความไม่พอใจที่มีนิสิตนักศึกษาฝ่ายบรรพชิตจะลาสิกขา ส่วนผู้ที่จะลาสิกขาระหว่างเรียนก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ทำให้ไม่มีใครฟังใคร

จะว่าไปแล้ว ผู้ที่ประสงค์จะบวชตลอดหลักสูตรหรือประสงค์จะบวชนานกว่านั้นไปอีก ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดีไปกว่าผู้ที่ประสงค์จะบวชชั่วคราว เพราะพระที่ต้องการบวชนานจริง ๆ จำนวนมาก (โดยเฉพาะใน ม.สงฆ์) มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบคฤหัสถ์ พฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อย ก็คือ กินข้าวเย็น (ให้สังเกตร้านค้าใกล้วัดตอนเย็น) พูดจาส่อเสียด ชอบพูดข่มคนอื่น ชอบพูดดูถูกจาดูถูกเหยียดหยามพระเณรนิสิตนักศึกษาด้วยกันต่อหน้าธารกำนัล ท้าตีท้าต่อย ดื่มสุรา เล่นการพนัน (พนันบอล, พนันมวย) ฯลฯ หนักสุดก็คือ เสพยา และถึงขั้นร่วมประเวณี (กับชายหรือหญิง) อย่างเช่น การข่มขืนเณร พระจีบสาว พระมีแฟน (อาจเป็นชายหรือหญิง) ฯลฯ อีกหนึ่งเหตุการณ์ตัวอย่าง คือ มีพระลากกิ่งไม้จิกจะฟาดกันกลางดึก ขณะนั่งผิงไฟด้วยกัน เพราะพูดจาไม่เข้าหู ในงานปฏิบัติธรรมประจำปีที่ มจร. แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด เป็นต้น

มูลเหตุอีกอย่าง ก็คือ นอกจากจะแจ้งตอนวันปฐมนิเทศเป็นต้นไปแล้ว ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงจะแจ้งประกาศนี้แก่นิสิตนักศึกษาอย่างเป็นทางการจริงๆ อีกที ก็ต่อเมื่อ ช่วงใกล้ถึงงานซ้อมรับปริญญาแล้ว อย่างเช่น ประกาศฉบับนี้ (ให้ดู ข้อ 7)

ประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับการ “สึกปรับห้าหมื่น” ถูกโพสต์ลงในเพจของ มจร. วิทยาลัยสงฆ์เลย เมื่อปี พ.ศ. 2563 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากประกาศสึกปรับห้าหมื่นได้ประกาศออกมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แต่ทาง มจร.วิทยาลัยสงฆ์เลย ก็โพสต์ลงในเพจแจ้งเตือนให้เฉพาะนิสิตใหม่ระดับปริญญาโทเท่านั้น ส่วนนิสิตใหม่ระดับชั้นปริญญาตรี ก็ยังไม่มีการโพสต์แจ้งเตือนในเรื่องสึกปรับห้าหมื่นจนถึงทุกวันนี้.  

(ยังมีต่อ)

สึกปรับห้าหมื่น: ปัญหาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทย 1

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท