Skip to main content
sharethis

การเจรจาหารือเรื่องการควบคุมอาวุธสังหารอัตโนมัติยังคงไม่มีความคืบหน้าและไม่สามารถออกมาเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้สำเร็จ หลังจากที่สหประชาชาติจัดการประชุมเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว แต่ประเทศที่พัฒนาอาวุธเหล่านี้คือรัสเซีย, สหรัฐฯ, อินเดีย ยังคงคัดค้านการออกกฎควบคุม ทำให้หลายกลุ่มเสนอให้มีการจัดดำเนินการคู่ขนานแยกจากของยูเอ็น


ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia

เจ้าหน้าที่ทางการหลายประเทศและกลุ่มนักกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องเกี่ยวกับประเด็น "เครื่องจักรสังหาร"  แสดงความผิดหวังหลังจากที่การเจรจาหารือของสหประชาชาติเกี่ยวกับประเด็นระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติ (lethal autonomous weapon systems หรือ LAWS) ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ในการออกมาเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อกำกับควบคุมการใช้งานของพวกมันได้หลังจากที่มีกลุ่มประเทศผู้ผลิตยุทโธปกรณ์เหล่านี้ทักท้วง

สำหรับอาวุธสังหารอัตโนมัติหรือ LAWS ที่ว่านี้แตกต่างจากอาวุธกึ่งอัตโนมัติกึ่งให้มนุษย์ควบคุมอย่างเครื่องบินโจมตีแบบโดรน เพราะ LAWS ไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ควบคุมกดสวิตช์สังหาร แต่พวกมันจะสามารถตัดสินใจความเป็นความตายของคนด้วยระบบการประมวลผล ระบบตรวจจับ และโปรแกรมของพวกมัน

มีข้อเรียกร้องให้มีการออกมาตรการกำกับควบคุมอาวุธสังหารอัตโนมัตินี้อย่างเร่งด่วนหลังจากที่คณะกรรมการยูเอ็นเคยรายงานในเรื่องนี้เมื่อเดือน มี.ค. 2564 เกี่ยวกับเรื่องที่มีการใช้โดรนควบคุมอัตโนมัติตัวแรกในเหตุการณ์โจมตีที่ลิเบีย ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ส่งเสริมให้กลุ่ม 125 กลุ่มที่ร่วมประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด (Convention on Certain Conventional Weapons หรือ CCW) ให้ออกแบบแผนการกำกับควบคุมชุดใหม่

แต่ในวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมาในที่ประชุมพิจารณาครั้งที่ 6 ของ CCW ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการหารือครั้งต่อไปเกี่ยวกับเรื่องการกำกับการใช้อาวุธสังหารอัตโนมัติได้ มีกลุ่มประเทศที่ลงทุนเป็นจำนวนมากกับการพัฒนาอาวุธสังหารอัตโนมัติโหวตบล็อกไม่ให้มีเสียงข้างมากเห็นชอบกับการออกกฎที่มีข้อผูกมัดเกี่ยวกับอาวุธเหล่านี้ ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้แก่ สหรัฐฯ, รัสเซีย, อินเดีย พวกเขาต่อต้านการออกสนธิสัญญาใหม่ที่จะควบคุมอาวุธเหล่านี้ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังอ้างถึงว่าอาวุธสังหารอัตโนมัติเหล่านี้มีประโยชน์เช่นในด้านความแม่นยำ

เฟลิกซ์ เบามานน์ เอกอัครราชทูตด้านการลดอาวุธจากสวิตเซอร์แลนด์แสดงความไม่พอใจที่ผลการประชุมที่ไม่มีความคืบหน้าและอาจจะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีไปไกลกว่าความสามารถในการกำกับดูแลของพวกเขาได้ หลังจากที่เคยมีการประชุมพูดคุยในเรื่องนี้มาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้มีประเทศ 68 ประเทศที่เรียกร้องให้มีการออกกฎกำกับควบคุมอาวุธสังหารอัตโนมัติ ขณะที่องค์กรเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งก็รณรงค์เพื่อต้านทางการแพร่หลายของอาวุธอัตโนมัติจำพวกนี้และเรียกร้องให้มีการกำกับควบคุมเช่นกัน

ในกลุ่มนักการเมืองที่เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายนานาชาติควบคุมอาวุธสังหารอัตโนมัติได้แก่ อเล็กซานเดอร์ ชาลเลนเบิร์ก รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรียและ ฟิล ทไวฟอร์ด รัฐมนตรีด้านการลดอาวุธและการควบคุมอาวุธของนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ประเทศนอร์เวย์และเยอรมนีก็ตั้งกลุ่มแนวร่วมรัฐบาลนานาชาติที่สัญญาว่าจะจัดการในเรื่องนี้

นิล เดวิดสัน ที่ปรึกษาด้านนโยบายของแผนกกฎหมายในคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) แสดงความผิดหวังที่การหารือไม่มีความคืบหน้าในการที่จะโต้ตอบกับความเสี่ยงที่มาจากอาวุธสังหารอัตโนมัติ

เวอริตี คอยล์ ที่ปรึกษาอาวุโสของแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่าการประชุม CCW ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงการขาดความสามารถในการทำให้เกิดความคืบหน้าในประเด็นนี้

เรื่องนี้ทำให้นักกิจกรรมมองว่าควรจะมีกระบวนการคู่ขนานแยกออกมาจากการหารือที่จัดโดยยูเอ็นซึ่งมีการจัดขึ้นมานานแล้วเพื่อทำให้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นนี้ในอนาคต จากที่เคยมีการสร้างความคืบหน้าได้สำเร็จมาแล้วในประเด็นการควบคุมทุ่นระเบิดและระเบิดพวง

ริชาร์ด มอยส์ ผู้ประสานงานขององค์กรสต็อปคิลเลอร์โรบอตส์กล่าวว่ารัฐบาลต่างๆ ควรทำให้แน่ใจว่ามนุษย์มีความสามารถควบคุมเหนือการใช้กำลังอาวุธเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้หุ่นยนต์สังหารเหล่านี้ส่งผลกระทบร้ายแรงในระดับหายนะต่อมนุษยชาติ

เรียบเรียงจาก
UN talks fail to open negotiations on ‘killer robots’, Aljazeera, 18-12-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net