‘MI5’ หน่วยข่าวกรองอังกฤษ แจ้งเตือนรัฐสภาพบ ‘สายลับจีน’ เข้าแทรกซึม

MI5 หน่วยข่าวกรองสหราชอาณาจักร ส่งหนังสือเตือนรัฐสภาว่า "คริสตีน ลี" เจ้าของบริษัททนายความชื่อดัง เป็นสายลับของพรรคคอมนิวนิสต์จีน บริจาคเงินให้ ส.ส. อังกฤษ 2 คน โดยจงใจปกปิดที่มาแหล่งเงิน หวัง “บ่อนทำลายกระบวนการ” นิติบัญญัติ ส.ส. ฝั่งรัฐบาล กังวลอาจถูกล้วงข้อมูลเกี่ยวกับนักกิจกรรมที่วางแผนลี้ภัยจากประเทศจีน บทวิเคราะห์ชี้กฎหมายปัจจุบันเอาผิดยาก เพราะทำอย่างเปิดเผยและแนบเนียน ปฏิบัติการแทรกซึมดังกล่าวเชื่อมโยงกับ 'กรมการแนวร่วมจีน' และอาจนำไปสู่ความหวาดระแวงระหว่างชาวอังกฤษกับชุมชนเชื้อสายจีนในสหราชอาณาจักร เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลปักกิ่ง

15 ม.ค. 2565 สื่อในอังกฤษรายงานว่า MI5 หน่วยข่าวกรองของอังกฤษ ได้ส่งหนังสือไปถึง เซอร์ ลินเซย์ ฮอยล์ ประธานรัฐสภาของอังกฤษ เพื่อแจ้งเตือนว่า คริสตีน ลี (ภาษาจีน: ชิง กุย ลี) “มีส่วนร่วมในกิจกรรมแทรกแซงการเมืองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส. ในรัฐสภาแห่งนี้” 

หน่วยข่าวกรองของอังกฤษแจ้งเตือนว่าคริสตีน ลี “เป็นผู้ประสานงานบริจาคเงินเพื่อรับใช้และชี้นำสมาชิกรัฐสภา[สหราชอาณาจักร]ให้กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฮ่องกงและจีน … และกระทำอย่างลับๆ โดยปกปิดที่มาของเงินบริจาค” 

รัฐบาลจีนปฏิเสธเรื่องดังกล่าวในช่วงดึกของคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยระบุว่าประเทศจีน “ไม่มีความจำเป็น” ต้อง “ซื้ออิทธิพล” ในรัฐสภาของต่างประเทศ

แบรี การ์ดินเนอร์ ส.ส. เก้าอี้แถวหน้า และอดีตรัฐมนตรีของพรรคแรงงาน ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในผู้แทนที่รับเงินบริจาคจำนวนมากจากหญิงชาวจีนคนดังกล่าว แบรียังออกมายืนยันอีกด้วยว่าลูกของเธอทำงานให้กับเขา แต่ลาออกไปแล้วในเดียวกันกับที่มีการแจ้งเตือนจาก MI5

พริตี พาเทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระบุว่าเรื่องของคริสตีน ลี เป็นประเด็นที่มีการสืบสวนมานานแล้ว แต่ข้อมูลที่เปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ “ค่อนข้างใหม่” พร้อมระบุว่าสิ่งที่คริสตีน ลีทำในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน “ยังไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่เป็นการแจ้งเตือนให้ ส.ส. ได้รับทราบ”

คริสตีน ลี ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจประชาชนจากกระแสกดดันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันลาออก หลังมีการเปิดโปงว่านายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงแอบจัดปาร์ตี้ในทำเนียบนายกรัฐมนตรี ขณะที่มีคำสั่งล็อกดาวน์และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

พริตี พาเทล เสริมว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร และจะพยายามทำงานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยใช้ช่องทางตามกฎหมาย

“แทรกแซงการเมืองในอังกฤษ”

MI5 ระบุว่า คริสตีน ลี ประกอบอาชีพทนายความ และเข้ามาเกี่ยวข้องกับ ส.ส. ในรัฐสภาอังกฤษ โดยตั้งเป้าอยากเป็น ส.ส. และเคยเป็นสมาชิกของกลุ่ม Chinese in Britain ที่ยุบไปแล้ว โดยกลุ่มที่ว่านี้เป็นกลุ่มแบบไม่เป็นทางการที่ทำงานกับพรรคการเมืองหลายพรรคในรัฐสภาเพื่อจัดกิจกรรมผลักดันประเด็นบางประเด็น

ในหนังสือแจ้งเตือนระบุว่า “[คริสตีน] ลี ได้กระทำการอย่างลับๆ โดยประสานงานกับกรมการแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และถูกสรุปว่ามีส่วนพัวพันในกิจกรรมแทรกแซงการเมืองของสหราชอาณาจักร”  เซอร์ ลินเซย์ ฮอยล์ แจ้ง ส.ส. ของรัฐสภาอังกฤษว่าหากคริสตีน ลีพยายามเข้าหาพวกเขา พวกเขาควรติดต่อผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยของรัฐสภาในทันที

ที่ผ่านมาคริสตีน ลี มักถ่ายภาพคู่กับเจเรมี คอร์บิน อดีตผู้นำพรรคแรงงาน พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน และได้รับรางวัลจากอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ จาก “การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดี และความร่วมมือระหว่างประชาคมจีนและสังคมของสหราชอาณาจักรในวงกว้าง”   

บริษัทกฎหมายที่เธอเป็นผู้บริหารงานอยู่อวดอ้างว่าเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ-จีน “เพียงแห่งแรกและแห่งเดียว” ที่ปฏิบัติงานบริษัทกฎหมายในจีนได้โดยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงยุติธรรมของจีน  

บริจาคเงินให้ ส.ส. พรรคแรงงาน และพรรคเสรีประชาธิปไตย 

หนังสือแสดงรายได้ของ ส.ส. แสดงให้เห็นว่าคริสติน ลี เคยบริจาคเงินกว่า 700,000 ปอนด์ให้กับสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ ส่วนใหญ่เงินดังกล่าวมอบให้กับ ส.ส. แบรี การ์ดินเนอร์

แบรี การ์ดินเนอร์ บอกกับสำนักข่าว Sky News ว่าเขาติดต่อประสานงานกับ MI5 ในประเด็นที่เกี่ยวกับคริสตีน ลี มาหลายปีแล้ว “พวกเขารู้มาตลอด และได้รับแจ้งจากผมอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ของเธอในสำนักงานของผมและเงินบริจาคที่เธอมอบเป็นเงินทุนให้กับนักวิจัยในสำนักงานของผม”

แบรี การ์ดินเนอร์ ระบุเพิ่มเติมว่าได้ “ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจแล้วว่าเธอไม่มีบทบาทในการแต่งตั้งหรือบริหารงานเกี่ยวกับนักวิจัยเหล่านั้น”

“พวกเขา [MI5] ยังรับรู้ด้วยว่าผมไม่ได้รับประโยชน์ส่วนตัวจากเงินบริจาคแต่อย่างใด เธอเลิกให้ทุนบุคลากรในสำนักงานของผมไปตั้งแต่ มิ.ย. 2563”

การ์ดินเนอร์ระบุด้วยว่าลูกของคริสตีน ลี ทำงานภายใต้เขาในตำแหน่งผู้จัดการบันทึกส่วนตัวในช่วงที่มา แต่ลาออกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และ MI5 ระบุว่าพวกเขา “ไม่มีข้อมูลข่าวกรองที่แสดงให้เห็นว่าเขา[ลูกชายของคริสตีนลี] รับรู้ หรือมีส่วนรู้เห็นในกิจกรรมผิดกฎหมายของแม่ของเขา”

หนังสือแสดงรายได้ของ ส.ส. แสดงให้เห็นด้วยว่า เซอร์ เอ็ด เดวีย์ ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย ได้รับเงิน 5,000 ปอนด์จากคริสตีน ลี ในปี 2556

ส.ส. อังกฤษที่โดนจีนคว่ำบาตรแสดงความกังวล

เอียน ดันแคน สมิธ ส.ส. แถวหน้าของพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และหนึ่งใน ส.ส. อังกฤษ ที่ถูกคว่ำบาตรจากจีนเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์จีนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ ระบุกับสกายนิวส์ว่าคริสตีน ลี ควรถูกเนรเทศออกจากอังกฤษ และเขารู้สึกกังวลต่อความปลอดภัยของนักกิจกรรมที่เขาพยายามช่วยเหลือออกจากระบอบเผด็จการจีน

“ผมคิดว่านี่เป็นรูปแบบของการสอดแนมอย่างชัดเจน ผมได้ยินมาเธอจะไม่ถูกเนรเทศ ให้ตายเถอะทำไมสายลับแบบนี้ถึงอนุญาติให้อยู่ในประเทศได้” เขากล่าว

เอียน ดันแคน สมิธ ระบุเพิ่มเติมว่าสำนักงานของเขาอาจตกเป็นเป้าหมายของการล้วงข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เขาพยายามช่วยให้หนีออกจากประเทศจีน

“ผมไม่อยากเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้ ที่ส่งไปให้รัฐบาลจีนเพื่อให้พวกเขาถูกจับกุม หรือเพื่อให้ครอบครัวของเขาถูกทำร้าย นี่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากๆ และมีผลที่เกิดตามมาอีกมหาศาล” 

แนบเนียน เอาผิดยาก

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าว Sky News เขียนโดยเดบอรา เฮนส์ ระบุว่าการแจ้งเตือนของ MI5 เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก โดยหน่วยข่าวกรองของอังกฤษเพิ่งเคยออกประกาศเตือนเป็นครั้งที่ 2 หลังก่อนหน้านี้เคยประกาศเตือนเป็นครั้งแรกในกรณีที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย

หนังสือแจ้งเตือนของ MI5 ระบุว่าคริสตีน ลี มีความเกี่ยวข้องกับกรมการแนวร่วม (United Front Work Department) ของจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นแขนขาของรัฐบาลจีนที่มุ่งส่งเสริมอุดมคติของพรรคคอมมิวนิสต์ตีนและปิดปากกระแสวิพากษ์วิจารณ์จีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แนวทางของกรมการแนวร่วมจีนนั้นใช้วิธีการที่แนบเนียน เช่น การศึกษา วัฒนธรรม และการปฏิสัมพันธ์แบบละมุนละม่อม ทำให้ยากต่อการแยกแยะว่าปฏิบัติการใดเป็นการสร้างอิทธิพลอย่างชอบธรรม ปฏิบัติการใดเป็นปฏิบัติการบั่นทอนและขัดต่อหลักศีลธรรม

หนังสือของ MI5 ระบุว่าการบริจาคเงินโดยปกปิดที่มานั้น “ชัดเจนว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ และกำลังมีการดำเนินการเพื่อรับประกันให้พฤติกรรมเช่นนี้ถูกระงับ”

ขณะนี้หน่วยความมั่นคงของสหราชอาณาจักรทำได้แค่แจ้งเตือนให้ ส.ส. ตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งเงินบริจาคเท่านั้น และยังมีอำนาจจำกัดในการยับยั้งไม่ให้เงินบริจาคถูกใช้เป็นเครื่องมือแทรกแซงจากต่างชาติ

บทวิเคราะห์ชี้ว่าเร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอกฎหมายเข้าสภาให้ใครก็ตามที่ทำงานให้กับรัฐบาลของต่างชาติต้องลงทะเบียนเพื่อระบุสังกัดให้ชัดเจน หากไม่ทำเช่นนั้นจะถือว่าเป็นความผิดทางอาญา 

ด้านพริตี พาเทล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยโพสต์ในทวิตเตอร์ว่าแม้ประชาชนอาจจะรู้สึกวิตกที่มีสายลับแทรกซึมเข้ามาบ่อนทำลายกระบวนการทำงานของผู้แทนรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 

แต่การตรวจพบสายลับได้คาหนังคาเขาเช่นนี้ เป็นผลจากโครงสร้างพื้นระบบข่าวกรองที่เข้มแข็งเป็นอันดับต้นๆ ของสหราชอาณาจักร และจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบต่อไป  

ชาวจีนโพ้นทะเลถูกใช้เป็นเครื่องมือ

บทวิเคราะห์อีกชิ้นของสำนักข่าวสกายนิวส์เขียนโดยทอม เชชไชร์ ระบุว่า คริสตีน ลี ไม่ใช่สายลับที่ปฏิบัติการแบบลับลวงพราง เพราะถ้าทำเช่นนั้นคงโดนเนรเทศออกจากสหราชอาณาจักรไปนานแล้ว เหมือนที่สายลับกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีนเคยถูกเนรเทศออกไปอย่างเงียบๆ ในปี 2563 หลังปลอมตัวเข้ามาในคราบนักข่าว

จากข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กรมการแนวร่วมของจีน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคริสตีน ลี นั้น “ใช้วิธีการหลากหลายรูปแบบเพื่อแผ่อิทธิพลเข้าไปในชุมชุนชาวจีน รัฐบาลต่างชาติ และตัวแสดงอื่นๆ เพื่อปฏิบัติการหรือปรับจุดยืนให้สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลปักกิ่งกำหนด”

ส่วนใหญ่แล้ว การกระทำของกรมการแนวร่วมจีนเป็นการกระทำอย่างเปิดเผย ดังจะเห็นได้จากภาพบนเว็บไซต์ของกรมการแนวร่วมที่เต็มไปรูปกิจกรรมต่างๆ คริสตีน ลี เองก็แทรกซึมเข้ามาในสหราชอาณาจักรด้วยวิธีการเดียวกัน โดยสานสัมพันธ์กับผู้นำทางการเมืองของอังกฤษมากมายหลายคนมาตั้งแต่ พ.ศ  2560

บทวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ต่อไปว่าการกระทำลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนพยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อโลกภายนอกผ่านวิธีการแอบแฝงหลากหลายรูปแบบ และเพียงเพราะมันเป็นวิธีการที่เปิดเผยโจ่งแจ้งมากกว่า ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นปัญหาน้อยลงแต่อย่างใด  

นอกจากนี้การแทรกแซงลักษณะนี้ไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อชาวจีน หรือลูกหลานชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรด้วย

เมื่อปีที่แล้ว รองอธิบดีของกรมการแนวร่วมจีนระบุว่ารัฐบาลจะ “สร้างความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนชาวจีนภายในประเทศและต่างประเทศอย่างถ้วนหน้า” โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการ “สร้างประเทศให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง” 

จากข้อมูลของมาร์ติน ธอร์เลย์ นักวิจัยอาคันตุกะของมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ หนึ่งในกิจกรรมที่คริสตีน ลี ทำในสหราชอาณาจักรคือการก่อตั้งโครงการ British Chinese Project เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนชาวอังกฤษเชื้อสายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองอังกฤษมากขึ้น

โครงการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความริเริ่มในระดับรากหญ้า แต่หากคริสตีน ลีเป็นสายลับของรัฐบาลจีน โครงการดังกล่าวก็จะต้องถูกมองด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป 

บทวิเคราะห์ดังกล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่าผลสืบเนื่องตามมาหลังการเปิดโปงสายลับจีนครั้งนี้ คือการสร้างบรรยากาศของความหวาดระแวงระหว่างประชาชนชาวอังกฤษและชาวจีนโพ้นทะเล 

เรื่องนี้แสดงออกมาให้เห็นหลังกงสุลจีนในกรุงลอนดอนปฏิเสธเรื่องการเป็นสายลับของคริสตีน ลี โดยปัดว่า “เป็นการใส่ร้ายป้ายสี และข่มขู่ประชาคมชาวจีนในสหราชอาณาจักร” 

การแถลงของกงสุลจีนสอดคล้องกับนโยบายของกรมการแนวร่วมที่ต้องการนำชาวจีนโพ้นทะเลมาเป็นพวก สร้างความคลุมเครือระหว่างการกระทำที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม และทำให้ผลประโยชน์ของชาวอังกฤษเชื้อสายจีนสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์

การทำเช่นนี้ของกรมการแนวร่วมจีนไม่เพียงแต่ทำลายความไว้วางใจต่อกันในสังคมของอังกฤษเท่านั้น แต่ยังสร้างบรรยากาศความหวาดระแวงด้วย บทวิเคราะห์ดังกล่าวปิดท้ายว่านี่ไม่ใช่ฝีมือของ MI5 แต่อย่างใด แต่เป็นฝีมือของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท