จับตาต้นปี 65 ผู้หญิงอาจมีบทบาทในศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีก 2 ประเทศ

‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศจะแต่งตั้งผู้หญิงผิสีเป็นตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญภายในปลายเดือน ก.พ. นี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ด้าน ‘ปากีสถาน’ ก็เพิ่งแต่งตั้งผู้หญิงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศเช่นกัน ส่วนประเทศไทยนั้นยังคงรักษาสถิติ ไม่มีผู้หญิงได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นศาลรัฐธรรมนูญเลยกว่า 25 ปี

ในช่วงต้นปี 65 เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและปากีสถาน แม้ทั้ง 2 ประเทศจะอยู่คนละมุมโลก และมีสถานการณ์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศสภาพแตกต่างกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงในทั้ง 2 ประเทศนำไปสู่การถกเถียงเรื่องเดียวกัน นั่นคือการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงให้เข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรที่มีสถานะสูงสุดในสถาบันตุลาการ

สหรัฐอเมริกา: ตุลาการหญิงผิวสีคนแรก

ในสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่าสตีเฟน เบรเยอร์จะลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเร็ว ๆ นี้ หลังปฏิบัติหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมากว่า 27 ปี สตีเฟน เบรเยอร์ ปัจจุบันอายุ 83 ปี เป็นตุลาการที่อายุมากที่สุดในศาลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ในจดหมายลาออกของเบรเยอร์ที่ส่งถึงไบเดน เขาระบุว่าจะลาออกในช่วง มิ.ย. หรือ ก.ค. 65 ทั้งนี้ เบรเยอร์เป็นหนึ่งในตุลาการ 3 คนที่มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยม ขณะที่อีก 6 คนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม

ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ตุลาการ 9 คนจะได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและผ่านความเห็นชอบวุฒิสภา เนื่องจากในแต่ละยุคสมัยจะมีพรรคการเมืองอุดมการณ์ต่างกันสลับกันเข้ามาเป็นรัฐบาล (นั่นคือพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับบลิกัน) การลาออกของสตีเฟน เบรเยอร์ ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน หมายความว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้ามาใหม่มีแนวโน้มที่จะมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมเช่นเดียวกัน เพื่อการันตีเสียงของฝ่ายเสรีนิยมในประเด็นสำคัญต่างๆ

หากมีการแต่งตั้งขึ้นในช่วงนี้ กระบวนการเห็นชอบของวุฒิสภาก็น่าจะราบรื่น เพราะปัจจุบันพรรคเดโมแครตเป็นผู้คุมเสียงข้างมากทั้งในระดับสภาผู้แทนและวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม จำนวน ส.ส. และ ส.ว. อาจเปลี่ยนแปลงได้หลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 65 จากคะแนนนิยมที่ตกต่ำลงของโจ ไบเดน นักกิจกรรมฝ่ายเสรีนิยมจึงเรียกร้องให้สตีเฟน เบรเยอร์ รีบลาออกและแต่งตั้งตุลาการใหม่ในช่วงนี้ เพื่อให้สัดส่วนอุดมการณ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ที่ 6-3

สำหรับการเตรียมแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน โพสต์ในเฟสบุ๊คว่า “คนที่ผมจะเสนอชื่อเข้ามาแทนตุลาการเบรเยอร์จะเป็นคนที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยม [ทั้งในด้าน]นิสัย ประสบการณ์ ความซื่อสัตย์ และเธอจะเป็นหญิงผิวสีคนแรกที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา” รายงานจากหลายแห่งระบุว่า โจ ไบเดน จะเสนอชื่อภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยการเสนอชื่อครั้งนี้เป็นนโยบายที่โจ ไบเดน เคยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2020

ก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาเคยมีผู้หญิงเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ซานดรา โอ’คอร์เนอร์ ได้รับการแต่งตั้งในสมัยของประธานาธิบดีโรนัล เรแกนใน ค.ศ. 1981 และเกษียณตัวเองออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 2006 ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญของอเมริกามีผู้หญิงเป็นตุลาการทั้งหมด 3 คน ได้แก่ โซเนีย โซโตเมเยอร์ (แต่งตั้งเมื่อ ค.ศ. 2009) เอเลนา เคเกน (ค.ศ. 2010) และเอมี โคนี บาร์เรตต์ (ค.ศ. 2020) อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งหญิงผิวสีขึ้นเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นับว่าไม่เคยมีมาก่อนในสหรัฐอเมริกา

แม้ข้อเสนอของไบเดนจะมีผู้เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่างๆ เช่น การประชดประชันจากพิธีกรของช่องอนุรักษ์นิยมอย่าง Fox News หรือทุลซี่ กับบาร์ด อดีต ส.ส. พรรคเดโมแครต ที่ออกมาวิจารณ์ว่าประธานาธิบดีไบเดนไม่ควรเลือกตุลาการโดยพิจารณาจากสีผิวหรือเพศสภาพ แต่ควรดูไปที่คุณสมบัติและความมุ่งมั่นในการปกป้องรัฐธรรมนูญและเสรีภาพของประชาชนมากกว่า ในประเด็นเหล่านี้ ก็มีผู้ออกมาปกป้องไบเดนว่าการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้ดูเพียงสีผิวหรือเพศสภาพ​ แต่ต้องดูคุณสมบัติ​และความสาม​ารถด้วยอยู่แล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้ม ‘เอียงขวา’ มากขึ้นในช่วงให้หลัง เนื่องจากการเดินเกมการเมืองในรัฐสภาของพรรครีพับบลิกัน ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา วุฒิสภาภายใต้การนำของมิตช์ แมคคอนเนลล์และพรรครีพับบลิกันพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พรรคเดโมแครตแต่งตั้งเมอร์ริค การ์แลนด์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังการเสียชีวิตของแอนโทนิน สกาเลีย ตุลาการฝ่ายอนุรักษ์นิยมใน ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ปัจจุบันเมอร์ริค การ์แลนด์ เป็นอัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา โดยการแต่งตั้งของโจ ไบเดน

เมื่อโดนัล ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี วุฒิสภาที่ตกเป็นของพรรครีพับบลิกันจึงเห็นชอบแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้ามาถึง 3 คน นั่นคือ นีล กอร์ซัช (ค.ศ.2017) เบรต คาวานอ (ค.ศ. 2018) และเอมี โคนี บาร์เร็ต (ค.ศ. 2020) การแต่งตั้งเบรต คาวานอ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาเคยมีประวัติการล่วงละเมิดทางเพศใน ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) และเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เข้ามาแทนที่เก้าอี้ “สวิงโหวต” ของแอนโธนี เคเนดี ที่ลาออกไป 

ส่วนการแต่งตั้งเอมี โคนี บาร์เร็ต เกิดขึ้นหลังรูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ตุลาการฝ่ายเสรีนิยม เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่

จากเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาอยู่ในสภาวะสมดุลคือ 4-4-1 (อนุรักษ์นิยม 4 เสรีนิยม 4 และสวิงโหวต 1) ปัจจุบันศาลจึง ‘เอียงขวา’ อยู่ที่ 6-3 เพื่อป้องกันไม่ให้ตุลาการฝ่ายเสรีนิยมเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสมัยที่พรรครีพับบลิกันเป็นรัฐบาลอีก นักกิจกรรมฝ่ายเสรีนิยมจึงเรียกร้องให้สเตเฟน เบเยอร์ จากฝ่ายเสรีนิยมลาออกในช่วงที่พรรคเดโมแครตยังคงเสียงข้างมากในสภาอยู่

แม้ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้จะลงโทษโดนัล ทรัมป์ ผู้เสนอชื่อตุลาการเข้ามาถึง 3 คน ด้วยการพิพากษาสั่งให้มีการเปิดเผยเอกสารของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการก่อจราจลที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 (พ.ศ. 2564) ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘อกตัญญู’ จากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเช่นกันว่าศาลชุดนี้อาจคว่ำคำพิพากษาเดิมเกี่ยวกับการอนุญาตทำแท้ง เพื่อส่งผลให้มลรัฐต่างๆ มีอำนาจในการออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้งได้มากขึ้น โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพิ่งจัดเดินขบวนต่อต้านการทำแท้งเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

สำหรับภาพรวมของศาลในอเมริกา เมื่อ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพิ่งแต่งตั้งนุสรัต จาฮาน ชูดูรี เป็นผู้พิพากษารัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ทำให้เธอเป็นหญิงชาวมุสลิมคนแรกในสหรัฐฯ ที่ได้รับตำแหน่งนี้ นอกจากนี้ วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกายังเห็นชอบให้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลระดับเขตและศาลอุทธรณ์กว่า 40 คนในปีที่แล้ว โดยในจำนวนนี้มีหญิงผิวสีเป็นจำนวน 5 คนด้วย 

ปากีสถาน: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนแรก

ในประเทศปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในฝ่ายตุลาการเช่นกัน หลังจากอะยิชา มาลิก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหญิงคนแรกของประเทศแล้ว โดยเธอเพิ่งเข้าพิธีปฏิญาณตนกับกุลซาร์ อาห์เม็ด ประธานตุลาการศาลยุติธรรมของปากีสถานเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการศาลยุติธรรมลงมติแต่งตั้งเธอด้วยคะแนนเฉียดฉิว 5 ต่อ 4

ในการสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ประธานตุลาการศาลยุติธรรมระบุว่าการแต่งตั้งอะยิชา มาลิก เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มาจากผลงานและความสามารถของเธอทั้งหมด ไม่ใช่ผลงานของใครอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามว่าเธอถูกแต่งตั้งเพราะเป็นผู้หญิงหรือเป็นเพราะความสามารถของเธอ กุลซาร์ อาห์เม็ด ตอบว่า “ผู้หญิง” ก่อนเดินออกจากอาคารไป

สำนักข่าว Dawn รายงานว่าก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อะยิชา มาลิก เป็นผู้พิพากษาอาวุโสระดับ 4 ของศาลสูงเมืองลาฮอร์ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นผู้พิพากษาคนอื่นๆ ที่มีระดับความอาวุโสสูงกว่า นอกจากนี้ เธอยังเผชิญกับกระแสต่อต้านจากเนติบัณฑิตยสภาและสมาคมนักกฎหมายหลายแห่ง สำหรับศาลสูงลาฮอร์ ตั้งอยู่ในรัฐปัญจาบ เป็นเมืองหลวงอันดับสองของปากีสถาน เมืองหลวงอันดับหนึ่งคือกรุงการาจี

อะยิชา มาลิก เกิดเมื่อ ค.ศ. 1966 เคยเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานในปารีส นิวยอร์ก การาจี และลอนดอน เธอจบปริญญาตรีด้านการเงินและกฎหมายในการาจีและลาฮอร์ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา อะยิชาเคยเป็นผู้ทำงานเพื่อสังคมในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ครอบครัว สิทธิผู้หญิงและเด็ก และการลดความยากจน ปัจจุบัน เธอแต่งงานแล้วและมีลูกทั้งหมด 3 คน

จากข้อมูลของ Human Right Watch ปากีสถานเป็นประเทศเดียวในเอเชียใต้ที่ไม่เคยมีผู้หญิงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฝ่ายตุลาการของปากีสถานมีสัดส่วนผู้หญิงเป็นผู้พิพากษาเพียงร้อยละ 4 ในกรณีของประเทศอินเดียซึ่งชายแดนติดกันพบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหญิงคนแรก ได้แก่ ฟาติมา บีวี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในปี ค.ศ. 1989 และเกษียณอายุในปี ค.ศ. 1992 ปัจจุุบันอินเดียมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหญิงทั้งหมด 4 คน

ประเทศไทยยังเป็นศูนย์

ย้อนกลับมามองประเทศไทย ตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้นมายังไม่มีผู้หญิงได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแม้แต่คนเดียว แม้ในระดับประธานศาลฎีกาจะเคยมีการแต่งตั้งเมทินี ชโลธร เป็นประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกแล้ว แต่เธอก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับ กปปส. ก่อนที่จะพ้นตำแหน่ง เนื่องจากครบอายุราชการ 65 ปีบริบูรณ์ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 64

จากรายงานช่องว่างระหว่างเพศสภาพในระดับโลกของ World Economic Forum เมื่อปีที่แล้ว (2564) พบว่าประเทศไทยมีระดับความเท่าเทียมทางเพศสภาพอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 153 ประเทศ และในด้านการเสริมพลังอำนาจทางการเมืองให้กับผู้หญิงซึ่งวัดจากสัดส่วนของเก้าอี้ที่ผู้ได้รับในรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 134 โดยได้รับคะแนนเพียง 0.084 เท่านั้น จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนชุดปัจจุบันของไทย ประกอบด้วย

1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

2.นายทวีเกียรติ มีนกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

4.นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

5.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

7.นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

8.นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

9.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

มติสำคัญที่น่าสนใจของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การวินิจฉัยเพื่ออนุญาติให้ผู้หญิงมีสิทธิทำแท้งได้ในช่วง 12 สัปดาห์แรก การวินิจฉัยให้กฎหมายที่อนุญาติเฉพาะการสมรสระหว่างชายกับหญิงเท่านั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยให้การกระทำของอานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง และวินิจฉัยให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกต่อไป แม้จะอาศัยอยู่ในบ้านพักหลวงของกองทัพ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าถือเป็นการขัดกันของผลประโยชน์และรัฐธรรมนูญด้วย

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีผลงานที่สำคัญอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองภาพใหญ่ดังนี้

แปลและเรียบเรียงจาก :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท