Skip to main content
sharethis

รัฐบาลอุ้มร่างกฎหมาย 'ก้าวไกล' อีกฉบับ หลังอภิปรายสมรสเท่าเทียม ด้าน 'ธัญวัจน์' ผู้เสนอกฎหมาย ชี้ กฎหมายต้องแก้ไข เพื่อเริ่มสิทธิการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

9 ก.พ. 2565 ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. ... หรือที่รู้เรียกกันในชื่อ 'ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม' โดยธัญวัจน์ระบุว่าร่างนี่มีหลักการสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมีหลายมาตราขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรค 3 เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติซึ่งปรากฏในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งขัดต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเสนอแก้ไข กำหนดให้บุคคลทุกคน ได้การรับรองสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในเรื่องการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และในการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้จะทำให้สิทธิบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียมและได้รับการรับรอง และคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

"สิ่งที่ธัญจะอธิบายต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่เรียบง่ายเป็นพื้นฐาน ของมนุษย์ทุกคน ที่เราทุกคนในสังคมต่างเข้าใจกันดี คือการที่ชายหญิงทั่วไปตัดสินใจสร้างครอบครัวและจดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตร่วมกันโดยมี บทบาท และหน้าที่ สิทธิ ศักดิ์ศรีและสวัสดิการ เป็นเรื่องทั่วไปที่สังคมมีความเข้าใจอยู่แล้ว แต่ในสิ่งที่เรียบง่ายนี้เองกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการก่อตั้งครอบครัว ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ทำให้การก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มี สิทธิ์ ไม่มีศักดิ์ศรีและ ไม่มีสวัสดิการ กฎหมายสมรสเท่าเทียมรจึงไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิ่งที่ไม่มี แต่เป็นกฎหมายที่เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกพรากไปตั้งแต่แรก" ธัญวัจน์กล่าว

ธัญวัจน์ อภิปรายต่อว่า หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีปัญหาอะไรบ้างเมื่อพวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ และบางคนมองว่สดูเหมือนก็เหมือนมีเสรีภาพอยู่แล้วในสังคมปัจจุบัน จึงขอเป็นกระบอกเสียงของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ถูกบันทึกไว้ในสภา

"พวงเพชร เหงคำ และ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง คู่รักหญิงรักหญิง ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเรียบง่ายที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มากว่า 13 ปี แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญความทุกข์ร่วมกันจากกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ตั้งแต่การเซ็นรับรองเพื่อเข้ารับบริการรักษาพยาบาลแทนไม่ได้ ทำประกันชีวิต จะระบุให้คนรักเป็นผู้รับประโยชน์ ก็ไม่สามารถระบุได้ เพราะมักถูกเรียกหาทะเบียนสมรส เวลาซื้อที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงไม่สามารถกู้เงินร่วมกันเพื่อซื้อบ้าน ก็ไม่สามารถถือครองร่วมกันในฐานะคู่สมรส กลายเป็นซื้อแล้วถือครองกันคนละแปลง หรือพอสร้างบ้านก็กลายเป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์คนเดียว ไม่สามารถถือครองทรัพย์สินใดๆ ร่วมกันในฐานะคู่สมรสเฉกเช่น ชาย-หญิง" ธัญวัจน์

ธัญวัจน์ ชี้ว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าถือครองร่วมกันได้ แต่ในความเป็นจริง คือการต้องใช้ช่องว่างทางกฎหมายซึ่งมิใช่สิทธิที่เท่าเทียม และสิ่งที่คู่รักหลากหลายทางเพศส่วนมากกังวลคือ โดยทั่วไปเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส เวลาที่เสียชีวิตทรัพย์สินจะถ่ายทอดไปสู่บุคคลที่มีสายเลือดใกล้ชิดที่สุด ซึ่งในชุมชนของคู่รักหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่ได้อยู่กับครอบครัว รวมถึงครอบครัวไม่ได้มีส่วนในทรัพย์สินที่หามาได้ ดังนั้นคนที่ควรรับทรัพย์สินเหล่านี้คือคนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน

นอกจากนี้ ด้าน “สวัสดิการสังคม” ไปจนถึงนโยบายองค์กรที่ทำงาน ครอบครัวคู่รักหลากหลายทางเพศก็ได้รับไม่เท่ากับคนอื่นๆ เช่น บางองค์กรมีนโยบายองค์กรอาจมีนโยบายช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนบุตร มีนโยบายด้านสนับสนุนด้านค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ถูกรับรองในทางกฎหมาย จะถูกมองเป็นบุคคลมากกว่า ไม่ใช่ครอบครัวก็จะไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้ หรือมียังข่าวน่าเศร้าของครูราชการผู้หญิงข้ามเพศ 'มิกกี้' ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคนรักมานาน และเมื่อคนรักป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากราชการได้

"จากข้อมูล LGBT Capital มีประชากร กลุ่มนี้ 4 ล้านคน และอาจมีถึง 7 ล้านคน เพราะไม่เปิดเผยตัวตน หรือข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจก็ระบุไว้ว่ากลุ่มที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีจำนวน 3.6 ล้านคน หรือมีสัดส่วน 5% นี่คือการรอคอยของคนจำนวนมากที่วันนี้ยังไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน"

"ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. ... เป็นปรากฎการณ์ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีผู้มาให้ความคิดเห็นในกระบวนการมาตรา 77 ถึง 54,451 คน"

"การแก้ไขมาตรา 1448 ที่เป็นการสมรสระหว่างชายหญิงเปลี่ยนเป็นระหว่างบุคคลกับบุคคลเป็นใจความสำคัญ และสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) ที่เป็นแนวทางสากลว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชน ว่าการบัญญัติกฎหมายต้องไม่มองข้ามประเด็นเพศสภาพ เพศวิถี และ อัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งหมายถึงว่า การมีระบบสองเพศในกฎหมาย ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การสร้างครอบครัวของกลุ่มนี้ และในความเป็นจริงเรื่องเพศในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่สองเพศอย่างในอดีตที่เข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินชีวิตในสิ่งที่ตนเองนิยามตัวตนและวิถีทางเพศที่หลากหลาย"

ธัญวัจน์ ระบุว่า การสร้างครอบครัวของชายหญิงทั่วไปคือการสืบสายโลหิต ส่วนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสร้างครอบครัวด้วยสายสัมพันธ์และนี่คือรักที่ไม่มีเงื่อนไข นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เราทุกคนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ที่ใช้อำนาจจากประชาชนที่ส่งท่านมาในสภาแห่งนี้ ใช้อำนาจเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ให้เกิดความเสมอภาค
ท่านทำได้ในวินาที ตอนนี้ ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เกิดความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่การอภิปรายของ ธัญวัจน์ จบลง อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกนัฐมนตรีได้ลุกขึ้ขอสภารับร่างกฎหมายฉบับนี้ไปศึกษาก่อนส่งกลับคืนให้สภาพิจารณารับหลักการภายใน 60 วัน ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวถูกฝ่ายค้านลุกขึ้นมาแย้งว่า เป็นการอุ้มกฎหมายของฝ่ายค้านที่เสนอสู่สภาและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพียงเพราะต้องการถ่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งหากนับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเป็นกฎหมายฉบับที่ 3 ที่ถูกคณะรัฐมนตรีขอมติอุ้มไปจากสภาในวันนี้ หลังจาก ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และ ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของพรรคก้าวไกล ถูก ครม. อุ้มไปหมดแล้วก่อนหน้านี้

หลังการอภิปรายอย่างกว้างขวางโดย ส.ส. พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่ง ส.ส. ส่วนใหญ่อภิปรายไปในทางที่เห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าว อาทิ วาโย อัศวรุ่งเรือง ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส. เลย มนพร เจริญศรี ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย รวมถึงสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีษะเกษ พรรคภูมิใจไทย และกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส. ชลบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไท ยกเว้น ส.ส.พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านที่อภิปรายว่าทางพรรคไม่สามารถลงมติเห็นชอบได้เนื่องจากขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติ อนุมัติให้ ครม. นำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 219 เสียง ไม่เห็นด้วย 118 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนน 1 เสียง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net