Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 1 ปี หลังรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าประกาศให้หมู่บ้านมุมเมืองต่างๆ จัดตั้งการปกครองของตัวเองเพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ "องค์กรการปกครองของประชาชน (People's Administration)" ระบุว่ากองทัพคณะรัฐประหารพม่าแทบไม่สามารถปกครองพื้นที่นอกศูนย์กลางเมืองได้อีกแล้ว เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงทั้งในภาคมะกเว ภาคสะกาย รัฐชิน รัฐกะยา ฯลฯ 


ที่มาภาพ: KNDF BO1 (อ้างใน RFA)

1 ปีหลังการรัฐประหารของพม่า "การปกครองของประชาชน" กำลังสถาปนาการปกครองในเขตต่างๆ ของเมืองสะกาย ภาคมะกเว ภาคสะกาย รัฐชิน รัฐกะยา ได้อย่างเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ท่ามกลางกระแสต่อต้านการปกครองของคณะรัฐประหารที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูลพัฒนาการของเรื่องนี้มาจากแหล่งข่าวของสำนักข่าว RFA  

พม่าเกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐประหารที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยอ้างว่าการโกงเลือกตั้งนำไปสู่ชัยชนะของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี เมื่อ พ.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหารกลับยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารได้ปราบปรามการประท้วงทั่วประเทศที่เรียกร้องให้ประเทศกลับคืนสู่การปกครองของพลเรือนอย่างรุนแรง นำไปสู่การสังหารประชาชนกว่า 1,549 คน และการจับกุมกว่า 9,132 คน ตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

เมื่อ 22 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงหลังการรัฐประหาร 3 สัปดาห์ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CPRH) ได้เรียกร้องให้มีการสถาปนา "การปกครองของประชาชน" ในทุกหมู่บ้านมุมเมือง เพื่อต่อต้านการควบคุมของคณะรัฐประหาร

อดีตสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหว Civil Disobedience Movement (CDM) สมาชิกของกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ ได้ออกมาขานรับการเรียกร้องดังกล่าวของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ 

หลังเกิดพัฒนาการดังกล่าว ประชาชนระบุว่าพวกเขาเริ่มมีอำนาจการปกครองตนเองเพิ่มขึ้นในเขตชนบทมาตั้งแต่ พ.ย. 64 หลังกองทัพประกาศว่าจะยกระดับการโจมตีกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านรัฐประหารในเขตพื้นที่ชายแดนต่างๆ 

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในเมืองซอว์ ภูมิภาคมะกเว ซึ่งพูดกับ RFA โดยไม่เปิดเผยชื่อเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ระบุว่าองค์กรการปกครองในพื้นที่ของเขาทำงานประสานกับ NUG โดยตรงในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือคนงานที่ลาออกมาเพื่อเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหว CDM และผู้ลี้ภัยที่หนีมาจากเขตปะทะระหว่างกองทัพและกองกำลัง PDF

เจ้าหน้าที่นิรนามคนดังกล่าวระบุว่าองค์กรการปกครองของเขายังฟื้นฟูระบบการศึกษาในท้องถิ่นกลับมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดโรงเรียน 20 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคลินิกเคลื่อนที่ 5 ครั้งต่อเดือนเพื่อให้บริการสุขภาพซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากแก่ผู้อยู่อาศัยด้วย

"เราไม่สามารถปกครองนครหรือเมืองต่างๆ ได้ แต่เราสามารถใช้กลไกการปกครองของเราดำเนินการต่างๆ ได้ในพื้นที่ที่ห่างออกมาข้างนอกประมาณ 4-5 ไมล์" เจ้าหน้าที่นิรนามระบุ

"มีกระทั่งกรณีประชาชนเข้ามาร้องเรียนอาชญากรรมต่อทีมองค์กรการปกครองของเรา และเราก็แก้ปัญหาไปในระดับภาคสนาม" เจ้าหน้าที่นิรนามระบุเพิ่มเติม

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุว่าองค์กรการปกครองของเขา ซึ่งมีอำนาจในทางปฏิบัติกับหมู่บ้าน 80 แห่งจาก 110 แห่งในเมืองซอ กำลังประสานงานเพื่อคว่ำบาตรสินค้าของคณะรัฐประหารและกิจกรรมต่างๆ ของ CDM ในพื้นที่

เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขององค์กรการปกครองของประชาชนในเมืองกั่นกอซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งขอไม่ให้เปิดเผยชื่อด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยเช่นกัน บอกกับ RFA ว่าทีมของเขากำลังแข่งขันกับคณะรัฐประหารพม่าเพื่อควบคุมเขตพื้นที่ดังกล่าว

"เราจัดตั้งทีมครั้งแรกเมื่อ CRPH เรียกร้องให้จัดตั้งกลุ่มการปกครองของประชานชนขึ้น แต่เราทำการปรับโครงสร้างเมื่อ 3 พ.ย. และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนับแต่นั้น"

"ในเมืองกั่นกอ ยังไม่มีพื้นที่ใดที่กองทัพยอมทิ้งการควบคุมออกไปทั้งหมด เราต้องหลบหนีเวลากำลังพลของกองทัพเข้ามา บางครั้ง เราก็เข้าสู่การต่อสู้ เราทวงคืนพื้นที่กลับมาหลังจากพวกเขาออกไป กองทัพสามารถควบคุมเมืองและเขตโดยรอบฐานทัพของแต่ละภาคได้ แต่พื้นที่ที่เหลือ เรากำลังแข่งขันเพื่อแย่งชิงการควบคุม"

การปกครองของประชาชนโดยทั่วไปแล้วถูกกำหนดโครงสร้างให้ครอบคลุมนายกองค์การบริหารส่วนกลางและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบความปลอดภัยของหมู่บ้าน สาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการสังคมสำหรับผู้ลี้ภัย 

เจ้าหน้าที่ระบุว่าผู้อยู่อาศัยเชื่อใจและพึ่งพาการปกครองของเขา เพราะองค์กรการปกครองของเขาสนับสนุนสมาชิกของ CDM ผู้ลี้ภัย และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ 

'ควบคุมได้เกือบทั้งหมด'

เจ้าหน้าที่ของเมืองมี่นดะในรัฐชิน บอกกับ RFA ว่าองค์การปกครองของประชาชนของเขาสามารถสถาปนาการควบคุมพื้นที่ได้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์แล้ว หากไม่นับเขตศูนย์กลางของเมือง

"ในเมืองมี่นดะ สภาของทหารมีการปกครองของตัวเอง แต่เราก็กำลังจัดการหน้าที่ด้านการปกครองหลายอย่าง" เจ้าหน้าที่ระบุ

"เรามีศูนย์บริการสุขภาพและกำลังพยายามจัดตั้งกระบวนการสาธารณะสุขสำหรับพื้นที่อื่นๆ ด้านการศึกษาก็เช่นกัน เรากำลังพยายามเปิดโรงเรียนให้ทั่วถึงทั้งเมือง" 

ผู้อยู่อาศัยในเมืองมี่นดะบอกกับ RFA ว่าพวกเขาอยู่กับองค์กรการปกครองของประชาชนแล้วปลอดภัยกว่าอยู่กับเผด็จการทหาร

"ทีมองค์กรการปกครองของมี่นดะกำลังทำคู่มือการปกครองเพื่อกำกับดูแลพื้นที่ต่างๆ โดยครอบคลุมทั้งระบบกระบวนการยุติธรรม สาธารณสุข และเกษตรกรรม" ผู้อยู่อาศัยกล่าว

โฆษกของกลุ่มกองกำลังปกป้องประชาชนที่ปฏิบัติการในเมืองยี่นมาบีน ภูมิภาคสะกาย บอกกับ RFA ว่ากองทัพคณะรัฐประหารสูญเสียการควบคุมในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว

"ผู้บริหารหลายคนลาออกไปเพราะพวกเขาไม่ชอบการดำเนินการของกองทัพคณะรัฐประหาร"

"ในเมืองยี่นมาบีน ทีมองค์กรการปกครองของประชาชนมีอำนาจอย่างมาก การปกครองของกองทัพคณะรัฐประหารไม่อยู่แล้ว พวกเขาจำกัดตัวเองอยู่ในเขตเมืองเท่านั้น"

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการสื่อสารของกองกำลังปกป้องชาวกะเรนนี บอกกับ RFA ว่าจาก 7 เมืองในรัฐกะยาห์ กองทัพพม่าสามารถควบคุมเขตได้เพียงไม่กี่เขตในเมืองลอยก่อ (เมืองหลวงของรัฐกะยาห์) และเมืองบอละแค่ ขณะที่ที่เหลือทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของประชาชน 

"การปกครองของประชาชนน่าจะนับเป็นประมาณ 90% เพราะประชาชนจัดตั้งการปกครองของตนเอง" เจ้าหน้าที่กล่าว

"ประชาชนสร้างคลินิกและอาคารเรียนของตัวเอง ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้กำกับดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของภาค" เจ้าหน้าที่กล่าว

สำนักข่าว RFA พยายามติดต่อพลตรีซอ มิน ตุน รองรัฐมนตรีฝ่ายข้อมูลข่าวสารเพื่อขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์การปกครองในภาคสะกาย มะเกว ชิน และกะยา หลายครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการตอบรับ


ที่มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net