Skip to main content
sharethis

'วิโรจน์' เยือนศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง พร้อมยกตัวอย่างว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่ล้มเหลว หวังกทม. ถอดบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ทิ้งผู้คน - วันที่ 2 สมัครผู้ว่าฯ กทม.อีก 5 คน 'วรัญชัย' โผล่รวมชิงชัยกันถึง 25 ราย ส.ก.สมัครเพิ่ม 13 ยอดรวม 356 ราย

2 เม.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยกลุ่มนิสิตจุฬาฯ พิทักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิม เดินทางไปยังศาลเจ้าแม่น้ำทับทิม สะพานเหลือง ในเวลา 09.00 น. เพื่อพูดคุยสอบถามและรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดิน ซึ่งปัจจุบันมีการไล่ที่ประชาชนและพยายามย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมไปไว้ที่สถานที่ใหม่

บริบททางประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เป็นศาลเจ้าที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยชุมชนชาวจีนอพยพที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่อย่างร่วมสมัยผ่านกาลเวลา เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่เป็นย่านธุรกิจ ทำให้ต้องมีการเคลื่อนย้ายศาลดั้งเดิม ที่มีคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมและคุณค่าทางจิตใจ โดยในกรณีนี้ วิโรจน์ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า การพัฒนาเมืองต้องคำนึงถึงหัวใจและจิตวิญญาณของชุมชนด้วย ไม่ใข่เพียงตอบสนองผลประโยชน์ของทุนใหญ่

นอกจากนี้นิสิตจุฬาฯ กลุ่มพิทักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิม ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ มีการพูดคุยกับชุมชนน้อยมาก อีกทั้งยังเป็นการพูดคุยในช่วงท้ายของการพัฒนาที่ดินเท่านั้น ซึ่งมีการไล่ที่ประชาชนไปแล้ว โดยประชาชนมีความต้องการอนุรักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมไว้บริเวณเดิม พร้อมอธิบายว่าศาลใหม่ที่มีการสร้างขึ้นมาไม่มีความเกี่ยวข้องและยึดโยงกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมทั้งสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นการก่อสร้างของช่างจีนโบราณก็สูญหายไปด้วย

วิโรจน์ ได้สรุปบทเรียนในครั้งนี้ว่า การพัฒนาที่ดินต้องไม่ละทิ้งรากเหง้าและบริบทของชุมชนและพื้นที่ โดยยกตัวอย่างบทเรียนการพัฒนาเมืองที่ล้มเหลวในอดีต เช่น ป้อมมหากาฬ ที่ปลายทางของการพัฒนากลายเป็นเพียงสนามหญ้าที่แทบไม่มีการใช้งาน และไม่ได้ยึดโยงกับประวัติศาสตร์และผู้คนเลย วิโรจน์เชื่อว่าในอนาคตการพัฒนาเมืองต้องคำนึงถึงผู้คน เน้นการพูดคุย และคำนึงถึงคุณค่าในอดีตที่จำเป็นต้องรักษาเอาไว้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในหลายเมืองทั่วประทศ มีมากมายที่สามารถนำเอาสถาปัตยกรรม อาคารดั้งเดิม มาปรับปรุงพัฒนา โดยคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าของชุมชนเอาไว้ และก็เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วยในขณะเดียวกัน

วันที่ 2 สมัครผู้ว่าฯ กทม.อีก 5 คน 'วรัญชัย' โผล่รวมชิงชัยกันถึง 25 ราย ส.ก.สมัครเพิ่ม 13 ยอดรวม 356 ราย

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 ว่านายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แจ้งผลการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง โดยวันนี้เป็นวันที่ 2 ของการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ส.ก. ซึ่งในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม จำนวน 5 คน ได้แก่

หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ
หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ
หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์
หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต
หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ รวมผู้สมัครทั้งสิ้น 25 คน

ส่วนของการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต มีผู้สมัครเพิ่มเติม 9 เขต รวม 13 คน ได้แก่
เขตดุสิต 3 คน
เขตปทุมวัน 1 คน
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 3 คน
เขตลาดกระบัง 1 คน
เขตยานนาวา 1 คน
เขตบางกอกใหญ่ 1 คน
เขตสวนหลวง 1 คน
เขตดอนเมือง 1 คน
เขตลาดพร้าว 1 คน
รวมผู้สมัครทั้งสิ้น 356 คน

ทั้งนี้ การรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะมีไปถึงวันที่ 4 เม.ย. 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net