Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แปลกมากที่บ้านเรามีปัญหากับการยอมรับว่า “นักบวชคืออาชีพ” เช่น เราจะเรียก “พระป่า” ว่าเป็นอาชีพหนึ่งได้ไหม ทั้งๆ ที่ถ้าอ้างไตรปิฎกก็ต้องบอกว่าเป็นอาชีพได้ เพราะตามอุดมคติพระที่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นต้องดำเนินชีวิตตามหลัก “อาชีวปาริสุทธิศีล” คำว่า “อาชีว” แปลตรงตัวคืออาชีพ, การเลี้ยงชีพ อาชีวปาริสุทธิศีล คือการเลี้ยงชีพด้วยวิถีชีวิตนักบวชที่ถือปฏิบัติตามหลักศีลที่ทำให้บริสุทธิ์จากกิเลส อันเป็นวิถีชีวิตนักบวชในอุดมคติ 

ในหนังสือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ของอเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวิลล์ (Alexis De Tocqueville)นิยามอาชีพนักบวชตรงๆ ว่า “พระผู้ปฏิบัติตามพระคัมภีร์ ในฐานะที่มีอาชีพในการอุทิศตนให้แก่การรับใช้พระผู้เป็นเจ้า และมีหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการเป็นผู้นำวิญญาณ ย่อมไม่สามารถมีตำแหน่งราชการได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางพลเรือน หรือทหาร กฎหมายในหลายมลรัฐปิดประตูมิให้พระมีอาชีพทางการเมือง”

แต่ถ้าพูดตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และปัจจุบัน ยิ่งกว่า “นักบวชคืออาชีพ” ก็คือ “นักบวชคือบิดาของทุกอาชีพ” เลยทีเดียว

เอาง่ายๆ เลย ในปัจจุบัน "หมอดู" เป็นอาชีพที่มีรายได้พึงประเมินภาษีประเภทที่ 8 ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ขณะเดียวกันก็อาจต้องเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แล้ว “พระหมอดู” ล่ะ ยิ่งเป็นระดับ "สมเด็จ" ที่คนรวย พวกไฮโซนิยมไปดูดวงด้วยนี่ "รวยเละ" เลยนะครับ เสียภาษีไหม? อ้อ เงินค่าดูดวงแปรธาตุเป็น "เงินทำบุญ" เลยไม่ต้องเสียภาษี

นักบวชในศาสนาพหุเทวนิยมในอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์ จัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นปกครองที่ประกอบด้วยกษัตริย์ นักบวช และขุนนาง พวกนักบวชครอบครองที่ดินอุดมสมบูรณ์และมีรายได้จากภาษี ในอินเดียโบราณมีนักบวชหลากหลายประเภท พวกเขาเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้ที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรม และคัมภีร์ศาสนาที่ทรงภูมิปัญญาเกี่ยวกับบทสวด พิธีกรรม ปรัชญา ระเบียบการปกครอง หน้าที่ของคนแต่ละชนชั้น การสงคราม ไปจนถึง “กามสูตร” ก็เป็นผลงานของนักบวช

โดยทั่วไป นักบวชในยุคศาสนาพหุเทวนิยมเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับ “สิ่งเหนือธรรมเชาติ” (supernatural) เช่น เทพต่างๆ ผ่านการประกอบ “พิธีกรรม” ซึ่งไม่มีใครจะสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้โดยตรง อาจเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ศาสนาพหุเทวนิยมไม่มีปัญหาว่า ใครรู้สิ่งเหนือธรรมชาติได้เหนือกว่าใครอย่างชัดเจน จึงไม่มีศาสนาของใครเป็น “ศาสนาที่จริงแท้” กว่าศาสนาของคนอื่นๆ แค่แต่ละกลุ่มเชื่อเทพแตกต่างกัน และมีพิธีกรรมบูชาแบบของตนเองเท่านั้น ไม่ต้องมาเถียงและขัดแย้งกันว่าศาสนาใครจริงแท้กว่า หรือเหนือกว่ากัน

แต่ใน “ยุคศาสดา” พระศาสดาของศาสนาหลักๆ ของโลกคือ “อภิมนุษย์” (superhuman) พวกเขาเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความจริงเหนือธรรมชาติโดยตรง คือสามารถรู้ความจริงที่เหนือธรรมชาติโดยตรง เช่น โมเสสได้ยินเสียงพระเจ้าบอกบัญญัติ 10 ประการ เยซูได้ยินเสียงพระเจ้าเรียกตนเองว่า “บุตรผู้เป็นที่รัก” หรืออีกนัยหนึ่ง เยซูคือพระเจ้าในร่างมนุษย์ที่ลงจากสวรรค์มาไถ่บาปแก่มวลมนุษย์แล้วฟื้นคืนชีพกลับสู่สวรรค์ มูฮัมหมัดได้รับคำสอนของอัลเลาะฮ์จากทูตสวรรค์โดยตรง 

ส่วนพุทธะนั้น ไม่ได้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับพระเจ้า แต่พุทธะตามคัมภีร์ไตรปิฎกก็มีลักษณะอภิมนุษย์ เพราะเกิดมาเดินได้ 7 ก้าว การรู้แจ้งอริยสัจสี่ก็พ่วงมาด้วยการเกิดญาณหยั่งรู้อดีตชาติและการเวียนว่ายตายเกิดตามกฎแห่งกรรมของสรรพสัตว์ ซึ่งการรู้กฎแห่งกรรมเป็น “พุทธวิสัย” เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไปหรือแม้แต่พระอรหันตสาวกจะรู้ได้เทียบเท่ากับพุทธะ ดังนั้น การรู้ความจริงของพุทธะจึงมีลักษณะ “เหนือธรรมชาติ” (transcendental) ด้วย โดยเฉพาะเรื่องราวการ “สนทนา” สื่อสารกับเทวดา มาร พรหม การรู้เรื่องยมบาล สัตว์นรก และนรกขุมต่างๆ มากมาย กระทั่งการแสดงยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งสะท้อนการที่พุทธะนิยามตนเองเป็น “ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” นั่นเอง  

พูดโดยรวมๆ คือ พุทธ, คริสต์ และอิสลาม พยายามนำเสนอตนเองในฐานะเป็นศาสนาที่แท้จริง โดยอ้างถึงการเข้าถึง “ความจริงสูงสุด” หรือความจริงแท้เหนือกว่าศาสนาอื่นๆ เช่น พุทธอ้างว่านิพพาน-ความพ้นทุกข์และทางพ้นทุกข์ในทัศนะของตนจริงแท้กว่าความพ้นทุกข์ตามความเชื่อศาสนาใดๆ คริสต์และอิสลามอ้างว่าพระเจ้าของตน คือพระเจ้าองค์แท้จริงกว่า เป็นต้น

พอถึงยุคหลังพระศาสดา นักบวชกลายเป็น “บิดาของทุกอาชีพ” เพราะนักบวชเป็นได้ทั้งผู้ละกิเลส มุ่งความหลุดพ้น เป็นหมอดู หมอผี หมอเสน่ห์ หมอยา ในบางแห่งนักบวชเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเปิบบริสุทธิ์เจ้าสาวก่อนส่งตัวเข้าหอเจ้าบ่าว บางที่นักบวชเป็นผู้สวมมงกุฎสถาปนากษัตริย์ เป็นขุนนาง นักบวชเป็นผู้ปล่อยวางด้วย เป็นพระราชาคณะที่ได้รับยศศักดิ์ฐานันดร เบี้ยหวัด เงินเดือน ที่ดิน ข้าทาสจากกษัตริย์ด้วย บางสังคม “นักบวชเป็นกษัตริย์โพธิสัตว์” เสียเอง และบางครั้งนักบวชก็นำทัพปราบพวกนอกรีต และนำกองกำลังก่อรัฐประหารชิงบัลลังก์ ตั้งตนเป็นกษัตริย์เสียเอง ขณะที่กษัตริย์ก็แบ่งปันอำนาจกับนักบวช เช่น กษัตริย์ถูกนักบวชสถาปนาให้มีอำนาจเทวสิทธิ์ ธรรมราชา เป็นสมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา (เป็นต้น) สะท้อนว่านักบวชเป็นบิดาของทุกอาชีพ

การที่นักบวชทำอาชีพใดๆ ก็ได้ที่ “ตรงข้ามกับคำสอน” ไม่ได้แปลว่า พวกเขาละทิ้งคำสอนดั้งเดิมของพระศาสดา แท้จริงแล้วพวกเขาอ้างสิทธิ์ในการรักษาคำสอนดั้งเดิมไว้อย่าง “บริสุทธิ์ถูกต้อง” มากที่สุด และเพื่อที่จะรักษาคำสอนที่ถูกต้อง บางยุคพวกเขาถึงกับตั้งศาลศาสนา สร้างเครื่องทรมานนักโทษ และล่าแม่มดพวกนอกรีต หรือพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่คำสอนเท็จ ส่วนนักบวชบางพวกก็อาศัยอำนาจกษัตริย์สนับสนุนการสังคายนา ชำระคำสอนในคัมภีร์ให้คงความบริสุทธิ์ถูกต้อง ขณะที่การมียศศักดิ์ฐานันดร และการทำหน้าที่อวยอำนาจกษัตริย์และสนับสนุนระบบศักดินาของพวกเขา ดูจะสวนทางกับคำสอนเรื่องความหลดพ้น การปล่อยวาง ไม่ยึดติดในสมมติใดๆ  

ทำให้เห็นได้ว่า “นักบวชเป็นเจ้าแห่งข้อยกเว้น” ดังที่กล่าวแต่แรกว่า อาชีพหมอดูเสียภาษี แต่ “พระหมอดู” ไม่ต้องเสียภาษี เพราะค่าดูหมอแปรธาตุเป็น “เงินทำบุญตามเสรีภาพแห่งศรัทธา” อันที่จริง หากพูดตามคัมภีร์ตรงไปตรงมา “พุทธะคือบิดาแห่งข้อยกเว้น” มาก่อน เพราะพุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์ห้ามพระสาวกแสดงปาฎิหาริย์ แต่ท่านเองแสดงปาฏิหาริย์ได้ โดยพุทธะเปรียบเทียบตนเองกับกษัตริย์ที่บัญญัติกฎให้คนใต้ปกครองทำตาม แต่ตนเองไม่จำเป็นต้องทำตามกฎนั้นก็ได้ 

มิตรสหายบางคนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็น “รัฐโลกวิสัย” ในบ้านเรายืนยันว่า ในกรณีที่พระเป็น ส.ส., รมต. หรือ นายกฯ แม้เขาจะมาจากองค์กรศาสนาใหญ่ๆ ที่มีคนศรัทธานับแสนนับล้าน แถมองค์กรศาสนาของเขายังมี “สาขาย่อย” กระจายไปทุกภาคของประเทศ และในต่างประเทศ เมื่อเสร็จจากทำหน้าที่ในสภาแล้ว เขาจะไปทำหน้าที่นักบวชนอกสภา เช่น แสดงธรรมไป ประชาสัมพันธ์ผลงานตนเอง ผลงานพรรคไป ทำการตลาดศรัทธาในพิธีทำบุญต่างๆ รับบริจาคเท่าไรก็ได้ไม่จำกัด เพราะเป็น “เสรีภาพแห่งศรัทธา” ตอนอยู่ในสภาเขาทำหน้าที่นายกฯ ออกจากสภามาเขาทำหน้าที่นักบวช ไม่เกี่ยวกัน และไม่เกี่ยวกับปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ใดๆ เลย 

ดังนั้น นักบวชที่เข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะทางการเมือง จึง “ไม่ต้อง” ปฏิบัติใน “มาตรฐานเดียวกัน” กับนาย ก. นาย ข. ที่ต้องลาออกจากอาชีพ บก. สื่อ, นักธุรกิจ ฯลฯ เพื่อป้องกันปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่อาจมีการใช้สถานะ ตำแหน่ง อำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์แก่กิจการของตนเองได้ หรือเอาเปรียบคนอื่นๆ ได้

บทความที่แล้วผมพูดถึง “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) ของจอห์น รอลส์ ที่อาจมีคนเข้าใจผิดไปอ้างว่า “การถูกเลือกโดยประชาชน” คือเหตุผลสาธารณะที่สมบูรณ์ในตัวมันเองโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขใดๆ อีก เช่น ถ้านักบวชถูกเลือกโดยประชาชนให้เป็น ส.ส., รมต., นายกฯ ก็เป็นเหตุผลสาธารณะที่ชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย และหลักการโลกวิสัยแล้ว 

แต่ความจริงคือ ศรีลังกาที่นักบวชเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่รัฐโลกวิสัย ดังนั้น ในการยืนยันรัฐโลกวิสัย การอ้างเหตุผลสาธารณะบนการเน้นการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ

ที่จริงนักคิดเสรีนิยม เช่น ต็อกเกอร์วิลล์กังวลต่อปัญหา “ทรราชเสียงข้างมาก” และ “เผด็จการประชาธิปไตย” (ดูปิยบุตร แสงกนกกุล, ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส, น. 259) จอห์น สจ๊วต มิลล์ และรอลส์ (เป็นต้น) ก็กังวลเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้น พวกเขาจึงวางหลักการพื้นฐานว่า รัฐจะละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองไม่ได้ โดยหลักการนี้ หากยึด “การโหวตเลือก” ของประชาชนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว (ตามที่บางคนยืนยันว่า “ถึงเป็นนักบวช ถ้าประชาชนเลือกมาก็ชอบธรรมแล้ว”) และยึดหลักการเดียวนี้อย่างคงเส้นคงวาจริง ก็ต้องยอมให้มีการโหวตเลือก “ศาสนาประจำชาติ” และโหวตเกี่ยวกับเรื่องที่ได้เปรียบ-เสียเปรียบทางศาสนาได้ ซึ่งย่อมจะนำไปสู่ทรราชเสียงข้างมากได้ เพราะศาสนาของคนส่วนใหญ่ย่อมเป็นฝ่ายชนะเสมอ ด้วยเหตุนี้รัฐโลกวิสัยจึงห้ามสถาปนาศาสนาประจำชาติ และห้ามวางหลักปฏิบัติใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบด้วยเหตุผลทางศาสนา

เหตุผลสาธารณะของรอลส์ยึดโยงกับ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) คือ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม และหลักความแตกต่าง โดยข้อหลังยอมรับให้มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจได้ แต่ต้องเปิดโอกาสในการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะต่างๆ ที่เป็นความก้าวหน้าในอาชีพการงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งต้องเริ่มจากความคิดพื้นฐานที่ว่า ทุกคนคือปัจเจกบุคคลที่เสรีและเสมอภาค ต้องไม่นำเรื่องชาติกำเนิด ชนชั้น ศาสนา และความเชื่อใดๆ มาเป็นข้อ “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” ในการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะต่างๆ 

โดยหลักการดังกล่าว ปัจเจกบุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพเท่าเทียมในการเลือกจะประกอบอาชีพสื่อ, นักธุรกิจ, ข้ารัฐการ, เป็น ส.ส., รมต. นายกฯ, นักบวช และ ฯลฯ หากเขาปรารถนาและสามารถเข้าสู่อาชีพนั้นๆ ได้ และแน่นอนว่า การเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะทางการเมืองทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม “มาตรฐานเดียวกัน” เช่น ถ้าอาชีพ บก.สื่อ, นักธุรกิจ ฯลฯ ต้องลาออกก่อนเป็น ส.ส., รมต., นายกฯ เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน อาชีพนักบวชก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน จะอ้าง “ลักษณะเฉพาะ” ของสถานภาพทางศาสนามาเป็น “ข้อยกเว้น” เหมือนที่ทำกันมาตลอดในฐานะ “บิดาของทุกอาชีพ” และ “บิดาแห่งข้อยกเว้น” ในระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐไม่ได้

พูดอีกอย่างคือ เราไม่สามารถอ้างเหตุผลสาธารณะที่ยึดโยงกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ เพื่อเป็น “ข้อยกเว้น” ให้อาชีพนักบวชเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองโดยไม่ต้องปฏิบัติตาม “มาตรฐานเดียวกัน” กับอาชีพอื่นๆ ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเหมือนกันได้ เพราะเหตุผลใดๆ ที่ยกมาอ้างล้วนแต่อ้างอิง “ลักษณะเฉพาะ” ของสถานะทางศาสนาที่ไม่สามารถอธิบายได้อย่าง “สมเหตุสมผล” ว่าทำไมคนไม่มีศาสนาจึงควรยอมรับข้ออ้างเหล่านั้น

ผมเองตระหนักว่ารัฐโลกวิสัยมีหลายเฉด เช่น มีเฉดที่นักบวชมีตำแหน่ง อำนาจทางการเมืองได้ และเฉดที่นักบวชมีไม่ได้ แต่เฉดที่ผมพยายามเสนอ คือเฉดที่นักบวชไม่มีตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองตามที่ปรากฏในงานของต็อกเกอร์วิลล์เป็นต้น ซึ่งเป็นเฉดรัฐโลกวิสัยที่อธิบายได้ในทางหลักการและการปฏิบัติว่า ศาสนากับอำนาจสาธารณะทางการเมืองต้องแยกเป็นอิสระจากกันจริงๆ และต้องไม่มีระบบการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะทางการเมืองบน “อภิสิทธิ์” ของสถานะทางศาสนา และความเชื่อทางศาสนาใดๆ เหนือความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนา 
 

 

 

 

ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/education/news_1297297

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net