Skip to main content
sharethis

ประชาไทพูดคุยทั้งชาวไทยและพม่า ที่เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองแรงงานเมื่อ 1 พ.ค. 65 เดินจากแยกราชประสงค์-ปทุมวัน ว่าทำไมพวกเขาถึงอยากร่วมกิจกรรมวันแรงงาน ปัญหาในที่ทำงาน และข้อเรียกร้องที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาล เพื่อให้คุณภาพชีวิตคนทำงานดีขึ้น 

 

4 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวคุยหลากประเด็นกับประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมวันแรงงานสากล หรือวัน May Day เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วงเวลา 16.00-19.30 น. ทั้งปัญหาในที่ทำงาน ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสิทธิแรงงาน?  

  • แรงงานชาวพม่าขอให้รัฐบาลอย่าช่วยมินอ่องหล่าย ช่วยแรงงานดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องกำชับนายจ้างให้จ่ายประกันสังคม และบัตรแรงงาน
  • สิน ช่างเทคนิคอายุ 22 ปี มองเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นแรงงานสำคัญ สามารถป้องกันการถูกเอาเปรียบ ขอรัฐบาลไทยทำสื่อหลายภาษายกระดับความรู้แรงงานต่างชาติ
  • วัฒน์ พนักงานบริษัท มองการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ดี ต้องทำให้แรงงานอยู่ได้ และอยากให้รัฐบาลเน้นเรื่องสิทธิการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง 
  • วี วิศวกร อายุ 24 ปี เผยปัญหาของวิศวกร อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการสุขภาพที่เขาถึงได้ทุกคน ยกระดับกฎหมายความปลอดภัยในโรงงาน
  • แนท จากสหภาพคนทำงาน อายุ 22 ปี เผยไม่มีอะไรจะเรียกร้องถึงรัฐบาล นอกจากขอให้ลาออก 
  • ดา นักศึกษาอายุ 21 ปี มองว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องสิทธิแรงงานเยอะขึ้น และอยากให้ทุกคนได้สวัสดิการเท่ากัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อยากได้บัตรแรงงาน-กำชับนายจ้างเรื่องประกันสังคม

“ผมอยากให้ทั่วโลก และรัฐบาลไทยรับรู้ว่า เราไม่ได้สิทธิอะไรบ้าง ทั้งที่สิทธิมันเป็นของเราตั้งแต่แรก เราเสียภาษีเหมือนกัน แถมเราชาติที่สร้างชาติให้เมืองไทย ตึกสูงๆ ฝีมือของพวกผมทั้งนั้น คนไทยเขาไม่ทำกัน มีแต่พม่าแรงงานทั้งนั้น สุดท้ายเราไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจากรัฐบาล” 

‘วีระ แสงทอง’ นักสิทธิแรงงานชาวพม่า ให้สัมภาษณ์ขณะรอเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

วีระ แสงทอง แรงงานชาวพม่าในไทย

เนื่องในวันแรงงานสากล ‘วีระ’ อยากให้รัฐบาลไทยช่วยทำบัตรแรงงาน และต้องกำชับนายจ้างว่าทุกคนต้องมีประกันสังคม กรณีที่เคยเจอมา คือ แรงงานข้ามชาติอยู่กับเจ้านายมา 10 ปี เวลาให้เงินเดือนมีการหักประกันสังคม แต่ไม่มีการจ่ายสมทบให้ เป็นเหตุให้แรงงานข้ามชาติขาดการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้ ตามกฎหมายประกันสังคมโดยคร่าว นายจ้างต้องส่งสมทบทุนให้ลูกจ้างตั้งแต่เดือนแรกที่มีการจ่ายเงินเดือน  

นักสิทธิแรงงานชาวพม่า ระบุต่อว่า แรงงานบางคนโดนกดขี่โดยนายจ้างจนเละตุ้มเป๊ะ แต่ไม่กล้าออกจากงาน เพราะว่ากลัวไม่มีเงินส่งให้ที่บ้าน และพ่อ-แม่ ไม่อยากเรื่องมากเรื่องงาน โดนเจ้านายกดขี่ประจำเลย 

“เราโอเคกับประเทศไทย เราอยู่ในไทยมีความสุข เรารักเมืองไทย แต่บางระบบบางอย่างขอแก้ให้พวกผมได้ไหม ขอแบบมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยได้ไหม และอีกอย่าง อย่าไปช่วยอะไรมากกับมินอ่องหล่ายละกัน ช่วยพวกผมด้วย ช่วยพวกผมดีกว่า ดีกว่าช่วยมินอ่องหล่าย” นักสิทธิแรงงานระบุ

ทั้งนี้ ระหว่างที่กำลังรอร่วมกิจกรรม ชาวพม่าในไทยมีการประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารพม่า ซึ่งเริ่มเมื่อ 1 ก.พ.ปีที่แล้ว จนปัจจุบันก็ยังไม่สงบ วีระ ระบุว่า พวกเขาอยากแสดงพลังวันนี้ให้ทั่วโลกรู้ว่า คนพม่าไม่เอาเผด็จการ ไม่เอามินอ่องหล่าย ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา 

"ด้านสถานการณ์ในพม่าขณะนี้ก็แย่มาก เพราะมีสงครามและคนตายทุกวัน และมีคนที่ต้องหลบหนีสงครามมาบริเวณตะเข็บชายแดนมากขึ้น" วีระ ทิ้งท้าย   

การศึกษาเรื่องแรงงานสำคัญ

สิน หัวหน้าฝ่ายช่างเทคนิค อายุ 22 ปี บอกว่าเขาอยากมาฟังเรื่องของแรงงานที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ ครั้งนี้ เพราะอยากรู้เรื่องของหลักการของแรงงานมากขึ้น หรือการเรียกร้องสิทธิ เพราะเขาไม่ค่อยได้ศึกษากฎหมาย หรือสวัสดิการของแรงงาน

 

สิน ช่างเทคนิค อายุ 22 ปี

สิน มองว่า ที่เขาไม่ค่อยทราบเรื่องราวของแรงงาน อาจเป็นเพราะในระบบการศึกษาไม่ค่อยมีการสอนเรื่องของแรงงาน สวัสดิการ และการเมือง 

ชายอายุ 22 ปี กล่าวต่อว่า ถ้าระบบการศึกษามีการสอนเรื่องแรงงานบ้าง ก็จะทำให้เรามีความรู้-ทักษะที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รู้จักชนชั้น ทุกสถานะ ในระบบสังคมมีการใช้แรงงานอย่างไรบ้าง 

“ประโยชน์ของการรู้กฎหมายแรงงาน เพื่อสิทธิของตัวบุคคล ผมคิดว่าอย่างนี้ ในเรื่องของการที่เราจะเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ… เรื่องของอัตราจ้างไม่โดนเอาเปรียบง่ายขึ้น ก่อนที่จะมาเป็นแรงงานด้านเทคนิค ผมเคยเป็นแรงงานในร้านอาหาร แรงงานใช้กำลังยกของหนัก มันมีเรื่องกดขี่แรงงาน การบังคับไม่ให้หยุด การหักเงินเดือนเพื่อเอามาเป็นประกันการลาออก ซึ่งกฎหมายมาตรา 10 จะทำไม่ได้ อันนี้ผมศึกษามาเล็กๆ น้อยๆ ผมเลยเริ่มรู้ มันเป็นเป็นอย่างนี้นี่เอง ถ้าผมรู้ผมก็จะเล่นงาน” สิน กล่าว

สิน มองว่า อยากให้รัฐบาลทำสื่อหลายภาษาทั้งอังกฤษ ไทย และเพื่อนบ้าน เพื่อเอื้อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้และความเข้าใจทางด้านกฎหมายแรงงานมากขึ้น 

“อยากให้รัฐบาลกระจายความรู้ แรงงานในบ้านเราไม่ได้มีแค่คนไทยอย่างเดียว ปัจจุบันแรงงานต่างชาติมันเยอะขึ้น สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และคนไทยไม่ค่อยทำงานใช้แรงงานหนัก เช่น ในตลาด โรงปลา โรงผัก ไม่ค่อยมีคนทำ มีแต่แรงงานต่างชาติมากกว่า เลยอยากจะให้มีการกระจายความรู้ในเรื่องของสิทธิสวัสดิการต่างๆ ให้ทั่วถึง อย่างเช่น เราจะกระจายในด้านแค่แบบมีแต่ภาษาไทยอย่างนี้ อยากให้มีเป็นภาษาอังกฤษด้วย ภาษาลาว ภาษาเขมร หรือเมียนมา เขาจะได้รู้กันบ้าง” สิน กล่าว 

ค่าประกันการลาออก หมายถึง การที่นายจ้างจะหักเงินจากลูกจ้างจำนวนหนึ่ง ซึ่งกรณีของสิน คือ 500 บาทต่อเดือน มาเป็นค่าประกันลาออก ซึ่งลูกจ้างต้องแจ้งลาออกภายใน 1 เดือน ถึงจะได้เงินคืนในส่วนที่ถูกหักไปทุกเดือนคืน แต่ถ้าไม่ได้แจ้งลาออกก่อน 1 เดือน นายจ้างจะยึดเงินดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน  

แก้กฎหมายเอื้อการรวมตัวของแรงงาน

วัฒน์ พนักงานบริษัทเอกชน มาร่วมกิจกรรมวันแรงงานสากล เนื่องจากยังมองว่าประชาชนยังมีปัญหาเรื่องสิทธิด้านแรงงาน และได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากนายจ้างอยู่ เช่น ชั่วโมงการทำงานที่ควรลดลงเป็น 5 หยุด 2 แต่ปัจจุบันกฎหมายคือทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน เขาเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

วัฒน์ พนักงานบริษัท

วัฒน์ มองเรื่องประเด็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจว่า “ค่าแรงขั้นต่ำที่ดี คือค่าแรงที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ รัฐต้องมาดูว่าค่าครองชีพปัจจุบัน และค่าแรงมันสมดุลรึเปล่า ยังไงก็ต้องมีการปรับเพิ่ม …และปรับเพิ่ม 492 บาทตามที่เขาเรียกร้อง ซึ่งเห็นด้วยว่าไม่ได้มากเกินในยุคนี้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาตอบสื่อถึงประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ปรับแน่ แต่ไม่ใช่ที่ 492 บาท โดยสุชาติให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นค่าแรงต้องให้นายจ้างอยู่รอดด้วย และต้องเอาอัตราค่าเงินเฟ้อ ค่าแรง และค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดมาพิจารณา

วัฒน์ มองว่า รมว.แรงงานคิดบนพื้นฐานของนายจ้าง แต่ลูกจ้างลำบากมานาน และต้องฟังเสียงลูกจ้างและแรงงานเป็นหลัก

วัฒน์ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงตัวกฎหมายสิทธิในการรวมตัวของแรงงาน และเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญ 2 เรื่องนี้ 

“กฎหมายมันล็อกไว้ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ของเรายังไม่ถึงขั้นเปิดโอกาสให้ลูกจ้างให้แต่ละบริษัทสามารถมารวมตัวกันได้ อยากให้มีการปรับปรุงกฎหมายตรงนี้ ให้เอื้อในการรวมตัวมากขึ้นทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ” วัฒน์ กล่าว

สวัสดิการสุขภาพต้องเข้าถึงทุกคน

วี วิศวกรรุ่นใหม่ อายุ 24 ปี เขามาร่วมงานกิจกรรมวัน May Day เพราะได้ยินประชาสัมพันธ์จากเพจ “Pud” และอยากจะเรียนรู้เรื่องสิทธิแรงงานมากขึ้น

'วี' วิศวกรวัย 24 ปี

วี มองว่า ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเพื่อนเขาที่ทำงานวิศวกร และทำงานแขนงอื่นๆ คือเวลาที่ไปแฮงก์เอาท์ (ทานข้าว) เจอกัน เรื่องปัญหาสิทธิแรงงาน และประสบการณ์ในที่ทำงาน มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาเสมอ ก็เลยเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิแรงงาน 

วี ระบุว่า ปัญหาสิทธิแรงงานของวิศวกรส่วนใหญ่ เป็นเรื่องสวัสดิการหลายข้อเลย แต่เด่นชัดสุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการสุขภาพและสาธารณสุขหรือโควิด-19 รวมถึงความปลอดภัยในโรงงาน 

“ในความเห็นของผม กฎหมายไทยอาจจะไม่ได้บังคับความปลอดภัยในโรงงานได้มากพอ …จริงอยู่ที่ว่า วิศวกรอาจจะทำงานเกี่ยวกับใช้คอมพิวเตอร์ หรือนั่งอยู่หน้าจอส่วนมาก แต่ความจริงแล้ว มีวิศวกรหลายสาขาที่ต้องเข้าไปทำงานใกล้เครื่องจักรและมีความอันตราย ซึ่งมาตรฐานในการป้องกันหลายๆ ที่ก็ยังไม่ค่อยโอเค” วี กล่าวถึงปัญหาของผู้ประกอบอาชีพวิศวกร  

วี อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการสาธารณสุขเป็นอันดับหนึ่ง ต้องเข้าถึงได้ทุกคน และให้มันมีมาตรฐานเดียวกัน 

“ให้ (สวัสดิการ) มีมาตรฐานเดียวกัน และก็มีความปลอดภัยในชีวิตของแต่ละคน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ตำแหน่งไหน อย่างน้อย Health Care ต้องเข้าถึงได้ทุกคนและก็มีมาตรฐานเดียวกัน” วี กล่าวทิ้งท้าย  

เปลี่ยนรัฐบาลง่ายกว่า

แนท อายุ 22 ปี เป็นสมาชิกสหภาพคนทำงาน และเป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรมวันแรงงาน กล่าวว่า เธอเข้าร่วมกับสหภาพคนทำงาน เพราะอยากเป็นหนึ่งในกำลังเสียง เพื่อสู้ให้กับแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในประเทศนี้ซึ่งมันเยอะมาก ทั้งเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการ

แนท กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีความสำคัญต่อชีวิตของแรงงานมาก จนเรียกได้ว่าเป็นความหวังให้กับแรงงานทั่วประเทศ แต่ไม่ทราบว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ 

แนท อายุ 22 ปี จากสหภาพคนทำงาน

ความเห็นของแนท ต่อการที่ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า การขึ้นค่าแรงต้องมาคำนวณและบาลานซ์ดูก่อนว่า นายจ้างอยู่ได้ไหม และลูกจ้างอยู่ได้ไหม และค่อยปรับขึ้นนั้น แนท ระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขยับขึ้นมาหลายปีแล้ว และคนทำงานตอนนี้ประสบปัญหาเรื่องข้าวของราคาแพง ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน ของกิน-ของใช้ ซึ่งไม่ได้สมดุลกับค่าแรงในแต่ละวัน มีกรณีที่คนงานต่อสร้างได้ค่าแรงคงที่ตลอด และไม่ได้รับเงิน OT (ค่าทำงานล่วงเวลา) ซึ่งทำให้แรงงานต้องประหยัดเงินมากกว่าเดิมในช่วงนี้

แนท ระบุต่อว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะทำอะไรได้แล้ว คือเป็นไปได้อยากเปลี่ยนรัฐบาลยกชุด ซึ่งมีความหวังกว่ารอให้รัฐบาลชุดนี้แก้ไขเรื่องปัญหาปากท้องของคนไทย 

“อยากฝากสหภาพคนทำงานให้ทุกคนได้เป็นสมาชิก …สมาชิกสหภาพยังรับเรื่อยๆ …ทางเฟซบุ๊กของสหภาพคนทำงาน สามารถทักแอดมิน (ผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก) ได้เลย” แนท กล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

สำหรับสหภาพคนทำงาน มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือแรงงาน โดยไม่มีใครเป็นเจ้าขององค์กรเพียงคนเดียว ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางองค์กรมีการช่วยเหลือแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายๆ กรณี เช่น แรงงานข้ามชาติ หรือใครก็ตามต้องการคำปรึกษาทางด้านกฎหมายเวลาถูกนายจ้างเอาเปรียบหรือต้องการนัดหยุดงานประท้วง 

ขอรัฐมองเห็นความสำคัญของแรงงาน

ดา นักศึกษาอายุ 21 ปี ระบุว่า เธออยากมาร่วมกิจกรรมวันแรงงาน เพราะว่าในฐานะที่เธอเคยทำงานเป็นแรงงาน เธอเคยเห็นปัญหาคนทำงานโดนกดขี่ ได้ค่าแรงไม่เป็นธรรม น้อยกว่าค่าครองชีพ ของแพงแต่ค่าแรงไม่เพิ่มตาม ซึ่งต่างจากเมืองนอกที่ให้ค่าแรงที่ยุติธรรมกว่า

ดา มองว่า คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ค่อนข้างให้ความสนใจกับสิทธิแรงงานมากขึ้น อย่างน้อย ก็เคยเห็นจากพ่อแม่ และมองในอนาคตว่าวันหนึ่งเขาก็ต้องทำงาน เขาก็ต้องมีการคิดหรือว่ากังวลตรงนี้  

ดา เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแรงงานเรื่องสวัสดิการ และค่าแรง ไม่ใช่ให้สวัสดิการแต่ข้าราชการอย่างเดียว 

“อยากให้รัฐดูแลเรื่องสวัสดิการสุขภาพ เพราะแรงงานทำงานหนัก ฉะนั้นจะมีปัญหาสุขภาพตามมาด้วย

“อยากให้รัฐบาลมองคนเท่ากัน ไม่แบ่งแยกหรือว่าอยากให้ประชาชนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน หนูรู้สึกว่าสิทธิส่วนใหญ่ที่สะดวก หรือแบบว่ามันโอเค น่าจะอยู่กลุ่มชนชั้นนำ หรือข้าราชการมากกว่า คนที่แบบด้อยโอกาส หรือไม่มีเงินเยอะอยู่ลำบาก” ดา ระบุ

ดา อายุ 21 ปี นักศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net