Skip to main content
sharethis

ไทยร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือและทบทวนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบสตอกโฮล์ม+50 ดึงประเด็นความท้าทายและโอกาสสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

3 มิ.ย.2565 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) แจ้งข่าวว่า UNDP ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตเคนยาประจำประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือและทบทวนประเด็นหลักจากการเสวนาระดับชาติเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ จำนวนประมาณ 130 คน 

การเสวนาระดับชาติของประเทศไทยจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การประชุมเปิดตัวในกรุงเทพมหานคร การประชุมหารือในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพังงา และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนร่างรายงานการหารือในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์ของการเสวนาระดับชาติ คือ การรวบรวมบทเรียน ข้อเสนอแนะ และการปฏิบัติที่สำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ประเด็นหลักในการเสวนา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงและต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้กล่าวปราศรัยในช่วงแรกของการประชุมว่า “สหประชาชาติ มุ่งมั่นที่จะปกป้องและส่งเสริมการให้พื้นที่เพื่อแสดงความคิดเห็นกับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบรรลุความก้างหน้าในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และอนาคตที่มั่งคั่งและครอบคลุมของประเทศไทย ในการประชุมนานาชาติ Stockholm+50 ฉันหวังว่า จะได้พูดถึงประเด็นที่สำคัญของประเทศไทย การยกระดับความร่วมมือกับสหประชาชาติด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยเน้นถึงประสบการณ์ในการใช้ทรัพยาการอย่างมีประสิทธิภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว”

นอกจากการประชุมปรึกษาหารือแล้ว กิจกรรมที่ได้จัดขึ้น ยังรวมถึง วงคุยเยาวชน การสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ และการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของชุมชนออนไลน์ SparkBlue ของ UNDP ตลอดจนช่องทางต่างๆ ของโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ ผลที่ได้รับจากกิจกรรมการปรึกษาหารือดังกล่าว จะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานการเสวนาระดับชาติของประเทศ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมนานาชาติ Stockholm+50 ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินงานภายหลังการประชุมสตอกโฮล์ม+50

นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างการปราศรัยต่อที่ประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ว่า “แนวคิดบางส่วนที่หยิบยกขึ้นมาในการปรึกษาหารือระดับชาติของประเทศไทย เช่น ความสำคัญของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นตลอดจนเยาวชน และความจำเป็นในการคิดทบทวนรูปแบบธุรกิจใหม่ก็มีความสำคัญมากเช่นกันสำหรับการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในประเทศของผม ผมสนใจอย่างยิ่งที่ได้รับฟังข้อสรุปและข้อเสนอแนะจากการเสวนา และหวังว่าผลที่ได้รับจะไม่เพียงใช้ประกอบการประชุมสต็อกโฮล์ม +50 เท่านั้น แต่จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการสนทนาในเวทีการเมืองของประเทศไทยในอนาคต ”

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในช่วงการปราศรัยว่า “รายงานหารือระดับชาติของประเทศไทย เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างครอบคลุมและรอบด้าน และยังระบุแนวทางสำหรับความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมระดับโลก และเร่งการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนแนวทางและข้อเสนอแนะที่สำคัญ เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม”

ข้อสรุปประเด็นและสาระสำคัญของรายงานผลการเสวนาระดับชาติของประเทศไทย มีดังนี้ 

  • เหตุผลหลักของการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติมี 2 ประการ คือ ความสัมพันธเชิงบวกในการพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และทัศนคติและพฤติกรรมที่ใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการสำคัญของประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในการสร้างความยืดหยุ่นและภูมิคุ้มกันตนเองและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตและนำพาสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
  • ระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล) และพันธบัตรความยั่งยืน เป็นข้อเสนอแนวทางในการลดความเสี่ยงทางการเงิน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมต่าง ๆ
  • ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของคนเปราะบางและคนชายขอบตลอดจนชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในภาคการเกษตรและบริการ เพื่อให้เกิดทักษะที่จำเป็นต่อการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 อย่างยั่งยืนและครอบคลุม คือ การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับและการทำความเข้าใจ และการสนับสนุนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  • สภาวะแวดล้อมหรือปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ ได้แก่ การให้ข้อเสนอแนะเชิงโยบายที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง การเพิ่มขีดความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มคนเปราะบาง การส่งเสริมการวิจัยด้านนโยบายและพัฒนาเครือข่ายความรู้ มาตรการสนับสนุนการจัดการด้านการเงินของภาครัฐ เอกชน และสถานบันการเงินให้เกิดความสอดคล้องกับภารกิจที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทิศทางหรือเป้าหมายเดียวกัน และการให้มีส่วนร่วมในการหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ กับภาครัฐในทุกระดับ
  • ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยจำนวนมาก ยึดมั่นในหลักบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไว้ในกลยุทธ์มทางธุรกิจ ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีมูลค่าสูงหรือ “S-curve” สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โมเดล ซึ่งอาศัยจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและทุนทางวัฒนธรรม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและนวัจตกรรมมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคุณภาพและนวัตกรรม

ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานเพิ่มเติมได้ ที่นี่

ผลสรุปในรายงานการเสวนาระดับประเทศจะใช้ประกอบการประชุมเสวนาระดับผู้นำระดับสูงในการประชุมนานาชาติสตอกโฮล์ม 50 ปี (Sotckholm + 50) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสวีเดนระหว่างวันที่ 2-3 มิ.ย. 2565

 

เกี่ยวกับการประชุมสตอกโฮล์ม +50

การประชุมนานาชาติ Stockholm+50 จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เป็นเจ้าภาพร่วมกับราชอาณาจักรสวีเดนและสาธารณรัฐเคนยา กำหนดจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ตั้งแต่วันที่ 2-3 มิ.ย. 2565 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์มในปี 1972 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการหารือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับโลกที่เร่งด่วน การประชุมนานาชาติ Stockholm+50 มีจุดมุ่งหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการมลพิษและของเสีย ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับพหุภาคี การประชุมนานาชาติ Stockhom +50 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สตอกโฮล์ม 50 ปี: โลกที่อุดมสมบูรณ์เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทุกคน – ความรับผิดชอบของเรา โอกาสของเรา” Stockholm+50 มีเป้าหมายเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามทศวรรษแห่งการปฏิบัติของสหประชาชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้วาระการพัฒนา 2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกหลังปี 2020 และสนับสนุนให้มีการพัฒนาและใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลังโควิด-19

เรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ https://www.stockholm50.global/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net