Skip to main content
sharethis

รมว.พลังงาน เผยยังไม่ได้สรุปตัวเลขขอแบ่งกำไรโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมาช่วยเหลือค่าน้ำมันประชาชน ชี้ตัวเลข 8 พันล้าน เป็นเพียงประมาณการที่ทำขึ้น เร่งทีมเจรจาหวังสรุปทันเข้า ครม.พิจารณา 21 มิ.ย. นี้ - หุ้นโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง ร่วงยกแผงเมื่อปิดตลาดวันที่ 17 มิ.ย.2565

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ว่านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง และลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 กรณีการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซทั้งหมดที่มีกำไรเพิ่มขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาช่วยเหลือค่าน้ำมันประชาชน โดยส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และลดราคาน้ำมันเบนซินตามที่มีกระแสข่าวออกมาเกี่ยวกับยอดเงินที่โรงกลั่นจะช่วยเหลือรวมประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.2565

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขประมาณการที่กระทรวงพลังงานจัดทำขึ้น ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้หารือกับกลุ่มโรงกลั่นทีละราย แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยยังอยู่ระหว่างการหารือในข้อมูลที่ต้องเจรจาเพื่อความเป็นธรรมโดยเฉพาะตัวเลขต้นทุนหรือกำไรที่แท้จริง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะพยายามสรุปข้อกฏหมายที่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

“เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยช่วงที่ผ่านมาโรงกลั่นก็เข้าใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือที่ดี แต่พอมีกระแสข่าวว่าเขามีกำไรเป็น 10 เท่า ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องจริง ก็เลยมีปัญหาและต้องทบทวนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผลประกอบการมีขั้นลงตามธรรมชาติ แต่กำไรในช่วงนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะสูงตามกระแสข่าว ซึ่งหากขอบริจาคก็จะติดในเรื่องของภาษีสรรพสามิต ซึ่งยังมีกฎหมายที่เราสามารถเรียกเก็บได้ แต่ก็อยากให้ทุกอย่างเป็นธรรมที่สุดกับทั้งประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการและรัฐบาล” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ว่าการเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่น และโรงแยกก๊าซจากกำไรการกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละประมาณ 5 – 6 พันล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมัน 2.กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินจะเก็บจากโรงกลั่นเดือนละ 1 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้จะมีการเก็บเงินเพื่อไปชดเชยให้กับผู้ใช้ราคาเบนซิน โดยลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้เบนซิน 1 บาทต่อลิตร และ 3.เก็บจากกำไรของโรงแยกก๊าซ เดือนละประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยกำไรส่วนนี้จะเก็บเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเช่นกัน 

หุ้นโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่งร่วงยกแผงเมื่อปิดตลาดวันที่ 17 มิ.ย. 2565

Energy​ News Center รายงานเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ว่าแนวทางการขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมัน ทั้ง 6 แห่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. นำส่งส่วนแบ่งกำไร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2565 มาจากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน เพื่อหามาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชน อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญที่สื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอคือ แนวทางการเจรจาขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งส่วนแบ่งกำไรเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่ เดือน ก.ค.-ก.ย. 2565 ประกอบด้วย กำไรค่ากลั่นน้ำมันดีเซลประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน เพื่อนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสริมสภาพคล่อง, กำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อมาลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้บริโภค และ กำไรส่วนเกิน 50% ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน เข้าช่วยเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้แนวทางการขอความร่วมมือเพื่อแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะสรุปเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ในวันที่ 21 มิ.ย. 2565 นั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์​กันอย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลสนับสนุนว่าโรงกลั่นน้ำมันมีผลกำไรจากค่าการกลั่นที่สูงเกินไปในสถานการณ์​ที่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเพราะน้ำมันแพง

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองถึงธุรกิจโรงกลั่นและตลาดการค้าน้ำมันที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี โดยที่น้ำมันไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมและรัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต รวมทั้งการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้สร้างเสถียรภาพ​ด้านราคาไม่ให้เกิดความผันผวนอยู่แล้ว ดังนั้น แนวทางการขอความร่วมมือให้นำส่งส่วนแบ่งกำไรเข้ารัฐจึงเหมือนเป็นการแทรกแซงและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สะท้อนให้เห็นได้จากหุ้นของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทั้ง6 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปิดทำการซื้อขายวันที่ 17 มิ.ย. 2565 หลังมีข่าวเรื่องรัฐขอส่วนแบ่งกำไรจากโรงกลั่น นั้นร่วงยกแผง โดยโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ หรือTOP ที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่นั้นร่วงมากที่สุด 3.75 บาท ราคามาปิดที่ 49.50 บาทต่อหุ้น รองลงมาคือบางจาก หรือ BCP ปิดที่ 29.25 บาทต่อหุ้น ลดลง 3 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี่ยังมีการประเมินฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าภายในเดือน มิ.ย. 2565 นี้ จะติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์มากกว่าทุกรัฐบาล โดยรัฐบาลทักษิณนั้นทำตัวเลขติดลบสูงสุดที่ประมาณ 92,000 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายก็ต้องใช้วิธีทยอยเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันชำระคืนหนี้ให้กองทุนพร้อมดอกเบี้ย ในช่วงที่ราคาน้ำมันขาลง

โดยฐานะกองทุนน้ำมันในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ติดลบสูงสุดและจะยังคงทำสถิติติดลบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ยังคงมีภาระชดเชยราคาดีเซลอยู่ถึงลิตรละ 10.92 บาท และชดเชย LPG อยู่กิโลกรัมละ 13.86 บาทนั้น ยังไม่มีสถาบันการเงินใดปล่อยกู้ให้ เนื่องจากรัฐไม่สามารถเข้าไปค้ำประกันหนี้ให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net