Skip to main content
sharethis

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมถกประเด็นปัญหาระบบสวัสดิการสังคมไทย เพื่อยื่นข้อเสนอเรียกร้องผลักดันรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ ชี้ไทยติดกับการเป็นรัฐสงเคราะห์ที่ขาดการพัฒนาและมุ่งเน้นช่วยเหลือแต่คนจน 

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 65 เครือข่ายรัฐสวัสดิการ We Fair และแนวร่วมรัฐสวัสดิการ จัด “เวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022” และงานเสวนา “8 ปีสวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ กับอนาคตรัฐสวัสดิการอนาคตประชาธิปไตยไทย” นำเสนอโดยตัวแทนเครือข่ายประชาชน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคของสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด, สวัสดิการที่อยู่อาศัย, บำนาญประชาชน, เบี้ยยังชีพคนพิการ, สวัสดิการเพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และร่วมเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อนำไปสู่รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย WE FAIR

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย WE FAIR กล่าวสรุปในหัวข้อ “ข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดยพูดถึงสถานการณ์ความยากจน หนี้สินครัวเรือน อัตราคนว่างงานของประเทศไทยในปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกันเศรษฐีไทยกลับรวยติด 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์นั้นนำไปสู่ความเปราะบางทั้งทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ทุนนิยมเสรี การจำกัดสิทธิเสรีภาพ การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสวัสดิการของสังคมไทยที่ถดถอย โดยเน้นเพียงระบบสังคมสงเคราะห์ นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเอื้อในเกิดระบบสงเคราะห์สูง โดยระบุไว้ว่าผู้ที่จะเข้าถึงสิทธิ์ทางสวัสดิการสังคมได้นั้นจะต้องเป็นผู้ยากไร้เเละยากจนเท่านั้น

นิติรัตน์ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมในงบประมาณปี 2566 ว่างบสวัสดิการประชาชน จะมีประมาณเพียง 440,000 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าหากเปรียบเทียบดูเเล้วในเงิน 100 บาทจะมีสวัสดิการประชาชนเพียง 14 บาท เเต่ในขณะเดียวกันสวัสดิการของข้าราชการที่มีเพียง 5 ล้านคน จะได้รับงบประมาณสูงถึง 489,000 ล้านบาท เปรียบเทียบเเล้วในเงิน 100 บาท จะเท่ากับ 15 บาท เเละยังได้เงินเดือนของข้าราชการอีก ที่คิดเป็น 25% ของงบประมาน ดังนั้นเท่ากับว่าในเงิน 100 บาท เป็นส่วนของข้าราชการไปเเล้ว 40 บาท      

ข้อเสนอทั้งหมดของ WE FAIR ในทุกประเด็น สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้

  1. เงินอุดหนุนเด็ก: ให้เงินอุดหนุนเด็กตั้งแต่อายุ 0-18 ปี โดยพิจารณาจากเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ 
  2. การศึกษา: รัฐบาลควรสนับสุนการเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี   
  3. หลักประกันสุขภาพ: พัฒนาระบบสวัสดิการสุขภาพให้เป็นระบบสุขภาพระบบเดียวที่ ครอบคลุมประชาชนทุกอาชีพ    
  4. ที่อยู่อาศัยเเละที่ดิน: อัตตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยเเละที่ดินภาคการเกษตรไม่ควรเกินร้อยละ 2, เสนอให้ภาครัฐสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพให้ประชาชนในทุกตำบล, ต้องมีการปรับลดราคาบ้านเเละที่อยู่อาศัย    
  5. เเรงงาน: ค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ, สิทธิลาคลอด 180วัน, ลดชั่วโมงการทำงาน  
  6. ประกันสังคม: พัฒนาสิทธิประโยชน์ในประกันสังคม มาตราต่างๆ ทั้ง 33, 39, 40 และประกันสังคมควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐบาล 
  7. บำนาญประชาชน: พัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 600-1,000 บาท เป็นการใช้เกณฑ์เส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ และปรับเพิ่มทุก 5ปีตามอัตราเงินเฟ้อ ผ่านรัฐเป็นผู้จ่ายโดยตรง  
  8. สิทธิทางสังคม: สำหรับสวัสดิการผ้าอนามัย พบว่าผู้หญิงอายุ 12-15 ปี จำนวนกว่า 19 ล้านคน จะมีค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยประมาน 100-200 บาท รวมเเล้ว 33 ปี ถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงเรียกร้องให้มีสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีสำหรับผู้หญิง       
  9. เบี้ยยังชีพคนพิการ: ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการ โดยพิจารณาจากเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ 
  10. สวัสดิการสำหรับผู้ที่มีความหลาหหลายทางเพศ: ผลักดันให้กระบวนการข้ามเพศเป็นสิทธิในหลักประกันสุขภาพ 
  11. ข้อเสนอปฎิรูประบบภาษีเเละงบประมาณ: ปรับปรุงการลดหย่อนเเละการยกเว้นภาษี เพื่อแก้รูปแบบภาษีที่ผู้มีรายได้น้อยเอื้อผู้มีรายได้สูง, ยกเลิก BOI เพราะเป็นการส่งเสริมทุนใหญ่, จัดเก็บภาษีความมั่งคั่งของเศรษฐีที่มีเพียง 1% ของประเทศ, ปรับปรุงภาษีอัตราก้าวหน้า โดยลดช่วงมูลค่าสุทธิในการเสียภาษี เช่น ภาษีมรดก จาก 100 ล้านถึงค่อยเสียภาษี ควรจะปรับลดลงมา รวมทั้งภาษีที่ดินเเละสิ่งปลูกสร้างจาก 50 ล้านก็ควรจะลดลงมา

ทั้งนี้ ก่อนที่นิติรัตน์จะกล่าวถึงข้อเสนอทั้งหมดของ WE FAIR นั้น เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมเสนอข้อเรียกร้องและชี้ให้เห็นถึงปัญหาของสวัสดิการให้ภาคส่วนต่างๆ

‘สวัสดิการขั้นพื้นฐาน’ ที่ยังตกหล่น  

สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของสวัสดิการเด็กเล็กที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นหัวใจหลักที่สำคัญที่สุด เพราะถือว่าเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ หากยังไม่สามารถเติมเต็มช่องโหว่นี้ ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะไปสู่รัฐสวัสดิการได้เลย 

สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

ปัจจุบันประชากรเด็กมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เราต้องทำให้เด็กจำนวนนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ทำไมในทุกวันนี้เด็กเล็กกลับยังได้รับเงินอุดหนุนไม่ครบเสียที ในเด็กเล็กทั้งหมดกว่า 4.2 ล้านคน มีเพียง 2 ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงเงินอุดหนุนส่วนนี้                                                                                       

“สิ่งที่เรียกว่าสวัสดิการย่อมไม่ใช่การแจกแถมเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องมาในรูปแบบสวัสดิการเต็มรูปแบบ และพวกเราไม่ได้เรียกร้องเพื่อเด็กที่ยากลำบากเพียงอย่างเดียว แต่เด็กที่ยากจนนั้นตกหล่นมากถึง 30% เพราะไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างครบถ้วน ดังนั้นต้องปิดฉากเลย ต้องให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า แม้กระทั่งคนรวยก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเพราะนี่เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่เพียงมาตราการคนจน”                                                                                                                                             
สุนี เรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชน ช่วยผลักดันให้ได้งบประมาณในปี 2566 เพิ่มอีก 14,000 ล้านบาท เพื่อเด็กอีก 2 ล้านคนจะได้เข้าถึงเงินอุดหนุนนี้อย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังได้ยื่นข้อเสนอใหม่ให้เพิ่มเงินอุดหนุนจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทขึ้นไป เนื่องจากเงินอุดหนุนในปัจจุบันยังไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ต่อจากนี้ต้องไม่ใช่แค่เพียงเงินอุดหนุนเด็กเล็กอีกแล้ว แต่ต้องเป็นสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และผู้เลี้ยงดูไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือศูนย์ดูเเลเด็กเล็กต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการควรที่จะกระจายอำนาจไปสู่องค์กรท้องถิ่น ให้จัดสรรเงินอุดหนุนจำนวนนี้โดยอาจมีการพิจารณาปรับเพิ่มได้ตามแต่ละพื้นที่ อาจมากกว่า 600บาทก็ได้ 

‘คนจนเมือง หนึ่งในหุ้นส่วนความเดือดร้อน’ จากโครงการพัฒนาของภาครัฐ

นุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้บอกเล่าถึงความลำบากในฐานะการเป็นคนจนเมืองกับการเข้าถึงสวัสดิการที่อยู่อาศัย เมื่อโครงการพัฒนาของรัฐเพิ่มขึ้น คนจนเมืองก็ถูกผลักออกจากเมือง เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างที่อยู่อาศัยมีราคาแพงขึ้นจนพวกเขาไม่สามารถครอบครองได้                                                                                                     

พวกเขาจึงได้ผลักดันให้ใช้พื้นที่สาธารณะและที่ดินที่รัฐครอบครองอยู่ทั้งที่ดินราชพัสดุและที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ปรับเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย แต่กลับกลายเป็นว่าที่ดินเหล่านี้ล้วนมีเจ้าของหมดเเล้ว ทำให้พวกเขาต้องออกไปอาศัยอยู่นอกเมืองซึ่งยิ่งเพิ่มภาระค่าเดินทางให้พวกเขามากยิ่งถึง   

นุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ถึงแม้รัฐบาลจะสร้างรถไฟฟ้าสายต่อขยายไปมากเพียงใด แต่มันไม่ได้ทำให้พวกเขาสะดวกขึ้นเลย เนื่องจากค่าโดยสารที่มีราคาแพงซึ่งสวนทางกับค่าแรงของพวกเขาให้แต่ละวัน ที่เพียงแค่ค่ารถไปกลับค่าแรงในแต่ละวันก็แทบจะหมดแล้ว                                                                                           

“นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำกับเรา ไม่เคยตั้งงบประมาณใดๆ ไว้สำหรับเเก้ปัญหาให้กับคนที่ได้รับผลกระทบเลย ไม่เคยคิดว่าคนจนเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของความเดือดร้อน แต่คิดว่าพวกเราไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย”   

ในการเจราจาหลายครั้งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ มักมองข้ามผลกระทบของโครงการพัฒนาเมืองต่อคนจน โดยไม่ได้คำนึงว่าคนจนในเมืองก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะพวกเขาไม่ได้ครอบครองโฉนดที่ดิน ซึ่งมันตอกย้ำความยากจนของพวกเขา                                                         

นุชนารถ ได้เสนอข้อเรียกร้องให้มีการจัดสรรที่อยู่อาศัยในเมืองให้มีราคาที่เหมาะสมต่อรายได้ของคนทุกกลุ่ม ทั้งผู้ที่มีรายได้น้อยจนถึงผู้ที่มีรายได้มากแต่ไม่สามารถซื้อที่ดินได้ นอกจากนั้นค่ารถไฟฟ้าก็ต้องเหมาะสมกับคนที่อยู่อาศัยนอกเมืองที่ต้องเดินทางมาทำงานในเมือง ที่ดินของรัฐควรนำมาปรับเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าในราคาถูก ที่ดินควรเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ให้อยู่แค่กับนายทุนหรือคนเเค่กลุ่มเล็กๆ คนจนที่เป็นเเรงงานก็ต้องสามารถอยู่อาศัยในเมืองได้                  

“ที่ดิน 6 แสนกว่าไร่อยู่ในมือคนตระกูลเดียว พวกเขาอยู่กันตั้งกี่ตระกูล แต่มีพื้นที่แค่ 16.9 ตารางวา อยู่กันบ้านหนึ่งสามครอบครัว”  

‘แรงงาน’ กับ ‘สิทธิประกันสังคมที่ได้ผลประโยชน์ไม่เท่าเทียม’

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้พูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมของค่าแรง พรรคการเมืองต่างๆ มักจะชูประเด็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อหาเสียง แต่ก็ไม่เคยทำได้อย่างที่พูดไว้ กระทรวงแรงงานก็ไม่สามารถจัดหางานให้นักศึกษาอาชีวศึกษาและแรงงานที่พึ่งจบใหม่ ทำให้มีประชาชนว่างงานถึง 2-3 แสนคน 

สิทธิประกันสังคมทั้งมาตรา 33, 39, 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกับบุคคลกลุ่มอื่น พวกเขาเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ที่แม้แต่ข้าราชการยังมีบัตรทองที่เบิกจ่ายได้ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่เป็นหนึ่งในแรงงานสำคัญในโครงการพัฒนาเมือง อย่างการสร้างถนน รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ กว่าหนึ่งล้านคนก็โดยตัดสิทธิออกจากสิทธิประกันสังคม มาตรา33

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

‘โครงการ 3 ขอ’ จากรัฐบาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของแรงงาน แทนที่โครงการประกันสังคมจะสามารถทำโครงการให้กู้ผ่านประกันสังคมเอง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยจากที่เเรงงานกู้ไปยังคงอยู่ในโครงการประกันสังคมเพื่อที่จะวนเอามาจ่ายผลประโยชน์ให้กับพวกเขา แต่แรงงานกลับต้องกู้ผ่านธนาคาร

ธนพร เสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นตามอัตตราเงินเฟ้อและค่าจ้างต้องเป็นธรรมที่เชื่อมโยงกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าแรงขั้นต่ำให้มีการขึ้นค่าแรงประจำปี และภาครัฐควรที่จะดูแลผู้ประกอบการในภาคธุรกิจหากได้รับผลกระทบจากการขึ้นแรงงาน นอกจากนี้ระบบประกันสุขภาพต้องถ้วนหน้า และเงินประกันสังคมที่พวกเขาจ่ายเข้าไปก็ควรจะเป็นเงินออม

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยด้วยเบี้ยยังชีพวันละ 20 บาท

อภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่ได้มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาระบบบำนาญประชาชน โดยเป็นการรวมตัวกันของประชาชนที่เห็นความเหลื่อมล้ำและเห็นประชาชนบางกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ขณะที่ภาครัฐพยายามเน้นย้ำถึงการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย เเต่ผู้สูงอายุยังคงได้เบี้ยยังชีพแค่ 600 บาทต่อเดือน เราปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่กับเบี้ยยังชีพเเบบนี้มาได้อย่างไรตั้งกว่า 20 ปี โดยไม่มีใครหันมามอง

พวกเขาพยายามมุ่งมั่นทำงาน ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ ‘ปิ่นโตสามชั้น’ โดยเน้นที่ปิ่นโตชั้นเเรกซึ่งเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุจากรัฐบาลโดยตรง ว่าจะทำอย่างไรให้เบี้ยนี้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุในแต่ละวัน 

อภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

อภิวัฒน์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้สังคมไทยติดอยู่กับการเป็นรัฐสงเคราะห์ ซึ่งมุ่งเน้นช่วยเหลือแต่กลุ่มผู้ยากจน เราควรที่จะหยุดการเป็นรัฐสงเคราะห์ได้แล้วและเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า  

“ประชาชนพร้อมมาตั้งนานเเล้วที่จะเปลี่ยนเบี้ยเเละบำนาญถ้วนหน้า มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมากเลย ที่จะหยุดส่งต่อความยากจน หยุดสงเคราะห์ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ยกระดับให้คนเป็นคน เป็นพลเมือง ไม่ใช่เป็นไพร่” ทำให้ทุกคนมีหลักประกันรายได้ที่ชัดเจน “เราต้องหยุดการเป็นรัฐสงเคราะห์และรัฐชิงโชค มันไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นเลย”    

อภิวัฒน์ ได้ตั้งคำถามไปยังพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลว่ามีความกล้าหาญพอหรือไม่ที่จะ ปฎิรูปการจัดสรรระบบภาษีและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้ภาษีให้มีความเป็นธรรม และนำมาใช้เพื่อสังคมจริงๆ และพร้อมที่จะเเก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างหลักการพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องขับเคลื่อนสังคมนี้ให้กลายเป็นรัฐสวัสดิอย่างถ้วนหน้าอย่างจริงจัง และต้องไม่ใช่รัฐสังเคราะห์อีกต่อไป

เบี้ยยังชีพคนพิการและข้อจำกัดในการเบิกอุปกรณ์ช่วยเหลือที่มีมูลค่าสูง  

รณภัฎ วงศ์ภา ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล กล่าวถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงเบี้ยยังชีพคนพิการและอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการที่มีมูลค่าสูง ในปัจจุบันคนพิการกว่า 1 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงเบี้ยคนพิการนี้ได้ เช่น เยาวชนพิการที่อายุไม่ถึง 18 ปี และคนพิการอีกเกือบ 9 แสนคนที่ได้เบี้ยยังชีพคนพิการเพียง 800 บาท เนื่องจากไม่มีบัตรคนจนที่จะทำให้ได้เพิ่มเป็น 1,000 บาท ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยนั้นเป็นรัฐสงเคราะห์  รวมไปถึงเบี้ยคนพิการยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยเรียกร้องให้เพิ่มเบี้ยคนพิการซึ่งควรมีขั้นต่ำอยู่ที่ 2,700–3,000 บาท อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องของการฟื้นฟูผู้พิการไม่ได้ถูกพูดถึงเลย  

รณภัฎ วงศ์ภา ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล

นอกจากนี้อุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการที่มีมูลค่าสูงก็ไม่สามารถเบิกได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป เช่น รถเข็นที่คนพิการเบิกได้ส่วนมากจะเป็นรถเข็นประเภทที่เป็นรถถัง ซึ่งสามารถเบิกได้ในราคา 4,400-6,600 ผ่านประกันสังคม ส่วนรถเข็นที่มีคุณภาพสูง จะมีจำกัดอยู่แค่ที่สถาบันสิริธรโดยงบประมาณของกระทรวงสาธารณะสุข รณภัฎ ได้เสนอว่าหากสปสช. สามารถประสานงานกับกระทรวงสาธารณะสุขได้จะเป็นประโยชน์ต่อคนพิการมาก เพราะคนพิการจะได้ใช้รถเข็นที่เหมาะสม     

มากไปกว่านั้นยังพบปัญหาเงื่อนไขการประสานงานเกี่ยวกับรถเข็นที่มีมูลค่าสูง ระหว่างโรงพยาบาลและสถาบันสิริธร ซึ่งนอกเหนือภาระหน้าที่ของโรงพยาบาล ดังนั้นรัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานกลางมาเพื่อช่วยประสานงานและลดภาระการเดินทางของผู้พิการ

รัฐสวัสดิการที่ไม่ได้โอบอุ้มความหลากหลายทางเพศ

รตี แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสวัสดิการสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย รวมถึงรัฐสวัสดิการ รัฐควรที่จะคำนึงว่าในสังคมนั้นไม่ได้มีเพียงเพศชายและหญิงเท่านั้น ดังนั้นรัฐสวัสดิการ ควรที่จะโอบอุ้มผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี อัตตลักษณ์ทางเพศเองก็ตาม

“คำนำหน้านั้นเปรียบเสมือนกรงขังที่กีดกันการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” รตี กล่าว

รตี แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

เราสามารถสร้างรัฐสวัสดิการที่โอบอุ้มความหลากหลายทางเพศได้ภายใต้ 3 เงื่อนไข 

  1. ตระหนักว่าโลกใบนี้เเละสังคมนี้ไม่ได้มีเเค่หญิงเเละชายที่ต้องคำนึงในการออกเเบบรัฐสวัสดิการเพียงเท่านั้น 
  2. ต้องมีความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับประเด็นความเเตกต่างหลากหลายซึ่งมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจง 
  3. บูรณาการการตระหนักถึงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าไปสู่ระบบรัฐสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านศูนย์เด็กเล็กที่มีความหลากหลายทางเพศ บำนาญผู้สูงอายุที่ต้องครอบคลุมสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีสูงอายุขึ้น                                

สุดท้าย รตี เสนอข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการครอบครัว เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงบริการการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศได้ ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถเติบโตขึ้นมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดปัญความรุนเเรงในครอบครัว ต่อมาในเรื่องสวัสดิการสุขภาพ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเข้าถึงการได้รับบริการให้คำปรึกษาในการพัฒนาร่างกายให้ตรงกับจิตใจ คนข้ามเพศจำนวนมากที่ต้องซื้อยาปรับฮอร์โมนเเละยาคุมกำเนิดมาทานเองเเล้วส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งหญิงและชายที่ข้ามเพศต้องเก็บเงินเพื่อไปทำศัลยกรรม บางคนที่ไม่มีเงินก็ต้องไปทำศัลยกรรมกับหมอกระเป๋าซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่รัฐต้องมีสวัสดิการให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงกระบวนการการข้ามเพศ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายและทำให้บุคคลข้ามเพศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนั้นสวัสดิการเเรงงานต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเเละบุคคลที่ต้องการที่จะเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ ต้องถือว่าการลาเพื่อไปขอคำปรึกษาเเละทำศัลยกรรมเพื่อแปลงเพศนั้นเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การลาบวชหรือลาคลอดเลย

 

หมายเหตุ: สำหรับ จิณณพัต ทรัพย์ทวีวศิน ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองเเละการระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net