นักโทษพม่าอดอาหารประท้วงในเรือนจำ เพื่อเป็นเกียรติและไว้อาลัย 4 นักกิจกรรมที่ถูกประหาร

นักโทษพม่าในเรือนจำอินเส่งอดอาหารประท้วง เพื่อเป็นเกียรติและไว้อาลัยการจากไปของ 4 นักกิจกรรม ด้านนายกฯ กัมพูชา เผยอาเซียน อาจต้อง ‘คิดใหม่’ ต่อฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป หากกองทัพพม่าประหารนักกิจกรรมต่อเนื่อง

 

5 ส.ค. 2565 สำนักข่าว อิรวดี รายงานเมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับเรือนจำ เผยว่านักโทษหลายคนก่อการอดอาหารประท้วง เพื่อเป็นเกียรติ และไว้อาลัยการจากไปของ 4 นักกิจกรรม เบื้องต้น ไม่มีรายงานว่าจะมีการกำหนดรอบเวลาอดอาหารประท้วงนานมากน้อยเพียงใด  

นอกจากการอดอาหารประท้วงแล้ว นักโทษในเรือนจำยังประท้วงด้วยการเงียบใส่และเพิกเฉยต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประณามและแก้แค้นการกระทำของกองทัพพม่า แม้เจ้าหน้าที่ในเรือนจำจะพยายามพูดจาข่มขู่มาโดยตลอด

"เจ้าหน้าที่ในเรือนจำพูดอยู่ตลอดว่า หากนักโทษถูกทุบตีจนตาย พวกเขาก็แค่ได้รับเอกสารตักเตือนเท่านั้น" แหล่งข่าวบอกกับอิรวดี เกี่ยวกับสถานการณ์ในเรือนจำในช่วงที่ผ่านมา "พวกเขาระบุด้วยว่าสมาชิกของสหภาพนักศึกษาจะเป็นกลุ่มที่ถูกแขวนคอในครั้งต่อไป"

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Myanmar Now เปิดเผยว่า มีนักโทษก่อหวอดประท้วงใน 3 เรือนจำของพม่า เพื่อต่อต้านการประหารผู้เห็นต่างทางการเมือง ในกรณีของเรือนจำอินเส่ง ซึ่งถูกใช้เพื่อจำคุกนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้คุมตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงต่อนักโทษภายใต้คำสั่งของเจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการประหาร โกจิมมี หรือจ่อมินยู นักกิจกรรมวัย 53 ปี และเพียวเซยาต่อ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ในข้อหาก่อการร้าย ขณะที่หล่ะเมียวอ่อง อายุ 41 ปี และอ่องทุระซอ อายุ 27 ปี ถูกประหาร ในข้อหาฆาตกรรมผู้ให้ข้อมูลแก่ทหาร

การประหาร 4 นักกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นการกลับมาใช้โทษประหารในรอบ 30 ปี ก่อให้เกิดกระแสการประณามจากทั่วโลก หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นานนัก มีรายงานว่าอาจมีการประหารนักโทษการเมืองอีก 41 คนเร็วๆ นี้ คาดว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับก่อนหน้านี้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยไม่มีการเรียกตัวมาไต่สวน 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ เอเอพีพี ระบุว่า นักกิจกรรมพม่าถูกพิพากษาประหารชีวิตไปแล้ว 119 คน นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 64 นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 2,100 คน และมีผู้ถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือตัดสินโทษโดยรัฐบาลทหารพม่าไปแล้วกว่า 14,800 คน 

อาเซียนอาจต้องปรับแผน

เมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ประธานอาเซียนซึ่งปัจจุบันตำแหน่งอยู่กับกัมพูชา ระบุว่าอาจจะต้องมีการปรับแผนใหม่ หากรัฐบาลทหารพม่ายังคงประหารนักโทษการเมืองต่อไป

ในการเปิดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 55 ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กล่าวว่า หลังการประหาร 4 นักกิจกรรมทางการเมือง สถานการณ์ในพม่าเกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และย่ำแย่ลงกว่าตอนที่มีการจัดทำแผนสันติภาพฉันทามติ 5 ข้อเสียอีก 

ภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน ครั้งที่ 55 (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)

"หากมีนักโทษถูกประหารเพิ่มขึ้นอีก เราคงจำเป็นต้องคิดใหม่เกี่ยวกับบทบาทของเราที่มีต่อฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน" ฮุน เซน กล่าว 

ฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน ที่มีการตกลงกันเมื่อ เม.ย. 64 มีรายละเอียดดังนี้

1. ต้องมีการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด

2. ต้องมีการหารือที่สร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ในการเป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือภายใต้การช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (AHA Center)

5. ผู้แทนพิเศษรวมถึงคณะผู้แทนจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ในการแถลงข่าวขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ระบุด้วยว่า การปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากพม่าต้อง "เอาชนะโรคระบาดโควิด-19 พร้อมกับจัดการกับการจลาจลรุนแรงและการก่อการร้าย"

"ปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้นในแล้วในทุกด้าน เราจึงกำลังปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อเท่าที่ทำได้ภายใต้กรอบการทำงานของอาเซียน" มินอ่องหล่าย กล่าวผ่านทางโทรทัศน์ช่องของทางการพม่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 เดือนของการรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี 

ในการประชุมที่กรุงพนมเปญครั้งนี้ วันนาหม่องลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของกองทัพพม่าไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากอาเซียนปฏิเสธที่จะเชิญมาเข้าร่วม เพื่อเป็นการกดดันกองทัพพม่าที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ข้อ และเป็นการยืนยันจุดยืนเดิมเหมือนการประชุมต่างๆ ก่อนหน้านี้ 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Insein Prisoners Start Hunger Strike to Condemn Myanmar Junta Executions

ASEAN Chair Says Executions May Prompt Rethink of Strategy on Myanmar

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท