Skip to main content
sharethis

ส.ว.หลายคนประสานเสียงค้านข้อเสนอ กมธ.ของส.ว.ที่เสนอตัดความผิดที่เข้าข่ายเป็น “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ออกจากร่างพ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ที่ ส.ส.มีมติเห็นชอบ กมธ.อ้างว่าขอบเขตกว้างไม่ชัดเจนจึงไม่ควรกำหนดเป็นความผิด

9 ส.ค.2565 ที่ประชุมของวุฒิสภา มีการพิจารณาถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ของคณะกรรมาธิการของ ส.ว. ที่มีการเสนอให้ตัดและแก้ไขร่างกฎหมายที่ ส.ส.มีมติรับหลักการเอาไว้

การพิจารณาในที่ประชุม ส.ส.ครั้งนี้เนื่องมาจาก กมธ.ของ ส.ว.มีความเห็นให้ตัดและแก้ไขก็คือการตัดคำว่า “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ที่อยู่ในมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ออก โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความชัดเจน ซึ่งจะกระทบถึงมาตราอื่นที่กำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดและบทกำหนดโทษ

เฉลิมชัย เครืองาม อภิปรายคัดค้านการแก้มาตรา 3 ที่คณะกรรมการธิการพิจารณาร่างกฎหมายของวุฒิสภาเสนอแก้ไขให้ตัดคำว่าผู้ได้รับความเสียหาย “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ออก จะทำให้มาตราอื่นกว่าสิบมาตราที่มีคำเหล่านี้ถูกตัดออกไปด้วย

เฉลิมชัยได้ยกมาตราที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับมาตรา 3 อยู่คือ มาตรา 5ที่เป็นเรื่องของลักษณะการกระทำที่เป็นการทรมานและมาตรา 6 ที่อธิบายลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม และมาตราอื่นๆ หลังจากนี้ไป อีกทั้งคำที่ กมธ.ของสว.เสนอให้ตัดนั้นยังมีอยู่ในอนุสัญญาที่ไทยไปลงนามไว้ด้วย การตัดตามที่ กมธ.เสนอนั้นจะทำหลักการของกฎหมายบิดเบี้ยวไป

เฉลิมชัยเสนอว่าให้นำคำเหล่านี้กลับเข้ามาในร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะหากตัดออกนอกจากจะขัดต่ออนุสัญญาและภาคีระหว่างประเทศแล้ว การตัดออกยังขัดกับรัฐธรรมนูญของไทยด้วย

จากนั้นคำนูณ สิทธิสมาน ได้อภิปรายสนับสนุนประเด็นการอภิปรายของเฉลิมชัยว่า การแก้มาตรา 3 จะทำให้มาตรา 6 ที่กำหนดลักษณะการกระทำควาามผิดถูกแก้และกระทบต่อมาตรา 39 ที่เป็นส่วนของบทกำหนดโทษไปด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด

คำนูน กล่าวต่อว่าร่างหลักที่ที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการมาถึง 4 ฉบับ และมีร่างหลักเป็นของ ครม.เองด้วยซึ่งในร่างของ ครม.ก็มีคำว่าย่ำยีศักดิ์ศรี และคำว่า “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ก็ถูกเสนอใส่เข้ามาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในการพิจารณาในชั้น กมธ.ของ สว.เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่ที่ประชุม ส.ส.มีมติรับมาไม่ใช่พิจารณาร่างกฎหมายของ ครม. ซึ่งทาง กมธ.ที่เสนอให้ตัดคำเหล่านั้นออกก็ไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลเอาไว้และต้องชี้แจงให้ชัดเจนและที่ประชุมของ ส.ว.ก็ต้องประชุมให้ชัดเจนเพราะไม่ว่าที่ประชุมจะมีมติให้ตัดหรือไม่ตัดก็ต้องมีอธิบายได้

มณเฑียร บุญตัน อภิปรายคัดค้านการแก้ไขร่างของ กมธ.สว.เช่นเดียวกันโดยกล่าวว่า หากมีการแก้ไขจะเป็นการขัดต่ออนุสัญญาและสนธิสัญญาที่อยู่ภายใต้ปฏิญญาสากลที่คำที่ถูกตัดออกไปมีการระบุเอาไว้ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและอื่นๆ อีก เพราะคำว่าทรมานถูกกำหนดไว้ในชั้นที่สูง แต่ยังมีกระทำที่หนักเบาอื่นๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้นำไปสู่ความเดือดร้อนเสียหาย เมื่อไทยได้รับเข้าเป็นพันธกรณีที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีถึง 7 ฉบับ ซึ่งมีเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น การตัดออกก็เท่ากับไทยไม่ให้ความสำคัญกับพันธกรณีเหล่านี้ไปด้วย

มณเฑียรกล่าวอีกว่า การแก้ไขนี้จะทำให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและตอนที่ประชุม ส.ส.มีมติรับหลักการของร่างกฎหมายนี้ไทยก็ได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศเพราะที่ผ่านมากระทบวนการยุติธรรมของไทยก็มีข้อครหาว่ามีการกระทำที่โหดร้ายทารุณเกิดขึ้นอยู่เสมอ และถ้าหากเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกใส่ไว้ในกฎหมายระดับพระรราชบัญญัติแล้วลดทอนเหลือแค่เป็นประกาศหรือแค่นโยบายความเข้มข้นในการมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าวก็จะลดลงไปมาก ความเชื่อมั่นจากนานาชาติและประชาชนก็จะหายไปด้วย

มณเฑียรจึงสรุปว่าร่าง ส.ส.มีมติให้ผ่านมานั้นจะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นและไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนั้นในการประชุมช่วงเช้ายังมี ส.ว.อีกหลายคนที่ขึ้นอภิปรายคัดค้านการตัดเนื้อหาดังกล่าวออกและขอให้ กมธ.ที่เสนอให้มีการตัดประเด็นดังกล่าวออกจากกฎหมายต้องอธิบายเหตุผลเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร, เฉลิมชัย เฟื่องคอน, วันชัย สอนสิริ, ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ และเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นต้น

พ.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการ อธิบายประเด็นที่ถูกอภิปรายว่าการตัดคำเหล่านั้นออกเนื่องจากต้องพิจารณาว่าจะตัดมาตรา 6 ที่เป็นการกำหนดลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายเป็น “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” หรือไม่ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับ

ประธาน กมธ.ให้เหตุผลว่าอนุสัญญาได้กำหนดว่าประเทศที่ให้สัตยาบัณแล้วจะต้องอนุวัติกฎหมายภายในประเทศเฉพาะในส่วนของการกระทำความผิดที่เข้าข่ายเป็นการทรมานเท่านั้น แต่ไม่ได้บังคับรวมไปถึง “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ด้วย ซึ่งในร่างกฎหมายของรัฐบาลก็มีการออกข้อกำหนดถึงประเด็นการทรมานเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตามรัฐบาลเห็นว่าส่วนที่เหลือสามารถออกเป็นประกาศหรือนโยบายที่จะห้ามเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมตามมาได้และยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอยู่

พ.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวต่อว่าการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมจึงไม่ต้องกำหนดฐานความผิดไว้ในกฎหมายแต่ให้มีมาตรการได้และถ้าหากมีการกระทำที่เข้าข่ายก็ยังมีกฎหมายมาตราอื่นรองรับไว้หมด ส่วนการกระทำที่เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรมนั้นแม้ว่าจะมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้มีความชัดเจนว่าเป็นอย่างไร กมธ.จึงมีความเห็นให้ตัดมาตรา 6 ออก

ทั้งนี้ iLaw ได้รายงานประเด็นที่ กมธ.ของ ส.ว.มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้เมื่อวานนี้(8 ส.ค.) ว่านอกจากการตัด “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ที่อยู่ในมาตรา 3 แล้ว กมธ.ยังตัดการห้ามนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดออกซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดได้รับการนิรโทษกรรมหากในอนาคตมีการออกกฎหมายใหม่มาทำให้การกระทำความผิดดังกล่าวถูกยกเลิกไป

นอกจากนั้นยังประเด็นอื่นๆ อีกได้แก้ กมธ.ของส.ว.ตัดตัวแทนผู้เสียหายออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ที่จะถูกตั้งมาตามกฎหมายฉบับนี้, ตัดข้อกำหนดที่จะบังคับให้มีการบันทึกวิดีโอระหว่างเจ้าหน้าที่รับควบคุมตัว, ตัดการขยายอายุความจาก 40 ปีให้กลับไปเหลือ 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net