สื่อจับพิรุธหนังชวนเชื่อว่าทางการจีนช่วยฮ่องกงฟื้นฟูจากการเมืองและ COVID-19 แถมการันตีจากรางวัลที่ไม่จริง

สื่อ HKFP จับพิรุธภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ "Spring, Seeing Hong Kong Again" ที่พยายามนำเสนอว่าทางการจีนได้ช่วยเหลือให้ฮ่องกงฟื้นฟูจากความวุ่นวายทางการเมืองและช่วยป้องกันการระบาดของ COVID-19 ภาพยนตร์นี้ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจาก "เทศกาลภาพยนตร์กรุงปราก" แต่ปัญหาก็คือเทศกาลภาพยนตร์ที่ว่านี้ไม่มีอยู่จริง แล้วใครเป็นคนทำเรื่องแบบนี้ ด้วยจุดประสงค์อะไร?

5 ก.ย. 2565 หลังจากที่ในปี 2564 ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงอย่าง "Revolution of Our Times" (แปลตรงตัวว่า "การปฏิวัติในช่วงเวลาของพวกเรา") ผลงานของ กีวี โจว ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกอย่างเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หนึ่งปีต่อมากลับมีความพยายามนำเสนอภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับฮ่องกงในมุมมองที่ตรงกันข้าม

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวคือ "Spring, Seeing Hong Kong Again" (แปลตรงตัวว่า "ฤดูใบไม้ผลิ การได้เห็นฮ่องกงอีกครั้ง") ซึ่งพยายามนำเสนอว่าจีนไม่ได้เป็นเผด็จการผู้กดขี่แต่เป็นผู้ปกครองใจบุญที่ช่วยให้ฮ่องกงฟื้นฟูจากความวุ่นวายทางการเมืองและช่วยป้องกันฮ่องกงจากการระบาดของ COVID-19

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลชุดปัจจุบันของฮ่องกงเป็นเสมือนหุ่นเชิดของจีนที่ออกมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพและมีการปราบปรามผู้้ชุมนุมรวมถึงพยายามเอาผิดกับนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและลิดรอนเสรีภาพสื่อ

ในข่าวแจกเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Spring, Seeing Hong Kong Again ที่ออกมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมามีการระบุว่า "ผู้ชมปรบมือเป็นเวลายาวนาน 3 นาทีหลังภาพยนตร์จบลง" และมีอ้างว่ามีผู้ชมบางส่วนบอกว่าพวกเขา "รู้สึกทึ่งและมีการปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อฮ่องกง" นอกจากนี้ยังมีบทความอีกแห่งหนึ่งที่ระบุว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจาก "เทศกาลภาพยนตร์กรุงปราก"

ทว่าเรื่องนี้ก็มีผู้ใช้งานเว็บไซต์ทวิตเตอร์พยายามขุดคุ้ยจนพบว่า "เทศกาลภาพยนตร์กรุงปราก" ที่ว่านี้ไม่มีอยู่จริง (ซึ่งเป็นคนละอย่างกับ "เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปราก" ที่มีอยู่จริง แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Spring, Seeing Hong Kong Again แต่อย่างใด) ผู้ใช้ทวิตเตอร์ K Tse และสื่อ Deník N ของสาธารณรัฐเชกทำการขุดคุ้ยพบว่ามีผู้เข้าชมภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของจีนเรื่องนี้เพียงแค่ 2 คน เท่านั้นและภาพที่นำมาใช้ในการโปรโมทภาพยนตร์ก็เป็นภาพสต็อกที่หาได้ตามเว็บไซต์ภาพถ่ายทั่วไป

ถึงแม้ว่าเรื่อง Spring, Seeing Hong Kong Again นี้จะมีการเสนอต่อเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แต่ก็ไม่ได้รับเลือกให้จัดฉายอย่างทรงเกียรติ์ในเแบบเดียวกับ "Revolution of Our Times" แต่อย่างใด แต่เรื่อง Spring ได้รับจัดฉายที่ Marché du Films ที่จัดพร้อมกับเทศกาลเมืองคานส์หรือที่เรียกว่า "ตลาดภาพยนตร์คานส์" ซึ่งผู้ต้องการจัดฉายภาพยนตร์สามารถซื้อเวลาจัดฉายภาพยนตร์ได้แทนการได้รับเลือก

นอกจากนี้การแถลงข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์ยังล่อหลอกให้ชุมชนชาวเชื้อสายกวางตุ้งหลงคิดว่า Spring เป็นภาพยนตร์แนวส่งเสริมประชาธิปไตยในฮ่องกงซึ่งอาจจะเป็นความหวังสำหรับพวกเขา แต่ทว่าแท้จริงแล้วมันกลับเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ล้มเหลวเพราะไม่มีคนสนใจ

โครงการไชนามีเดียได้ทำการสำรวจเรื่องนี้พบว่า Spring, Seeing Hong Kong Again เป็นหนึ่งในชุดสารคดีที่มีการสนับสนุนวาทกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน วิธีการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมักจะใช้คือการนำเอาชาวต่างชาติมาช่วยสร้างภาพลักษณ์พอเป็นพิธี รวมถึงอ้างเทศกาลภาพยนตร์ต่างชาติที่ฟังดูน่าสงสัย รวมถึงอ้างเอาเองว่าภาพยนตร์ของพวกเขาได้รับรางวัลต่างๆ จากต่างชาติ

สื่อฮ่องกงรีเพรสระบุว่า ในแง่คุณภาพของภาพยนตร์แล้ว Spring, Seeing Hong Kong Again ก็แค่กลางๆ งั้นๆ มันมีการนำเสนอการสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยในฮ่องกงจำนวนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องที่การระบาด COVID-19 ในช่วงต้นปี 2565 ส่งผลกระทบต่อฮ่องกงอย่างไรบ้าง ในภาพยนตร์จะมีผู้บรรยายเป็นชายคนขาววัยกลางคนที่เรียกตัวเองแค่ว่า "อเล็ก" ตัวผู้บรรยายคนนี้อ้างว่าเขาย้ายมาที่ฮ่องกงตั้งแต่เมื่อปี 2543

เนื้อหาของ Spring, Seeing Hong Kong Again ("ระดับความฉลาดอย่างมีพรสวรรค์" คือ?)

มีบางครั้งที่ในหนังอ้างว่าการระบาดหนักของ COVID-19 มีความเกี่ยวข้องกับกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2562 เช่นคนที่ชื่อ เฮนรี นักแสดงงิ้วฝึกหัดพูดถึงแต่การประท้วงในแง่ที่ว่ามันทำให้รถเมล์ล่าช้าจนทำให้เข้าไปถึงโรงละครเกือบจะไม่ทันเวลาแล้วก็บอกว่าในเวลาต่อมาเขาก็ติดโรค COVID-19 จนกระทั่งเพื่อนของเขาได้ส่งยาจากจีนแผ่นดินใหญ่มาให้

มีตัวละครอีกตัวหนึ่งชื่อ "ดอลฟิน" บอกว่าเป็นคนที่ลงทุนหุ้นไอทีเมตาเวิร์ส เขาพูดชื่นชมโครงการความร่วมมือในอนาคตกับจีนรวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ที่เรียกว่า "เกรตเตอร์ เบย์ แอเรีย" หรือ GBA ที่เขามองว่าจะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจในฮ่องกง และกล่าวชื่นชมสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "ระดับความฉลาดอย่างมีพรสวรรค์ของจีนแผ่นดินใหญ่"

มีการตั้งข้อสังเกตว่าบทสนทนาในภาพยนตร์สารคดีนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวอย่างข้างต้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการจัดให้พูดตามบทเอาไว้แล้ว มีอยู่ฉากหนึ่งที่แสร้งทำเหมือนว่ามีคนสองคนจู่ๆ ก็พูดถึงเรื่อง COVID-19 ขึ้นมาแล้วโยงว่ามันชวนให้นึกถึงการประท้วงในปี 2562 แต่พวกเขาก็เดินเข้ามาหากล้องที่ตั้งไว้แล้วก็บอกลา นอกจากนี้เสียงบรรยายของอเล็กก็มีการเรียงประโยคแปลกๆ บางครั้งฉากที่เห็นก็ไม่เข้ากับเสียงในภาพยนตร์

ภาพยนตร์น่าเบื่อเรื่องนี้จบลงด้วยการที่เฮนรี ได้รับข่าวว่าโรงงิ้วของเขาจะกลับมาเปิดอีกครั้ง และมีคลิปช่าวเรื่องที่ฮ่องกงผ่อนปรนข้อจำกัดด้าน COVID-19 หลังจากที่จำนวนผู้ป่วยลดลง จากนั้นจึงมีการขึ้นเครดิตรายชื่อผู้จัดทำที่ดูเหมือนจะเป็นจุดที่น่าสนใจที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว

คณะผู้จัดทำที่ไม่มีอยู่จริง

ฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่า รายชื่อผู้จัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้มีอะไรแปลกๆ น่าสงสัย มีชื่อของบางคนที่ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการภาพยนตร์เรื่องนี้แต่อย่างใด และมีบางรายชื่อที่หาตัวไม่พบ

ภาพยนตร์มีการอ้างชื่อผู้กำกับ เบอนัวต์ เลอลิแยเวอ เขาเป็นครูและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในจีนมาเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่รู้ว่าเขามีบทบาทในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนเพราะ เลอลิแยเวอ เคยระบุในเฟสบุคว่าเขาออกจากประเทศจีนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แล้วและไม่เคยได้กลับไปเลย นอกจากนี้เลอลิแยเวอยังไม่เคยตอบรับคำขอสัมภาษณ์จากนักข่าวที่ใดเลย และในเวลาต่อมาก็ลบรูปของตัวเองที่โพสต์คู่กับการโปรโมทภาพยนตร์ Spring ออกจากเพจ LinkedIn ของเขาเอง

โครงการไชนามีเดียได้ทำการสำรวจเรื่องนี้พบว่า Spring, Seeing Hong Kong Again เป็นหนึ่งในชุดสารคดีที่มีการสนับสนุนวาทกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน วิธีการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมักจะใช้คือการนำเอาชาวต่างชาติมาช่วยสร้างภาพลักษณ์พอเป็นพิธี รวมถึงอ้างเทศกาลภาพยนตร์ต่างชาติที่ฟังดูน่าสงสัย รวมถึงอ้างเอาเองว่าภาพยนตร์ของพวกเขาได้รับรางวัลต่างๆ จากต่างชาติ และศูนย์กลางของทุกอย่างดูเหมือนจะอยู่ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์อินดี้จีน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างว่าอะไรแบบนี้น่าจะเป็นหนทางที่ผู้ผลิตภาพยนตร์อินดี้ในจีนสามารถเอาโครงการที่ตัวเองอยากทำมาปนไปกับโฆษณาชวนเชื่อได้

โครงการไชนามีเดียระบุว่าในหมู่คนที่อยู่ในรายชื่อคณะผู้จัดทำ พวกเขาสามารถระบุตัวตนได้เพียง 2 คนเท่านั้นคือที่ปรึกษา 2 คน แต่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้จัดทำรายอื่นๆ ได้เลย รายชื่อผู้จัดทำส่วนใหญ่เป็นชื่อที่ไม่ใช่ภาษาจีน ไม่มีการระบุถึงบริษัทที่ผลิตภาพยนตร์นี้ และไม่มีการให้เครดิตกับผู้บรรยาย "อเล็ก" มีการระบุตัวผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ แต่ไม่มีชื่อโปวดิวเซอร์

แล้วใครล่ะที่เป็นคนผลิตภาพยนตร์นี้กันแน่ จากการสืบสวนของโครงการไชน่ามีเดียสาวไปได้ว่า น่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวจีนที่ชื่อ จินหัวชิง ที่มีบริษัทภาพยนตร์ของตัวเองในหางโจวชื่อ "สตูดิโอภาพยนตร์จินหัวชิง" งานภาพยนตร์ที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ของเขาชื่อ "Dark Red Forest" (แปลตรงตัวว่า "ป่าสีแดงอันมืดทึบ") มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่ชีทิเบตได้รับการชื่นชมในระดับนานาชาติเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

จินให้สัมภาษณ์ต่อโครงการไชน่ามีเดียว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับภาพยนตร์เรื่อง Spring แต่ทว่าภาพยนตร์เรื่อง Spring ก็มีการนำเสนอเป็นวิดีโอแบบ private ที่เปิดเฉพาะให้คนบางกลุ่มรับชมได้เท่านั้น และบัญชีผู้ใช้งานที่เผยแพร่ภาพยนตร์นี้คือ Huaqing Jin ซึ่งเป็นการเขียนชื่อสกุลด้วยการเรียงลำดับแบบสากลของชื่อ จินหัวชิง แต่ภายในวันเดียวหลังจากที่สื่อส่งลิงค์วิดีโอให้กับจิน ชื่อบัญชีก็ถูกเปลี่ยนเป็น "little observer" (แปลตรงตัวว่า "ผู้สังเกตการณ์เล็กๆ")

จากการสืบสาวเกี่ยวกับคนในรายชื่อที่ระบุว่าเป็นที่ปรึกษาของภาพยนตร์ทำให้พบว่ามีหนึ่งในนั้นที่มีความเกี่ยวโยงกับเทศกาลภาพยนตร์ประจำปีอีกแห่งหนึ่งในกรีซที่ชื่อภาพยนตร์สารคดีนานาชาติเอียราเพตรา (IDFI) และเทศกาลที่ว่านี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับจีนอยู่กลายๆ ที่ปรึกษาของภาพยนตร์เรื่อง Spring ที่ชื่อ เอเลนี วลาสซี เป็นทั้งคนทำภาพยนตร์และประธานของเทศกาล IDFI ซึ่งเคยมอ[รางวัลให้กับภาพยนตร์ของจิน และเทศกาลนี้ก็มีการระบุถึงโครงการ "ไชน่าดรีม" ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มีการประกาศถึงในที่อื่น

การสืบสวนของไชน่ามีเดียระบุอีกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีการขอความร่วมมือกันนานาชาติให้การให้รางวัลคนที่ไม่เกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เลย แต่มอบให้กับคนที่อ้างว่าเป็น "นักวิจัย" และอ้างว่าเป็น "หมอ" ซึ่งดูเหมือนจะพยายามสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือให้กับสิ่งที่ดูน่าสงสัยที่พวกเขาทำอยู่

อีกทั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนที่มีรายชื่อในภาพยนตร์ Spring อย่าง จิน, เลอลิแยเวอ, วลาสซี ก็มักจะพบเจอกันในเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างๆ อยู่เสมอ รวมถึงในเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดโดยหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของทางการจีน ที่มีแนวคิดต้องการให้ "เล่าเรื่องเกี่ยวกับจีนเป็นอย่างดี" ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเคยพบเจอกันในงานเทศกาลภาพยนตร์หลายครั้งและขึ้นเวทีเดียวกันมาก่อน แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่จินปฏิเสธว่าไม่รู้จัก เลอลิแยเวอ มาก่อน และยิ่งแปลกมากกว่าเดิมเมื่อจินปฏิเสธว่าไม่เคยร่วมงานกับวลาสซี ถึงแม้ว่าทั้งสองคนจะมีเครดิตร่วมกันในภาพยนตร์เรื่อง Spring

โฆษณาชวนเชื่อ และเทศกาลปลอม

นอกจากเรื่องเกี่ยวกับฮ่องกงแล้วคนกลุ่มนี้ยังเคยมีชื่อในภาพยนตร์หรือวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับจีนเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ ที่กำลังมีประเด็นหลังสหประชาชาติวิจารณ์ว่าจีน "ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง" และอาจจะถึงขั้น "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ในกรณีที่จีนคุมขังชาวอุยกูร์ในค่ายกักกันและละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ต่อชาวอุยกูร์ แต่ในภาพยนตร์และวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อของจีนมีการพยายามนำเสนอภาพชาวอุยกูร์ที่่ดูมีความสุข เช่น ภาพเด็กกำลังเต้นรำบนท้องถนน ซึ่งเป็นมุขแบบรสนิยมสาธารณ์เดิมๆ มีคำบรรยายที่ฟังดูแปลกๆ และคนบรรยายก็เป็นเสียงเดียวกับ "อเล็ก" ในเรื่อง Spring

ตัวจินเองเคยทำภาพยนตร์สารคดีโฆษณาชวนเชื่อด้วยชื่อของตัวเองมาก่อนในชื่อ "Hong Kong, Please Shining Again" (แปลตรงตัวแบบผิดไวยากรณ์ว่า "ฮ่องกง ขอให้ความ/กำลังโชติช่วงอีกครั้ง") ซึ่งสารคดีโฆษณาชวนเชื่อนี้กล่าวหาว่าการประท้วงเมื่อปี 2562 เป็น "อาชญากรรมแบบหัวรุนแรง" และอ้างว่าเป็นการประท้วงที่ได้รับการสนับสนุนจาก "พวกตะวันตกต่อต้านจีน" มีการอ้างว่าเจ้าของสื่อแอปเปิลเดลี จิมมี ไหล เป็นผู้ที่ทำลายเสถียรภาพและความมั่งคั่งของฮ่องกง อีกทั้งตอนจบของภาพยนตร์ยังอ้างแบบไม่ตรงกับข้อเท็จจริงว่าชาวฮ่องกงส่วนใหญ่สนับสนุนกฎหมายความมั่นคงของจีน มีการให้รางวัลยอดเยี่ยมแก่เรื่องนี้ในงานเทศกาลของคนกันเองอย่างเทศกาล IDFI ที่จัดโดยคนกันเองอย่างวลาสซี

ภาพยนตร์ดังกล่าวชวนให้นึกถึงการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบเดียวกับเรื่อง Spring นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการแห่แหนชื่นชมภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อในสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน และตัวผู้ให้รางวัลอย่างวลาสซีก็มักจะถูกจัดให้เป็นตัวแทนชาวต่างชาติที่มาสร้างภาพลักษณ์ให้พอเป็นพิธี จากการที่สื่อจีนมักจะอ้างว่าเธอเป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรครัฐบาลจีน เรื่องการได้รับการยอมรับจากต่างชาตินี้มีความสำคัญต่อทางการจีนในการโปรโมทภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของตัวเอง ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้จีนในการครอบงำฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ผลงานของจินก็ไม่ได้ยอมตามรัฐบาลจีนไปเสียทั้งหมด เรื่อง "Dark Red Forest" กับ "The Tibetan Girl" (หญิงชาวทิเบต) ของเขามีการวิจารณ์รัฐบาลจีนแบบเนียนๆ แฝงอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ทำภาพยนตร์ในจีนบางครั้งแล้วก็ถูกบีบให้ต้องทำอะไรตามใจรัฐบาลจีน

เรื่องนี้อาจจะเทียบได้กับกรณีของ จางอี้โหมว ที่เคยสร้างภาพยนตร์อย่าง "To Live" ที่มีบางส่วนวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนออกมาในปี 2537 แต่ต่อมาก็ได้รับเลือกให้กำกับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2551 จนทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการสยบยอมต่อทางการจีน นอกจากนี้ยังมีผู้ทำภาพยนตร์หลายคนที่ต้องปรับเปลี่ยนบางส่วนของภาพยนตร์ตัวเองเพื่อให้สามารถได้รับการเผยแพร่ในจีนได้

ในแง่ของเทศกาลหนังปลอมที่จีนจัดขึ้นมาเองนี้ สื่อ Denik N ได้ตรวจสอบพบว่าผู้ได้รับเครดิตในการจัดงานเทศกาลชื่อ "หวังเจี๋ย" เขาเป็นคนจัดให้สื่อที่ชื่อ Prague Morning เป็นผู้นำเสนอเรื่องงานเทศกาลนี้ด้วย แต่หวังก็ทำการบล็อกไชน่ามีเดียทันทีหลังจากที่รู้ว่าตัวเองกำลังพูดกับนักข่าวจากต่างประเทศ หวังเจี๋ยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการผู้จัดการของบริษัทในหนานจิงที่เคยสร้างภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้กับจีน

ไม่เพียงเท่านั้น หวังยังเคยมีส่วนในการจัดทำเทศกาลปลอมอื่นๆ มาก่อนด้วย ในปี 2562 ฮอลลิวูดรีพอร์ตเตอร์เคยรายงานว่ามีเว็บไซต์ที่ชื่อ FilmFreeway ที่เป็นช่องทางที่ดีที่ผู้ทำหนังรายย่อยๆ จะสามารถส่งผลงานตัวเองให้ไปเข้าร่วมเทศกาลต่างๆ ได้ผ่านช่องทางนี้ แต่ขณะเดียวกันช่องทางนี้ก็มีคนสร้างเทศกาลของเก๊ขึ้นมาเช่นกัน

เช่นเทศกาลภาพยนตร์กรุงปรากที่ไม่มีอยู่จริงแต่มีการทำหน้าเพจไว้ใน FilmFreeway และในประวัติการสมัครเข้าใช้งานเว็บก็มีคนระบุที่อยู่เอาไว้ว่า "NanJing" ที่อ่านว่า "หนานจิง" มณฑลของจีนแห่งเดียวกับที่ตั้งบริษัทของหวังเจ๊๋ย ภาพที่นำมาใช้ในเพจเป็นภาพเก่าที่ถ่ายตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วในงานเทศกาลที่มีอยู่จริงที่ชื่อว่า FAMUFEST 36 แต่ถูกนำกลับมาใช้อ้างว่าเป็นเทศกาลกรุงปรากของปีนี้

นอกจากนี้แล้วหวังยังพยายามทำเว็บไซต์แบบ FilmFreeway ในแบบของตัวเองด้วย และอ้างว่าพวกเขามีสายสัมพันธ์กับเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก บอกว่าพวกเขาเริ่มประสานงานกับบริษัทภาพยนตร์ในนิวยอร์กที่ชื่อ "อินเทลเลก พิกเจอร์ส" ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้คอยจัดทำเครือข่ายเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ แต่บริษัทที่ว่านี้ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกว่าเป็นของปลอมและดูลวงตามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะบริษัทนี้ไม่มีระบุในรายชื่อบริษัทในสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในที่อื่นๆ เลย ในเว็บไซต์ก็มีการนำเสนอประวัติปลอมๆ ของลูกจ้างที่หลายครั้งก็ซ้ำซ้อนกันเอง มีบางส่วนที่ไปขโมยมาจากเว็บฐานข้อมูลภาพยนตร์ IMDB ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มีคนที่ชื่อ "อเล็ก เดวิดสัน" ในรายชื่อผู้ก่อตั้งบริษัท "อินเทลเลก พิกเจอร์ส" ด้วย

Denik N สืบทราบพบว่าเทศกาลภาพยนตร์ปลอมนี้จัดขึ้นโดยหวังเจี๋ยและตัวกลางก็คือ "อเล็ก เดวิดสัน" นี้เอง "อเล็ก" อ้างว่าเขาอาศัยอยู่ในแคนาดาและเป็นคนเดียวกับอเล็กคนที่บรรยายในภาพยนตร์ Spring แต่น่าแปลกที่โปรไฟล์ WhatsApp ของเขาเขื่อมโยงกับเลขโทรศัพท์ของประเทศรัสเซียและระบุชื่อตัวเองว่า "เซอร์กี" เขาปฏิเสธจะพูดถึงข้อมูลที่ขัดแย้งกันนี้ต่อสื่อ Denik N

พอไชน่ามีเดียเป็นฝ่ายไปสัมภาษณ์ "อเล็ก" เขาก็เปลี่ยนเรื่องเล่าใหม่ทันทีโดยอ้างว่าเขาเรียกตัวเองว่า "เซอร์กี" แล้วบอกว่าอเล็ก เดวิดสัน เป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมงานของเขาในอินเทลเลก พิกเจอร์ส เท่านั้นเอง

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามบริษัทของอเล็ก/เซอร์กี และของหวังต่างก็มีลักษณะทำปลอม โดยที่เคยมีคนถูกหลอกจากพวกเขาเหล่านี้มาแล้ว นั่นคือกรณีของ จอย ตง ผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์เล็กๆ ในออสเตรเลีย เคยได้รับเชิญทางอีเมลให้ไปร่วมงานอีเวนต์ที่จัดโดยบริษัทของหวังและอเล็ก/เซอร์กีที่หอคอยทรัมป์ในนิวยอร์กและอ้างว่าจะได้กระทบไหล่ผู้สร้างภาพยนตร์และได้รับชมภาพยนตร์ แต่เมื่อเธอเดินทางไปถึงสหรัฐฯ เพื่อหวังจะร่วมงานนี้ผู้จัดงานกลับไม่ได้ปรากฏตัวมาพบกับพวกเขาเลย ทำให้ตงและคนทำภาพยนตร์ที่คนหนึ่งที่เดินทางไปกับเธอมองว่ามัน "ช่างน่าประหลาด"

และนี้ก็เป็นเรื่องราวของภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่อ้างตัวว่าได้รับรางวัลจากงานเทศกาลปลอม ที่ยังคงมีเบื้องลึกเบื้องหลังน่าสงสัย และมีอะไรไม่โปร่งใสอยู่อีกมาก เช่นขาดความชัดเจนว่าภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อหลายเรื่องเหล่านี้ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนทางการจีน มีใครเป็นผู้ผลิตและให้ทุนกันแน่ อีกทั้อีเมลที่ระบุไว้ในงานแถลงข่าวภาพยนตร์ของพวกเขาก็ไม่มีอยู่จริงด้วย

ทำให้ไชน่ามีเดียมองว่าความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ มันเป็นการพยายามโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนโดยที่พยายามทำให้ดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐบาล ซึ่งมีกรณีอื่นนอกเหนือจากกรณีภาพยนตร์ที่จีนที่กระทำเช่นนี้ แต่มันก็มีการถูกวิจารณ์โดยนักวิชาการในจีนเองอยู่เหมือนกันว่าเป็นการพยายามโฆษณาตัวเองต่อภายนอกแท้ๆ แต่ทำเหมือนให้คนในดูกันเอง เพราะความชาตินิยมจัดเกินไป และการพยายามเอาใจผู้นำระดับสูงอย่างสีจิ้นผิงที่ชื่นชอบการสร้างภาพลักษณ์สุดกู่แบบนี้มากเกินไป สุดท้ายแล้วหรือความพยายามสร้างภาพต่อสายตาชาวโลกแบบนี้จะกลับกลายเป็นแค่ความทะเล่อทะล่าที่ส่งกลิ่นตุๆ เต็มไปด้วยความน่าสงสัยกันแน่

เรียบเรียงจาก : 

Unknown awards and screenings at a fake festival: How four films tried to tell China’s story, Hong Kong Free Press, 28-08-2022 https://hongkongfp.com/2022/08/28/unknown-awards-and-screenings-at-a-fake-festival-how-four-films-tried-to-tell-chinas-story/

China responsible for ‘serious human rights violations’ in Xinjiang province: UN human rights report, UN, 31-08-2022 https://news.un.org/en/story/2022/08/1125932

เว็บไซต์ "เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปราก" https://praguefilmfest.com/contact-us

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, การเมือง, วัฒนธรรม, ภาพยนตร์, เทศกาลภาพยนตร์, โฆษณาชวนเชื่อ, การต้มตุ๋น, จีน, พรรคคอมมิวนิสต์จีน, ฮ่องกง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท