Skip to main content
sharethis

สถาบันอาชีวภาคกลาง 3 จัดสัมมนา “ภาษาจีน+ทักษะอาชีพ” ยกระดับความรู้นักเรียน-นักศึกษาในพื้นที่

นายศิริ จันบำรุง ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 พร้อมด้วย น.ส.วรรณา ลอลือเลิศ กรรมการผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา “ภาษาจีน+ทักษะอาชีพ” ระหว่างศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีน ณ นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพ ยกระดับมาตรฐานทางด้านการเรียนการสอน รวมทั้งการฝึกอาชีพในสถานประกอบการด้วยการส่งเสริมการทำงานด้านวิชาการ งานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ เพื่อให้มีความสามารถด้านเทคโนโลยี

ตลอดจนยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างหน่วยงานทางการศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ได้ลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพ ยกระดับมาตรฐานทางด้านการเรียนการสอน และการฝึกอาชีพในสถานประกอบการให้มีความสอดคล้องกับภาวะการณ์ในปัจจุบัน

ขณะที่ศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ CLEC ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการศึกษาภาษาจีน ให้ความร่วมมือในการอบรมภาษาจีนให้หน่วยงานต่างๆ ด้วยการส่งครูสอนภาษาจีนเข้ามาช่วยสอนที่ประเทศไทยปีละกว่าพันคน

และภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนาแล้ว ยังมีการเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 และโรงงาน MLT ซึ่งเป็นฐานการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต แต่ยังควบคุมคุณภาพด้วยผู้เชี่ยวชาญทุกขั้นตอนอีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/10/2565

สคช.-IOM จับมือ โรงแรมเดอะสุโกศล เร่งยกระดับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้เป็นแม่บ้านในโรงแรมมืออาชีพ พร้อมให้บริการรองรับนักท่องเที่ยว

นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการอบรมเตรียมความพร้อมความรู้ในอาชีพก่อนการประเมินสมรรถนะฯ อาชีพแม่บ้านในโรงแรม ระดับ 1 ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) กับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติ อาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) ของโรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ และได้รับการรับรองด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมี ผศ.วริษฐา แก่นสานสันติ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการโรงแรม โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ พร้อมด้วยนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมเครือสุโกศล และผู้แทนจาก IOM ร่วมในงาน

นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า หลังมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวสถานประกอบการโรงแรม ที่พัก มีความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแผนกแม่บ้านและพนักงานทำความสะอาดมากขึ้น ส่งผลให้กำลังแรงงานของประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง จะมีการเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก กลุ่มแรงงานข้ามชาติจะเป็นกำลังสำคัญ ที่จะส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมดำเนินไปอย่างราบรื่น ดังนั้น การเพิ่มความรู้ และทักษะที่จำเป็น จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทำงานได้อย่างมีมาตรฐานที่สากลให้การยอมรับ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ของสถาบันฯ อีกด้วย

นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดอบรมว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นการขยายผลการดำเนินงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ภายใต้แนวทางการทำงานเพื่อให้บริการตอบสนองความต้องการพัฒนายกระดับกำลังแรงงานในสถานประกอบการ (Service Provider) ซึ่งสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับโรงแรมเดอะสุโกศล จัดการอบรมให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในโรงแรมที่เป็นแรงงานข้ามชาติในอาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแม่บ้านโรงแรมที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกจะได้รับความรู้ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องในอาชีพ ตั้งแต่ การอ่านคำสั่งพื้นฐาน การทำตามคำสั่งภาษาอังกฤษ การปรับตัวการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำความสะอาดอุปกรณ์ การให้บริการแผนกซักรีด และการจัดเตรียมห้องพัก เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ต่อยอดแม่บ้านของโรงแรมเดอะสุโกศล สร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เสริมสร้างศักยภาพในการประกอบอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมเครือสุโกศล กล่าวว่า ห้องพักถือเป็นหน้าตาที่สำคัญของโรงแรม และพนักงานที่เป็นแม่บ้านโรงแรมเป็นทีมงานเบื้องหลังการดูแลความสะอาดเรียบร้อยของห้องพักในทุกๆ โรงแรมให้เป็นมาตรฐาน และการที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ IOM มีโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการฝึกอบรมการทำงานตามมาตรฐานอาชีพและได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งในโรงแรมเดอะสุโกศลมีพนักงานผู้ปฏิบัติงานเป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ร่วม 15 ชีวิตนั้น เป็นโอกาสอันดีที่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในสถานประกอบการอย่างถูกกฎหมายได้รับการพัฒนา มีคุณวุฒิวิชาชีพที่จะเปิดโอกาสความก้าวหน้าต่อไปได้ ต้องขอขอบคุณสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้ริเริ่มการพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติในธุรกิจโรงแรมในครั้งนี้ด้วย

โครงการความร่วมมือนี้ ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการบรรเทาความยากจนผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ปกติของกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย (Poverty reduction through Safe Migration, Skill Development and Enhanced Job Placement in Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand (PROMISE)) เน้นการช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม และสร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายต่อไป โดยโครงการได้รับการสนับสนุน ด้านงบประมาณจาก Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงแรงงานย้ายถิ่นและการลดความยากจนในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการจ้างงานและการพัฒนาทักษะแรงงาน เข้าถึงการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณวุฒิที่เป็นทางการที่มีความเทียบเท่ากับคุณวุฒิทางการศึกษา รวมถึงการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานที่มีจริยธรรม เพื่อสร้างโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่การโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและการจ้างงานที่มีคุณค่า ได้รับการรับรองทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงานที่สั่งสมเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง ให้ได้รับเป็นการรับรองมาตรฐานอาชีพ และการได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะสามารถเป็นเครื่องยืนยันความสามารถในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เป็นมืออาชีพในการทำงานอย่างแท้จริง

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 12/10/2565

ก.แรงงาน เร่งตามเงินประกัน ธ.ก.ส. จ่ายเข้าบัญชีแรงงานเก็บเบอร์รี่สัปดาห์หน้า

12 ต.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากนายธีรศักดิ์ ภักดีนพรัตน์ ชาว จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นตัวแทนที่พาคนงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ 22 คน และที่สวีเดน 27 คน รวมทั้งสิ้น 49 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.แรงงาน เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ 3 ประเด็น คือ 1.ให้นำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศไปจ่ายให้คนงานคนละ 30,000 บาท 2.กกจ. ในฐานะหน่วยที่จัดส่งการส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ ควรกำกับดูแลบริษัทไม่ให้หลอกลวงคนงาน และควบคุมจำนวนแรงงานที่ส่งไปไม่ให้มากเกินความเป็นจริง เพราะทำให้แรงงานมีรายได้กลับมาน้อย 3. ติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากบริษัท อาร์กติก

นายสุรชัย กล่าวว่า ตามข้อเรียกร้อง ทางกกจ.ขอชี้แจงว่าในประเด็นที่ 1 กกจ.ไม่สามารถนำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศมาจ่ายให้กับคนงานได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ แต่ในการจัดส่งแรงงานไปฟินแลนด์ บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยต้องมีการวางเงินประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยคนละ 30,240 บาท โดยวางหลักประกันการเดินทาง (Bank Guarantee) ไว้กับธนาคาร ธ.ก.ส. ซึ่งสามารถนำมาจ่ายให้กับคนงานที่มีรายได้ไม่ถึงจำนวนเงินประกันรายได้ ประเด็นที่ 2 เรื่องที่บริษัทได้โควตาคนงานเดินทางไปเป็นจำนวนมากนั้น เรื่องนี้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ ประเทศปลายทาง กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล ถึงจำนวนแรงงานที่ต้องจัดส่ง โดยในปีนี้ ประเทศต้นทางมีการร้องขอให้ไทยจัดส่งแรงงานมากขึ้น ด้วยเหตุที่ปีนี้ไม่มีแรงงานจากยูเครนเข้าไปเก็บผลไม้ป่า ประเด็นที่ 3 เรื่องค่าจ้างค้างจ่าย ขณะนี้ทางสถานทูตที่ฟินแลนด์กำลังติดตาม ขณะที่ กกจ.ก็ได้ติดตามบริษัทผู้ประสานงานฝ่ายไทยที่ส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากการแบ่งกลุ่มซักถามข้อมูล ในส่วนของคนงานที่ไปทำงานที่ฟินแลนด์ ได้มีการเจรจากับตัวแทนผู้ประสานฝ่ายไทย ได้ข้อตกลงว่า กกจ.จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือนำเงินที่ทางบริษัทวางเป็นหลักประกันไว้ที่ ธ.ก.ส. นำมาชดเชยจ่ายให้กับแรงงานแต่ละคน ตามข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงโดยจะโอนเข้าบัญชีให้ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับกรณีคนงานที่ไปทำงานที่สวีเดน สหภาพแรงงานของสวีเดนได้มีเงินประกันรายได้ให้คนงานคนละ 24,000 โครน คิดเป็นเงินไทยกว่า 80,000 บาท กระทรวงแรงงานจะเร่งติดตามนำเงินในส่วนนี้ มาชดเชยให้กับแรงงานที่ได้รับรายได้ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ทั้งนี้ แรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งเรื่องรายได้ สวัสดิการ ความเป็นอยู่ สามารถยื่นคำร้องเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดในพื้นที่จังหวัดที่อาศัยอยู่ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ด้านนายธีรศักดิ์ ภักดีนพรัตน์ ชาว จ.อุดรธานี ตัวแทนคนงานเก็บเบอร์รี่ที่มายื่นหนังสือ กล่าวว่า วันนี้เข้าใจและพอใจประเด็นต่างๆ ที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ อธิบายให้ฟัง ในเรื่องของเงินประกันรายได้ โควตาการจัดส่ง และค่าจ้างค้างจ่าย และอธิบดี กกจ.ก็ได้รับปากว่าจะเร่งนำเงินที่บริษัทวางเป็นหลักประกันรายได้ไว้ที่ธนาคาร ธ.ก.ส.มาจ่ายให้กับคนงานภายในวันสัปดาห์หน้า ตนจึงขอขอบคุณกระทรวงแรงงาน ที่เป็นที่พึ่งของแรงงานได้อย่างแท้จริง

ที่มา: เดลินิวส์, 12/10/2565

เตือนภัยนายหน้าเถื่อนใช้โซเชียลหลอกทำงานผิด กม.ในยูเออี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ว่า มีผู้เสียหายจากกรณีถูกสาย-นายหน้าเถื่อน โฆษณาชักชวนไปทำงานในยูเออีทางสื่อออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชักชวนผ่านการแชท เพื่อให้ไปทำงานในตำแหน่งนวดสปา นวดแอบแฝงค้าบริการ โดยอ้างว่ามีรายได้ดี ค่าจ้างเดือนละ 50,000-100,000 บาท และจะเป็นผู้จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมทั้งจะออกค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่าท่องเที่ยว ค่าหนังสือเดินทาง และค่าที่พัก ให้ก่อน เมื่อผู้เสียคนหายหลงเชื่อ ตกลงเดินทาง สาย-นายหน้าเถื่อนจะเป็นคนจัดการเรื่องการเดินทาง ให้ลบข้อความแชทเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ เมื่อเดินทางไปถึงจะถูกให้เซ็นสัญญาการรับสภาพหนี้ และพาไปทำงานอื่นที่ไม่ได้ตกลงไว้ อาทิ งานในร้านนวดที่มีการลักลอบขายบริการทางเพศ งานด้านการพนันออนไลน์ ระหว่างนี้จะยึดหนังสือเดินทางไว้เพื่อไม่ให้เหยื่อหนี ซึ่งการโฆษณารับสมัครงานดังกล่าว เป็นโฆษณาชักชวนคนไทยให้เดินทางเข้ามาทำงานในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย มีหญิงไทยตกเป็นเหยื่อถูกบังคับค้าประเวณี และขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนมาก

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในยูเออีอย่างยิ่ง โดยเน้นย้ำมาตลอดว่าแต่ละประเทศมีกฎหมาย ไปทำงานประเทศใดต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายประเทศนั้นอย่างเคร่งครัด กรณียูเออีนั้น มีกฎหมายที่เข้มงวดและรุนแรง ซึ่งการค้าประเวณีถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับหรือตามที่ศาลพิจารณาและจะถูกเนรเทศ ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เคยนิ่งนอนใจได้สั่งการกรมการจัดหางาน (กกจ.) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบเดินทาง และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนหางานในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ทันเล่ห์กลของสาย-นายหน้าเถื่อน สามารถช่วยสอดส่องผู้มีพฤติการณ์น่าสงสัยที่เข้ามาหลอกลวงคนในชุมชน และแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ.กล่าวว่า ขอให้คนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศ ทำความเข้าใจว่าหากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์ชักชวนให้ทำงานผิดกฎหมาย แนะนำให้ลักลอบเข้าประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงานต่างประเทศกับ กกจ. ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีการตรวจสอบการเดินทางของนักท่องเที่ยวคนไทย โดยให้แสดงเอกสารหลักฐาน เช่น ตั๋วเครื่องบินขากลับ การจองที่พักในยูเออี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยูเออี มีความเข้มงวดอย่างมากในการจับกุมผู้ใช้วีซ่าผิดประเภทเพื่อลักลอบทำงานผิดกฎหมาย และผู้ถือวีซ่าหมดอายุ โดยกรณีผู้ที่เดินทางเข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าเยี่ยมเยือน และลักลอบทำงานมีโทษปรับ 50,000 ดีแรห์ม หากกระทำผิดซ้ำจะถูกปรับ 2 เท่า และถูกเนรเทศ หากไม่มีเงินค่าปรับ ต้องจำคุกแทนค่าปรับวันละ 100 ดีแรห์ม กรณีอยู่เกินวีซ่า (Overstay) จะโดนปรับวันแรก 200 ดีแรห์ม และวันต่อไปวันละ 100 ดีแรห์ม และค่าธรรมเนียมอีก 100 ดีแรห์ม (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 28 กันยายน 2565 : 1 ดีแรห์ม เท่ากับ 10.44 บาท) นอกจากนี้ การค้าประเวณีในยูเออีมีโทษจำคุกอย่างน้อย 2 เดือน ถูกปรับหรือตามที่ศาลพิจารณาและถูกเนรเทศ

“การลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง การไม่ได้เงินเดือนและไม่ได้ทำงานตามข้อตกลง โดยเฉพาะในยูเออีที่หน่วยงานภาครัฐไม่มีอำนาจในการให้ความช่วยเหลือในเคหสถาน ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับแจ้งความและให้ความช่วยเหลือเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ร้องทุกข์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการแจ้งความ เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุม เนื่องจากเดินทางเข้ามาโดยวีซ่าท่องเที่ยวและลักลอบทำงาน อย่างไรก็ตาม หากถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย หรือเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนเอง ขอให้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที หรือขอความช่วยเหลือโดยกดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน (999) หรือเฟซบุ๊กตำรวจดูไบ Dubai Police” นายไพโรจน์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/10/2565

แรงงานเมียนมาครึ่งร้อย ถูกหลอกจ่ายค่านายหน้า ปล่อยลอยแพอยู่ในอาคารร้างนานครึ่งเดือน

11 ต.ค. 2565 เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.เขียงราย ฉก.ม.2 กองกำลังผาเมือง ทหารกอง 3 ศรภ.บก.ทท.หน่วยข่าวกรองทหาร กองกำลังผาเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านดู่ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเชียงราย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จ.เชียงราย แรงงางน จ.เชียงราย และสำนักงานจัดหางาน จ.เชียงราย ภายใต้การอำนวยการของ พ.อ. กิตติพล ไพรหิรัญ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.ฉก.ม.2 พ.ต.อ.พีรพัฒน์ บุญพุทธ ผกก.สภ.บ้านดู่ พ.ต.อ.เขมชาติ วัฒนนภาเกษม ผกก.ตม.จว.เชียงราย นำกำลังเข้าไปตรวจสอบที่อาคารร้างแห่งหนึ่งไม่มีเลขที่ พื้นที่หมู่บ้านป่ารวก หมู่ 10 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย หลังจากสืบทราบว่ามี ชาวเมียนมาจำนวนมาก ซุกซ่อนอยู่

จากการตรวจสอบพบว่าที่ด้านล่างของอาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จมีชาวต่างด้าวสัญชาติเมียนมาจำนวน 49 คน เป็นชายจำนวน 36 คน และหญิงจำนวน 13 คน โดยทั้งหมดให้การว่ากำลังรอไปทำงานเพราะมีนายจ้างพาไปพักอยู่บริเวณดังกล่าวเพื่อรอทำเอกสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่พบ นายจ้างและคนนำพา จากการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดไม่พบว่าได้จดทะเบียนในระบบ Name List ของกรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งเทศบาล ต.นางแล ไปทำการตรวจร่างกายพบมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาด้วยจำนวน 8 คน จึงแยกตัวออกไปทำการรักษา และนำตัวได้ดำเนินคดีกับคนทั้งหมดต่อตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.เชียงราย และ สภ.บ้านดู่ ในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่ยังไม่ดำเนินคดีในข้อหาเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเนื่องจากทั้งหมดยังไม่ได้ทำงานและไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยได้นำตัวไปฝากขังที่ไว้ที่ ร้อย.อส.อ.เมืองเชียงราย

โดยทั้งหมดให้การว่าได้ลักลอบเดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา แล้วเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยจ่ายเงินให้นายหน้าคนละ 20,000-30,000 บาท โดยนายหน้าอ้างว่าจะพาไปทำงานที่ จ.เชียงใหม่ แล้วจะทำเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ต เอกสารการทำงานในประเทศไทย ให้เรียบร้อย แต่ต่อมาทั้งหมดกลับถูกส่งไปอยู่ที่อาคารร้างดังกล่าวโดยไม่มีงานทำเลยเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว คาดว่าถูกหลอก จึงได้ประสานร้องทุกข์ไปยังศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ให้นำข้าวปลาอาหารไปให้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ

ที่มา: บ้านเมือง, 11/10/2565

จับคนขับรถชน พนง.กวาดถนน กทม. แล้ว รับสารภาพขณะเกิดเหตุก้มดูโทรศัพท์มือถือ

10 ต.ค. 2565 กรณีนางสมศรี ยิ้มแฉล้ม ลูกจ้างพนักงานรักษาความสะอาด สังกัดสำนักงานเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร เสียชีวิตริมทางถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก ล่าสุดตำรวจนครบาลบางชัน สามารถจับผู้ก่อเหตุขับรถกระบะเฉี่ยวชนแล้ว หลังจากที่มีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ระบุว่า เป็นรถยนต์คันที่ก่อเหตุขับชนนางสมศรี

จากการตรวจสอบพบว่ารถคันนี้มีนายอรรคพล นิมะ เป็นผู้ขับขี่ ตำรวจจึงคุมตัวจากบ้านพัก ในซอยราษฎร์พัฒนา 30 เขตสะพานสูงมาสอบสวน

พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 กล่าวว่า ผู้ก่อเหตุรับสารภาพว่า ขณะเกิดเหตุก้มลงดูโทรศัพท์มือถือ แต่อ้างว่าไม่แน่ใจว่าขับรถเฉี่ยวชนสิ่งใดเพราะมองไม่เห็น

คดีนี้ตำรวจพบไฟตัดหมอก ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงสืบสวนขยายผลจากหลักฐานชิ้นนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความเสียหายที่พบจากของรถยนต์กระบะที่ยึดได้

ส่วนการตรวจสอบร่างกายไม่พบสารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นเสียชีวิต และไม่หยุดช่วยเหลือแจ้งเหตุ รวมทั้งจะพิจารณา แจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่รถยนต์

สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นพนักงานรักษาความสะอาดของเขตสะพานสูงใกล้เกษียณแล้ว มาปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับเพื่อนร่วมงานในเวลา 04.00 น.ของทุกวัน โดยเดินไกวาดขยะริมทางคู่ขนาน

แต่ปรากฏว่าระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้น เพื่อนร่วมงานเห็นผิดสังเกตว่า ผู้เสียชีวิต ไม่ได้กวาดถนนตามมาเป็นแถว เมื่อเดินย้อนกลับไปสำรวจจึงพบร่างของนางสมศรี ตกลงไปในสวนข้างทาง ลึกเข้าไปจากริมถนนประมาณ 5 เมตร

ที่มา: Thai PBS, 10/10/2565

"ประกันสังคม" เร่งช่วยเหลือครอบครัว "เหยื่อกราดยิง"

จากเหตุคนร้าย "กราดยิง" ประชาชนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 "นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์" ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้ เรืออากาศเอกหญิงศุภพร อยู่วัฒนา ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายนับแต่เกิดเหตุการณ์ โดยมีนางทิพย์วรรณ แตงร่ม ประกันสังคมจังหวัดหนองบัวลำภู

พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ในส่วนของ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มอบสิทธิประโยชน์ให้กับทายาทลูกจ้าง อบต.อุทัยสวรรค์ ที่เสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน จำนวน 2 ราย เป็นเงินรวม 2,298,031 บาท และมอบสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพคืนแก่ทายาทผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนจำนวน 5 ราย เป็นเงิน จำนวน 127,524 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,425,555 บาท

นอกจากนี้ ยังมีน้ำใจจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ที่ได้รวบรวมกันเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบเหตุ ครอบครัวละ 5000 บาท จำนวน 32 ครอบครัว เป็นจำนวนเงินรวม 160,000 บาท เรืออากาศเอกหญิงศุภพร อยู่วัฒนา ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงแรงงาน มอบเงินช่วยเหลือดังกล่าว

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตนได้มอบผู้ตรวจราชการกรมและทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดต่อทายาทเพื่อเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือตามสิทธิ์กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม รวมทั้งยังได้รับความเมตตาจากท่านปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้เป็นหลักในการรวบรวมเงินช่วยเหลือจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงาน ได้เงินจำนวนถึง 160,000 บาท เพื่อช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายดังกล่าว

หลังจากนี้ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ยังจะอยู่เคียงข้างครอบครัวผู้ประกันตนและประชาชนผู้ประสบเหตุ โดยมีการวางแผนจะลงพื้นที่เพื่อเป็นเพื่อนรับฟังรวมทั้งจะให้คำแนะนำการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อหากมีเหตุที่ไม่คาดคิดก็จะยังมีสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานคอยดูแลช่วยเหลือต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/10/2565

เผย 10 พ.ค.-29 ก.ย. 2565 แรงงานเมียนมาข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมา เข้ามาทำงานในไทยรวมแล้วกว่า 56,000 คน

นายโมโจ ผู้ประสานงานแรงงานเมียนมา ในพื้นที่ชายแดน จ.ตาก บอกกับบีบีซีไทยว่า ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2565 จนถึงวันที่ 29 ก.ย. 2565 มีแรงงานเมียนมาในระบบเอ็มโอยู เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวน 56,000 คน และเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆในขณะนี้

แรงงานเมียนมาที่เข้ามาเพราะปัญหาการว่างงาน ปัญหาเศรษฐกิจ และความไม่สงบในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่เมืองสกายกับพะโค ที่กลุ่มพีดีเอฟหรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา มีอิทธิพลในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้ชาวเมียนมาที่ไม่อยากอยู่ในประเทศ สามารถเดินทางออกมาขายแรงงานในต่างแดนได้ โดยมีจุดหมายที่ไทยและมาเลเซีย

ขณะที่เจ้าหน้าที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก บอกกับบีบีซีไทยว่า ตัวเลขแรงงานเมียนมา ณ ปัจจุบัน ยังเทียบไม่ได้กับช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 โดยในช่วงนั้น มีแรงงานเมียนมาในระบบเอ็มโอยูทะลักเข้าไทยกว่า 600,000 คน อย่างไรก็ตามทางสภาอุตฯ จังหวัดเชื่อว่าตัวเลขในปัจจุบันจะขยับขึ้นเรื่อย ๆ หลังรัฐบาลไทยผ่อนคลายมาตรการตามแนวชายแดน

ที่มา: BBC Thai, 8/10/2565

วงเสวนาถอดบทเรียน แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิแรงงาน-ละเมิดทางเพศ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และโครงการเพื่อหญิงย้ายถิ่นแม่สอดภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Safe & Fair และ UN Women Thailand ได้สัมมนาเรื่อง “บทเรียนและข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการเข้าถึงความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติที่ประสบความรุนแรง”

น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า จากข้อมูล พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบความรุนแรงในชีวิต ในประเทศไทย พบผู้หญิง 44% ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จัก และ 87 % ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้ขอความช่วยเหลือใดๆ และมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แรงงานหญิงข้ามชาติเป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกกระทำความรุนแรง และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ และยิ่งมีอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากปัญหาด้านภาษา และการไม่รู้สิทธิ อคติต่อแรงงานข้ามชาติ หรือสถานภาพการเข้าเมือง เป็นต้น การสัมมนาในวันนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย อันน่าจะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแก่แรงงานหญิงข้ามชาติตามหลักการสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติต่อไป

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 1ในผู้ร่วมอภิปราย กล่าวว่า รัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุต่างๆอาทิเชื้อชาติ สถานะของบุคคล จะกระทำมิได้ ดังนั้น สถานะการเข้าเมืองของผู้เสียหายในคดีอาญา จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขที่จำกัดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการเยียวยา และกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐอเมริกามีแนวปฎิบัตืที่จะทำให้ผู้เสียหายสบายใจที่จะเช้าแจ้งความ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับสถานะการเข้าเมืองของตน ประกอบด้วย 3 Don’t ได้แก่ 1) Don’t Ask ไม่ให้ตำรวจสอบถามผูเสียหายเรื่องสถานะการเข้าเมือง 2) Don’t tell ไม่ให้ตำรวจส่งต่อข้อมูลสถานะการเข้าเมืองแก่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง 3) Don’t Enforce ไม่ให้ตำรวจดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าเมืองกับผู้เสียหาย ซึงถิอเป็นข้อท้าทายในการดำเนินการสำหรับประเทศไทย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถิติการจับกุมคดีค้ามนุษย์ คดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กปี 2565 มีประมาณ 360 คดี มากกว่าการจับกุมตั้งแต่ปี 2561-2564 รวมกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป จะเน้นทั้งการป้องกัน และการปราบปราม โดยตำรวจและ อัยการ จะทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็จะทำงานร่วมด้วยเพื่อให้เกิดการเยียวยาที่เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี เพิ่มกระบวนการทำงานร่วมกันกับสหวิชาชีพ และล่ามในการคัดแยกเหยื่อด้วย โดยจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศให้ครบ 100% ภายในปี 2566 จากปัจจุบันที่อบรมไปได้ 17-18 % ในช่วงท้าย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ตอบข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม (NGO) ที่ต้องการให้ สตช. มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เรื่องการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องสถานะบุคคลของผู้เสียหาย ว่า เรื่องนี้กำลังดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างร่างระเบียบ

นางกุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า หากเป็นผู้พักพิงอยู่ใต้ชายคาเดียวกันไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือแรงงานต่างชาติ ถือว่าเป็นครอบครัว แรงงานข้ามชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแล ดังนั้นเราจึงร่วมกับยูเอ็น จัดทำระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติระดับชาติ เพื่อยุติและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเหตุฉุกเฉิน ต้องได้รับการช่วยเหลือก่อนค่อยมาว่ากันเรื่องของการเข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อไป

นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการดูแลสิทธิแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1111 กด 77, แอพพลิเคชั่น Justice Care และ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งจะช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทางกฎหมายฟรี และน่ายินดีที่เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเห็นชอบให้จ่ายเยียวยา แก่จำเลยในคดีอาญา โดยให้จ่ายกับแรงงานข้ามชาติที่เป็นเหยื่อถูกกระทำความรุนแรงที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ และเยียวยาให้กับแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นแพะในคดีความ ไม่ว่าจะเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายก็ตาม และหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จากเดิมที่ให้เฉพาะคนเข้าเมืองถูกกฎหมายเท่านั้น

นางสาวนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยราวๆ 2.2 ล้านคน ในแง่ของการคุ้มครองสิทธิแรงงานจะมีมาตรการเชิงรุก คือลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ โดยเฉพาะที่เสี่ยงจะละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ภาคเกษตร และประมง ปีที่ผ่านมามีการตรวจพบแรงงานข้ามชาติหญิงถูกละเมิดสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกว่า 2 หมื่นราย เช่น สิทธิวันหยุด วันลา ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดรับเรื่องร้องเรียนด้วย โดยไม่ดูว่าเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ หากถูกละเมิดก็จะคัดกรองระดับความเสียหาย และให้การช่วยเหลือก่อน จากนั้นค่อยว่ากันในเรื่องของความผิดหลบหนีเข้าเมือง

นพ.ปณิธาน รัตนสาลี รอง ผอ. กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เป็นการรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชนไปก่อน เรื่องค่ารักษา และอื่นๆค่อยมาว่ากันทีหลัง ซึ่งเมื่อมีเคสเข้ามาจะมีเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ทำการประเมิน และระหว่างรักษาก็จะร่วมกับสหวิชาชีพในการตรวจสอบข้อมูล ว่าหากรักษาหายแล้วจะสามารถกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัว หรือชุมชนได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำที่อาจจะรุนแรงขึ้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/10/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net