จับ 'ตำรวจ-เจ้าหน้าที่รัฐ' ขายข้อมูลคนไทยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตำรวจไซเบอร์ จับ “พ.ต.ท.” และเจ้าหน้าที่กระทรวงแห่งหนึ่ง ขายข้อมูลคนไทยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์นำไปหลอกลวง พบเงินบัญชีม้า โอนเข้า 20,000 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 600,000 บาท มีข้อมูลคนไทยถูกฉกไปขายแล้วกว่า 1,000 คน - ดีอีเอสเล็งสอยเจ้าหน้าที่รัฐผิด PDPA ลงโทษหนัก

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าจากปฏิบัติการ “เด็ดปีกมังกร” จับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 ราย เป็นกลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า 8 ราย กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าเพื่อส่งต่อให้นายทุนชาวจีน 1 ราย และกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 ราย โดยระบุว่าผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 รายดังกล่าว เป็นเจ้าที่รัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเข้าบัญชีของเจ้าที่รัฐทั้ง 2 รายอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทำมานานพอสมควร โดยมีข้อมูลของคนไทยถูกฉกไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 1,000 ข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย อยู่ในส่วนงานที่สามารถดูฐานข้อมูลของผู้เสียหายได้

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกจับรายแรก เป็นตำรวจยศ “พ.ต.ท.” พฤติการณ์ คือจะเข้ารหัสไปกดดูฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของผู้เสียหาย โดยพบว่าเข้าไปกดดูมากจนนับครั้งไม่ถ้วน

ส่วนรายที่ 2 มีรายงานว่า เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของกระทรวงแห่งหนึ่ง ผู้ต้องหารายนี้จะเข้าระบบไปล้วงข้อมูลการจดทะเบียนการค้า หรือตราธุรกิจของผู้เสียหาย ไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามจากทางตำรวจว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงดังกล่าว เป็นคนดูข้อมูลว่าเหยื่อว่ารายใดรวย มีทุนจดทะเบียนทางธุรกิจด้วยเงินจำนวนมากแล้วจึงค่อยนำข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช่หรือไม่ หรือว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตกเบ็ดเหยื่อได้ก่อนแล้วจึงค่อยมาซื้อข้อมูลของเหยื่อจากผู้ต้องหาในภายหลัง ซึ่งไม่ได้รับการยืนยันว่าขั้นตอนใดเกิดขึ้นก่อน-หลัง

โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย จะมีรายได้จากการขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน วันละ 20,000 บาท หรือเดือนละ 600,000 บาท ซึ่งทางธนาคารพบการเคลื่อนไหวของเงินจากบัญชีม้า เข้ามายังบัญชีของผู้ต้องหา จึงประสานตำรวจตรวจสอบ และนำไปสู่การจับกุมดังกล่าว

สำหรับผู้เสียหายรายล่าสุดที่ถูกฉกข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นหมอ อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำปลอมเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้วโทรแจ้งผู้เสียหายว่าทำความผิดคดีอาญาจะต้องถูกตรวจสอบเงินในบัญชี พร้อมส่งหมายจับปลอมที่มีภาพใบหน้าของผู้เสียหาย และข้อมูลทางธุรกิจไปให้ผู้เสียหายดู ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีม้าจำนวนกว่า 6,970,000 บาทก่อนจะมารู้ภายหลังว่าถูกหลอกแจ้งความออนไลน์เมื่อ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา

รวบ “ดาวเด่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์” หลอกเงินหมอสูญ 100 ล้าน

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 2 หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ PCT แถลงข่าวจับกุม นายชลวิชา หรือเบียร์ อายุ 32 ปี ฉายา “ดาวเด่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์” หลังก่อเหตุหลอกเป็นตำรวจระดับผู้กำกับการ สภ.เชียงราย หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน มูลค่าความเสียหายรวม 150 ล้านบาท ในผู้เสียหาย 3 คน

ในช่วงปี 2565 เริ่มต้นเดือนเมษายน หลอกลวงนางอำภา ข้าราชการครูเกษียณจำนวน 11 ล้านบาท เดือนกรกฎาคม นายชาญชัย นักลงทุนหุ้น จำนวน 41 ล้านบาท และรายล่าสุดต้นเดือนตุลาคม นางรัชณี แพทย์ จำนวน 101 ล้านบาท

โดยหลังเกิดเหตุตำรวจ PCT ได้สืบสวนสอบสวนจนพบหลักฐานว่า นายเบียร์ ถือเป็นผู้เชือด ที่หลอกลวงให้โอนเงินในขั้นตอนสุดท้าย และยังสืบทราบว่า นายเบียร์ ก่อเหตุอยู่ที่ตึกประตูดำ 8 หรือที่เรียกว่า ตึกประตูดำ เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา จึงวางแผนเปิดปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประตูดำ เมื่อ 17 ตุลาคม พบมีชาวไต้หวัน เป็นหัวหน้า ได้พาพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนไทย รวมถึงนายเบียร์ หลบหนีออกจากช่องทางลับกลับมาที่ไทย ก่อนที่ตำรวจ PCT จะติดตามจับกุมได้ที่อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา

เบื้องต้นนายเบียร์ให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ระบุว่า เริ่มต้นข้ามไปประเทศกัมพูชาทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อทำงานเป็นแอดมินเว็บพนัน ที่เมืองปอยเปต ตั้งแต่ปี 2564 ก่อนที่ปี 2565 จะย้ายมาทำงานที่ตึกประตูดำ และเริ่มอ้างเป็นผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย โดยทำมาได้สักระยะหนึ่งหัวหน้าชาวไต้หวันเห็นถึงความสามารถในการเชือด จึงเลื่อนขั้นจากพนักงานคอลเซ็นเตอร์สาย 2 เป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์สาย 3 ซึ่งเป็นคนปิดเคสให้โอนเงิน และทำรายได้จากการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินได้ 7-8 ล้านบาท และเคสใหญ่ 3 เคสในช่วงปีนี้

เบื้องต้นตำรวจดำเนินคดีข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น ร่วมกันอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร่วมกันฟอกเงิน 

ดีอีเอสเล็งสอยเจ้าหน้าที่รัฐผิด PDPA ลงโทษหนัก

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวถึงกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกำลังเข้าจับกุมแก๊งแอพพลิเคชั่นพนันออนไลน์ ชาวจีนกว่า 50 คน    และมีเม็ดเงินเข้าใช้บริการมากถึง 500 ล้านบาท  โดยขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกฝ่ายทั้งตำรวจไซเบอร์ ตำรวจนครบาล และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่เร่งรัด กวาดล้างปัญหาอาชญากรรม ทั้งอาชญากรรมออนไลน์ และสถานที่อโคจรต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เน้นย้ำ ให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศในห้วงของการประชุมเอเปค 2022

ในส่วนของกระทรวงดีอีเอส ได้ประชุมมีการประชุมติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางเร่งรัดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดแก้ปัญหา โดยเฉพาะการหลอกลวงทางการเงิน ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. แก๊ง Call Center 2. แชร์ลูกโซ่-ระดมทุนออนไลน์  3. การพนันออนไลน์ 4. บัญชีม้า  5. การหลอกหลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์  ซึ่งพบว่า คนร้ายมีการปรับรูปแบบและวิธีการหลอกหลวงประชาชน จนมีเหยื่อหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก  และมีการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง จากสถิติผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึง วันที่ 24 ตุลาคม 2565 ศาลมีคำสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดตาม  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้ว 184 คำสั่ง มี URLs ที่ผิดกฎหมายจำนวน  4,736 URLs 

นอกจากนี้ล่าสุดทางตำรวจยังมีการสอบสวนขยายผล กรณีแก๊ง Call Center พบเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นตัวการในการขายข้อมูลในระบบราชการของประชาชน  ซึ่งเรื่องนี้มีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือPDPA ของ กระทรวงดีอีเอสโดยตรง ฐานนำข้อมูลส่วนบุคคล ผู้อื่นไปขาย มีโทษอาญา จำคุก สูงสุด 1 ปี ต่อกรรม หากขายข้อมูล10คน ก็จะมีโทษถึง 10ปี  ถ้า100คนโทษก็จะเพิ่มขึ้นเป็น100ปี  

นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษอาญา จำคุก 2 ปีและหากขายข้อมูลจนทำให้เสียหายเป็นวงกว้าง ทางสังคมโทษ จำคุกสูงสุดถึง 7 ปี จึงขอเตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนบุคคลที่ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นๆได้ ให้ระวัง การกระทำที่ผิดกฎหมาย

นายชัยวุฒิเปิดเผยด้วยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับงานด้านนี้ ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสัปดาห์หน้าได้นัดประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้าเพื่อเร่งรัดการทำงาน ให้เป็นรูปธรรม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วย

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท