Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กระแสวิจารณ์ดารา นักร้องจัดอีเวนต์ขอบริจาคเงินจากประชาชนช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่อีเวนต์วิ่งการกุศลหาเงินช่วยโรงพยาบาลโดยตูน บอดี้สแลม เรื่อยมาถึง “หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ของ “โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ เป็นกระแสที่แรงมากขึ้นภายใต้วาทกรรม “นักบุญทุนชาวบ้าน” แม้ว่ายอดเงินบริจาคจะยังมากเกินคาด และแม้ว่าโตโน่เองจะยืนยันว่า ได้ใช้เงินตัวเอง 1 ล้าน กับสปอนเซอร์หรือผู้ใหญ่ใจดีช่วยอีก 1 ล้าน เป็นต้นทุนจัดอีเวนต์นี้ที่หาเงินช่วยโรงพยาบาลสองฝั่งโขงได้กว่า 60 ล้านบาท (ขณะที่เขียนบทความนี้ยอดยังไม่นิ่ง) ก็ไม่ทำให้กระแสวิจารณ์แผ่วลงแต่อย่างใด

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะวาทกรรมนักบุญทุนชาวบ้าน เป็น “วาทกรรมการเมืองวัฒนธรรม” ในสังคมไทยมายาวนาน ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่ฝ่ายประชาธิปไตยดิสเครดิตอีกฝ่ายหนึ่ง แต่วาทกกรรมนักบุญทุนชาวบ้านเป็นแบบแผนหรือประเพณีปฏิบัติกันอยู่จริงและมีมานาน ทว่าไม่เคยถูกตั้งคำถามและวิพากษ์อย่างจริงจัง

ในบ้านเราปัจจุบัน วาทกรรมนักบุญทุนชาวบ้านเป็นการเมืองวัฒนธรรมที่แยกไม่ออกจากการเมืองเชิงหลักการที่ถกเถียงในประเด็นพื้นฐานต่างๆ เช่น ประเด็นอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ผลประโยชน์ส่วนรวม ความเป็นประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิมนุษยชน การสร้างรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐประหารโดย “กลุ่มอำนาจเดียวกัน” ที่กระทำต่อเนื่องสองครั้ง เป็นชัยชนะของฝ่ายเผด็จการที่ใช้กองทัพ และการเมืองวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือหลัก

พูดให้เห็นภาพคือ หลังเกิดรัฐประหาร มีแกนนำม็อบที่มีดารา นักร้องบางส่วนร่วมด้วยช่วยกัน และพวกเขาแสดงความปีติยินดีชื่นชมหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นฮีโร่มาแก้ปัญหาประเทศ ต่อมาภายใต้การบริหารประเทศของผู้มีอำนาจจากรัฐประหาร ก็เกิดปรากฏการณ์อีเวนต์ดารา นักร้องขอบริจาคเงินช่วยหน่วยงานภาครัฐ ที่มีผู้นำรัฐบาลจากรัฐประหารออกมาชื่นชมดารา นักร้องที่ทำเช่นนั้นว่าเป็นฮีโร่ “ผู้ทำความดีเพื่อสังคม” ที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

กลายเป็นว่า การเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง การสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ และการทำความดีเพื่อสังคม มีสองแนวทางหลักคือ การทำรัฐประหารเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการจัดอีเวนต์ขอบริจาคช่วยภาครัฐ หรือการเก็บขยะ กวาดถนน ปลูกต้นไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่สอดคล้องไปกันได้กับแนวทาง “จิตอาสาพระราชทาน” เท่านั้น ส่วนการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรม รัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ซึ่งจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อสถานะและอำนาจสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่การเสียสละเพื่อชาติ และไม่ใช่การทำความดีเพื่อสังคม ไม่ใช่การสร้างความรัก สามัคคี แต่เป็นการสร้าง “ความแตกแยก” ดังนั้น คนที่สู้เพื่อหลักการและอุดมการณ์เหล่านี้ สมควรโดน 112 และต้องอยู่ในคุก หรือไม่ก็ต้องหนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ

ถ้ามองในมุมกว้าง การเมืองวัฒนธรรม ได้กลายเป็นกระแสของโลกสมัยใหม่ เมื่อมีการยกประเด็น “พหุวัฒนธรรม” เป็นประเด็นสาธารณะที่ทำให้ประเด็นอัตลักษณ์ทางศาสนา, วัฒนธรรม, ชาติพันธุ์ กลายเป็นประเด็นต่อสู้ทางการเมือง และเมื่อเน้นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้ประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศกับอัตลักษณ์ทางศาสนา วัฒนธรรมเป็นประเด็นต่อสู้ต่อรองทางการเมืองอย่างซับซ้อนมากขึ้น แต่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ประเด็นขัดแย้งของการเมืองวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ทางศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ทางเพศเป็นต้น ถูกกำหนดให้ต่อสู้ต่อรองกันตามกระบวนการประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักการพื้นฐานของการแบ่งปันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นคน และผลประโยชน์ส่วนรวมสู่กลุ่มต่างๆ และปัจเจกบุคคลทั้งหลายอย่างเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

แต่ในบ้านเรา “อำนาจนำในการเมืองวัฒนธรรม” ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมมายาวนาน ให้นึกถึงเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงชาติ “เพลงหนักแผ่นดิน” เพลงปลุกใจอื่นๆ เพลงสตริง เพลงเพื่อชีวิต เพลงลูกทุ่งที่กล่อมเกลาให้ผู้คนซาบซึ้งใน “พระบารมี” ของกษัตริย์ รักชาติ ศาสนา และเกลียดชังศัตรูของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้รู้รักสามัคคีภายใต้จิตสำนึกว่า “คนไทยทุกคนมีพ่อคนเดียวกัน” จนกระทั่งมาถึงเพลงขยะๆ อย่าง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน...” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานกวี งานเขียน ภาพยนตร์ ละครทีวี ละครเวที การแสดงศิลปวัฒนธรรม คำพูดของดารา คนดัง สื่อมวลชนที่ชี้นำโน้มน้าวให้ซาบซึ้งบุญคุณชนชั้นปกครอง ให้เชื่อว่ากษัตริย์สูงส่งศักดิ์สิทธิ์มีบุญญาธิการเหนือสามัญชนคนธรรมดา 

คำพูดของโตโน่ข้างล่างนี้คือผลพวงของการเติบโตมาจากการถูกปลูกฝังกล่อมเกลาภายใต้การเมืองวัฒนธรรมเช่นนั้น 

“ ผมไม่มีประโยชน์ฝ่ายใด ไม่เป็นสีใด ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มาเพราะรักชาติ ไม่เกลียดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเรามีพ่อคนเดียวกัน ก่อนที่จะมาพูดก็มีคนรู้จักมีคนห่วงใยเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน แต่ถ้าผมนอนอยู่บ้าน คิดว่ากระทบโฆษณา กระทบเรตติ้งของตัวเอง แล้วเมื่อใดประเทศไทยจะเจริญ และที่มาขึ้นเวทีแห่งนี้เพราะเห็นว่าเป็นเวทีประชาชนที่แท้จริง แต่จะให้ผมไปขึ้นเวทีเสื้อแดงผมก็ไป ” (ที่มา https://www.thepeople.co/read/culture/50541)

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ที่โตโน่พูดถึงการไปขึ้นเวที กปปส. ของเขา ซึ่งมีดารา คนดังไปขึ้นเวทีนี้กันเยอะในช่วงนั้น เป็นไปได้ว่าโตโน่อาจเชื่อจากใจจริงว่า เขา “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” แต่เนื้อหาที่เขาพูด เช่น “เรามีพ่อคนเดียวกัน” เป็นวาทกรรมการเมืองวัฒนธรรมของฝ่ายกษัตริย์นิยม และ “พลังความเชื่อ” ที่ทำให้เขาเสียสละหรือเสี่ยงต่อการเสียความนิยม คือ “ความรักชาติ” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ฝ่ายเสื้อเหลือง - กปปส. ปลุกเร้ามาตลอด ดังนั้น โดยความหมายของคำพูดที่เขาสื่อสารออกมา จึงบอกอย่างชัดแจ้งว่า เขามีความคิด ความเชื่อหรือศรัทธาที่สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกับฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือฝ่ายขวา ไม่ใช่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แม้จะบอกว่า “จะให้ผมไปขึ้นเวทีเสื้อแดงผมก็ไป” แต่ความจริงคือ เขาไม่เคยไปขึ้น อาจเพราะไม่มีเสื้อแดงเชิญไปขึ้น เนื่องจากความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน

แต่อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจได้ว่า ความคิดและพลังความเชื่อแบบโตโน่ (และคนชั้นกลาง คนดังอีกจำนวนมาก) คือ “ผลผลิต” ของการเมืองวัฒนธรรมภายใต้วาทกรรม “เรามีพ่อคนเดียวกัน” และชาติก็คือ “บ้านของพ่อ” ทีมงานจัดอีเวนต์ “หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ก็เก่งเรื่องดึงศาสนา วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นสองฝั่งโขงออกมาเป็นพลังดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นศรัทธาร่วมบริจาค คำพูดที่โตโน่เน้นมากคือ “อยากให้คนไทยรักกัน สามัคคีกัน อยากให้คนสองฝั่งโขงมีน้ำใจเอื้อเฟื้อกัน” ซึ่งเป็นเวิร์ดดิ้งแบบมาตรฐานที่ชนชั้นนำไทยใช้กันเป็นประเพณีมายาวนาน

แม้ยอดบริจาคที่สูงเกินคาดเหมือนจะสะท้อนว่า “คนไทยรักกัน สามัคคีกัน” แต่ในโลกโซเชียลกลับมีแต่ปรากฏการณ์ “โต้แย้งและด่ากัน” ระหว่างฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง อีกทั้งยังเกิด “เสียงแตก” ในบรรดาดารา หรือคนดังด้วยกันเอง ซึ่งสะท้อนการปะทะระหว่างการเมืองวัฒนธรรมกับการเมืองที่ยืนยันหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่แหลมคมมากขึ้น 

ฝ่ายการเมืองวัฒนธรรมชื่นชม “การทำดีเพื่อสังคม” ยกย่องคนทำดีเป็นฮีโร่ ขณะที่ฝ่ายการเมืองที่ยืนยันหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย เรียกร้อง “การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” และปฏิเสธกระแสนิยมการเมืองวัฒนธรรมที่เน้นฮีโร่นักบุญทุนชาวบ้าน

พูดโดยภาพรวมคือ เราอยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ของการเมืองวัฒนธรรมที่อ้างความดี ศีลธรรม คนดี ผู้มีบุญบารมีตามความเชื่อศาสนา และวัฒนธรรมความเป็นไทยกำลังปะทะกับการเมืองเบสิกที่ยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม กระบวนการประชาธิปไตย

บางคนพยายามแยกว่า อีเวนต์ขอบริจาคช่วยเหลือสังคม “ไม่เกี่ยวการเมือง” เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ใครถนัดทำความดีในเรื่องอะไรก็ทำกันเลย เพราะผู้ได้ประโยชน์คือประชาชน ส่วนการแก้ปัญหาโครงสร้างเป็นเรื่องของรัฐบาล 

แต่การแยกเช่นนั้นกลับไม่มีน้ำหนักให้คนคล้อยตามมากนัก เพราะ “ตัวละครเอก” ของอีเวนต์ เคยเป็นตัวละครในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของอีกฝ่าย ความคิด ความเชื่อที่ตัวละครเอกนำเสนอ และกระบวนการจัดกิจกรรมที่นำศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และสรรพกำลังภาครัฐมาประกอบสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” เพื่อดึงดูดศรัทธา ก็ยังเป็นความคิด ความเชื่อ และการประกอบสร้างที่มีเนื้อหาแบบเดียวประเพณีการประกอบสร้างการเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำฝ่ายขวาที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

อันที่จริงกระแสที่เรียกกันว่า “นักบุญทุนชาวบ้าน” ไม่ใช่ที่เห็นได้จากการจัดอีเวนต์ของดารา นักร้องเท่านั้น นักบุญทุนชาวบ้านก็คือกระแสหลักของการเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำไทยมาช้านาน เครื่องมือสำคัญหนึ่งในการสร้างการเมืองวัฒนธรรมเช่นนี้คือศาสนา เช่น “ชาดกเวสสันดร” คือตัวอย่างคลาสสิกของนักบุญทุนชาวบ้าน ไม่ว่าช้างคู่บ้านคู่เมือง ทรัพย์สินอื่นๆ กระทั่งลูกเมียล้วนเป็น “ทุน” ที่เวสสันดรนำมาใช้ “สร้างบุญบารมี” เพื่อบรรลุเป้าหมายทางจิตวิญญาณในอนาคตของตนเอง 

เราไม่เคยตั้งคำถามเลยด้วยซ้ำว่า ทำไม “การเสียสละคนอื่น” (ลูกเมีย) ของเวสสันดร จึงเป็นการเสียสละที่สูงส่งกว่า “การเสียสละตนเอง” ของลูกเมียเพื่อให้เวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีตามความเชื่อของตน 

เหมือนยอมรับกันโดยปริยายว่า การเสียสละทำความดีแบบเวสสันดร ก็เป็นแบบเดียวกับการที่กษัตริย์สละลูกเมียเพื่อรักษาอำนาจหรือราชสมบัติ นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมกษัตริย์ยุคก่อนจึงส่งเสริมการเทศน์มหาชาติ และความนิยมในเทศน์มหาชาติก็กลมกลืนไปกันได้ดีกับระบบสังคมศักดินา ไพร่ ทาส ที่กษัตริย์บริจาคข้าทาสให้วัด หรือพ่อแม่ขายลูกเป็นทาสขัดหนี้ และลูกก็ถูกกล่อมเกลาให้ยินยอมด้วยความกตัญญู เป็นต้น

ปัจจุบันแนวทางแบบสังคมสงเคราะห์ด้วยกิจกรรมการกุศล และด้วย “ถุงยังชีพพระราชทาน” ก็ดำเนินไปในแบบ “อัฐยายซื้อขนมยาย” มันคือเงินของทุกคน แต่มีบางคนที่ถูกยกย่องเป็นนักบุญ หรือเป็นผู้มีพระคุณเหนือหัวประชาชนผู้จ่ายภาษี แนวทางสังคมสงเคราะห์เช่นนี้ จึงเป็นการเมืองวัฒนธรรมที่เน้นการยึดติดตัวบุคคล และเอื้อประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สูงส่งเสียสละของชนชั้นปกครอง

บางคนอ้างว่า ประเทศที่เจริญแล้วก็มีกิจกรรมการกุศลหาเงินบริจาคช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็จริง แต่ดารา นักร้อง คนมีชื่อเสียงของประเทศเหล่านั้นนอกจากจะรณรงค์กิจกรรมการกุศลช่วยเหลือสังคมแล้ว เขายังออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรมทางสังคมด้วย และปฏิเสธหรือต่อต้านการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ ของประชาชน ไม่ใช่ใช้วาทกรรม “ทำดีๆ” โดยไม่ตระหนักว่า ที่แท้ความดีที่ตนเองทำนั้นเป็นความดีภายใต้กรอบความเชื่อที่สนับสนุนอิทธิพลครอบงำของการเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นปกครอง ที่เป็นอุสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริง

กล่าวโดยสรุป ความยากลำบากของการสร้างการเมืองที่ยืนยันหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยให้เป็นจริง หรือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล ระบบการศึกษา และอื่นๆ เพื่อสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการให้เป็นจริงไม่ได้ อุปสรรคสำคัญหนึ่งคือการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งมีกระแสนักบุญทุนชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเช่นนั้น

แน่นอนว่า การเมืองวัฒนธรรมไม่ใช่เพียงทำงานโดยแสดงออกผ่านกลไกอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจสื่อมวลชนเท่านั้น หากมันยังทำงานเงียบๆ อยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้คน ที่พร้อมจะถูกกระตุ้นให้กระพือพลังอำนาจทางความเชื่อและความคลั่งได้เสมอ

 

ที่มาภาพ: https://th-th.facebook.com/koytoonfamily/photos/a.1247989012012246/1248215371989610/?type=3 และ https://www.thansettakij.com/news/general-news/544664


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net