ศิลปิน-นศ. ยื่นหนังสือถึงอธิการบดี มช. ร้องสอบ อ. วิจิตรศิลป์ ฟ้อง 'นักวิจารณ์ศิลปะ' ไม่เป็นธรรม จงใจกลั่นแกล้ง ทำ มช. ล้าหลัง

กลุ่มนักปฏิบัติการและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นวป.) และนักศึกษา รวมตัวยื่นหนังสือถึงอธิการบดี มช. ร้องสอบพฤติกรรม “พงศ์ศิริ คิดดี” อาจารย์วิจิตรศิลป์ เหตุฟ้อง “นักวิจารณ์ศิลปะ” ที่วิจารณ์ผลงานตนเอง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 1,000,000 บาท ชี้ ไม่เป็นธรรม จงใจกลั่นแกล้ง ทำ มช. ล้าหลัง

7 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. ศิลปินในนามกลุ่มนักปฏิบัติการและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นวป.) รวมตัวกันที่หน้าตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือ “ร้องเรียนการประพฤติผิดอันมิชอบของ ผศ.ดร. พงศ์ศิริ คิดดี” ต่อศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังเกิดกรณีพงศ์ศิริ คิดดี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฟ้อง พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ (Content Creator) และนักวิจารณ์ศิลปะ เป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจำนวน 1,000,000 บาท

สาเหตุมาจากการที่พีรมณฑ์เขียนบทความเรื่อง “สมบัติชาติหรือสมบัติใคร ภาษีเรา รัฐเอาไปเปย์งานศิลป์อะไรเนี่ย ถามจริ๊ง” ลงในเว็บไซต์ way magazine และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ผลงานศิลปะของพงศ์ศิริ

โดยรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดี และ ดร.จิรวัฒน์ พัสระ ผู้ช่วยอธิการบดี มาเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือแทนอธิการบดี โดยให้เหตุผลว่า ไม่ควรพบอธิการบดี เนื่องจากไม่อยู่ในกำหนดการ แม้ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี จะเข้าประชุมอยู่ภายในคณะนิติศาสตร์ และเดินผ่านกลุ่มผู้ยื่นหนังสือเพื่อไปขึ้นรถก็ตาม

หลังจากนั้น ผู้ช่วยอธิการบดีจิรวัฒน์ยืนยันว่า รองอธิการบดีประเสริฐสามารถรับหนังสือแทนได้ ตัวแทนกลุ่มผู้ยื่นหนังสือจึงได้อ่านข้อเรียกร้องต่อทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในหนังสือให้นักศึกษาและประชาชนภายในบริเวณนั้นรับฟัง เนื้อหาระบุว่า การกระทำของอาจารย์พงศ์ศิริเป็นทำลายชื่อเสียงของคณะวิจิตรศิลป์ที่มีการเรียนการสอนให้นักศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานศิลปะ และเป็นการกล่าวโทษนักวิจารณ์ศิลปะอย่างไม่เป็นธรรม และจงใจกลั่นแกล้งเนื่องจากตัวของอาจารย์พงศ์ศิริซึ่งอยู่เชียงใหม่ได้เดินทางไปฟ้องพีรมณฑ์นักวิจารณ์ศิลปะซึ่งอยู่กรุงเทพ ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคณาจารย์ในคณะวิจิตรศิลป์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยรวม ทางกลุ่มจึงขอร้องเรียนให้อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของอาจารย์คนดังกล่าว

เบื้องต้นต่อคำถามที่ว่า ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะทำการตรวจสอบพฤติกรรมของอาจารย์พงศ์ศิริ คิดดี หรือไม่ รองอธิการบดีประเสริฐ ตอบว่า “ยังไม่มีดีเทล”

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(คนเสื้อสีขาว ด้านหน้า)

 

นลธวัช มะชัย ตัวแทนศิลปิน (คนกลาง)

ด้าน นลธวัช มะชัย ตัวแทนศิลปินที่มายื่นหนังสือ กล่าวว่า “เมื่อเราไปที่สำนักอธิการบดีแล้วทราบว่าอธิการบดีมาที่นี่ เราจึงตามมานี่ ด้วยความหวังว่าท่าน (อธิการบดี) จะได้รับรู้ว่าพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาคดีนี้ในศาล เรารอกันประมาณ 2 ชั่วโมง ท่านไม่มารับหนังสือ ท่านส่งตัวแทนมารับ โดยกระบวนการทำได้ แต่ว่าเราคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา เราคิดหวังในสิ่งนี้

ในฐานะศิษย์เก่าเรายิ่งเสียใจ เราอยู่ห่างจากท่านไม่ถึง 100 เมตร แต่ท่านไม่มาหาเรา

เราขอฝากติดตามว่า ตั้งแต่วันที่ 8 – 9 พ.ย. เป็นต้นไปผลการตัดสินคดีจะเป็นเช่นไร

แม้จะเป็นเรื่องของส่วนบุคคลของบุคลากรในมหาวิทยาลัย แต่การกระทำเช่นนี้ทำลายวงการศิลปะ ทำลายวงการวิชาการศิลปะซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับมหาวิทยาลัยที่จะต้องยืนยันเจตนารมณ์นี้ไว้

นั้นหมายความว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเงียบ เท่ากับว่ามหาวิทยาสนับสนุนให้พฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ภายใต้ชื่อของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เราจึงคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะให้เป็นบทเรียนและบรรทัดฐานว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์ในสังคมไทยควรจะก้าวหน้าไปกว่านี้ได้แล้ว ตอนนี้เรากำลังเป็นมหาวิทยาลัยที่สากลไม่ยอมรับ และล้าหลังตัวเอง”

พนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยที่มาสังเกตการณ์ขณะยื่นหนังสือ

 

เรื่อง ร้องเรียนการประพฤติผิดอันมิชอบของ ผศ.ดร. พงศ์ศิริ คิดดี

เรียน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ข้าพเจ้า ในนามของกลุ่มนักปฏิบัติการและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นวป) ผู้มีรายนามข้างท้ายจดหมายนี้ใครร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรม จรรยาบรรณและจริยธรรมของ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ คิดดี อาจารย์ประจําภาควิชาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์เนื่องจากมีความเห็นว่าพฤติกรรม ของอาจารย์ผู้นี้ทำลายชื่อเสียงของคณะวิจิตรศิลป์ที่มุ่งสู่การเป็นสถานศึกษาด้านศิลปะในระดับสากล ทั้งยังทําลาย บรรยากาศการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศและมุ่งสู่สากลในระดับนานาชาติและ ทำลาย ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยการกล่าวโทษนักวิจารณ์ศิลปะอย่างไม่เป็นธรรม จงใจกลั่นแกล้งผู้อ่อน อาวุโสกว่าด้วยวิธีทางกฎหมายอย่างน่าละอายใจในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ กลับถือโทษ กล่าวโทษต่อผู้วิจารณ์ ผลงานศิลปะด้วยความสุจริตใจ ดังจะได้ขยายความและชี้แจงเหตุผล ดังต่อไปนี้

ในประการแรกสืบเนื่องจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ คิดดี ได้กระทําการที่ทําลายบรรยากาศทางวิชาการและ วัฒนธรรมการวิจารณ์ในระนาบสากล ด้วยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวพีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ นักเขียนทางศิลปะ และผู้ปฏิบัติงานทางศิลปะวัฒนธรรมของ Gallery VER ถึงสองคดี

คดีแรก ฐานกระทําความผิดในคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทและกล่าวหา ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยระบุว่านางสาวพีรมณฑ์ได้เขียนบทความลงใน นิตยสาร Way Magazine เรื่อง “สมบัติชาติหรือสมบัติใคระ ภาษีเรา รัฐเอาไปเปย์ งานศิลป์อะไรเนี่ยถามจริง” และได้โพสต์ลงสื่อออนไลน์ โดยโจทก์ระบุว่าเนื้อหาในบทความ มีลักษณะของการพาดพิงและการวิพากษ์วิจารณ์งานศิลปะที่โจทก์เป็นคนสร้างสรรค์ขึ้น

คดีที่สอง ฐานะกระทําความผิดในคดีแพ่งในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๕ เป็นคดีสืบเนื่องมาจากคดีอาญา โดย ผศ.ดร. พงศ์ศิริ ผู้เป็นโจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากนางสาวพีรมณฑ์ทั้งสิ้น 9,000,000 บาทถ้วน ฐานละเมิด ต่อสิทธิ ชื่อเสียง และทางทํามาหาได้ของโจทก์

ในนามของกลุ่มนักปฏิบัติการและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นวป) ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมการวิจารณ์มีความเห็นต่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ คิดดี ดังต่อไปนี้

ประการแรก ในทางสากล วัฒนธรรมการวิจารณ์เป็นพื้นฐานของการคิดและการสร้างสรรค์ทางศิลปะ การวิจารณ์ถือเป็นหัวใจสําคัญของการส่งเสริมให้ศิลปะงอกงามอย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและ วัฒนธรรม การทํางานของนักเขียนทางศิลปะจึงเป็นดั่งการจุดไฟทางปัญญาให้สาธารณะชนได้ขบคิดต่อความ เปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างพลเมืองผู้ตื่นรู้ (active Citizen)

แต่ศิลปินซึ่งมีความชํานาญหรือประสบการณ์ยาวนานเพียงใด ก็ยังอาจมีบกพร่องที่มิอาจเห็นความ ผิดพลาด หรืออ่อนด้อยของตัวเอง จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจารณ์ศิลปะ ที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างและข้อบกพร่อง อันพึงมีของปุถุชน เพื่อทําให้ศิลปินได้ตระหนักและพัฒนาผลงานของตัวเอง การใช้ถ้อยคําและภาษาจึงมุ่งหวัง เพื่อให้ตัวศิลปินได้สําเหนียกในประเด็นนี้ อีกทั้งในการวิจารณ์ย่อมต้องสร้างเสริมอารมณ์ ชักจูงใจให้คล้อยตามถึง ข้อดี ข้อด้อย ข้อล้าหลังในตัวผลงานของศิลปิน ซึ่งเป็นธรรมชาติของการวิจารณ์ในระดับสากล ซึ่งอาจมีระดับของ การใช้ถ้อยคําที่ชวนให้ขบคิดหรือท้าทาย หรือกระทั่งทักท้วงถึงบทบาททางสังคม ทางวิชาการ ตลอดจนตัวผลงาน ของศิลปิน และเป็นเรื่องปกติธรรมดาของแวดวงศิลปะในระดับสากล หรือกระทั่งในประเทศไทยที่ผ่านมาไม่เคยมี การฟ้องร้องนักวิจารณ์ศิลปะเลย

นอกจากนี้ ในฐานะอาจารย์ที่ทรงภูมิความรู้และผ่านการอบรมขัดเกลาด้านศิลปะ ก็ย่อมรู้ว่าเมื่อศิลปิน สร้างสรรค์ผลงานแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของสาธารณชนที่จัดเป็นผู้ตัดสินว่าผลงานของศิลปิน ก้าวหน้า ล้าหลัง หรือไม่ พัฒนาในประเด็นใด อีกทั้งยังต้องพิจารณาว่า เมื่อศิลปินรับเอาเงินทุนจากงบประมาณอันเป็นเงินภาษีของ ประชาชนแล้ว สังคมยิ่งต้องเข้ามาตรวจสอบ และมีสิทธิท้วงติง ตั้งคําถามต่อศิลปินและตัวผลงานที่ใช้เงินภาษีอากรและในฐานะของอาจารย์ในสถานศึกษาขั้นอุดมศึกษา ย่อมต้องมีสัญชาตญาณในการให้อภัยมากกว่า ทําลายล้าง และไม่ถือโกรธเมื่อถูกวิจารณ์ อันเป็นวิสัยของบัณฑิตผู้ทรงธรรม และมีเมตตา หาใช้การแสดงอาการ โกรธเกรี้ยวและกลั่นแกล้งต่อผู้วิจารณ์โดยสุจริต ดังที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ คิดดี ได้กระทําการฟ้องร้อง ในทางอาญาและแพ่งต่อนางสาวพีรมณฑ์ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ศิลปะได้ทําหน้าที่ของตนเป็นไปตามครรลองอันสมควร ในโลกแห่งการศึกษาและศิลปะ

ประการที่สอง บทความวิจารณ์ของนางสาวพีรมณฑ์ ได้เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ในเว็ปไซต์นิตยสาร www.waymagazine.org ซึ่งมีเนื้อหาหนักแน่น สร้างสรรค์ และมีบรรณาธิการเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมานาน กว่าทศวรรษ ถึงแม้จะไม่ใช่สื่อเผยแพร่ทางวิชาการ แต่ก็เข้าถึงสาธารณชนในวงกว้าง และส่งผลสะเทือนมากกว่า วารสารวิชาการ ซึ่งในแง่นี้ การฟ้องร้องนักวิจารณ์ศิลปะในนิตยสารยอดนิยม ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานศึกษาขั้นสูง ในภาพรวม เนื่องจากบทความดังกล่าวได้รับการกลั่นกรองในคุณภาพของเนื้อหาและความเหมาะสมของประเด็น นําเสนอเป็นที่เรียบร้อยจากกองบรรณาธิการ การฟ้องนางสาวพีรมณฑ์ของผศ.ดร. พงศ์ศิริ จึงสมควรถูกตั้งคําถาม ถึงความสมเหตุสมผลทั้งในแง่มโนธรรมสํานึกของครูและผู้ปฏิบัติการทางศิลปะหรือศิลปิน เพราะ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ คิดดี ซึ่งอยู่ในฐานะบุคคลากรด้านการศึกษาและคนทํางานศิลปะย่อมต้องพึ่งตระหนักว่า การวิจารณ์เป็นหน่อเกิดทางปัญญาและผู้เป็นอาจารย์ย่อมต้องมีหัวใจอันเปิดกว้างที่จะยอมรับคําวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ด้านความหนักแน่นและสนทนาตอบโต้อย่างสร้างสรรค์ อาทิ การเขียน บทความทางวิชาการชี้แจง, การจัดอภิปรายถึงทิศทางของศิลปะ หรือการผลิตงานทางศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมาเพื่อ ยืนยันสถานะทางความคิดของตน

การฟ้องนางสาวพีรมณฑ์ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ จึงเป็นภาพสะท้อนของการกระทําที่คับ แคบทั้งทางหัวใจของผู้เป็นครูและผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งยังปฏิเสธหนทางแห่งวัฒนธรรมการวิจารณ์ตาม เส้นทางของอารยชน ทั้งยังขัดต่อแนวทางแผนพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยในการสร้างความเป็นเลิศ ทางด้านการวิจัยและวิชาการซึ่งจําเป็นต้องมีรากฐานของวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เข้มแข็ง และนําไปสู่การมีอํานาจ ทางวัฒนธรรมในแบบซอฟท์พาวเวอร์ (Soft power) ของชาติ

ประการที่สาม การฟ้องร้องของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ ผศ.ดร.พงษ์ศิริ ดํารงตําแหน่งในฐานะผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การกระทําดังกล่าวมีผล ต่อภาพลักษณ์ของคณะวิจิตรศิลป์ในฐานะสถาบันทางศิลปะซึ่งเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง ในฐานะศิลปินและนักวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งยังกลายเป็นอุปสรรคสําคัญที่จะทําให้คณะวิจิตร ศิลป์ยกระดับไปสู่มาตรฐานอันเป็นสากลและเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัย เนื่องจาก ปฏิกิริยาต่อการวิจารณ์โดยสุจริตใจที่มีต่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ ขัดแย้งกับท่าทีที่เป็นปทัสถานทั้งของวง วิชาการ วงการศิลปะ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ศิษย์ และไม่เป็นสากล ไม่สะท้อนมาตรฐานของการเป็น นักวิชาการในสถานศึกษาชั้นสูงที่พึงปฏิบัติต่อผู้วิจารณ์โดยสุจริตใจ

ประการที่สี่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ ได้กระทําการฟ้องร้องนางสาวพีรมณฑ์ในพื้นที่ห่างไกลจาก คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างภาระให้กับผู้ถูกฟ้องโดยไม่ จําเป็น ส่อให้เห็นเจตนาที่จะกดดันให้นางสาวพีรมณฑ์ต้องยอมจํานนต่อเงื่อนไขการเดินทาง ต้นทุนการเดินทาง และภาระทางกฎหมายอื่นๆ ทําให้นางสาวพีรมณฑ์ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างแสนสาหัส และมีค่าใช้จ่ายใน การรับภาระทางกฎหมายอย่างมาก ซึ่งผิดวิสัยครูบาอาจารย์ที่พึงมีใจเป็นธรรมและมีใจกว้าง พฤติการณ์ของ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศิริ ตรงข้ามกับจรรยาบรรณาครูและจริยธรรม (ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่พึงมี จึง เมตตาต่อผู้อื่น ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคณาจารย์ในคณะวิจิตรศิลป์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยรวม

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น พวกเราจึงขอร้องเรียนต่ออธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อพฤติการณ์ ที่ไม่เหมาะแก่การเป็นอาจารย์ในสถานศึกษาชั้นสูงของผศ.ดร.พงศ์ศิริ คิดดี โดยให้มีการเรียกตรวจสอบไต่สวน ข้อเท็จจริง และลงโทษว่ากล่าวตักเตือนในการกระทําที่ไม่เหมาะสมในฐานะอาจารย์และผู้ผลิตงานทางศิลปะของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อการส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ใน มหาวิทยาลัย รวมไปถึงการรักษาไว้ซึ่งความร่วมมือที่เกื้อกูลหนุนเสริมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับ สาธารณะต่อไปในอนาคต

 

ขอแสดงความนับถือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท