Skip to main content
sharethis

เมื่อ 3-5 พ.ย.ที่ผ่านมา การประชุมอาเซียนภาค ปชช. ออกแถลงการณ์ เรียกร้องตัดกองทัพพม่าออกทุกการประชุม นานาชาติคว่ำบาตรและยุติการค้าอาวุธ และภาคเอกชน โดยเฉพาะ ปตท.ต้องหยุดทำธุรกิจกับ 'มินอ่องหล่าย'

 

14 พ.ย. 2565 เว็บไซต์เสมสิกขาลัย รายงานเมื่อ 12 พ.ย. 2565 ระบุว่า เมื่อ 3-5 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีการจัดประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ภาคประชาชน โดยปีนี้ใช้ธีมหลักคือ "ปกป้องและยืนยันพื้นที่ของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน เพื่อมุ่งสู่ความเท่าเทียมและสังคมที่เป็นธรรม"

บรรยากาศการประชุมภาค ปชช.อาเซียน ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อ 3-5 พ.ย. 2565 (ที่มา: เสมสิกขาลัย)

สำหรับการประชุมอาเซียนภาคประชาชน เปรียบเสมือนพื้นที่ที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในอาเซียนพยายามเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในขบวนการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านเสียงของประชาชนไปสู่ผู้นำอาเซียนและกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านนโยบาย ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิต  

สำหรับเวทีภาคประชาชนครั้งนี้เป็นปีที่ 17 มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 500 คน และมีหัวข้อหลักในการแลกเปลี่ยน 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ทางเลือกของประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการสร้างภูมิภาค 2. ปกป้องพื้นที่ของพลเมืองจากระบบทหารและอำนาจนิยม 3. การต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่ เพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมของสภาพภูมิอากาศ และอธิปไตยทางอาหาร 4. ชีวิตที่มีศักดิ์ศรี หลักประกันทางสังคม งานที่มีคุณค่า และบริการสุขภาพสำหรับทุกคน ในสถานการณ์การฟื้นฟูหลังโควิด-19 และ 5. สันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์

ภายในงานยังมีกิจกรรมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องชาวเมียนมาที่กำลังต่อสู้อย่างกล้าหาญกับเผด็จการทหารภายในประเทศ และมีการอ่านแถลงการณ์ร่วมของประชาชนอาเซียนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่มนายทุนในประเทศอาเซียนแสดงความรับผิดชอบและมีปฏิบัติการเป็นรูปธรรมเพื่อหยุดอาชญากรรมต่อประชาชนเมียนมา โดยมีเนื้อหาดังนี้

ช่วงอ่านแถลงการณ์

"เรา ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากบรูไนฯ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์เลสเต และเวียดนาม มารวมตัวกัน และขอแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาชนชาวเมียนมาหลากหลายศาสนาและชาติพันธุ์ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ชาวโรฮินจา LGBTQIA+ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เกษตรกร คนงาน และนักสู้ผู้ต่อต้านเผด็จการทหารอย่างขันแข็ง

"เรา ราษฎร ขอประณามกองทัพเมียนมาที่เข่นฆ่าผู้คนมากกว่า 2,400 ชีวิต ทรมาน-ข่มขืน-อุ้มหาย-จับกุม-ประหารอีกหลายหมื่นชีวิต เราประณามการโจมตีอย่างต่อเนื่องของกองทัพ ทั้งทางบก ทางอากาศ ก่อเพลิงผลาญหมู่บ้านด้วยเจตนาก่อการร้ายคร่าคนทั้งประเทศ กองทัพอาจมีอาวุธและเครื่องแบบ แต่ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมในสายตาประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผด็จการทหารเมียนมาคืออาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

"เรา ราษฎร ขอประณามอาเซียนที่ไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงในเมียนมาได้ ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้ และไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมอันโหดร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ ฉันทามติ 5 ข้อ ไม่ได้ทำให้การยุติความรุนแรงคืบหน้า ไม่ได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของผู้คนที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างมีมนุษยธรรม อาเซียนมีหน้าที่เคารพ คุ้มครอง และโอบอุ้มสิทธิมนุษยชน ทุกการกระทำของอาเซียนต้องเคารพและมีจุดยืนเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนชาวเมียนมา

"เรา ราษฎร ขอร้องเรียกผู้นำอาเซียนทั้งหลายว่าคุณทำได้มากกว่าฉันทามติ 5 ข้อ จงยุติการเชิญชวนตัวแทนเผด็จการทหารเข้าร่วมการประชุมอาเซียนทุกการประชุม รวมทั้ง AICHR และ ACWC และเราเรียกร้องให้นานาประเทศหยุดปัดความรับผิดชอบให้แก่อาเซียน

"เราร้องเรียกนานาประเทศให้ออกมาตรการคว่ำบาตรแบบเจาะจงและห้ามค้าขายอาวุธแก่เมียนมา เพื่อตัดช่องทางอาวุธและการเงินของเผด็จการทหาร และให้นำผู้กระทำผิดได้รับโทษผ่านกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น การขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หรือคดีเขตอำนาจตามหลักสากล

ภาพการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวเมียนมาที่ต่อสู้กับเผด็จการพม่าในที่ประชุมภาคประชาชนอาเซียน 2565 (ที่มา: เสมสิกขาลัย)

"เราร้องเรียกภาคเอกชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ยุติการดำเนินธุรกิจกับเผด็จการทหาร รวมถึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ใหญ่สุดของเผด็จการทหารเมียนมา

"เรา ราษฎรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคารพอำนาจอันชอบธรรมของประชาชนชาวเมียนมาในนามของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ทั้งนี้ นานาประเทศต้องเคารพเสียงของเราและประชาชนชาวเมียนมา เคารพและสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รวมทั้งทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อปฏิวัติและก่อตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยเมียนมา

"เรา ราษฎรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดยืนหนึ่งเดียวกับพี่น้องชาวเมียนมา

จนกว่าเผด็จการจะพินาศ

จนกว่าประชาธิปไตยจะเบ่งบาน

จนกว่าทุกชีวิตจะมีเกียรติ

เรา ราษฎรรวมตัวกันเพื่อชาวเมียนมา

ขอสายลมแห่งการปฏิวัติจงเจริญ lll"

สำหรับองค์กรเสมสิกขาลัย ถือเป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่รณรงค์ต่อประเด็นประชาธิปไตย สันติภาพ และสิทธิมนุษยชนในพม่าช่วงหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่มอนิเตอร์เหตุการณ์ในเมียนมา เปิดเผยสถิตินับตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 11 พ.ย. 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเงื้อมมือของเผด็จการทหารพม่า จำนวน 2,444 ราย มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 16,156 ราย และยังมีผู้ถูกคุมขังทั้งสิ้น 12,942 ราย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net