ความ(อ)ยุติธรรมแบบทหาร มรดกคดีความรุนแรงทางการเมืองจากยุค คสช.

ในขณะที่กำลังจะเกิดการเลือกตั้งใหม่ภายในครึ่งปีแรก 2566 แต่สิ่งที่ยังหลงเหลือจากรัฐบาลทหารที่มีผู้นำการรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ยังได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานจนเกิดข้อถกเถียงว่าจะต้องนับว่าอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระตามรัฐธรรมนูญที่ออกมาจากคณะรัฐประหารเองหรือไม่

การใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อนหลายอย่างยังอยู่มาถึงทุกวันนี้ และไม่เคยถูกตรวจสอบทั้งจากองค์กรอิสระแม้กระทั่งตุลาการในเวลานั้น จนทำให้ถูกตั้งคำถามตามมาถึงการยอมรับที่จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้คณะรัฐประหารได้ใช้อำนาจนอกกฎหมายไปด้วย เช่น ศาลยุติธรรมรับรอง คสช.ในฐานะที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์แม้ว่าจะไม่ได้ได้อำนาจมาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่แม้แต่จะรับคำฟ้องคดีกบฏที่ประชาชนเป็นผู้ยื่นฟ้องด้วยตัวเองไว้พิจารณาในสารบบของศาล

เมื่อการใช้อำนาจของ คสช.เป็นไปอย่างอิสระการใช้อำนาจตามอำเภอใจก็ตามมา เมื่อมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักนักถูกหน่วยงานความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจมาจับกุมตัวไป “ปรับทัศนคติ” แต่ที่พวกเขาต้องเจอก็ต่างออกไปจากบรรดานักกิจกรรม นักการเมืองที่มีประกาศเรียกชื่อผ่านทางทีวีพูล คือใช้กำลังบังคับข่มขู่ให้ต้องรับสารภาพในคดีที่มีข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างเจตนาฆ่าหรือครอบครองอาวุธที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่บางคดีเหตุการณ์ย้อนกลับไปได้หลายปีก่อนหน้า คสช.จะยึดอำนาจเข้ามา แม้ว่าจะมีหลายคดีที่สุดท้ายศาลจะพิพากษายกฟ้องก็ตาม

คดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดี มักมีเหตุผลซ้ำเนื่องจากสภาพพยานหลักฐานที่หน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่ามัดตัวจำเลยได้กลับมีวิธีการได้มาที่มีปัญหาทั้งใช้คำให้การซัดทอดจากพยานที่ถูกต่อรองว่าจะไม่ดำเนินคดี ไปจนถึงพยานที่ให้การในแต่ละคดีไม่ตรงกันทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลายคดีมีเพียงพยานบอกเล่าหรือพยานแวดล้อมเท่านั้น

รายงานชิ้นนี้ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนองค์กรทนายความที่ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองมาตั้งแต่รัฐบาล คสช.ในการแบ่งปันข้อมูลคดีในช่วงยุครัฐบาลทหารที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งต้นดำเนินคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในปี 2553 โดยอาศัยกฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึก ประกาศ และคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารเขียนขึ้นมาเองในการจับกุมคนไปสอบสวนในค่ายทหารก่อนส่งตัวให้ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมดำเนินคดีกับพวกเขาเหล่านี้

คดียาวนานเสมือนไม่มีวันสิ้นสุด

ถ้าหากจะมีปัญหาอะไรที่ ณ วันนี้สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านกลุ่มคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เริ่มมาในยุค คสช.คือ ความยาวนานของคดีบางคดีที่ศาลเพิ่งจะมีคำพิพากษาในปี 2565 ที่ผ่านมา

คดีกลุ่มนี้บางคดีเริ่มต้นในศาลทหารเนื่องจากมีประกาศ คสช. ที่ 57/2557 ที่ให้คดีความมั่นคง เช่น การใช้หรือครอบครองอาวุธ(ทำให้มีคดียาเสพติดที่จำเลยมีการครอบครองอาวุธถูกนำมาขึ้นศาลทหารด้วย) คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ไปอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร

อย่างเช่น คดีปาระเบิดศาลอาญาที่เหตุเกิดตั้งแต่มีนาคมปี 2558คดีนี้เริ่มต้นในศาลทหารก่อนจะมาสืบพยานกันต่อในศาลอาญาหลังจาก คสช.มีคำสั่งยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนเมื่อปี 2562 และศาลอาญาที่รับคดีมาสืบพยานต่อเพิ่งมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อ 17 มิ.ย.2565

คดีที่ตั้งต้นพิจารณาในศาลทหารเหตุผลหลักที่ทำให้คดีล่าช้ามี 2 ปัจจัย

ปัจจัยแรก นัดพิจารณาคดีไม่ต่อเนื่องแบบเดียวกับศาลยุติธรรมที่จะนัดวันสืบพยานล่วงหน้าเป็นช่วงต่อเนื่องกันทั้งสัปดาห์ แต่ในศาลทหารจะนัดวันสืบพยานต่อหลังสืบพยานจบครั้งต่อครั้ง บางสัปดาห์อาจมีการสืบพยานเพียงวันเดียว ก่อนจะนัดสืบพยานกันต่ออีกครั้งในสัปดาห์ถัดไปหรือสองสัปดาห์ถัดไป นานที่สุดอาจข้ามเดือน และศาลมักอ้างว่ามีคดีในศาลเยอะเกินกว่าจำนวนบุคลากรและจำนวนห้องพิจารณาคดี(เช่นศาลทหารกรุงเทพมี 5 ห้อง) ซึ่งเป็นปัญหาของการย้ายคดีพลเรือนมาพิจารณาในศาลทหารที่ปกติมีไว้เพื่อแค่การพิจารณาคดีวินัยทหารเท่านั้น

ปัยจัยที่สอง อัยการทหารที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีติดตามพยานตัวเองมาเบิกความต่อศาลไม่ได้ทำให้การพิจารณาคดีต้องเลื่อนออกไป ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นพยานทหารตำรวจชุดจับกุมสอบสวนที่มักอ้างติดภารกิจของราชการ ย้ายหน่วยทำให้ต้องส่งหมายเรียกไปตามหน่วยใหม่ รวมถึงพยานพลเรือนอ้างป่วยหรือติดธุระ โดยทางอัยการไม่มีสลับเปลี่ยนลำดับพยานแม้จะตามพยานรายเดิมไม่ได้ซ้ำๆ เช่นพยานตำรวจในคดีปาระเบิดศาลอาญา หรือในกรณีคดีของชาวอุยกูร์ 2 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางระเบิดแยกราชประสงค์ที่มีปัญหาเรื่องการหาล่ามแปลภาษาไม่ได้ทำให้ต้องเลื่อนสืบพยานด้วยเช่นกันและในการสืบพยานบุคคลในศาลทหารทำได้เพียง 23 คนจากทั้งหมด 400 คน และปัจจุบันยังสืบพยานอยู่ในศาลอาญากรุงเทพใต้

อาเดม คาราดัก (ชุดนักโทษคนหน้า) และ ไมไลรี ยูซูฟู (ชุดนักโทษคนหลัง) ขณะที่คดีของพวกเขายังถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ แฟ้มภาพ

สถิติการเลื่อนสืบพยานคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบันทึกไว้พบว่าคดีในกลุ่มคดีความรุนแรงทางการเมืองที่มีการเลื่อนสืบพยานมากที่สุดในช่วงที่คดียังอยู่ในศาลทหารคือคดีปาระเบิดศาลอาญาคือ 12 ครั้งจากนัดของศาลทั้งหมด 42 ครั้ง ตามมาด้วยคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน(จำเลยบางคนเป็นจำเลยในคดีแรกด้วย)คือจ้างวานปาระเบิดศาลเลื่อน 10 ครั้งจากทั้งหมด 35 ครั้ง และคดีครอบครองระเบิด RGD5 เลื่อน 10 ครั้งจากนัดทั้งหมด 25 ครั้ง

แต่นอกจากการเลื่อนหลายครั้งหลายครา จำนวนวันที่เลื่อนคดีรวมกันก็เป็นหลักปีได้ คดีจ้างวานปาระเบิดคือ 611 วัน(1 ปี 8 เดือนเศษ) คดีปาระเบิด 502 วัน(1 ปี 4 เดือนเศษ) และคดีครอบครอง RGD5 480 วัน(1 ปี 3 เดือนกว่า)

เมื่อสองปัจจัยรวมกัน(และปัจจัยยิบย่อยอื่นๆ เช่น การสืบพยานในศาลทหารช่วงแรกจดคำเบิกความด้วยมือ) ทำให้คดีในกลุ่มที่เกี่ยวกับเหตุรุนแรงทางการเมืองที่มีพยานเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากทำให้แทบจะไม่มีคดีใดสามารถสืบพยานจบจนกระทั่งจวนจะเลือกตั้งใหม่ที่ คสช.ออกคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีในศาลทหารและให้โอนย้ายคดีพลเรือนที่คั่งค้างอยู่มาพิจารณาในศาลยุติธรรมตอนปี 2562 ซึ่งทางอัยการศาลยุติธรรมต้องนำสำนวนคดีมาพิจารณายื่นฟ้องใหม่บางคดีทำให้นัดข้ามมาในปี 2563 แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ศาลวางมาตรการต่างๆ ขึ้นมาทำให้การพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมก็ต้องล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตามปัญหาความล่าช้านี้ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองที่มีพยานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคดีชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกบนโลกออนไลน์อย่างคดีตามมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) และ 116(ยุยงปลุกปั่น) ในเวลานั้นก็ถูกส่งมาพิจารณาในศาลทหารด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจที่เกิดเหตุลานจอดรถศาลอาญา รัชดาฯเมื่อ 7 มี.ค.2558

ทั้งนี้คดีส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีเหตุเกิดขึ้นก่อนมีประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ทำให้ผู้ต้องหาถูกส่งฟ้องศาลยุติธรรม(แม้ว่าการจับกุมจะทำด้วยอำนาจของ คสช.) ยกเว้นคดีปาระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ แต่มีบางคดีที่เหตุเกิดก่อนประกาศฉบับนี้แต่คดีกลับไปพิจารณาในศาลทหารเนื่องจากพวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีการครอบครองอาวุธคร่อมมาถึงช่วงหลังใช้ประกาศฉบับนี้ควบคู่กันไปด้วยทำให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศ คสช. เช่น ในกรณีเจริญ พรมชาติและณัฐพรรณ์ ลุ่มบางหล้าในคดีระเบิดบรรทัดทอง ถูกกล่าวหาว่าครอบครองระเบิด RGD5 จำนวน 20 ลูก

แต่ความยาวนานของคดียังเกิดได้จากการมีคดีเพิ่มออกมาเรื่อยๆ อย่างเช่นคดีชายชุดดำที่มีการฟ้องจำเลยชุดเดิมซ้ำด้วยพยานหลักฐานชุดเดิมบ้างหรือเป็นคดีจากเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ โดยที่ตำรวจและอัยการฟ้องคดีใหม่เข้ามาหลังจากคดีใดคดีหนึ่งเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วหรือเพิ่งมีคำพิพากษาไป ทำให้จำเลยต้องวนเวียนขึ้นศาลต่อออกไปเรื่อยๆ

จับครั้งเดียวงอกมาหลายคดี

กิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรือ อ้วน 1ในจำเลยคดีชายชุดดำที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงปี 2553 มากถึง 7 คดีและเขาไม่ได้ประกันตัวนับตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับกุมเมื่อกันยายนปี 2557 จนกระทั่งเพิ่งได้ประกันตัวในคดีที่ 7ของเขาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2565 เขาต้องอยู่ในเรือนจำทั้งหมดเป็นเวลา 8 ปี 2 เดือน ทั้งที่ 5 คดีก่อนหน้าศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปหมดแล้วโดยคดีแรกที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดมีตั้งแต่กันยายนปี 2560 เป็นคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตรวจยึดได้ที่ห้องเช่าย่านรามอินทราแต่ศาลก็ไม่ให้เขาได้ประกันตัวมาโดยตลอด

กิตติศักดิ์ สุ่มศรี(นั่งซ้ายสุด) และผู้ถูกจับกุมอื่นๆ ในกลุ่มคดีชายชุดดำ

จากกรณีของกิตติศักดิ์นอกจากความยาวนานของคดีในแต่ละคดีเองแล้ว เขายังถูกดำเนินคดีต่อเนื่องกันอีกหลายคดีด้วยและบางคดีที่ตามมาหลังจากคดีชายชุดดำก็เป็นการฟ้องเพิ่มหลังจากคดีใดคดีหนึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลหรือมีคำพิพากษาแล้ว

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดกับแค่กิตติศักดิ์แต่เกือบทุกคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง จำเลยในคดีเหล่านี้ถูกจับไปสอบสวนในค่ายทหารและถูกสอบสวนไปเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้ง ถูกส่งตัวให้ตำรวจทำสำนวนคดีส่งอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาล หลังจากนั้นทั้งในระหว่างที่คดีหนึ่งกำลังมีการพิจารณาในศาลหรือเมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีหนึ่งแล้วก็จะมีการส่งฟ้องอีกคดีตามมา

  • จำเลยในคดียิง M79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.ราชดำริ ถูกฟ้องคดียิง M79 เวทีแจ้งวัฒนะรวม 5 ครั้ง ศาลแบ่งพิจารณาเป็น 2 คดี

  • 1ใน จำเลยคดียิง กปปส.ตราด ถูกฟ้องคดีครอบครองอาวุธที่ใช้ในคดีแยกต่างหาก

  • คดีปาระเบิดศาลอาญา จำเลย 4 ใน 14 คน ถูกแยกฟ้องคดีจ้างวานปาระเบิดร่วมกับจำเลยอีก 2 คนแยกเป็นอีกคดี และมีจำเลย 1 ใน 6 คนของคดีจ้างวานปาระเบิดถูกฟ้องข้อหามาตรา 112

  • จำเลยในคดีปาระเบิดที่ถนนบรรทัดทอง ถูกฟ้องคดีปาระเบิดเวที กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิด้วย และณัฐพรรณ์ ลุ่มบางหล้า 1 ในจำเลยถูกฟ้องคดีครอบครองระเบิด RGD 5 ในศาลทหาร 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นระเบิด 4 ลูก อีกครั้งเป็นระเบิดทั้งหมด 20 ลูก

  • คดีชายชุดดำแรกมีจำเลย 5 คน แต่กิตติศักดิ์ สุ่มศรี ที่เป็นจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเพิ่มมาอีก 6 คดีโดยเป็นคดีชายชุดดำ 10 เม.ย.53 อีก 2 คดี คดีครอบครองระเบิด(คาร์บอม) 1 คดี และวางระเบิดในกรุงเทพอีก 3 จุด 3 คดี(แต่ศาลให้รวมคดีเหตุวางระเบิดทั้ง 3 คดีนี้มาพิจารณาเป็นคดีเดียว)

    คดีที่ตามหลังจากคดีหลักเหล่านี้ ศาลมักจะมีคำพิพากษายกฟ้องไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ใช้อาวุธสงครามยิงใส่ที่ชุมนุม กปปส.ในจังหวัดต่างๆ ทั้งเหตุที่เวทีแจ้งวัฒนะทั้ง 2 คดี, กรณีเวที กปปส.ที่จังหวัดตราด, เหตุปาระเบิดศาลอาญาเมื่อ 7 มี.ค.2558 ที่ศาลยกฟ้องทั้งจำเลยในคดีเกือบทั้งหมดคือ 12 จาก 14 คนและคดีจ้างวานปาระเบิดซึ่งศาลก็ยกฟ้องอีกเช่นกัน และเหตุระเบิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


    ภาพหลังเหตุการณ์ที่เวที กปปส.จังหวัดตราด โดยติชน

    เหตุผลที่ศาลพิพากษายกฟ้องเป็นไปในลักษณะเดียวกันคือพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่ได้มีน้ำหนักเพียงพอให้ลงโทษจำเลยได้ และมาจากปัญหาที่ฝ่ายโจทก์มีแค่คำให้การรับสารภาพของจำเลยแต่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ ไปจนถึงมีกรณีเจ้าหน้าที่ที่ทำการสอบสวนชักจูงพยานบุคคลในคดีเช่นในกรณีคดียิงเวที กปปส.แจ้งวัฒนะโดยต่อรองว่าจะไม่ดำเนินคดี หรือกระทั่งจำเลยให้การปรักปรำตัวเองในคดียิงเวที กปปส.ตราด ทำให้พยานหลักฐานที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดีไม่เพียงพอที่จะเชื่อมโยงได้ว่าบรรดาจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุจริง

    อย่างไรก็ตามคดีที่ฟ้องต่อๆ กันมาเหล่านี้นอกจากปัญหาเรื่องพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักแล้วยังมีปัญหาที่เป็นข้อกฎหมายอยู่อีกปัญหาด้วย คือการฟ้องคดีซ้ำ

    การฟ้องคดีซ้ำคือการฟ้องคดีด้วยเหตุการกระทำความผิดครั้งเดียวกันในคดีที่ศาลเคยพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39ได้ห้ามการฟ้องคดีลักษณะนี้เอาไว้ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบตั้งแต่ในชั้นอัยการว่าพยานหลักฐานและจำเลยเป็นชุดเดียวกันและเมื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาลแล้วศาลก็รับไว้พิจารณาต่อไป แม้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายศาลอาจจะพิพากษายกฟ้องในท้ายที่สุดจากปัญหาข้อกฎหมาย แต่จำเลยก็ขาดสิทธิที่พึงมีในกระบวนการยุติธรรมไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการประกันตัวหรือการไม่ถูกฟ้องซ้ำ

    การฟ้องซ้ำจะเห็นได้จากคดีชายชุดดำที่มีการตั้งคดีด้วยข้อหาครอบครองอาวุธและพกพาอาวุธไปในเมืองก่อนเป็นคดีแรกและตามมาด้วยการฟ้องคดีทำร้ายทหารในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 ตามมาหลังจากคดีแรกจบที่ศาลชั้นฎีกายกฟ้องเพราะมีการอ้างทหารเป็นประจักษ์พยานที่เคยเบิกความ 2 ครั้งไม่ตรงกันไปแล้ว ส่วนในกรณีคดีปาระเบิดศาลอาญา ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย 4 คนในคดีที่ถูกฟ้องในคดีจ้างวานปาระเบิดโดยยกเหตุผลว่าเป็นการฟ้องคดีซ้ำด้วย

    นอกจากนั้นการดำเนินคดีกับจำเลยต่อๆ กันหลายคดีไม่ได้มีเพียงการตั้งข้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มเท่านั้น ยังมีกรณีที่ต่างออกไปคือใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีด้วย

    ณัฏฐธิดา มีวังปลาขณะถูกนำตัวออกจากศาลทหาร ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

    กรณีที่กล่าวถึงคือ ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาลอาสาที่เป็น 1 ใน 6 จำเลยคดีจ้างวานปาระเบิด หลังจากเธอได้ประกันในคดีนี้ ตำรวจได้เข้าไปที่เรือนจำเพื่ออายัดตัวมาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ต่อทั้งที่คดีนี้มีการสอบสวนตั้งแต่เธอถูกคุมตัวภายในค่ายทหารแต่ไม่มีการแจ้งข้อหาแล้ว

    ณัฏฐธิดาเคยกล่าวถึงเรื่องคดีมาตรา 112 นี้หลังจากได้ประกันตัวจากทั้งสองคดีมาแล้วว่าทหารที่ทำการสอบสวนเธอนอกจากการบังคับรับสารภาพ ข่มขู่ทำร้ายคนใกล้ชิด ยังเคยขู่ด้วยว่าจะใช้มาตรา 112 กับเธอถ้าเธอไม่ยอมถอนตัวเองออกจากการเป็นพยานในคดีที่เกี่ยวกับเหตุทหารยิงประชาชน 6 รายในวัดปทุมวนารามเสียชีวิตระหวางการสลายการชุมนุม นปช.เมื่อ 19 พ.ค.2553

    อย่างไรก็ตาม คดีมาตรา 112 ของณัฏฐธิดามีเพียงภาพจับหน้าจอจาก LINE เป็นหลักฐานและสุดท้ายศาลก็พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่าภาพหลักฐานดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ที่มาได้ ไม่มีหลักฐานอยู่ในโทรศัพท์ที่ยึดไว้ อีกทั้งพยานบุคคลที่มาเป็นคู่คดีก็ให้การว่าไม่ได้รู้จักกับเธอมาก่อนและไม่ได้เป็นคนพิมพ์ข้อความ

    คดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ

    อย่างไรก็ตาม มีบางคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอยู่บ้างเช่นกรณีของจำเลย 2 จาก 14 คนในคดีปาระเบิดศาลอาญาเมื่อ 7 มี.ค.2558เนื่องจากทั้ง 2 คนถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุทันทีแต่ศาลอาญา รัชดาฯ เห็นว่าทั้งสองมีความผิดเฉพาะในส่วนของการครอบครองระเบิดและพยายามฆ่าจากการปาระเบิดเท่านั้นโดยยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่จากการยิงต่อสู้เนื่องจากหลักฐานไม่พอและมีเพียงคำให้การของทหารชุดจับกุมนายเดียวที่ยืนยันเรื่องนี้โดยพยานทหารอีกคนอ้างว่าหลบอยู่และได้ยินแต่เสียงปืนที่ไม่ทราบทิศทางเท่านั้น

    แต่นอกจากกรณีที่จับกุมได้จากที่เกิดเหตุอย่างที่กล่าวไปแล้ว ยังมีบางคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ

    คดีจากเหตุยิงระเบิด M79 ที่บิ๊กซีราชดำริเมื่อ 2557 เป็นอีกคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาลงโทษจำเลยและพิพากษาถึงประหารชีวิตก่อนจะลดเหลือจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากคำให้การสารภาพในชั้นสอบสวน โดยศาลยกเหตุที่พิพากษาลงโทษไว้ว่ามีรถกระบะลักษณะเดียวกับของจำเลยในคดีผ่านสะพานข้ามแยกประตูน้ำที่เป็นจุดที่ใช้ยิง และพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ทำการซักถามในค่ายทหารล้วนน่าเชื่อถือไม่มีเหตุให้ปรักปรำจำเลย โดยข้ามเรื่องกระบวนการจับกุม การนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร การเข้าไม่ถึงสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรมของพวกเขา แต่ศาลกลับพิจารณาว่าพวกเขามีโอกาสที่จะร้องเรียนว่าถูกบังคับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนได้เมื่อทหารนำตัวส่งให้ตำรวจและสื่อมวลชนระหว่างทำแผนประกอบคำรับสารภาพแทน

    หรือในกรณีที่ยกฟ้องข้อหาที่เกี่ยวกับการก่อเหตุ แต่ลงโทษข้อหาครอบครองอาวุธก็มีเช่นกันเช่นในกรณีของณัฐพรรณ์ ลุ่มบางหล้าและอภิชาติ พวงเพ็ชร คือคดีเหตุระเบิดที่ถนนบรรทัดทอง ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกฟ้องส่วนของข้อหาก่อเหตุระเบิดเนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานอีกทั้งยังมีแต่พยานบอกเล่าที่เป็นนายทหารที่ทำการสอบสวน แต่เมื่อพิจารณาลงโทษในส่วนของข้อหาครอบครองระเบิดศาลกลับเชื่อว่าจำเลยที่ในเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารแล้วสามารถนำเจ้าหน้าที่ไปชี้จุดที่เอาระเบิดไปทิ้งได้

    คดีที่ทั้งสองคนถูกฟ้องว่าปาระเบิดใส่ที่ชุมนุม กปปส.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศาลอาญา รัชดาฯ พิพากษายกฟ้องทั้งข้อหาร่วมกันฆ่าและครอบครองระเบิด โดยคดีหลังนี้ศาลรับฟังทั้งเรื่องการซ้อมทรมานด้วยเนื่องจากทางฝ่ายโจทก์และเจ้าหน้าที่ไม่มีการนำวิดีโอการสอบสวนเข้ามาประกอบและไม่มีพยานที่อ้างถึงในสำนวนมาเบิกความทำให้ทั้งคดีมีเพียงคำให้การของจำเลยเท่านั้น อีกทั้งโจทก์มีเพียงพยานบุคคลและหลักฐานดีเอ็นเอที่สืบถึง กฤษฎา ไชยแค ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียวโดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งสองคนเกี่ยวข้องกับกฤษฏา และศาลยังเห็นว่าข้อหาครอบครองระเบิดยังเป็นการฟ้องซ้อนในคดีเหตุที่ถนนบรรทัดทองอีกด้วย

    ทั้งนี้ณัฐพรรณ์ยังถูกฟ้องร่วมกับเจริญ พรมชาติอีก 2 คดีในศาลทหารโดยคดีแรกศาลทหารลงโทษจำคุก 10 ปีข้อหาครอบครองระเบิด 4 ลูก และมีการฟ้องคดีณัฐพรรณ์และเจริญคดีครอบครองระเบิด 20 ลูกอีกคดีโดยคดีหลังถูกส่งต่อให้ศาลอาญา รัชดาฯ และมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเจริญมีหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนณัฐพรรณ์มองว่าเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเหตุระเบิดที่ถนนบรรทัดทอง

    จูงใจ ข่มขู่คุกคาม ทำร้าย

    “เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวข้าฯ ไปควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ข้าไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ทหารนำข้าไปควบคุมตัวไว้ที่ใดเนื่องจากถูกปิดตาตลอด…ระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก มีการซักถามข้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลอาญาหลายครั้ง โดยระหว่างนำตัวไปสอบสวนและระหว่างการสอบสวนข้าถูกปิดตาตลอด และถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา ในระหว่างการซักถามประมาณวันที่ 10-11 มีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่ได้ขู่บังคับและทำร้ายร่างกายเพื่อให้ข้าฯ รับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ข้าให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ได้ชกที่บริเวณหน้าท้องและทรวงอกบริเวณลิ้นปี่และชายโครง และเหยียบบริเวณลำตัวต่อยและตบบริเวณศีรษะและทรวงอกหลายสิบครั้ง ทำให้ข้าได้รับบาดเจ็บบริเวณช่องอกและชายโครง และถูกบังคับให้ถอดกางเกงและถูกช็อตด้วยไฟฟ้าบริเวณขาขวาด้านนอกประมาณกว่า 30 ครั้ง”

    สภาพบาดแผลของสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน

    สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน อีก 1 ในผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญาเขียนเล่าเรื่องข้างบนนี้ไว้ในคำร้องที่เขียนขึ้นในเรือนจำเพื่อส่งถึงพนักงานสอบสวนเพื่อให้ทำการรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวของทหาร หลังจากที่เขาได้เปิดเผยบาดแผลฝกช้ำและรอยบุหรี่จี้ตามร่างกายให้กับทนายความที่ติดตามไปถึงศาลทหาร ในวันที่พนักงานสอบสวนรับตัวสรรเสริญจากทหารไปขออำนาจศาลทหารเพื่อฝากขัง

    กรณีของสรรเสริญจึงเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุดของกระบวนการสอบสวนในค่ายทหาร เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาเพียงไม่กี่รายที่ทนายความเข้าถึงตัวได้ก่อนที่รอยบาดแผลที่เกิดขึ้นจะหายไป แต่นอกจากสรรเสริญแล้วในคดีนี้ยังมีจำเลยคนอื่นๆ ที่ร้องเรียนว่าถูกทำร้าย ข่มขู่ระหว่างการสอบสวนด้วย และพวกเขาถูกจับกุมเพียงเพราะเจ้าหน้าที่ขยายผลโดยอ้างข้อมูลว่าอยู่กลุ่มไลน์เดียวกับจำเลย 2 คนที่เป็นคนปา

    ปัญหาที่พวกเขาต้องเจอเหมือนๆ กันคือภาวะสุญญากาศเมื่อต้องขาดการติดต่อกับครอบครัวหรือเพื่อนทำให้การติดตามหาตัวว่าถูกคุมตัวไปที่ใดเป็นเรื่องยาก อีกทั้งฝ่ายรัฐยังทำให้การสอบสวนในค่ายทหารไม่ถูกนับเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(แต่หลักฐานที่ได้มากลับถูกนำมาใช้ในศาล) คนที่ถูกจับกุมถูกทำให้ขาดสิทธิในการมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สารภาพจากการข่มขู่หรือใช้กำลังทำร้ายเพิ่มมากขึ้นในระหว่างสอบสวน

    ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเล่าถึงปัญหาเรื่องหลักฐานที่รัฐใช้อีกว่าฝ่ายรัฐอาศัยเพียงข้อมูลจากสายข่าวของเจ้าหน้าที่ในการติตดามจับกุมคนมาดำเนินคดี แต่เมื่อจะทำการตรวจสอบว่าสายข่าวเหล่านั้นเป็นใครหรืออยู่หน่วยงานใดพยานเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตนของสายข่าวเหล่านั้นหรือแม้กระทั่งวิธีการได้มาของหลักฐานที่ใช้ในการจับกุมทำให้ตรวจสอบได้ยากว่าทางเจ้าหน้าที่ใช้หลักฐานอะไรบ้างและเพียงพอหรือไม่ก่อนจะเข้าจับกุมใครสักคนมาดำเนินคดีอาจ

    นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังอาศัยแต่ข้อมูลที่ได้มาจากกระบวนการซักถามคนที่ถูกจับกุมมาก่อนหน้าไปขยายผลในการติตตามจับกุมบุคคลเพิ่มเติมและยังถูกเจ้าหน้าที่ใช้ในการหาหลักฐานมาประกอบเพิ่มเพื่อเอาผิดตัวคนที่ถูกจับเองด้วย ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็จะอ้างว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าพวกเขาได้ให้การเป็นปฏิปักษ์กับตนเองได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการซักถามเพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นในค่ายทหารโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทนายความ

    การจูงใจพยานให้ปรักปรำจำเลยในคดีที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ในกรณีคดีระเบิดเวที กปปส.แจ้งวัฒนะ หนึ่งในพยานปากสำคัญที่เจ้าหน้าที่เอามาอ้างเป็นประจักษ์พยานคือ ยงยุทธ บุญดี(หรือแดง ชินจัง) คนเสื้อแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 เขาถูกทหารอ้างกฎอัยการศึกจับกุมไปตั้งแต่กรกฎาคม 2557 ขณะทำงานก่อสร้างอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และถูกคุมตัวอยู่ในกองพันทหารสารวัตรที่ 11 (พัน.สห.11) โดยเขาถูกดำเนินคดีจากคำให้การรับสารภาพระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหารไปแล้ว 3 คดี โดยศาลยกฟ้องไปแล้ว 1 คดีเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และถูกพิพากษาจำคุก 1 คดีเนื่องจากรับสารภาพโดยไม่มีโอกาสได้สู้คดี ส่วนคดีที่สามจากเหตุระเบิดที่ ป.ป.ช.และกองสลากฯ แต่ปัจจุบันคดีก็เงียบหายไป

    แต่สำหรับคดีระเบิดที่แจ้งวัฒนะเขาถูกกันเป็นประจักษ์พยานที่ร่วมก่อเหตุกับจำเลยคดีนี้รวม 5 ครั้งที่มีการแยกฟ้องเป็น 2 คดี ซึ่งศาลอาญา รัชดาฯ พิพากษายกฟ้องทั้งหมดเนื่องจากคำให้การของเขาไม่น่าเชื่อถือเพราะถูก “จูงใจ” ให้รับสารภาพ เพราะเขาให้การในชั้นสอบสวนดวยว่าตัวเองร่วมก่อเหตุด้วยแต่กลับเป็นเพียงพยานในทั้ง 2 คดี จึงเชื่อว่าถูกจูงใจด้วยการไม่ดำเนินคดีจริงๆ และตอนให้การเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในศาลเขายังได้เล่าว่าตัวเองถูกทำร้ายร่างกายระหว่างถูกคุมตัวโดยทหารอีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีระเบิดเวที กปปส.แจ้งวัฒนะทั้ง 2 คดี แล้วแต่กลับถูกดำเนินคดีจากเหตุระเบิดที่ ป.ป.ช.และกองสลากฯ ตามมา แม้ว่าเขาจะได้ประกันตัวระหว่างที่รอนัดฟังคำสั่งอัยการและเขาก็ไปรายงานตามนัดของอัยการทุกครั้ง ก่อนปีใหม่ 2564 เพียงไม่กี่วันเขาถูกคอมมานโดจากกองปราบฯ เข้าจับกุมจากคดีเหตุระเบิดเวที กปปส.แจ้งวัฒนะอีกรอบและในรายงานข่าวครั้งนั้นตำรวจยังให้ข่าวว่ายงยุทธมีหมายจับรออยู่อีก 6 คดี

    แต่เหตุใดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับคนเหล่านี้ เสมือนกระบวนการยุติธรรมไม่มีระบบตรวจสอบการทำงานของตัวเอง การฟ้องซ้ำๆ บางคดีศาลก็ลงโทษ บางคดีศาลก็ยกฟ้องทั้งที่คำให้การของจำเลยก็เป็นชุดเดียวกัน พยานหลักฐานอย่างของกลางที่เป็นอาวุธที่ตรวจยึดได้ก็เป็นชุดเดียวกัน หรือแม้กระทั่งการใช้พยานเจ้าหน้าที่ทหารที่เบิกความในศาล 2 คดีไม่เหมือนกัน

    ตรวจสอบได้ แต่ไม่ตรวจสอบ

    “พยานที่เป็นทหารโดยเฉพาะพลเอกวิจารณ์ จดแตง ในขณะนั้นเบิกความต่อศาลชัดเจนเลยนะ คุณอ้างว่าคุณใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก แสดงว่าการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจะได้รับการยกเว้นรัฐธรรมนูญกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช่หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลหรอกนะ แต่ในคำให้การคุณอ้างหน้าตาเฉยว่าคุณเช็คกฎอัยการศึกแล้วนำตัวพวกนี้ไปได้ ไม่ต้องตั้งทนาย ไม่ต้องถาม อยากถามก็ถาม อยากสอบก็สอบ แล้วในกระบวนการก่อนที่จะไปถามเขาคุณพันธนาการเขาด้วยสายเคเบิ้ลไทร์ก็ดี เอาผ้าดำหรือเอาถุงคลุมหัวด้วยก็ดี ทุกอย่างนี้เกิดขึ้นกับทุกเคสที่เราได้รับรายงานจากการทำคดี ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องปิดตาเอาถุงคุลมหัว แล้วก็มีการทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกจับในขณะที่เอาถุงคลุมศีรษะ”

    วิญญัติ ชาติมนตรี 1 ในทีมทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.) เล่าถึงปัญหาทางกฎหมายที่เจอจากการให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยในคดีชายชุดดำและคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ในช่วงปี 57-58 ซึ่งรวมถึงคดีปาระเบิดศาลอาญาด้วยว่า เรื่องเหล่านี้ไม่เคยถูกตรวจสอบในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงฎีกาว่าพยานหลักฐานที่นำมาใช้ในคดีได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

    “เมื่อเปรียบเทียบกับบันทึกการจับกุมในคดีอาญา มันมีสถานะเท่ากันหรือสถานะมากน้อยกว่ากันแค่ไหน มันกลายเป็นเอกสารนอกกฎหมายและวิธีการ มันจึงเป็นวิธีการนอกกฎหมายด้วยหรือไม่ตรงนี้ ศาลกลับไม่วินิจฉัย”

    วิญญัติชี้ว่าปัญหานี้มีกฎหมายที่ไปรับรองการใช้พยานหลักฐานแบบนี้อีกชั้นกล่าวคือ แม้ว่าในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3 จะระบุว่าศาลจะต้องห้ามรับฟังพยานบอกเล่า แต่กลับใส่ข้อยกเว้นไว้ในวงเล็บ 1 ระบุว่าเว้นแต่สภาพและแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นจะสามารถพิสูจน์ความจริงได้และวงเล็บ 2 ที่ระบุว่าถ้า “จำเป็น” ทำให้สามารถอ้างได้ว่าเอกสารบันทึกซักถามที่ได้มาภายใต้การควบคุมตัวของทหารสามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้

    ทนายความคดีชายชุดดำยังมองว่าปัญหานี้อาจกลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดการซ้อมทรมานหรือบังคับสารภาพได้ด้วย เพราะกระบวนการตั้งแต่ชั้นสอบสวนของตำรวจเป็นต้นมาก็รับรองพยานหลักฐานที่ได้มาจากกระบวนการตามกฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึกที่เกิดขึ้นก่อนเข้าสู่กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยขาดการตรวจสอบจากบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอย่างตำรวจ อัยการ และศาลด้วย

    ภาวิณีที่เป็นทนายความในคดีชุดคดีปาระเบิดศาลอาญาที่เริ่มในศาลทหารมาจบที่ศาลยุติธรรม ยังชี้ถึงปัญหาที่ต่อเนื่องกันมาอย่างการโอนย้ายสำนวนคดีจากศาลทหารมาศาลยุติธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังเลิกใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนเอาไว้ด้วย

    ทนายความของศูนย์ทนายความฯ มองว่าศาลยุติธรรมเองก็ไม่ได้เข้ามาตรวจสอบกระบวนการตั้งแต่จับกุมจนถึงการพิจารณาคดีของศาลทหารเลยเป็นเพียงการรับช่วงสำนวนคดีต่อมาเฉยๆ และทำแค่เฉพาะในส่วนที่ตัวเองมีอำนาจให้ทำ เมื่อประกาศหรือคำสั่งของ คสช.ที่สั่งให้โอนย้ายคดีมาไม่ได้เปิดช่องให้ตรวจสอบไว้ก็ถือว่าที่ทำมาแล้วก็จบไปโดยไม่กลับไปพิจารณาย้อนหลังกระบวนการที่เกิดขึ้นในศาลทหาร อย่างเช่นศาลทหารสั่งไม่ให้คัดถ่ายเอกสารทั้งที่เป็นสิทธิตามกฎหมายที่ทนายความจะต้องได้เพื่อใช้ในการต่อสู้คดีแต่ศาลยุติธรรมก็เพียงแค่สั่งใหม่ว่าให้คัดถ่ายได้

    “จริงๆ แล้วมันควรต้องมีการไปตรวจสอบย้อนหลังไปเลยว่าตั้งแต่ในศาลทหารเป็นธรรมมากน้อยกันแค่ไหน ในความเห็นของพี่นะซึ่งตอนนั้นตอนที่เราบอกให้ยกเลิกศาลทหารหนะ เราก็มีข้อเสนอแบบนี้ เราก็มีข้อเสนอว่าคดีที่อยู่ในศาลทหารมันต้องมาดูว่าคดีไหนที่มันไม่ควรต้องเป็นคดีก็คือยกไปเลย ส่วนคดีไหนที่เป็นคดีอาญาก็ต้องมาดูว่ากระบวนการมันชอบไม่ชอบอย่างไร ต้องเริ่มต้นใหม่ไหมหรือว่ากระบวนการที่มันชอบแล้วก็ทำตามนั้น แต่ตอนที่มันโอนมาคือปรากฎว่าโอนมาทั้งดุ้นเลย” ภาวิณีกล่าว

    ช่องทางตรวจสอบที่ใช้ไม่ได้จริง

    อย่างไรก็ตามการตรวจสอบการจับกุมและซ้อมทรมานในไทยเท่าที่มีในตอนนั้นยังมีอีก 2ช่องทางก็คือ การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการตรวจสอบการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90

    มาตรา 90 ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อตรวจสอบการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ มาตรานี้เปิดโอกาสให้ทั้งตัวผู้ถูกคุมขังเอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ รวมถึงครอบครัวผู้ถูกคุมขังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้เริ่มกระบวนการตรวจสอบและศาลจะต้องเริ่มกระบวนการตรวจสอบโดย “ด่วน” หากศาลเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลโดยให้ศาลเรียกหน่วยงานที่ทำการควบคุมตัวมาให้การต่อศาลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและนำตัวผู้ถูกควบคุมมาปรากฏตัวที่ศาลด้วย และถ้าศาลเห็นว่าการจับกุมควบคุมตัวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลยังมีอำนาจสั่งให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมได้อีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม การใช้กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติผู้ถูกจับกุมไม่รู้สถานที่ไม่รู้สังกัดของเจ้าหน้าที่เพียงแต่รู้คร่าวๆ ว่าเป็นหน่วยงานทหารภายใต้การบังคับบัญชาของ คสช. เท่านั้น

    ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่าที่ผ่านมาไม่เคยใช้กระบวนการนี้ในกลุ่มคดีความรุนแรงทางการเมืองเนื่องจากกว่าจะได้ทราบถึงการจับกุมเวลาก็ล่วงเลยมาจนมีการนำตัวส่งพนักงานสอบสวนแล้ว แต่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกันในกลุ่มคดีการแสดงออกทางการเมือง

    ภาวิณีกล่าวว่า การใช้มาตรา 90 เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้วศาลก็ไม่ได้นัดไต่สวนคำร้องในทันที ทำให้หลายครั้งเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวมาแล้วหรือนำตัวส่งต่อให้กับตำรวจไปก่อนแล้ว ศาลจึงยกเลิกการไต่สวนไปทำให้การจับกุมและควบคุมตัวที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่ถูกตรวจสอบหรือในกรณีของคดี 8 แอดมินเพจล้อเลียนประยุทธ์ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ที่ถูกทหารจับกุมไปค่ายทหาร เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลไปทางทหารก็นำตัวไปส่งตำรวจ ทำให้ในเวลานั้นไม่มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่จะเป็นบรรทัดฐานการตรวจสอบอำนาจรัฐในเวลานั้น แม้ว่าตามกระบวนการศาลควรจะนำตัวผู้ถูกจับกุมมาแสดงตัวต่อศาลเพื่อให้เห็นสภาพการควบคุมตัว

    กระบวนการยุติธรรมที่สร้างแต่ผู้เสียหายเพิ่ม

    ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นทุกคดีมีผู้เสียหายบ้างก็ได้รับบาดเจ็บหรือมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย แต่เมื่อหลายคดีศาลยกฟ้องจากปัญหาที่เกิดจากพยานหลักฐานที่ฝ่ายรัฐเอามาใช้กล่าวหา คดีที่ศาลลงโทษก็น่าเคลือบแคลง บางกรณีก็ชัดเจนว่าจำเลยได้กลายเป็นผู้เสียหาย ทำให้มีคำถามตามมาว่าพวกเขาทั้งหมดนี้จะได้ความยุติธรรมกลับมาหรือไม่ ทางออกของปัญหานี้ยังมีหรือไม่?

    “คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ต้องมาจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เป็นตัวแทนของประชาชนที่เลือกเขาเข้าไปจริงๆ แล้วพี่คิดว่ามีความพยายามของตัวแทนผู้แทนนักการเมือง ตัวแทนของคนในสังคมที่จะพยายามเสนอความคิดในการจัดการหรือว่าให้ความยุติธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุค คสช. หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไป แต่ว่าตอนนี้ในระบบแบบนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้หรอกแต่มันต้องเกิดจากกลไกของรัฐมันต้องไปด้วยกัน ซึ่งกลไกของรัฐจะไปทางเดียวกันได้ เห็นไปทางเดียวกันได้คือมีนโยบายฝ่ายบริหารที่เห็นไปทางนั้น แต่ตอนนี้ฝ่ายบริหารของเราเขายังไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหามันยังเป็นรัฐบาลนี้อยู่แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยประชาชน พี่คิดว่าเขาจัดการมรดกของ คสช.เหล่านี้อยู่แล้ว สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของมรดก คสช.ก็คือ คนที่ได้รับผลกระทบบาดเจ็บล้มตาย หรือว่าถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ก็คือมรดกจาก คสช. อยู่แล้ว พี่คิดว่าอนาคตเป็นไปได้” ภาวิณีจากศูนย์ทนายความฯ แสดงถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    อย่างไรก็ตาม ทนายความจากศูนย์ทนายความฯ ก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออาจจะมีคดีตัวอย่าง แต่เป็นเรื่องยากที่จะสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมดเพราะบางกรณีก็มีหลักฐานการละเมิดสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่ชัดเจนจนสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ลงมือกระทำและสืบสาวถึงผู้บังคับบัญชาที่สั่งการได้ แต่บางกรณีก็ไม่ได้ชัดขนาดนั้นหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดก็อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว

    ทั้งนี้ภาวิณีเสนอว่าการเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นรัฐก็ยังมีหน้าที่ต้องเอาผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีและลงโทษตามกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรสิทธิมนุษยชน แต่ก็ต้องทำให้เห็นว่าการที่รัฐใช้กระบวนการยุติธรรมทางลัดอย่างการใช้กฎอัยการศึกใช้ทหารดำเนินการ แทนที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียหายกลับทำให้เกิดเหยื่อหรือคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเพิ่มขึ้น และไม่มีทางหาจุดจบของปัญหาเพราะผู้ที่เป็นจำเลยก็มองว่าศาลไม่ยุติธรรมถึงจะยกฟ้องแต่ก็ต้องถูกขังหรือไปขึ้นศาลอยู่หลายปี ฝ่ายผู้เสียหายจากความรุนแรงก็มีคำถามว่าแล้วตกลงใครคือคนร้ายกันแน่

    “การที่รัฐทำแบบนี้คือพูดง่ายๆก็ไม่มีความจริงใจในการที่จะให้ความยุติธรรมกับฝ่ายผู้เสียหายเหมือนกันเพราะฉะนั้นสุดท้ายมันวนลูปมาที่ว่ามันต้องทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพจริงๆ แล้วไม่มีทางลัด ไปตามพยานหลักฐานจริงๆ พยานหลักฐานถึงไม่ถึงพี่คิดว่าทางฝ่ายผู้เสียหายและอะไรต่างๆเขาจะเห็นความจริงใจในการแก้ปัญหามากกว่า”

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
    Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
    Twitter : https://twitter.com/prachatai
    YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
    Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
    เรื่องที่เกี่ยวข้อง
    ข่าวรอบวัน
    สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

    ประชาไท