กองทัพพม่าประกาศต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน-ผู้นำทหารอยู่ยาวไปอีก 6 เดือน

เผด็จการทหารพม่าประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน อ้างว่าประเทศ "ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ" รวมถึงอ้างว่าประเทศยังไม่พร้อมจะเลือกตั้ง และยังต่ออายุการดำรงตำแหน่งผู้นำยาวออกไปด้วย

8 ก.พ. 2566 หลังจากที่มีการประชุมของสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติของพม่า (NDSC) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กรุงเนปิตอว์ NDSC มีมติออกมาว่าให้มีการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินของพม่าออกไปอีก และขยายเวลาการอยู่ในอำนาจของผู้นำเผด็จการทหาร มินอ่องหล่าย ไปอีก 6 เดือน โดยมีการประกาศเรื่องนี้ผ่านทางสื่อของรัฐบาลพม่า

ผู้นำเผด็จการทหารได้ส่งรายงานให้กับทางสภาความมั่นคงฯ ของพม่าซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนถึงการปกครองของทหารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2551 ของพม่าที่ร่างโดยเผด็จการทหารระบุให้ต้องมีการส่งรายงานดังกล่าวต่อสภาความมั่นคงฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำเผด็จการพม่านำมาอ้างให้ความชอบธรรมของตัวเองในการกุมอำนาจหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีมาตรา 425 ระบุว่า ผู้นำทหารของพม่าสามารถส่งรายงานเพื่อขอต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยให้มีการอ้างเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึง "ยังไม่สามารถทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงได้" ซึ่งทาง NDSC จะสามารถให้อนุญาตผู้นำทหารในการขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกสองครั้ง ครั้งละ 6 เดือน

ก่อนหน้านี้หลังจากที่เผด็จการทหารยึดอำนาจพวกเขาก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 2 รอบ รอบละ 6 เดือน ในครั้งล่าสุดนี้สถานการณ์ฉุกเฉินจะหมดอายุภายในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ถ้าหากไม่มีการต่ออายุอีกรอบหนึ่งแบบครั้งล่าสุดนี้

ในคำแถลงของทางการ มินอ่องหล่าย กล่าวซ้ำๆ ไปมาในเชิงให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารของตัวเอง โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งในปี 2563 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งในตอนนั้นพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี (NLD) ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย นอกจากนี้มินอ่องหล่ายยังอ้างว่าประเทศยังต้องเผชิญกับ "การก่อการร้าย" โดยกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านเผด็จการที่ผูกพันธมิตรกับองค์กรกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วย

NDSC อนุญาตให้มินอ่องหล่ายต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 6 เดือน โดยอ้างว่าเป็นเพราะประเทศพม่ายังคงอยู่ในสภาพการณ์ที่ "ผิดวิสัย" และ "ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ" โดยมีการอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 425 ในการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้

มินอ่องหล่ายอ้างยังไม่พร้อมให้มีการเลือกตั้ง

หัวหน้าคณะรัฐประหาร มินอ่องหล่าย อ้างอีกว่าประเทศพม่ายังไม่พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไป เพราะพม่ายังไม่มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ "เที่ยงตรง" และมีการเลือกตั้งอย่าง "เสรี" ได้ มินอ่องหล่ายอ้างว่าพื้นที่เมืองต่างๆ ครึ่งหนึ่งของพม่ายังคงขาดความมั่นคงและขาดเสถียรภาพ และบอกว่าพวกเขาต้องจัดเลือกตั้งอย่างพร้อมเพียงกันทุกแห่ง จะจัดเพียงบางแห่งไม่ได้

องค์กร NDSC นั้นเป็นองค์กรได้ตั้งขึ้นโดยรับหลักการมาจากจากรัฐธรรมนูญปี 2551 ฉบับที่ร่างโดยเผด็จการทหาร ประกอบด้วยสมาชิก 11 ราย ถึงแม้ว่า NDSC จะมีอำนาจบริหารเพียงบางส่วนในพม่า แต่จากโครงสร้างอำนาจแล้วสภา NDSC ที่ถูกควบคุมโดยกองทัพก็จะกลายเป็นตัวแทนที่ถือเสียงข้างมากได้แม้แต่ในช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนก็ตาม

นอกจากนี้ มินอ่องหล่าย ที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ยังขยายเวลาครองอำนาจเป็นผู้นำต่อไปได้ตามระยะเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะที่รัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ระบุไว้ว่า มีแต่ประธานาธิบดีเท่านั้นที่จะเป็นผู้ถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยของรัฐให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ภายใต้ "สถานการณ์ฉุกเฉิน"

ในเรื่องนี้ทำให้สมาชิกฝ่ายบริหารส่วนกลางของพรรค NLD คือ Aung Kyi Nyunt วิจารณ์ว่าการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินและต่ออายุตำแหน่งของตัวเองเช่นนี้เป็นเรื่อง "ผิดกฎหมาย" Kyi Nyunt บอกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะจบลงก็ต่อเมื่อพวกเผด็จการทหารเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจอีกต่อไปแล้วเท่านั้น

ในช่วงครบรอบ 2 ปีการรัฐประหารพม่า ประชาชนในหลายเมืองต่างก็ทำการประท้วงด้วยการ "สไตรค์เงียบ" โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆ ในทางสาธารณะ และชาวพม่าในประเทศไทยมีการเดินขบวนและเรียกร้องให้กองทัพพม่าเลิกยึดกุมอำนาจ โดยมีการประณามการกระทำของกองทัพพม่าว่าเป็นเรื่อง "ผิดกฎหมาย"

นอกจากนี้หนึ่งคืนก่อนที่เผด็จการทหารพม่าจะประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มประเทศอย่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ก็ประกาศจะขยายการคว่ำบาตรต่อเผด็จการทหาร โดยมีการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลังงานของเผด็จการทหารและเครือข่ายของกลุ่มผู้จัดหาทรัพยากรและพวกพ้องของกลุ่มคนเหล่านี้

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar regime extends military rule for another six months, Myanmar Now, 01-02-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท