Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์ประเมิน 'วิกฤตราคาน้ำมัน-อาหารโลก' ระลอกใหม่อาจเกิดขึ้นหากสงครามขยายวงกว้าง และปูตินเลือกใช้ราคาอาหาร และราคาพลังงานเป็นอาวุธตอบโต้ เสนอมาตรการเชิงรุกรับมือความท้าทายจากสงครามคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและสงครามยุโรป       

26 ก.พ. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนแสดงความเห็นถึงผลกระทบของพัฒนาการล่าสุดของสงครามยูเครนและระบอบปูตินรัสเซีย ว่า  จะเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและการขาดแคลนอาหารโลกระลอกใหม่ได้หากมีการขยายวงของสงครามระบอบปูตินรัสเซีย เป็น สงครามยุโรป ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่คู่ความขัดแย้งในสงครามยูเครนจะเปิดการเจรจาสันติภาพ ข้อเสนอ 12 ของจีนเพื่อยุติสงครามและสร้างสันติภาพเป็นข้อเสนอที่ดีแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซีย ในนาโต้ ในสหรัฐอเมริกา อันนำสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายสงครามในยูเครน หากจีนยังรักษาท่าทีโดยไม่แสดงการสนับสนุนรัสเซียอย่างแจ้งชัด สงครามจะยังไม่ลุกลาม วิกฤตการณ์ราคาพลังงานในยุโรปบรรเทาลงบ้างจากแหล่งพลังงานจากนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกาและการ์ตาชดเชยพลังงานจากรัสเซีย การลดกำลังการผลิตและลดการส่งออกจึงไม่มีผลต่อยุโรปมากนัก การเปิดประเทศของจีน ทำให้อุปสงค์ต่อพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้น อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาราคาพลังงานเพิ่มสูงรอบใหม่ได้ แต่ระดับราคาน้ำมันดิบ (Crude Oil) ไม่น่าจะกลับไปอยู่ในระดับราคาน้ำมันดิบ (Crude Oil) 110-117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้เช่นในช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 

การที่ระบอบปูตินรัสเซียใช้กองกำลังทหารบุกยึดคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) และ ผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แทบไม่มีการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ยึดครอง และ ขั้วอำนาจตะวันตกก็ไม่เข้ามาแทรกแซงต่อกรณีดังกล่าว การรุกรานของรัสเซียเมื่อหนึ่งปีที่ผ่าน สถานการณ์ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง กองทัพและประชาชนยูเครนออกมาต่อต้านกองทัพรัสเซียอย่างกล้าหาญและเข้มแข็ง สมาชิกนาโต้และรัฐเพื่อนบ้านยูเครนล้วนมอง ระบอบปูตินรัสเซีย ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง สันติภาพและเสถียรภาพของทวีปยุโรป   โดยชาติตะวันตกมีแนวโน้มเพิ่มการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อระบอบปูตินรัสเซียเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศรัสเซีย ขณะเดียวกัน ระบอบปูตินรัสเซียจะตอบโต้กลับ อาจสร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกในอนาคตได้  รัฐไทยจึงควรมีมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือความท้าทายจากสงครามคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม 

 ผลของสงครามจากรัสเซียในรอบ  1 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อยูเครน ทำให้จีดีพียูเครนติดลบ -35% ไอเอ็มเอฟประเมินหดตัวประมาณ 30%  อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 26-27% ประชาชนอยูใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้น 60% จากระดับเพียง 18% ก่อนสงครามรุกรานปะทุขึ้น ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของยูเครนไม่ต่ำกว่า 1.38 แสนล้านดอลลาร์ การฟื้นฟูก่อสร้างขึ้นมาใหม่อาจใช้เงินสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลยูเครนต้องทำงบประมาณขาดดุลสูงถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ไอเอ็มเอฟเผยระบบเศรษฐกิจยูเครนยังเดินหน้าได้ท่ามกลางความเสียหายและความท้าทาย สะท้อนความเข้มแข็งและการไม่ยอมแพ้ของชาวยูเครน 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าเมื่อปีที่แล้ว วิกฤตการณ์อาหารโลกอันเป็นผลจากสงครามยูเครนและภัยแล้ง ทำให้ 30 กว่าประเทศระงับการส่งออกอาหาร สถานการณ์ปีนี้ดีขึ้นบ้าง บางประเทศยกเลิกมาตรการระงับส่งออกอาหารไปแล้ว การจำกัดและระงับการส่งออกอาหารในประเทศต่างๆกว่า 30 ประเทศเมื่อปีที่แล้วเป็นการแก้ปัญหาภายในประเทศตัวเองแต่ทำให้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้นทุนการแก้ปัญหาสูงขึ้นและไม่เกิดประสิทธิภาพ สงครามทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชได้รับความเสียหาย และ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอน มองหาประเทศส่งออกมาแทนที่รัสเซียและยูเครน เนื่องจากสงครามส่งผลให้ผลผลิตติดค้างในยูเครน ส่วนการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกทำให้การซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียทำได้ยาก สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ จะทำให้ทั่วโลกหันไปพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย เพื่อบรรเทาปัญหาดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม สงครามยูเครนที่ยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ อาจไม่ได้ทำให้ ราคาอาหารพุ่งขึ้นไปมากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากได้มีการสร้างกลไกให้มีการส่งออกธัญพืชออกจากยูเครนได้ 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามยืดเยื้อในยูเครนทำให้พื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมากได้รับความเสียหาย และ ยังไม่อยู่ในภาวะที่เข้าฟื้นฟูได้ในหลายพื้นที่เพราะยังมีการต่อสู้กันอยู่ ภาวะดังกล่าวทำให้สมาชิกอียูบางประเทศ รวมทั้ง สหราชอาณาจักร เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารจากภัยแล้งแหล่งผลิตอาหารนำเข้าสำคัญของอังกฤษและผลกระทบสงครามยูเครน จนกระทั่งต้องมีโควต้าในการซื้ออาหารตามซูเปอร์มาร์เก็ตและมีมาตรการปันส่วนอาหารกันแล้ว ปัญหาการขาดแคลนอาหารในยุโรปส่งผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารส่งออกของไทย อินเดียก็ต้องระงับการส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และ ป้องกันไม่ให้ราคาภายในปรับตัวสูงเกินไป และ อินเดียมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารและพืชผลทางการเกษตรเพิ่มเติม มาตรการห้ามส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของหลายประเทศที่ส่วนใหญ่สิ้นสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว อาจมีการกลับเอามาใช้ใหม่อีกหากสถานการณ์วิกฤติอาหารกลับมา บางประเทศได้ยืดระยะเวลาการสิ้นสุดของมาตรการออกไป วิกฤตการณ์อาหารอาจเพิ่มความถี่และความรุนแรงมากขึ้นเป็นระยะๆจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เทคโนโลยีทำให้ผลิตผลต่อไร่และผลิตภาพในอุตสาหกรรมอาหารดีขึ้นอาจช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง แต่ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วต้องบริโภคอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าเพื่อแบ่งปันอาหารและสินค้าเกษตรให้กับประชากร 193 ล้านคนใน 53 ประเทศที่เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร ในจำนวน 193 ล้านคนนี้ มีอยู่ประมาณ 40 ล้านคนที่เกิดภาวะไม่มั่นคงในการเข้าถึงแหล่งอาหารแบบเฉียบพลันจากภาวะสงครามในยูเครน  

แม้นดัชนีราคาอาหารโลกยังทยอยปรับตัวลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุดเดือนมีนาคมปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 159.7 ล่าสุด ดัชนีราคาอาหารโลกลงมากว่า 17% จากระดับสูงสุด FAO food Price Index เดือนมกราคมปี พ.ศ. 2566 ลงมาอยู่ที่ 131.2 ปรับลงมาจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว 0.8% แต่ก็ยังถือว่า ระดับดัชนีราคาอาหารโลกยังสูง เพราะดัชนีนี้เคยอยู่ที่ระดับ 67.4 ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีที่พืชผลเกษตรกรรมและปศุสัตว์มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีภัยพิบัติธรรมชาติและสงครามใหญ่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาอาหารโลกและราคาพลังงานโลกอาจพลิกกลับได้ตลอดเวลา หากสงครามขยายวง และ ระบอบปูตินรัสเซียเลือกใช้ ราคาอาหาร และ ราคาพลังงานเป็นอาวุธตอบโต้ ด้วยการปิดกั้นการขนส่งธัญพืชส่งออกจากยูเครนและพื้นที่โดยรอบ คว่ำบาตรชาติตะวันตกด้วยการไม่ส่งออกน้ำมันหรือลดกำลังการผลิตพลังงาน    

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าความมั่นคงทางอาหารย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อปีที่แล้วอาจดำเนินต่อไปหากสงครามขยายวงและยืดเยื้อต่อ สงครามยูเครนทำให้ ผู้คนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 139-140 ล้านคนใน 24 ประเทศเกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน 24 ประเทศล้วนเป็นประเทศยากจนด้อยพัฒนาในแอฟริกา ละตินอเมริกา แต่ปีนี้ ปัญหาจะลุกลามมาที่ประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปมากขึ้น ปัญหาวิกฤติอาหารและวิกฤติพลังงานมีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกระดับหลายพันล้านคน แม้นไม่มีสงครามยูเครน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องระยะยาว ภัยแล้ง และ อุทกภัยครั้งใหญ่จะทำลายพื้นที่ทางการเกษตรเป็นระยะๆอยู่แล้ว ภาวะดังกล่าวยังกดดันให้ประเทศต่างๆแสวงหาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากขึ้น  ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานจึงมีความสำคัญมากต่อหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรและต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ 

 การระงับส่งออกอาหารและกักตุนอาหารจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคเกษตรกรรมหรือกิจการพลังงานจึงต้องดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์และความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ การเปิดเสรีทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าอาหารจะชะงักงันไประยะหนึ่ง สถานการณณ์น่าจะยืดเยื้อไปถึงกลางปี พ.ศ. 2567 และดัชนีราคาอาหารโลกไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับต่ำกว่า 100 เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 วิกฤติความมั่นคงทางอาหารครั้งนี้ต่างจากวิกฤติราคาอาหารโลกเมื่อปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งวิกฤติคราวนั้นเป็นผลจากภัยแล้งรุนแรง และ การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก รวมทั้งการใช้พลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตรที่กระจุกตัวในประเทศหลักๆไม่กี่ประเทศ สำหรับคราวนี้ สงครามยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะยูเครนพื้นที่สงครามเป็นแหล่งผลิตธัญพืชส่งออกหลายตัว การผลิตการเก็บเกี่ยวยังมีความยากลำบาก กว่าจะทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตามปรกติคงต้องใช้เวลาอีกนานมากทีเดียว ข้อตกลงอนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชและปุ๋ยผ่านทะเลดำเพื่อบรรเทาความไม่มั่นคงด้านอาหารโลกของรัสเซียกับสหประชาชาติจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มีนาคม ปีนี้ หากไม่มีการขยายเวลาออกไปอีกจะกระทบต่อการขาดแคลนอาหารและปุ๋ยทั่วโลกรอบใหม่ได้ 

ราคาอาหารของโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30-40% แล้วนับตั้งแต่สงครามยูเครนกับระบอบปูตินรัสเซียปะทุขึ้น กระทบผลผลิตเบื้องต้นไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10-20% ปัญหาวิกฤติอาหารอาจใหญ่กว่าวิกฤติพลังงานและอาจใช้เวลาแก้ไขนานกว่า เป็นภัยคุมคามต่อประเทศยากจนทั่วโลกและประเทศพัฒนาแล้ว และ อาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ มีการประเมินโดยองค์การอาหารโลก FAO และของธนาคารโลก พบว่า คนจนในประเทศยากจน 10 ล้านคนจะถูกผลักให้อยู่ในฐานะ ยากจนรุนแรง ทันที จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น 1% เพราะรายจ่ายในการซื้ออาหารคิดเป็นมากกว่า 50-60% ของรายได้ของคนเหล่านี้ และในช่วง 2 ปี จากการแพร่ระบาดของโควิด คนกลุ่มนี้ก็มีรายได้ลดลง หรือ ว่างงานมากว่า 2-3 ปีแล้ว 
  
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสที่ดีของภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทย กรณีของไทยเราไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควตาหรือระงับการส่งออก แต่เราควรเร่งส่งออกหากผลิตเหลือใช้เหลือบริโภคจำนวนมาก และ ควรจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2566-2567 เพิ่มเติมให้กับภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอาหารในการลงทุนวิจัย ลงทุนพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเดินหน้าสู่การเป็น ครัวของโลก เป็นศูนย์กลางภาคเกษตรกรรมคุณภาพสูงของโลก ถือเป็นการทำภารกิจเพื่อมนุษยชาติโดยรวม ไม่ได้ทำหยุดอยู่ที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแห่งชาติเท่านั้น นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์การอาหารโลก (Food and Agricultural Organization of the United Nations) เพื่อขจัดความหิวโหยและการเข้าถึงอาหารอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ 

ความต้องการสินค้าอาหารหลายชนิดจากไทยจะเพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออกที่หายไปจากประเทศที่ระงับการส่งออก และ จะขายได้ราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีธัญพืชบางตัว วัตถุดิบผลิตอาหารบางอย่างที่เราต้องนำเข้าก็จะได้รับผลกระทบ ของอาจแพงขึ้นมาก และ อาจขาดแคลนได้ เป็นปัญหาของโลกโดยรวม ล่าสุด ทางธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมั่งคงอาหารโลก โดยอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลลาร์ และได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆเพิ่มปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร การผลิตปุ๋ย การชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตที่เปราะบาง  

โดยภาพรวม ไทยได้ประโยชน์จากรายได้ส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน ราคาอาหารและค่าครองชีพในประเทศจะแพงขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้  คาดว่า รายได้จากภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐก็ควรไปหามาตรการหรือกลไกที่ทำให้รายได้เหล่านี้กระจายไปสู่ผู้ผลิตและเกษตรกรอย่างเป็นธรรม ส่วนผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอาหารแพง คือ คนจน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจะคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของคนกลุ่มนี้ คนที่กระทบหนักสุด คือ คนจนเมือง รัฐอาจต้องจัดมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนมาก เช่น คูปองอาหาร เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม เป็นต้น

ราว 1 ใน 4 ของแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตอาหารในยุโรปมาจากรัสเซีย การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมเพื่อผลิตปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการในระยะเวลาที่สั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรจะพุ่งสูงขึ้น และผลผลิตจะมีปริมาณต่ำลงมากและดันให้ราคาอาหารทะยานสูงขึ้นทั่วโลก จำนวนมนุษย์ครึ่งหนึ่งของโลกรวมทั้งปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงเพื่อนำมาบริโภคได้อาหารจากการใช้ปุ๋ย หากการขาดแคลนปุ๋ยเกิดขึ้นในเวลายาวนานจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50% เวลานี้ รัฐบาลรัสเซียได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตระงับการส่งออกปุ๋ย เราจะเห็นคนอดตายจากการขาดอาหารเพิ่มขึ้น รัสเซียเป็นผู้ผลิตสารอาหารสำหรับพืชรายใหญ่ เช่น แร่โปแตช (potash) และฟอสเฟต (phosphate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชผลมีผลผลิตตามเป้าหมาย บรรทษัทข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนอย่าง ยารา อินเตอร์เนชันแนล (Yara International) ซึ่งดำเนินธุรกิจปุ๋ยในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซื้อวัตถุดิบดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยจากรัสเซียและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในยูเครนที่เป็นพื้นที่สงคราม โรงงานได้รับความเสียหายและยังไม่มีการฟื้นฟู สำหรับไทยซึ่งต้องนำเข้าปุ๋ยจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยรอบใหม่ การเตรียมการเพื่อจัดซื้อล่วงหน้าเพื่อสต็อคของเอาไว้มีความจำเป็นเร่งด่วน และ คาดว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนปุ๋ยอย่างแน่นอน ในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยควรต้องมีการลงทุนโครงการทางด้านผลิตปุ๋ยใช้เองเพื่อให้เกิดความมั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งอาจมีความจำเป็นในการรื้อฟื้นโครงการปุ๋ยของอาเซียน 

รศ.ดร.อนุสรณ์  กล่าวต่อว่าหากระบอบปูตินรัสเซียจะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้น ข่มขู่ทางการทหารหนักขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่ประการใด เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ชาติตะวันตก เนื่องจากผู้นำชาติตะวันตกรวมทั้งการเยือนยูเครนของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นการแสดงจุดยืนชัดว่า ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริการสนับสนุน ยูเครน ในการปกป้องตัวเองจากการรุกรานของกองทัพรัสเซีย ในมุมมองของรัสเซียแล้ว การใช้กองทัพรุกรานดินแดนของยูเครน เป็นเพียงการใช้ปฏิบัติการพิเศษทางการทหารต่อยูเครน เท่านั้น เป็นการมองในมิติของตัวเองฝ่ายเดียวเพราะสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ 141 ชาติรวมทั้งไทยได้ประณามรัสเซีย เรียกร้องให้ระบอบปูตินถอนทหารออกจากยูเครนทั้งหมดและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้กล่าวถึง มติของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ว่า เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนยุติความรุนแรงในยูเครน เปิดทางให้มีการเจรจาและใช้วิถีการฑูตในการแก้ปัญหา กล่าวประณามกองทัพรัสเซียรุกรานประเทศเพื่อนบ้านว่า เป็นการดูหมิ่นต่อหลักมโนธรรมร่วมของประชาคมโลก รวมถึงขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ความเพิกเฉยมีแต่จะยิ่งทำให้วิกฤตรุนแรงยิ่งขึ้น   
       
อย่างไรก็ตาม การก่อสงครามของระบอบปูตินรัสเซีย ก็เป็นผลมาจากการที่ ชาติตะวันตกไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเดิมหลังการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต มีการขยายอิทธิพลและสมาชิกนาโต้ไปยังยุโรปตะวันออกกระทั่งถึงดินแดนอดีตสหภาพโซเวียตบางส่วนอีกด้วย แต่การขยายอิทธิพลและสมาชิกนาโต้ก็เป็นผลมาจากประชาชนและรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประเทศดังกล่าวตัดสินใจเช่นนั้นเอง มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆที่สงครามยูเครนจะขยายวงเป็นสงครามในยุโรปได้หลังการเยือนแผ่นดินยูเครนลับสุดยอดของผู้นำสหรัฐอเมริกาและมีการนำมาเปิดเผยภายหลังอย่างมียุทธศาสตร์ เป็นการส่งสัญญาณของกลุ่มชาติตะวันตกว่า พร้อมยกระดับ สงครามระหว่างยูเครนกับระบอบปูตินรัสเซีย เป็น สงครามโดยตรงระหว่างชาติตะวันตกกับระบอบปูตินรัสเซียชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากเป็นเช่นนั้น ผลของมันจะทำให้ สงครามยูเครนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อยาวนานเหมือนสงครามเวียดนามและสงครามในอัฟกานิสถาน อาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆทางการทหารและปฏิบัติการทางด้านสงครามไซเบอร์ การใช้อาวุธชีวภาพและเชื้อโรค อันเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ รัฐไทยและรัฐบาลหลังการเลือกตั้งควรดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือความท้าทายจากพลวัตของสงครามยูเครนดังกล่าว ดังนี้

ประการแรก นโยบายต่างประเทศของไทยต้องยึดมั่นในความเป็นกลางและการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ต้องแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรุกรานประเทศอื่นๆด้วยกองกำลังและเคารพหลักบูรณภาพแห่งดินแดน องค์การสหประชาชาติจะมีความสำคัญมากขึ้น และ ประเทศสมาชิกต้องผนึกกำลังกันเพื่อต่อต้านสิ่งที่เป็นภัยคุกคามร่วมของมนุษยชาติ  

ประการสอง นโยบายยึดผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและสังคมต่อขั้วความขัดแย้งทั้งหมด

ประการที่สาม ยุโรป รัสเซีย และยูเครนจะเป็นภูมิภาคที่ถดถอยลงอย่างมากยกเว้นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียและเยอรมัน เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารและพลังงานได้เป็นระยะๆ ความยากจน แร้นแค้นทางเศรษฐกิจ การล่มสลายทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ กระแสการเมืองขวาจัดคลั่งชาติอาจเติบโตขึ้นเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย ต่อภูมิภาคยุโรปเพิ่มขึ้นไปอีก ไทยควรเพิ่มบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคยุโรป ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและเป็นแหล่งพึ่งพาในการส่งออกอาหารอันเป็นผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม

ประการที่สี่ เพิ่มปริมาณการค้า การลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นโดยเฉพาะอาเซียน พร้อมทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มเติมในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และ อเมริกาใต้  

ประการที่ห้า รัฐควรส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยภายในประเทศเพิ่มขึ้นและพิจารณามาตรการอุดหนุนต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร 

ประการที่หก รัฐบาลต้องปรับปรุงฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันด้วยการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มในภาวะราคาน้ำมันลดลงเพื่อเตรียมเม็ดเงินสำหรับใช้รักษาเสถียรภาพราคาพลังงานเมื่อราคาน้ำมันกลับสูงขึ้นรอบใหม่ 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่าโอกาสที่ระบอบปูตินรัสเซียจะได้ชัยชนะทางการทหารและทางการเมืองระหว่างประเทศมีน้อยมาก รัสเซียของระบอบปูตินนั้นอ่อนแอกว่าสหภาพโซเวียตของระบอบสตาลินมาก หากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก จีน อินเดีย ไม่มีทางที่ ระบอบปูตินรัสเซียจะรับมือกับสงครามในยูเครนหากมีการขยายวงเป็นสงครามยุโรปหรือสงครามเย็นครั้งใหม่ได้เลย ขนาดของกองทัพ ขนาดของจีดีพีและระบบเศรษฐกิจ ขนาดของประชากร ระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่สามารถเทียบชั้นกับอียูหรือสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ระบอบปูตินยังขาดอุดมคติที่เป็นสากล จึงขาดแนวร่วมในระดับสากล ชาตินิยมของระบอบปูตินทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวตัวเองอย่างมากท่ามกลางโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ ต้องทำอย่างไรที่จะให้ ระบอบปูติน ยอมถอยโดยไม่สูญเสียศักดิ์ศรี การบีบให้ยอมแพ้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ ทางการทหารหรือการเมือง อาจนำมาสู่ความเสียหายต่อโลก และการขยายวงของสงคราม ความขัดแย้ง ความเสียหายทางเศรษฐกิจ การล่มสลายของอารยธรรมของมนุษยชาติและชีวิตของผู้คนจำนวนมาก 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net