Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เห็นเพจธรรมะทำแคปชั่นคำพูดพุทธทาสที่ว่า “โลกนี้คือกรงไก่ที่ไก่แต่ละตัวในกรงนั้น
จะจิกกันเองไปตลอดเวลาจนกว่าจะ..ถูกฆ่า” ตามด้วยความเห็นสอดรับกันของ ป.อ. ปยุตฺโตว่า “สังคมไทยเหมือนไก่ในเข่ง ในเทศกาลตรุษจีนเขาจะเอาไก่เป็ดใส่เข่งไปขึ้นเขียง เพื่อทำเป็นเครื่องไหว้เจ้าในวันตรุษจีน แล้วคนก็ได้กินด้วย ไก่ทั้งหลายแต่ละตัวในเข่ง มองไปทางไหนก็เห็นแต่พวกเดียวกัน แล้วก็กระทบกระทั่งกัน จิกตีกันวุ่นวาย จนกระทั่งในที่สุดก็ไปขึ้นเขียงตายไปด้วยกันทั้งหมด...” (ที่มา https://www.facebook.com/photo/?fbid=533107092241371&set=a.424263586459056)

เพจธรรมะนั้นอ้างที่มาความคิดพุทธทาส จากหนังสือ “อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์” ตีพิมพ์ปี 2529 อ้างที่มาความคิดปยุตฺโต จากหนังสือ “ธรรมกับไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน” ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2542 ไม่แน่ใจว่าแอดมินเพจต้องการสื่อหรือไม่ว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยกว่าทศวรรษมานี้เป็นปรากฏการณ์แบบไก่ในกรง ไก่ในเข่ง ดังที่สองปราชญ์พุทธเคยวิจารณ์ไว้นานแล้ว ซึ่งคำวิจารณ์นั้นยังคงเป็น “สัจธรรม” อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้?

ที่จริงผมนึกถึง “หมอประเวศ วะสี” ด้วย เขาเคยใช้วาทกรรม “ไก่ในเข่ง” วิจารณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยแบบเดียวกันนี้เลย เห็นได้ว่า “ทฤษฎีไก่ในกรง/ไก่ในเข่ง” เป็นทฤษฎีหลักหนึ่งที่ปราชญ์พุทธและปัญญาชนพุทธแถวหน้าในบ้านเราใช้วิจารณ์คนไทยหรือสังคมไทย

คำถามคือ คำวิจารณ์ดังกล่าวนั้น “โฟกัส” ที่การกระทำ พฤติกรรมของคน หรือโฟกัสที่ “กรง, เข่ง” เท่าที่อ่านมา ดูเหมือนสองปราชญ์พุทธจะโฟกัสที่การกระทำหรือพฤติกรรมของคนไทยที่ขาดธรรมะ ศีลธรรม ขาดปัญญา ขาดสัมมาทิฐิทำนองนั้นเป็นด้านหลัก ขณะที่หมอประเวศพูดถึงปัญหา “อำนาจรวมศูนย์” และเสนอ “กระจายอำนาจ” และสร้างสังคมที่มี “สัมมาทิฐิ สัมมาปัญญา” แต่ก็ไม่เคยแตะโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์บนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา หรือแม้แต่เฉียดๆ ขณะที่ฟาดฟันนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแบบเต็มเหนี่ยว

ผมไม่สงสัยใน “เจตนาดี” ต่อสังคมไทยของสองปราชญ์พุทธและหมอประเวศดอกครับ แต่เห็นยังมีคนที่พยายามใช้ “ทฤษฎีไก่ในกรง” อธิบายความขัดแย้งในยุคปัจจุบันอยู่ ทำให้นึกถึง “ทฤษฎีวงศาวิทยาของศีลธรรม” (The Genealogy of Morals) ของฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche, 1844-1900) ที่ผมเคยเขียนถึงแล้ว (ดู https://prachatai.com/journal/2023/02/102714)

นีทเชอชวนเราคิดว่าแทนที่เราจะหาคำตอบว่า ศีลธรรมที่คนเชื่อกันอยู่ดีในตัวมันเองอย่างไร ควรไปสำรวจและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของการสร้างความเชื่อทางศีลธรรมแบบนั้นๆ ขึ้นมา เพื่อหาความจริงว่า ชุดความเชื่อทางศีลธรรมนั้นๆ มี “สาแหรก” วงศาคณาญาติหรือโคตรเหง้าเหล่ากอของพวกมันอย่างไร และตั้งคำถามว่า คุณค่าทางศีลธรรมแบบต่างๆ มาจากไหน คุณค่าทางศีลธรรมเหล่านั้นให้อะไรกับผู้คนที่ยึดถือมัน หรือพวกเขาใช้มันอย่างไรกันแน่ 

เมื่อใช้ทฤษฎีวงศาวิทยาทางศีลธรรมมาตั้งคำถามว่า ความคิดทางศีลธรรมแบบพุทธทาส, ปยุตฺโต และหมอประเวศเป็น “สาแหรก” หรือเป็นเครือญาติของ “ศีลธรรมโลกวิสัย” (secular morality) ที่เป็นศีลธรรมแบบยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมทางสังคมการเมืองที่ยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือไม่ 

คำตอบที่ผมพบคือ “ไม่น่าใช่” เพราะพุทธทาสเองเคยแสดงปาฐกถาธรรมต่อหน้าปรีดี พนมยงค์ (ผู้สำเร็จราชการแทน ร.8) และปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น โดยตีความพุทธธรรมและ “จริยาวัตร” ของพุทธะสนับสนุน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” และตีความว่าระบบสังฆะตามธรรมวินัยมีความเป็นประชาธิปไตยชัดเจนมาก แต่ในบริบทประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 พุทธทาสกลับเสนอว่าพุทธะ (และธรรมราชาอโศก) คือ “ต้นแบบของผู้เผด็จการโดยธรรม” และตีความพุทธธรรมเสนอแนวคิด “ธรรมาธิปไตยและเผด็จการโดยธรรม” ซึ่งหมายถึง เผด็จการโดยผู้ปกครองที่เป็น “คนดี” ที่ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ คุณธรรมของผู้ปกครองที่เป็นคนดีก็คือ “ทศพิธราชธรรม” และธรรมะของผู้ปกครองข้ออื่นๆ ตามคำสอนพุทธศาสนานั่นเอง

ดังนั้น แนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสจึงไม่เชื่อมโยงกับ “ประชาธิปไตยโลกวิสัย” (secular democracy) อันเป็นลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะพุทธทาสอ้างหลักศาสนามากำกับประชาธิปไตย ด้วยตรรกะที่ว่า “ประชาธิปไตยจะเป็นระบอบที่เลวร้ายที่สุด หากไม่มีธรรมะหรือศีลธรรมกำกับ” รวมทั้งเสรีภาพ ความเสมอภาคก็ไม่ใช่สิ่งมีค่าในตัวมันเองหากไม่มีศีลธรรมกำกับ แต่ศีลธรรมแบบไหนหรือ ตามข้อเสนอพุทธทาสก็ไม่ใช่ศีลธรรมโลกวิสัย (ซึ่งตรงข้ามกับทไลลามะที่ตีความพุทธธรรมสนับสนุนศีลธรรมโลกวิสัย)

แนวคิดธรรมาธิปไตยและเผด็จการโดยธรรมของพุทธทาสเหมือนจะเสนอเป็น “ทางสายกลาง” ระหว่างอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่เป็นประเด็นความขัดแย้งเวลานั้น แต่เนื้อหาความคิดธรรมาธิปไตยและเผด็จการโดยธรรมก็คือ “สาแหรก” หรือวงศาคณาญาติของ “พุทธราชาชาตินิยม” เพราะพุทธทาสเองก็เคยแสดงเทศนาที่เน้นความสำคัญของ “ชาติ ศาสนา (พุทธ) พระมหากษัตริย์” ในฐานะศูนย์รวมความสามัคคีของประชาชน และเป็นสาแหรกของ “ประชาธิปไตยแบบไทย” เพราะพุทธทาสโยงแนวคิดธรรมาธิปไตยและเผด็จการโดยธรรมกับ “ระบบพ่อปกครองลูก” ยุคสุโขทัยที่เป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย” ตามนิยามของชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยม เช่น เสนีย์ ปราโมช หลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น

พูดให้ตรงขึ้นอีกแนวคิดธรรมาธิปไตยและเผด็จการโดยธรรมของพุทธทาสก็เป็นวงศาคณาญาติกับทฤษฎีการปกครองโดยคนดี ตามพระราโชวาทของ ร.9 ที่ว่า “....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”  ดังที่เราทราบจากการประชาสัมพันธ์อยู่เสมอๆ นั่นเอง 

ส่วนความคิดทางศีลธรรมของปยุตฺโต ก็ชัดเจนว่าเป็นวงศาคณาญาติของพุทธราชาชาตินิยม และเขาใช้จุดยืนพุทธราชาชาชาตินิยมคัดค้าน “การแยกศาสนาจากรัฐ” หรือรัฐโลกวิสัย ปกป้องการเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียนรัฐบาล ยืนยันว่าหลักจริยธรรมพุทธเป็น “หลักจริยธรรมของชาติ” และถ้าสถาปนาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยย่อมจะเป็นหลักประกันเสรีภาพทางศาสนาให้มั่นคงได้ดีกว่า เป็นต้น 

เช่นเดียวกับปัญญาชนพุทธคนอื่นๆ ในบ้านเรา ทั้งพุทธทาส, ปยุตฺโต, ประเวศต่างอ้างหลักศีลธรรมพุทธวิจารณ์ปัญหาจริยธรรมนักการเมืองและประชาชน เฉพาะปยุตฺโตเองสร้างวาทกรรมว่า “ธรรมาธิปไตยไม่มาจึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ” โดยโฟกัสไปที่นักการเมืองและประชาชนไม่มีธรรมาธิปไตย แต่ “ละเว้น” ที่จะตั้งคำถามว่าการปกครองที่ยึดธรรมาธิปไตยอย่างเช่น “การปกครองโดยธรรม” ของกษัตริย์มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และระบบปกครองสงฆ์ที่ใช้ธรรมาธิปไตยมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร 

ตัวอย่างที่ยกมาทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมปราชญ์พุทธและปัญญาชนพุทธไม่เคยตั้งคำถามและวิจารณ์ปัญหาของ “กรง” หรือ “เข่ง” ที่ขังไก่ อันเป็นสาเหตุทำให้ไก่จิกตีกันเองมายาวนาน นั่นคือ ไม่เคยตั้งคำถามและวิจารณ์ปัญหาโครงสร้างของ “ประชาธิปไตยแบบไทยบนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่ไม่เคยเป็น “ประชาธิปไตยสมัยใหม่” ได้จริง 

เมื่อผมแชร์แคปชั่นความคิดของปราชญ์พุทธทั้งสองมาวิจารณ์ มีมิตรสหายบางคนมองว่าทำไมผมไม่เคารพปราชญ์ทั้งสอง คำถามคือ “เคารพคืออะไร” หมายถึงต้องสาธุรัวๆ แบบในเพจธรรมะเช่นนั้นหรือ ผมคิดว่าคงไม่ใช่ ผมเคารพใน “เจตนาดี” ต่อสังคมไทยของพุทธทาส ปยุตฺโต หมอประเวศและคนอื่นๆ ครับ แต่ผมเห็นว่าความคิดแบบพุทธของชนชั้นนำทั้งสามมีปัญหาดังที่วิจารณ์มานี้ (เป็นต้น) 

ปัญหาตามที่ผมวิจารณ์ ยังเห็นได้จากการผลิตสร้างแนวคิดธรรมาธิปไตยและเผด็จการโดยธรรมของพุทธทาส ที่เป็นการเสนอชุดศีลธรรมทางการเมืองที่เป็นสาแหรกของประชาธิปไตยแบบไทยที่ยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้ส่งผลตามมาให้แกนนำ พธม., กปปส. หรือสุเทพ, พุทธะอิสระ, สมณะโพธิรักษ์ (เป็นต้น) ต่างอ้างธรรมาธิปไตยและเผด็จการโดยธรรมตามความคิดพุทธทาสในการต่อสู้ทางการเมืองที่เอื้อต่อรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา

ผลของการผลิตซ้ำพุทธราชาชาตินิยมปฏิเสธการแยกศาสนาจากรัฐของปยุตฺโต ก็คือการเกิดขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้รัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนามากขึ้น ขณะที่หมอประเวศก็ไม่เคยอ้างวาทกรรม “สัมมาปฏิบัติ” ตั้งคำถามต่อรัฐประหาร และการใช้อำนาจตุลาการขังคุกประชาชน, เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตยในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา

นี่คือปัญหา “ทฤษฎีไก่ในกรง” ที่มุ่งโฟกัสปัญหาของไก่ที่จิกตีกันเองว่าเป็นไก่ไม่ดี ไม่มีศีลธรรม ขาดสัมมาทิฐิ ขาดสัมมาปัญญา ขาดสัมมาปฏิบัติ แต่ไม่แตะปัญหาของ “กรง” ที่ขังไก่ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไก่ต้องจิกตีกันเอง หรืออาจหลงชื่นชมคลั่งไคล้ความงามของ “กรงทอง” กันอยู่ก็เป็นได้

 

ที่มาภาพ: https://www.bia.or.th/html_th/index.php/site-content/65-archives/1056-20200726 และ http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7237


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net