สื่อ 'โรลลิงสโตน' วิเคราะห์ ทำไมศิลปินเพลงดังพากันปฏิเสธไม่เล่นในงานราชาภิเษก 'กษัตริย์ชาร์ลส์'

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวเรื่องที่ศิลปินนักร้องนักดนตรีชื่อดังหลายคนปฏิเสธไม่เข้าร่วมแสดงในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ ไม่ว่าจะเป็น เอลตัน จอห์น, อาเดล หรือแม้กระทั่ง สไปซ์ เกิร์ลส ที่เคยแสดงตัวใกล้ชิดกับกษัตริย์ชาร์ลส์มาก่อนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ทำให้สื่อหลายแห่งโดยเฉพาะ 'โรลลิงสโตน' รายงานในเรื่องนี้ว่าสาเหตุน่าจะเป็นเพราะอะไรกันแน่

4 มี.ค. 2566 ย้อนไปเมื่อปี 2540 หลังจากที่กลุ่มศิลปิน สไปซ์ เกิร์ลส์ เข้าร่วมงานกาลาดินเนอร์ของสำนักพระราชวังสหราชอาณาจักร หนึ่งในสมาชิกของเกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มนี้คือ เจรี ฮัลลิเวลล์ ได้แสดงความใกล้ชิดด้วยจูบพระปราง(แก้ม)ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งเป็นการฝืนพิธีการและธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักราชวังอังกฤษที่ระบุว่าพสกนิกรจะได้รับอนุญาตให้จับพระหัตถ์ของพระองค์ได้เท่านั้น

เรื่องในตอนนั้นกลายเป็นเรื่องที่อื้อฉาวมากจนขึ้นข่าวหน้าหนึ่งและกลายเป็นหนึ่งในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมป็อบ แต่พอมาถึงตอนนี้ ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์อย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ แทนที่ สไปซ์ เกิร์ลส์ จะเล่นบทก่ากั่นส่ง จินเจอร์ สไปซ์ (ฉายาของ ฮัลลิเวลล์) ไปจูบพระปรางของกษัตริย์ชาร์ลส์อีกรอบหนึ่ง พวกเขากลับไม่ส่งใครไปร่วมงานพระราชพิธีเลยสักคน

นอกเหนือจาก สไปซ์ เกิร์ลส์ แล้ว ศิลปินอีกหลายคนก็ประกาศว่าพวกเขาปฏิเสธไม่ไปร่วมงานพิธีราชาภิเษกในเดือน พ.ค. ไม่ว่าจะเป็น อาเดล, แฮร์รี สไตลส์, ร็อบบี วิลเลียม, เอ็ด ชีแรน และ เอลตัน จอห์น  ซึ่งศิลปินเหล่านี้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงในงานพิธีราชาภิเษกแต่ทุกคนต่างก็ปฏิเสธ โดยที่ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะกล่าวให้เหตุผลต่อนิตยสารเดอะโรลลิงสโตนว่าทำไมถึงไม่เข้าร่วม ยกเว้นเอลตัน จอห์น ที่บอกว่าเขาไม่สามารถเล่นในงานได้เพราะติดเรื่องตารางงานแสดงไม่ว่าง และเอ็ด ชีแรน ก็ให้เหตุผลว่างานยุ่งเช่นกัน

นิตยสารเดอะโรลลิงสโตนระบุว่าก่อนหน้านี้ เวลาที่มีงานราชพิธีใหญ่ๆ ในอังกฤษ เหล่าศิลปินเพลงก็แทบจะยืนต่อคิวอยู่หน้าราชวัง แต่ในปัจจุบันมันก็เปลี่ยนไปแล้ว จนทำให้ผู้คนสงสัยว่าแล้วจะเหลือศิลปินเพลงใหญ่ๆ มาเล่นในงานพิธีของกษัตริย์ชาร์ลส์หรือไม่

หลังมีข่าวเรื่องศิลปินใหญ่หลายคนปฏิเสธร่วมงานพิธีราชาภิเษก 6 พ.ค. 2566 ก็ทำให้สื่อหลายสำนักประเมินไปต่างๆ นานาว่าเพราะอะไรกันแน่

สื่อนิตยสารไทม์ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้แตกต่างอย่างมากเทียบกับงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ในตอนนั้นมีศิลปินดังๆ เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นวงควีน+อดัม แลมเบิร์ต, ไดอานา รอส, อะลิเซีย คีย์ส, เครก เดวิด, เซอร์ ร็อด สจวร์ต, และกระทั่งเอลตัน จอห์น เองก็เข้าร่วม โดยที่ก่อนหน้านี้กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงมีพระราชดำรัสสัญญาว่าจะมีพิธีการที่หรูหราน้อยลงส่วนหนึ่งเพราะเรื่องวิกฤตค่าครองชีพที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ด้วย

ถึงแม้ว่าศิลปินเพลงส่วนใหญ่จะไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการต่อสื่อว่าทำไมพวกเขาถึงจะไม่ร่วมแสดงในงานราชาภิเษก แต่ก็มีสื่อหัวสีอย่างเดอะซัน ที่ระบุถึงกรณี สไปซ์ เกิร์ลส์ ว่าก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. เคยมีข่าวลือว่าสมาชิกวงสไปซ เกิร์ลส์ ทั้ง 5 คนจะกลับมารียูเนียนหรือร่วมงานกันใหม่อีกครั้ง แต่ที่ไม่สามารถแสดงในงานพิธีราชาภิเษกนั้น เพราะพวกเขาไม่มีเวลาเตรียมตัวฝึกซ้อมมากพอ

ส่วนร็อบบี วิลเลียม ก็อ้างเรื่องตารางงานไม่ว่างเช่นกัน เขาได้รับการทาบทามให้ขึ้นแสดงในฐานะหัวหน้าสมาชิกวง "เทคแดท" (Take That) โดยที่สมาชิกวงรายอื่นๆ คือ แกรี บาร์โลว์, ฮาเวิร์ด โดนัลด์ และมาร์ก โอเวน ยังคงไม่ได้ปฏิเสธการทาบทามเข้าร่วม ศิลปินรายอื่นๆ ที่มีการทาบทามและยังไม่ได้ปฏิเสธได้แก่ ไคลี กับ แดนนี มีโนก, แอนดรูว ลอยด์ เวบเบอร์ นักประพันธ์เพลงและผู้กำกับละครเพลงชื่อดังที่มีผลงานเด่นๆ คือ  'ปีศาจแห่งโรงอุปรากร' ฉบับละครเวที, ไลออนเนล ริชชี ศิลปินเพลงจากสหรัฐฯ

นอกจากนี้ในคอนเสิร์ตของพิธีราชาภิเษกนั้นจะมีกลุ่มนักร้องประสานเสียงราชาภิเษกเป็นตัวชูโรงด้วย โดยมีการแผนการให้คณะนักร้องประสานเสียงจากทั่วสหราชอาณาจักรขึ้นเวที ไม่ว่าจะเป็นคณะนักร้องประสานเสียงผู้ลี้ภัย, คณะนักร้องประสานเสียงของสาธารณสุขแห่งชาติอังกฤษ, กลุ่มขับร้องชาว LGBTQ+ และกลุ่มขับร้องประสานเสียงของคนหูหนวก

สื่อไทม์ระบุว่า จนถึงตอนนี้การวางแผนการแสดงโดยรวมนั้นยังไม่ได้ผลลัพธ์คืบหน้าสักเท่าไหร่ ผู้รอรับชมทั่วโลกยังคงสามารถรับชมขบวนแห่ของพระบรมวงศานุวงศ์ของอังกฤษในฐานะความบันเทิงหลักๆ ในงานวันนั้นได้

ดูเหมือนว่าศิลปินส่วนใหญ่จะให้เหตุผลว่าติดขัดเรื่องตารางงานจนมาไม่ได้ ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่ข้ออ้างก็ตาม ก็มีสื่ออย่างโรลลิงสโตนวิเคราะห์เอาไว้ว่า เรื่องนี้อาจจะมีสาเหตุจากวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุค 90s รวมถึงทัศนคติต่อราชวงศ์อังกฤษของประชาชนที่เปลี่ยนไปด้วยก็เป็นได้

เรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์อังกฤษ ที่ทำให้ความรู้สึกไม่เหมือนยุค 90s อีกต่อไป

ไมเคิล แครกก์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับดนตรีบริทป็อบยุค 90s-ยุค 2000s กล่าวว่า ยุค 90s นั้นวัฒนธรรมร่วมสมัยของอังกฤษมีความแตกต่างจากปัจจุบันมาก มันคือยุคของพรรคแรงงานยุคใหม่ ทุกคนมีความขี้เล่นและความทะลึ่งทะเล้นเล็กๆ น้อย แต่ในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีความทะเล้นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ผู้คนต้องการรู้ว่าราชวงศ์อังกฤษนั้นแท้จริงเป็นคนอย่างไรกันแน่ พวกเขาได้รับรู้ความจริงผ่านหนังสือและเรื่องราวอื้อฉาวของราชวงศ์ ทำให้ศิลปินรายใหญ่ทั้งหลายต้องรักษาภาพลักษณ์ ไม่สามารถขึ้นไปจูบกลุ่มคนที่มีเรื่องอื้อฉาวแบบยุคก่อนหน้านี้ได้อีกแล้ว

หนึ่งในเรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์อังกฤษคือการที่เจ้าฟ้าชายแอนดรูว มีส่วนเกี่ยวข้องกับ เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ ผู้ถูกกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและค้าประเวณีเด็ก ซึ่งเจ้าฟ้าชายแอนดรูวถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับเหยื่อรายหนึ่งของเอปสไตน์ด้วย เรื่องนี้ยังคงเป็นข้อกล่าวหาสดใหม่ในความคิดของผู้คน นอกจากนี้เจ้าฟ้าชายแอนดรูวยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อปี 2562 เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ แต่ก็ทำพังในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว

ในปีถัดๆ มา เจ้าฟ้าชายแฮร์รี และเมแกน มาร์เคิล ก็เริ่มตั้งข้อกล่าวหาต่อทั้งราชวงศ์และสื่ออังกฤษ อ้างว่าการปฏิบัติต่อมาร์เคิลทำให้เขากลัวว่าจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเธอ มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นระหว่างคู่แฮร์รี-มาร์เคิลกับสถาบัน ซึ่งมีพูดถึงในซีรีส์เน็ตฟลิก "Harry & Meghan" ด้วย

ไซมอน โจนส์ ผู้ทำงานประชาสัมพันธ์ให้ศิลปินกล่าวว่า ราชวงศ์อังกฤษเผชิญหายนะเรื่องการประชาสัมพันธ์หลายครั้งมาก ทำให้ศิลปินต้องพิจารณาตัวเองเพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวโจมตีถ้าหากไปปรากฏตัวในงานของราชวงศ์

ศิลปินบางคนในอังกฤษอย่างวง "เบเนฟิตส์" ก็แสดงตัวเป็นผู้ต่อต้านระบอบกษัตริย์อังกฤษอย่างตรงไปตรงมา ผลงานซิลเกิล "Flag" ของพวกเขาที่มีเนื้อหาต่อต้านระบอบกษัตริย์อังกฤษออกมาในปี 2565 ขึ้นติดอันดับที่ 1 ของชาร์ทออฟฟิศเชียลไวนิลอังกฤษ ในช่วงสัปดาห์เดียวกับที่มีพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

คิงส์ลีย์ ฮอลล์ หนึ่งในสมาชิกวงเบเนฟิตส์กล่าวว่า พวกเขาได้รับทราบและรับรู้เรื่องด้านลบจากราชวงศ์อังกฤษอย่างมาก ในเรื่องเหล่านี้รวมถึงข้อกล่าวหาเหยียดเชื้อชาติสีผิว และข้อกล่าวหาเรื่องการเป็นพวกล่วงละเมิดทางเพศด้วย โดยที่เรื่องลบๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้คนรู้สึกแย่จนไม่อยากเข้าร่วมด้วย

กระแสต้านจักรวรรดินิยม ความกังวลค่าครองชีพ และคนรุ่นใหม่ในอังกฤษ

เม็ก ประธานบริษัทประชาสัมพันธ์ดนตรีชั้นนำของอังกฤษกล่าวว่า สำหรับชาวมิลเลนเนียล (เกิดในปี พ.ศ. 2523 - 2540) และชาวเจน Z (เกิดในปี พ.ศ. 2541 - 2555) ในอังกฤษแล้ว ระบอบกษัตริย์นิยมเป็นแนวคิดที่สกปรก ในแง่ของการพีอาร์ประชาสัมพันธ์แล้วนักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่างอาเดลเล็งเห็นว่าเรื่องราวของตัวเองมีความสำคัญมาก และการร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มใดก็ตามก็จะถูกจารึกไปกับชื่อของพวกเขาในประวัติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมถึงมีการหารือในประเด็นการพีอาร์อย่างหนักหน่วง เกี่ยวกับว่าศิลปินเพลงคนนั้นคนนี้จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมพิธีราชาภิเษก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันของควีนเอลิซาเบธกับคิงส์ชาร์ลส์ด้วย ในขณะที่ควีนเอลิซาเบธมีภาพลักษณ์มายาวนานว่าเป็นเสมือนคุณย่าคุณยายของประเทศอังกฤษ แต่กษัตริย์ชาร์ลส์ไม่มีภาพลักษณ์แบบนี้เลย เป็นแค่ตราสัญลักษณ์ว่างเปล่าของราชวงศ์อังกฤษ ทำให้ศิลปินไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไรในเรื่องภาพลักษณ์ถ้าหากร่วมปฏิสัมพันธ์ด้วย

เอลลี ผู้ก่อตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ดนตรีร่วมสมัยของอังกฤษอีกรายหนึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้อาจจะเกี่ยวกับการที่พิธีราชาภิเษกจัดขึ้นในช่วงเดียวกับที่อังกฤษกำลังเกิดวิกฤตค่าครองชีพด้วย ทำให้ครอบครัวในอังกฤษที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักคอยมองว่าราชวงศ์นำเงินภาษีของพวกเขาเอาไปใช้ในการจัดพิธีราชาภิเษกมากน้อยแค่ไหน จำนวนเม็ดเงินที่ใข้จะกลายเป็นเรื่องการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของราชวงศ์อังกฤษไปในตัวด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตจากแฟนเพลงด้วยว่า การที่ศิลปินบางคนปฏิเสธจะเข้าร่วม อาจจะมาจากพื้นเพแนวคิดทางการเมืองของพวกเขา เช่น เกรซ มาร์ธา แฟนเพลงตัวยงของอาเดลบอกว่า อาเดลมีความภาคภูมิใจที่เธอเป็นเสมือนตัวแทนของกลุ่มคนผู้มีพื้นเพมาจากชนชั้นแรงงานในละแวกท็อตแนม ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มี่ความหลากหลายทางเชื้อชาติสีผิวมากที่สุดในอังกฤษ ทำให้อาเดลน่าจะรู้สึกว่าราชพิธีหรูหราอู้ฟู่ที่ใช้เงินมหาศาลนั้นไม่ได้สะท้อนคุณค่าของตัวเธอเลยแม้แต่น้อย มาร์ธาบอกว่าเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของอังกฤษที่ต่างจากชาวอเมริกัน คือการที่อาเดลทำตัวเป็นเสมือน "คนธรรมดาทั่วไป"

นอกจากนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังมีกระแสการอภิปรายเรื่องลัทธิอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษเกิดขึ้นด้วย ฮัก เบเกอร์ นักดนตรีจากลอนดอนมองว่าประเด็นนี้เองที่ทำให้ผู้จัดพระราชพิธีหาตัวศิลปินใหญ่อังกฤษมาเล่นในงานได้ยาก

เบเกอร์กล่าวว่า "สถานการณ์ใดก็ตามที่ผมจะต้องน้อมคำนับต่อระบอบจักรวรรดินิยมเหยียดผิวที่ไม่ยอมขอโทษเรื่องที่พวกเขาทำในอดีตและกวาดล้างประวัติศาสตร์ของคนเชื้อชาติสีผิวเดียวกับผม ผมจะรู้สึกอยากหลีกให้ห่างแบบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน ในตอนนี้พวกเรารับรู้เรื่องต่างๆ มากกว่าในอดีต พวกเราก็หนีไม่พ้นจากการเป็นที่รับรู้จดจำ ผมคิดว่าพวกนั้นคงจะต้องลำบากแน่ๆ"

แต่คำถามที่แท้จริงคือ ทำไมราชวงศ์อังกฤษถึงต้องการความบันเทิงเหล่านี้ในงานพิธีด้วย เม็กตั้งข้อสังเกตว่าพาดหัวข่าวสื่อจำนวนมากพากันพูดถึงเรื่องที่ว่ามีนักร้องนักดนตรีคนไหนเล่นหรือไม่เล่นในงานพิธีบ้างโดยที่ให้ความสนใจกับแขกอื่นๆ น้อยกว่า เรื่องนี้จึงเน้นย้ำว่าดนตรีมีความสำคัญและดาราหรือศิลปินดังก็เป็นสัญลักษณ์ของการส่งเสริมอะไรบางอย่าง ดูเหมือนว่าในปี 2566 นี้ราชวงศ์อังกฤษดูจะต้องการศิลปินเพลงมากกว่าที่ศิลปินเพลงจะต้องการราชวงศ์อังกฤษ

เรียบเรียงจาก
Snubbing the King: Why Don’t Big Stars Want to Perform at Charles’ Coronation, Rolling Stone, 01-03-2023
Here Are All the People Who Said No to Performing at King Charles' Coronation, Time, 01-03-2023
Why are top artists declining King Charles III’s invitation to perform?, AS, 28-02-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท