Skip to main content
sharethis

งานศึกษาพบความเชื่อมโยงระหว่าง ‘รายได้ที่ไม่แน่นอน’ กับ ‘ปัญหาสุขภาพ’ โดยเฉพาะ ‘Gig Worker’ รวมทั้งพนักงานเสิร์ฟ พนักงานขาย และอาชีพอื่นๆ ที่พึ่งพารายได้ผันผวน มักจะประสบกับปัญหาสุขภาพ ทั้งคุณภาพการนอนที่ย่ำแย่ อาการปวดหัว ปวดท้อง และปวดหลัง


ที่มาภาพ: Gift Habeshaw (Unsplash License)

21 มี.ค. 2566 'Gig economy' คือ ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ส่งเสริมให้คนทำงานทำงานเป็นรายชิ้น รายครั้ง หรือทำงานเพียงชั่วคราว โดยองค์กรธุรกิจไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานประจำเป็นหลัก แต่จะใช้การจ้างงานผู้รับจ้างอิสระ งานพาร์ทไทม์ การจ้างงานภายนอก หรือจ้างงานผ่านแอปพลิเคชันของแพลตฟอร์มต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะได้รับค่าแรงจากการชำระเงินโดยตรงตามจำนวนงานที่ทำ

'Gig worker' ก็คือผู้คนที่ทำงานภายใต้ระบบเศรษฐกิจ Gig economy ซึ่งมักเป็นคนทำงานที่มีทักษะหลากหลายและต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ส่วนใหญ่แล้วไม่มีการกำหนดเวลาทำงานหรือตำแหน่งงานเหมือนกับพนักงานประจำ การทำงานในรูปแบบ Gig worker นี้มีข้อดี เช่น สามารถกำหนดเวลาทำงานได้เอง มีความยืดหยุ่นในการทำงาน และสามารถหารายได้เพิ่มเติมได้จากการทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตามก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน อาทิ ขาดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และความมั่นคงในการทำงานเมื่อเทียบกับพนักงานประจำ ต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่ไม่มีงานหรืองานน้อยกว่าที่คาดหวัง รวมทั้งประเด็นที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก นั่นก็คือ ‘ผลกระทบต่อสุขภาพ’

จากงานศึกษาของ Gordon Sayre ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรที่ Emlyon Business School ประเทศฝรั่งเศส ที่เผยแพร่ในวารสาร American Psychological Association เมื่อช่วงปี 2565 ชี้ให้เห็นว่าคนทำงานในลักษณะ Gig Worker รวมถึงพนักงานเสิร์ฟ พนักงานขาย และอาชีพอื่นๆ ที่พึ่งพารายได้ผันผวน มักจะประสบกับปัญหาสุขภาพ 

Sayre และคณะได้ทำการศึกษาในหลายอุตสาหกรรม โดยในการศึกษาหนึ่ง ได้ศึกษาคนทำงาน 85 คน ในอาชีพที่อาศัยทิปจากการทำงานเป็นรายได้หลัก เช่น บริกร คนขับรถส่งของ และแม่บ้าน โดยให้ตอบแบบสอบถามออนไลน์รายวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน เกี่ยวกับรายได้ต่อวันและสุขภาพโดยรวม ผู้เข้าร่วมการศึกษาระบุว่าได้รับทิปร้อยละ 80 ในวันทำงาน โดยมีทิปเฉลี่ยอยู่ที่ 36.18 ดอลลาร์ฯ ต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด 

ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งได้ศึกษาคนทำงาน 375 คน ที่ทำงานให้กับเว็บไซต์ Amazon Mechanical Turk (MTurk) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจ้างงานออนไลน์ที่เป็นที่นิยมของคนทำงาน Gig Worker (ตัวอย่างงานใน MTurk มีเช่น การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล การจัดเรียงภาพ หรือการเข้ารหัสภาพและเสียง เป็นต้น โดยจ่ายค่าตอบแทนแตกต่างกันไปตามความซับซ้อนและปริมาณของงาน) ผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละคนใช้เวลาเฉลี่ย 29 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการทำงานให้แพลตฟอร์มนี้ โดยให้ตอบแบบสอบถามออนไลน์รายวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน 

ทั้ง 2 การศึกษาพบว่าความผันผวนของค่าจ้างรายวันนั้นมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ ทั้งคุณภาพการนอนที่ย่ำแย่ อาการปวดหัว ปวดท้อง และปวดหลัง - แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้โดยตรงว่ารายได้ที่ผันผวนนั้นส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพของคนทำงาน แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามันมีความเชื่อมโยงที่ชัดเจน

การศึกษานี้ยังได้ตั้งคำถามว่าลักษณะการจ่ายเงินที่ผันผวน เช่น ทิป งานตามอัตราชิ้น และโบนัสตามผลงานนั้นจำเป็นหรือไม่ และได้เสนอแนะว่าธุรกิจต่างๆ ควรใช้รูปแบบการจ่ายงานที่ทำให้คนทำงานรู้สึกมั่นคงมากขึ้นจะดีกว่า ส่วนฝั่งของคนทำงาน การรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน

“การมีสหภาพแรงงานถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนทำงานจะได้รับความคุ้มครองจากค่าจ้างที่ผันผวน” Sayre กล่าว “ค่าจ้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งลดการพึ่งพาค่าจ้างที่ผันผวน จะช่วยปกป้องสุขภาพของคนทำงานในหลายอุตสาหกรรม”


ที่มา:
Gig economy can lead to health problems for workers with inconsistent paychecks (Study Finds, 11 January 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net