Skip to main content
sharethis

อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 มือกราฟิกวัย 20 ปี ชูภาพ 'ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10' ใน "อุบลคาร์ม็อบ/4" 15 ส.ค. 64 ก่อนได้ประกันชั้นสอบสวน วางเงิน 1 แสน

 

30 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อ 27 มี.ค. 2566 'ฟลุค' กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมวัย 20 ปี เดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี นัดส่งฟ้องคดีที่เขาถูกกล่าวหามาตรา 112 จากการชูกรอบภาพมีข้อความระบุว่า "ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10" ขณะร่วมชุมนุมคาร์ม็อบอุบลฯ เมื่อ 15 ส.ค. 2564

ภาพที่กิตติพล คาดว่าเป็นสาเหตุให้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ม.112

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อฟลุค ไปถึงสำนักงานอัยการฯ เจ้าหน้าที่แจ้งกับเขาให้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนศาลจะรับฟ้อง และออกหมายขัง โดยมีทนายความและนายประกันเตรียมยื่นประกันตัว ระหว่างนั้น ฟลุคต้องไปอยู่ในห้องควบคุมตัวบริเวณใต้ถุนศาล

สำหรับคำบรรยายฟ้อง รุ่งโรจน์ สาเรศ พนักงานอัยการ ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม "อุบลคาร์ม็อบ/4" ซึ่งเป็นกิจกรรมชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง

แล้วต่อมา จำเลยได้ใส่ความต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้ปรากฏข้อความเป็นตัวอักษรสีดำลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นใดสีขาวจำนวน 1 แผ่น เป็นข้อความว่า "ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10" (ไม่มีจะกินในรัชกาลที่ 10) จากนั้น จำเลยได้เอาแผ่นข้อความบรรจุลงกรอบรูปสีทอง แล้วนำกรอบรูปที่มีข้อความดังกล่าวไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 

อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และสื่อความหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน และอดสู อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะความจริงแล้วรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ เนื่องจากทรงอยู่เหนือการเมือง อันเป็นการกระทำหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 

ประกอบกับองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เนื่องจากเป็นประมุขของประเทศและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการบริหารประเทศ และยังเป็นการกระทำผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1 

อย่างไรก็ตาม ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ระบุว่าให้อยู่ในดุลพินิจของศาล 

ทั้งทนายและนายประกันรอจนกระทั่งถึงช่วง 14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เรียกหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ประกันตัว ก่อนที่ฟลุค จะถูกปล่อยตัวออกมา ศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 31 พ.ค. 2566 

หลังได้รับอิสรภาพ ฟลุค กล่าวว่า "ถึงจะใช้เหตุผลในการต่อสู้ทางความคิดมากเท่าไหร่ ระบบนิติรัฐของไทยก็ยังใช้ระบบกล่าวหา หน่วยงานที่เกี่ยวกับความยุติธรรมล้วนมีธงในหัวใจว่า อยากจะเล่นงานคนที่เข้าข่ายด้วยข้อหานี้ให้ได้มากแค่ไหน จะช่วงชิงประโยชน์จากการเอาชีวิตคนสังเวยกับคดีนี้ได้มากแค่ไหน พูดตามตรงตอนนี้ผมไม่ไว้ใจความเป็นรัฐมากขึ้นทุกวัน แต่ผมไม่ใช่พวกต่อต้านสังคม"

นอกจากคดีนี้ กิตติพล ยังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่จัดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2564 อีก 2 คดี โดยคดียังอยู่ระหว่างอัยการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net