Skip to main content
sharethis

‘เพื่อไทย’ วอน กกต.เร่งสอบปมปาระเบิดรถหาเสียงของประชา ประสพดี โวยตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุช้าทั้งที่อยู่ห่างสถานีตำรวจไม่ถึง 1 กิโลเมตร เจ้ากน้าที่ใช้เดินทาง 30 นาที และตั้งข้อหาไม่สมเหตุสมผลเพียงทำให้ตกใจกลัว ,ทำให้เสียทรัพย์, พยายามทำร้ายร่างกาย , ส่งเสียงดังอื้ออึง ทั้งที่ประชาอยู่ในรถคันดังกล่าว หากหลบไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ และมือปาระเบิดยังเป็นหัวคะแนนของพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

20 เม.ย. 2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานต่อสื่อมวลชน ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณี รถประชาสัมพันธ์หาเสียงของ ประชา ประสพดี ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ ถูกปาระเบิดระหว่างหาเสียงวานนี้ (19 เม.ย. 2566)

ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว สรุปได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้

1. การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการใช้อำนาจอันมิชอบ ขณะนี้อยู่ในวาระของการเลือกตั้ง ภายใต้การบริหารจัดการในรัฐบาลนี้ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องสืบสวนให้ชัดเจน เพราะผู้ปาระเบิดใส่รถหาเสียงประชาสัมพันธ์ของประชานั้น เป็นหัวคะแนนของพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนั้นนายกรัฐมนตรี ต้องสืบให้ทราบว่า เกิดปัญหานี้ได้อย่างไร จะรับผิดชอบอย่างไร แล้วจะจัดการปัญหานี้อย่างไร ส่วน กกต.ต้องเข้ามาดูแล เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง

2. มีประชาชนให้ข้อมูลกล่าวหาว่า มีการใช้อิทธิพลของรัฐ อำนาจรัฐ กลไกของรัฐ ไปใช้ในการช่วยหาคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองหนึ่ง ในภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตำรวจ เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับผู้กำกับ ผู้การ สารวัตร ให้ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้พรรคการเมืองหนึ่งได้รับชัยชนะในหลายเขตเลือกตั้ง เมื่อมีข่าวนี้เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรสร้างความกระจ่าง ไม่ควรทำให้เกิดข้อครหา และทำให้ประชาชนไม่สบายใจ ในบรรยากาศการเลือกตั้ง มิฉะนั้นอาจจะถูกมองได้ว่า ผู้นำของประเทศอยากสืบทอดอำนาจของตนเอง และจะใช้อำนาจทุกวิถีทางเพื่ออยู่ต่อ เพราะเราต่างขออาสามารับใช้ประชาชน ไม่ควรมีใครใช้กระบวนการของรัฐข่มขู่คุกคามผู้สมัครต่างพรรคต่างเบอร์กัน ซึ่งผิดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 “เราไม่ควรมีบรรยากาศการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่มีการข่มขู่ คุกคาม อันนำไปสู่การทำลายระบบประชาธิปไตย ทำให้เกิดการหวาดหวั่นในการเลือกตั้งที่จะถึงและหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นอีก ไม่ควรมีกระบวนการใด อิทธิพลใด หรือการกระทำใดๆ ที่กระบวนการของรัฐฯเข้ามาเกี่ยวข้องและข่มขู่ผู้สมัคร ที่ต่างพรรคต่างเบอร์ต่างความคิดกัน กกต.ไม่ต้องรอให้พรรคเพื่อไทยร้องเรียน สามารถดำเนินการสอบสวนได้เลย” ภูมิธรรม กล่าว

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการคุกคาม ขู่เข็ญ ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และผู้สนับสนุนให้เกิดความหวาดกลัว ส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะส่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ตัวผู้กระทำผิดก็มีพฤติกรรมเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองที่นายกรัฐมนตรีมีความเกี่ยวข้องอีกด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องลงมารับผิดชอบตรวจสอบและดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันอีก

ทั้งนี้ พฤติการณ์ของผู้กระทำผิด พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเป็นการคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ข่มขวัญ แต่หวังเอาชีวิต ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรเข้าไปตรวจสอบเพื่อเอาผิดพรรคการเมืองและนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก 2 ประการ คือ

1.สถานที่เกิดเหตุระเบิด และสถานีตำรวจอยู่ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร แต่เมื่อผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ แจ้งไปยังสถานีตำรวจ กลับใช้เวลาเดินทางมาตรวจสอบนานถึง 30 นาที ทั้งที่ควรใช้เวลาแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น

2.ภายหลังจับกุมผู้กระทำผิดทำการสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำผิดเบาเกินไป ไม่สมเหตุสมผล ได้แก่ ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ,ทำให้เสียทรัพย์, มีความพยายามทำร้ายร่างกาย และทำให้ส่งเสียงดังอื้ออึง โดยปกติ ดร.ประชา จะนั่งไปในรถหาเสียงคันดังกล่าวด้วย หากในวันนั้น ดร.ประชา อยู่ในรถคันดังกล่าวในวันเกิดเหตุ โดนระเบิดหลบไม่ทัน หมายถึงการประสงค์ต่อชีวิต ดังนั้นการตั้งข้อหาที่เบาเกินไป จึงดูขาดน้ำหนัก

ประเสริฐ กล่าวว่าในฐานะที่พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีส่วนรับผิดชอบ เพราะเป็นการใช้อำนาจคุกคาม ขู่ขวัญ ของพรรคการเมือง ซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าเป็นหัวคะแนนพรรคการเมืองใดอย่างชัดเจน ส่วน กกต. ไม่ต้องรอให้พรรคเพื่อไทยร้องเรียน เพราะเป็นประเด็นสาธารณะ สามารถเข้าไปตรวจสอบ เพื่อเอาผิดกับพรรคการเมือง และนักการเมือง ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าวได้ทันที เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง และ พ.ร.บ. เลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตุว่า การที่ผู้ต้องหาอ้างว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่ในข้อเท็จจริง ผู้กระทำความผิด เคยได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 9 เดือนมาแล้ว ในระหว่างนั้นได้ยกเอาสาเหตุอาการป่วยทางจิตมาเป็นสาเหตุอ้างต่อศาล แต่ศาลไม่รับฟัง และได้ตัดสินจำคุกผู้ต้องหา 9 เดือน ในครั้งนี้ตนกังวลว่า ครั้งนี้จะมีการยกเอาเหตุผลทางจิตเวชขึ้นมาอีก แต่ในเมื่อมีบรรทัดฐานจากคดีการลักทรัพย์ที่ผู้ต้องหาถูกจำคุกแล้ว จึงไม่ควรอ้างเหตุนี้ต่อการดำเนินคดีอีก

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ได้แจ้งไปยังผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 400 เขต ให้ระมัดระวังในการลงพื้นที่ และเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องการลงพื้นที่ต่างๆ ส่วนปัจจุบัน ส่วนใหญ่เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมาเป็นเรื่องของการทำลายป้าย แต่ในกรณีของปาระเบิดรถหาเสียงของ ดร.ประชา เป็นการทำลายกระบวนการหาเสียง เพื่อการประสงค์ต่อชีวิต จึงขอผู้สมัคร ส.ส.ทุกคน หากมีเหตุอันใดให้แจ้งมายังพรรค เพราะขณะนี้เหลือเพียง 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งเข้าใกล้โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเต็มทีแล้ว

“ตอนนี้กรณีปาระเบิดรถหาเสียง ดร.ประชา เป็นคดีขึ้นแล้ว เบื้องต้น ดร.ประชา ไม่ได้ขอกำลังตำรวจมาดูแล แต่หากมีความจำเป็นหรือมีปัญหา ต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระสมุทรเจดีย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรม ดำเนินการในคดีนี้ด้วยบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพราะผู้ก่อเหตุ ร้องขอไม่ให้ ดร.ประชา เอาเรื่อง แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้ กกต.ต้องเข้ามาดูแลด่วน” ประเสริฐ กล่าว

ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในข้อกฎหมายสามารถ ตั้งข้อสังเกตุหรือเอาผิดในกรณีนี้ได้ 2 ประเด็น

1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชัดเจนว่าอยู่ในช่วงเวลาที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 แล้ว การทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งในช่วงเวลานี้ ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ต้องเข้ามาดูแล และดำเนินดคี หากสอบสวนแล้วพบผู้กระทำผิด โทษตามที่กฎหมายระบุไว้ อาจมีโทษถึงจำคุก หรือหากสอบสวนแล้วพบว่ามีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งเสริม หรือ ทราบเรื่องแต่ไม่ห้ามปราบ อาจมีผลถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้

2.พฤติกรรมข้าราชการที่วางตนไม่เป็นกลาง หรือ ช่วยเหลือสนับสนุนใดๆ ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งได้ให้อำนาจ กกต. สั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการกระทำการที่สุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และหากสั่งการแล้ว ข้าราชการไม่เชื่อฟัง กกต. มีอำนาจเสนอย้ายข้าราชการเหล่านั้นให้ออกจากพื้นที่ จึงขอแจ้งไปยังผู้สมัคร ส.ส.องพรรคเพื่อไทย ว่าหากพบพฤติกรรมของข้าราชการ และอาจทำให้ผู้สมัครได้รับความเสียหาย หรืออยู่ในการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม ผู้สมัครสามารถใช้กฎหมายข้อนี้ในการเอาผิดได้

“ส่วนใหญ่พรรคการเมืองเอาเปรียบกันแบบนี้ เพราะตัวเองมีอำนาจแล้ว ก็อาจให้การช่วยเหลือกันทั้งในทางตรงทางอ้อม ซึ่งเราสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น” ชูศักดิ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net