Skip to main content
sharethis

“ชัยธวัช” เปิดภาพรวมงบปี 68 ชี้ เป็นงบที่มีปัญหาไม่ตอบโจทย์ประเทศ หวังเพียงแค่ตอบโจทย์ทางการเมืองของรัฐบาลเท่านั้น งบประมาณไร้ยุทธศาสตร์เหมือนเดิม และยังเป็นงบประมาณรายจ่ายสูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 3.75 ล้านล้านบาท ระบุเดินหน้าโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เอาอนาคตประเทศเป็นเดิมพันอุดช่องว่างความชอบธรรมการเมืองของรัฐบาล

19 มิ.ย. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระที่หนึ่ง โดย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นผู้อภิปรายถึงภาพรวมงบประมาณในปีนี้

ชัยธวัชระบุว่า ในแง่ตัวเลข ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ฉบับนี้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายสูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินที่จะนำมาใช้จ่ายมาจากรายได้รัฐบาลและเงินกู้ เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยประมาณการรายได้รัฐบาลประมาณไว้ว่าจะมีรายได้สุทธิถึงกว่า 2.88 ล้านบาท ที่เหลือเอามาจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 8.65 แสนล้านบาท เป็นวงเงินกู้ที่เกือบชนเพดาน เหลือพื้นที่กู้เพิ่มได้แค่ราว 5 พันล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา งบประมาณในปีนี้ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท หรือ 7.8% ถือเป็นการเพิ่มงบประมาณในสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

คำถามคือการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของประเทศอย่างก้าวกระโดด โดยกู้เงินมาใช้จนเกือบชนเพดานสอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่ การพิจารณางบประมาณเมื่อครั้งปี 2567 สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านต่างผิดหวังไปแล้ว แม้รัฐบาลใหม่อาจอ้างได้ว่าไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างเต็มที่ แต่มาคราวนี้งบประมาณปี 2568 เป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่อยู่ในอำนาจเต็มของรัฐบาลใหม่ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้อีกต่อไป

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า เมื่อไปดูในรายละเอียดก็ยิ่งผิดหวังกว่าครั้งก่อน เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณที่แทบจะเหมือนเดิม มีปัญหาแบบเดิมๆ เพิ่มเติมคือดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการจัดสรรที่ดูเหมือนจะมียุทธศาสตร์แต่ไม่มียุทธศาสตร์ มีคำพูดสวยหรูเต็มไปหมด แต่ลงรายละเอียดแล้วล้วนซ้ำซาก ซ้ำซ้อน เป็นเบี้ยหัวแตก มองไม่เห็นเป้าหมายทางนโยบายที่ชัดเจนจับต้องได้แบบมียุทธศาสตร์จริงๆ ตัวชี้วัดเหมือนเดิม เป็นการใช้งบประมาณแบบไม่สนใจผลลัพธ์ในทางปฏิบัติจริงๆ

ที่น่าสนใจคืองบประมาณปี 2567 ก่อนหน้านี้รัฐบาลใหม่เข้ามาปรับแก้กลางทาง อย่างน้อยยังมีโครงการใหม่ถึง 236 โครงการ แต่มาปี 2568 ซึ่งรัฐบาลใหม่มีอำนาจเต็มแล้ว แต่กลับมีโครงการใหม่เพียง 163 โครงการ และยังไม่นับว่ามีเหล้าเก่าในขวดใหม่จำนวนมาก รายจ่ายในการลงทุนจำนวนมากเป็นรายจ่ายที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจริงๆ แต่ยึดโยงกับเครือข่ายการเมืองและผลประโยชน์ที่ผลักดันให้รัฐบาลเข้าสู่อำนาจ

ชัยธวัชกล่าวว่า ที่สำคัญเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลใหม่เอาเข้าจริงไม่มีวาระทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรกันแน่ แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำอย่างไร้ทิศทาง ผู้นำรัฐบาลก็มีข้อสั่งการมากมาย แต่คำถามคือมีแนวทางปฏิบัติมอบหมายให้หน่วยงานจริงหรือไม่ว่าต้องทำอย่างไร เพราะหากดูวิธีการจัดสรรงบประมาณในโครงการต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะแบบนายสั่งให้ทำ แต่ไม่ได้บอกว่าให้ทำอะไร ข้าราชการก็เอาโครงการเดิมๆ ที่เคยทำมาเปลี่ยนป้ายใหม่ว่าเป็นการทำโครงการที่ตอบสนองนโยบายใหม่ของรัฐบาล แล้วสรุปมาเป็นภาพรวมตัวเลขสวยหรู ว่าตอบสนองนโยบาย/ยุทธศาสตร์ใหม่อย่างไร

แต่หากจะมีอะไรใหม่สำหรับวาระของรัฐบาลที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คงมีแค่เรื่องเดียว นั่นคือความพยายามผลักดันในระดับที่ดันทุรัง เพื่อทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จให้ได้ เรียกได้ว่าดันทุรังแบบ “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” โดยปรากฏร่องรอยทั้งในงบกลาง เป็นรายการตั้งใหม่ชื่อ “ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจราว 1.57 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 18.9% ของงบกลาง นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์ต่อว่าที่เหลือจะใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว 1.72 แสนล้านบาท และน่าจะมีการของบกลางของงบประมาณปี 2567 เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท และถ้าไม่พออีกก็อาจจะออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณจากงบประมาณสำรองรายจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใส่เพิ่ม

แต่โดยรวม ผลของการพยายามจัดสรรงบประมาณมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางการคลังทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาว ภาระการจ่ายหนี้ของภาครัฐจะสูงขึ้นแน่นอนในอนาคต และประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ทางการคลัง หากจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ชัยธวัชกล่าวว่า เหตุผลที่งบประมาณปี 2568 มีลักษณะ “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” เช่นนี้ เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ประสบวิกฤติความชอบธรรมทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล พอเข้ามาบริหารประเทศจริงๆ ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้นได้ พรรคแกนนำรัฐบาลจึงเหลือความหวังเดียว คือเชื่อว่าหากผลักดันโครงการดิจิทอลวอลเล็ตได้สำเร็จ ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจะฟื้นกลับมา

แน่นอนว่าในสภาวะที่ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง ประชาชนจำนวนมากมีความหวังที่จะได้รับเงินหมื่นมาประทังชีวิตจับจ่ายใช้สอย ตนเข้าใจความหวังและความจำเป็นของประชาชน แต่ปัญหาคือในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไม่ได้ต้องการรัฐบาลที่จะมุ่งแสวงหาความนิยมจากประชาชนแบบมักง่ายสายตาสั้น แต่ต้องการรัฐบาลที่มีเจตจำนงในการผลักดันนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับประเทศและนโยบายที่ตอบโจทย์ของประเทศจริงๆ ไม่ใช่ตอบโจทย์ทางการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาล

“สุดท้ายนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ดันทุรังอยู่ขณะนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศจริงๆ การจัดสรรงบประมาณประจำปี 2568 ก็จะเป็นการจัดสรรงบที่ไม่ได้เอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาโจทย์ของพรรคแกนนำรัฐบาลเป็นตัวตั้ง รัฐบาลนี้กำลังมุ่งแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองของตัวเองโดยเอาโอกาสและอนาคตของประเทศวางเป็นเดิมพันอย่างที่ประเทศเจ๊งไม่ว่า แต่ต้องรักษาหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลให้ได้” ชัยธวัชกล่าว

ชัยธวัชกล่าวว่าหากดูจากรูปธรรมในการดำเนินนโยบายนี้ เราพูดได้แล้วว่าดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาอย่างฉาบฉวยเพื่อหาเสียงเฉพาะหน้า โดยไม่ได้คิดให้เสร็จตั้งแต่ต้น เราจึงเห็นการดำเนินนโยบายแบบคิดไปทำไป กลับไปกลับมา จนวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน แต่พรรคแกนนำรัฐบาลก็โหมโฆษณานโยบายนี้ตลอดว่าจะเป็นการกระจายเม็ดเงินลงสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภค จะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ หวังว่าจะไปกระตุ้นการผลิต การลงทุน และการจ้างงานตามมา

ปัญหาคือแนวคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้อาจใช้ได้กับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ แต่วิธีแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศไทย ณ เวลานี้ สถานการณ์วันนี้การกระตุ้นการบริโภคโดยอัดเงินลงไปในระยะสั้น ไม่อาจกระตุ้นการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน เพราะจะเจอปัญหาเงินไหลออก เปรียบได้ว่ามีหลุมดำ 2 หลุมที่คอยดูดเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจในประเทศ

โดยหลุมดำแรกคือสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนที่โอเวอร์ซัพพลายในทุกรายการ ซึ่งปัจจุบันสินค้านำเข้าจากจีนได้ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนถึงราว 1.3 ล้านล้านบาท

ส่วนหลุมดำที่สองคืออีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าคนไทยซื้อของออนไลน์เป็นมูลค่าถึง 9.8 แสนล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดเป็นของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะซื้อขายผ่านบริษัท เจ้าของสินค้าโดยตรง หรือบริษัทที่ดูเหมือนว่าจะเป็นบริษัทของคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าการอัดฉีดเงินโดยไม่สร้างเงื่อนไขหรือแรงจูงใจอย่างเป็นระบบ เงินที่อัดเข้าไปย่อมรั่วไหลสู่สินค้านำเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือสภาพการณ์ที่เป็นจริงในทางเศรษฐกิจของไทย แนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้จึงอาจใช้ไม่ได้ในเวลานี้อีกแล้ว และรัฐบาลเองก็ดูเหมือนเพิ่งจะตระหนักในปัญหานี้ แต่ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่านโยบายนี้ไม่ได้คิดให้จบรอบคอบตั้งแต่แรก

ถ้าดูบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แทบทุกแหล่งชี้ตรงกันว่าถ้าจะพลิกเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ ไม่สามารถอาศัยเพียงการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่ได้เกิดจากการจ้างงาน และไม่สามารถอาศัยเพียงการเพิ่มสภาพคล่องหรือสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลพยายามกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยอยู่ แต่ปัจจัยหลักชี้ไปตรงกัน ว่าถึงเวลาที่เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตของประเทศไทยในอุตสาหกรรมใหม่ๆ

ชัยธวัชกล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าถ้าอยากพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยจริงๆ ต้องเน้นการลงทุน ไม่ใช่การบริโภค ต้องเน้นภาคการผลิตไม่ใช่แค่หวังเพิ่มนักท่องเที่ยว ปัญหาคือในคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในเอกสารประกอบการพิจาณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 อาจจะมีคำพูดเต็มไปหมด แต่ปัญหาคือรายละเอียดเนื้อในยังคงมีปัญหาแบบเดิมๆ

ถ้าอยากเอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้งในการจัดสรรงบประมาณจริงๆ เราควรจะได้เห็นการจัดสรรงบประมาณแบบเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ต้องมีการจัดสรรเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เช่น อีวี รัฐบาลไทยที่ผ่านมาใช้เงินอุดหนุนด้านดีมานด์เพื่อสนับสนุนคนไทยซื้อรถอีวีของจีน รวมเป็นเงินวันนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่เราแทบไม่เห็นการจัดสรรงบประมาณอย่างจริงจังในการสนับสนุนฝั่งซัพพลาย หรือการยกระดับการผลิตและทักษะแรงงาน ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจริงๆ มีคำพูดสวยหรูเต็มไปหมด แต่ไม่เห็นงบประมาณที่ไปส่งเสริมฝั่งซัพพลายที่จะทำให้มีการยกระดับการผลิตและทักษะแรงงานอย่างจริงจัง

ถ้าเอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง เราควรจะเห็นการจัดสรรงบประมาณในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างมียุทธศาสตร์ จับต้องได้ เพื่อกระตุ้นการผลิตและเทคโนโลยี แต่งบประมาณปี 2568 ก็ไม่ตอบโจทย์ในรายละเอียด

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า หากหันไปดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่กำลังจะก้าวเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งตะวันออก จะเห็นได้ว่ามีทั้งยุทธศาสตร์ระยะสั้น กลาง และยาวอย่างชัดเจน ไม่ได้พูดทุกเรื่องหรือมียุทธศาสตร์ทุกเรื่อง แต่ลงลึกไปในรายละเอียดว่าจะสนับสนุนเทคโนโลยีเฉพาะด้านไหนที่ยังพัฒนาและแข่งขันได้ มีตำแหน่งแห่งที่ในซัพพลายเชนโลกได้จริงๆ ลงรายละเอียดกระทั่งว่าจะทุ่มงบประมาณไปกับการลงทุนอย่างจริงจังเพื่อดึงสมองไหลให้ย้อนกลับ จูงใจให้คนมีฝีมือที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศกลับมาสร้างเทคโนโลยีของตัวเองในประเทศบ้านเกิด ไม่ได้คิดแค่จะดึงดูดนักลงทุนแล้วหวังว่าจะเป็นฐานการผลิตแบบเดิมๆ ยังมีโจทย์ของประเทศอีกเยอะที่ไม่สะท้อนให้เห็นผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฉบับนี้ ซึ่งทำให้ตนสงสัยว่าโจทย์ของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณกับโจทย์ของประเทศไม่ใช่โจทย์เดียวกัน ซึ่งสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านจะทยอยมาอภิปรายตลอด 3 วันนี้ในทุกมิติต่อไป

“การจัดสรรงบประมาณฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสืบเนื่องจากปัญหาความไม่ชอบธรรมทางการเมืองของการจัดตั้งรัฐบาล โจทย์ของรัฐบาลในวันนี้จึงเป็นคนละโจทย์กับของประเทศ การจัดสรรงบประมาณอย่างที่เห็นนี้จึงเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มักง่ายที่สุด สุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะรัฐบาลกำลังเอาทรัพยากรของประเทศไปมุ่งแก้วิกฤติการเมืองของตัวเอง โดยเอาโอกาสและอนาคตของคนไทยทุกคนและของประเทศมาวางเดิมพันอย่างไม่รับผิดชอบ วิสัยทัศน์อย่าง ‘Ignite Thailand’ จึงกลายเป็น ‘Ignore Thailand’ เจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้” ชัยธวัชกล่าว

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net