Skip to main content
sharethis

ในบทวิเคราะห์สื่อ ดิ ดิพโพลแมต โดย อคิเลช พิลลาลามาร์รี นักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สงสัยว่ากลุ่มชาตินิยมฮินดูในอินเดีย อาจจะต้องการสร้างรัฐที่กีดกันทางชนชาติและศาสนาอื่นๆ แบบเดียวกับที่อิสราเอลทำ


ที่มาภาพ: leoaltman/freepik 

ในช่วงที่ นเรนทรา โมดี เป็นนายกรัฐมนตรีขของอินเดียนั้นเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กันมากกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอลของ เบนจามิน เนทันยาฮู ทั้งสองคนต่างก็เป็นผู้นำพรรคฝ่ายขวาชาตินิยม และความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอิสราเอลก็แน่นแฟ้นขึ้น อคิเลช พิลลาลามาร์รี นักเขียน นักข่าวและนักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้

พิลลาลามาร์รีระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เป็นความจริงในระดับการเมืองเท่านั้นแต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นเรื่องในระดับสังคมด้วย อิสราเอลมีความชื่นชมอินเดียสูงมากกว่าประเทศอื่นในโลกอยู่ที่ร้อยละ 71 ในขณะที่การสำรวจเมื่อปี 2552 ระบุว่าในอินเดียให้การสนับสนุนอิสราเอลมากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 58 มากยิ่งกว่าสหรัฐฯ และในช่วงสงครามกาซ่าเมื่อไม่นานนี้ ชาวอินเดียจำนวนมากบนหน้าบัญชีโซเชียลมีเดียก็ทำการขยายเสียงให้กับวาทกรรมเรื่องเล่าที่สนับสนุนอิสราเอล

ทำไมถึงมีชาวอินเดียถึงสนับสนุนอิสราเอลจำนวนมาก? ทั้งๆ ที่ประเทศอินเดียยุคหลังเป็นอิสระจากอาณานิคมอังกฤษใหม่ๆ พวกเขาได้ให้การสนับสนุนปาเลสไตน์มาก่อน เพราะในตอนนั้นพรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรคเอียงซ้ายเชื่อในเรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแบบยุคหลังอาณานิคม อินเดียไม่ได้ลงคะแนนให้กับแผนการแบ่งเขตแดนของสหประชาชาติในปี 2490 ที่นำไปสู่การสร้างรัฐอิสราเอลด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าอินเดียจะให้การยอมรับรัฐอิสราเอลในปี 2493 ก็ตาม ก่อนที่ต่อมาอินเดียจะดำเนินความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติกับอิสราเอลในปี 2535 แต่ทั้งนี้อินเดียก็ยังเป็นประเทศแรกที่นอกเหนือจากประเทศอาหรับที่ให้การยอมรับรัฐปาเลสไตน์ในปี 2531 ด้วย

เมื่อมองย้อนไปแล้ว การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่มีแรงจูงใจด้านผลประโยชน์ของชาติเสมอไป แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์มากกว่า และเมื่อพิจารณาจากการที่อินเดียกับอิสราเอลมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว มันก็เป็นเรื่องน่าคิดว่าแล้วประชาชนชาวอินเดียส่วนใหญ่มีอุดมการณ์แบบเดียวกันนี้หรือไม่

พิลลาลามาร์รี มองว่ามีปัจจัยหลักๆ 3 ประการที่ทำให้เกิดความรู้สึกสนับสนุนอิสราเอลในหมู่ชาวอินเดียเพิ่มมากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่หนึ่งคือ สิ่งที่ไปไกลยิ่งกว่าการเมืองแบบฝ่ายขวา มันคือการที่ในอินเดียมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับอิสราเอลในเรื่องที่ถูกโจมตีจากการก่อการร้าย ทั้งอินเดียและอิสราเอลต่างก็ประสบความเสียหายอย่างหนักจากการก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามผู้มักจะได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ ซึ่งในกรณีของอินเดียคือปากีสถาน ส่วนในกรณีของอิสราเอลคืออิหร่าน และด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันทำให้ทั้งสองประเทศนี้มีจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อการก่อการร้ายและให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติ จุดที่เป็นหลักไมล์สำคัญสำหรับความสัมพันธ์อินเดีย-อิสราเอลคือการที่อิสราเอลจัดหาอาวุธให้กับกองกำลังของอินเดียในการสู้รบกับปากีสถานช่วงสงครามคาร์กิลในปี 2542

การที่อินเดียและอิสราเอลมีมุมมองด้านความมั่นคงไปในทางเดียวกันนี้ เป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยให้เกิดปัจจัยที่สอง ในเรื่องการทำให้ชาวอินเดียสนับสนุนอิสราเอลเกิดง่ายขึ้น คือ ปัจจัยด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประชาชนสองประเทศ

หลังสงครามเย็น อินเดียและอิสราเอลได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างราบรื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงื่อนไขทางการเมืองของอินเดียไม่ต้องออกตัวส่งสัญญาณสนับสนุนประเทศมุสลิมหลังยุคอาณานิคมแบบเดิมหรือนำประเด็นปากีสถานมาใช้เรียกเสียงสนับสนุนจากชาวมุสลิมในประเทศตัวเองอีกต่อไป

ผลจากความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างอิสราเอลกับอินเดียนี้เอง ทำให้เกิดปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้านที่ดึงดูดอินเดียและอิสราเอลให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ทั้งสองประเทศต่างก็มีการค้าขายแลกเปลี่ยนที่เฟื่องฟู และอุตสาหกรรมการทหารของอินเดียก็สร้างสายสัมพันธ์กับอิสราเอลแน่นแฟ้นมากขึ้น อินเดียเป็นผู้ซื้ออาวุธของอิสราเอลรายใหญ่ที่สุด ซึ่งมีความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงของชาติ นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ร้อยละ 42.1 หรือก็คือเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกอาวุธของอิสราเอลคือการส่งออกไปที่อินเดีย นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมาอินเดียก็กลายเป็นผู้เข้าร่วมกลุ่ม I2U2 ที่ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ อินเดีย, อิสราเอล, สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายคือการสร้างเส้นทางการขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับยุโรปผ่านทางอิสราเอล, ซาอุดิอาระเบีย และ UAE

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์แบบนี้ของอินเดียก็ไม่ได้มีต่ออิสราเอลแต่เพียงประเทศเดียว อินเดียได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการทหาร, การค้า, การเมือง และทางสังคม กับประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างคือ ญี่ปุ่นกับฝรั่งเศส พิลลาลามาร์รีมองว่า สิ่งที่ทำให้อินเดียชื่นชอบอิสราเอลในทุกวันนี้น่าจะเป็นเรื่องแบบอย่างทางการเมืองและอุดมการณ์ที่ฝ่ายขวาฮินดูต้องการเอาอย่างอิสราเอลมากกว่า

ในอดีต กลุ่มชาตินิยมอินเดียจำนวนมากทั้งฝ่ายโลกวิสัยและศาสนาฮินดูต่างก็ชื่นชมญี่ปุ่นในแบบจักรวรรดิ โดยมองว่าญี่ปุ่นแบบจักรวรรดินั้นมีการจัดการดี มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นรัฐที่เน้นกลุ่มชาติพันธุ์เดี่ยว ทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นกลายเป็นแบบอย่างของนักชาตินิยมเอเชีย ไม่ว่าจะ อินเดีย, จีน, ไทย หรืออินโดนีเซีย ในช่วงยุคสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกประเทศแรกในเอเชียที่ปรับตัวเป็นอุตสาหกรรมได้สำเร็จและต้านทานอำนาจอาณานิคมยุโรปได้ในช่วงยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนักชาตินิยมที่ต้องการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับวัฒนธรรมและการทหารของประเทศเมื่อเทียบกับต่างชาติ

ในอินเดียยุคสมัยใหม่ มีการมองอิสราเอลว่าเป็นแบบอย่างให้กับชาตินิยมฮินดู อิสราเอลคือสิ่งที่อินเดียจินตนาการจะเป็น และสิ่งที่นักชาตินิยมทั่วโลกจินตนาการอยากจะให้ประเทศตัวเองเป็น คือรัฐที่ถูกวางกรอบระเบียบอย่างดีที่ยืนหยัดต่อต้านอริศัตรู มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทางกฎหมาย แต่ก็ยังคงความเป็นประเพณีนิยมไปในเวลาเดียวกัน รวมถึงการสนับสนุนสังคมที่จัดให้กลุ่มวัฒนธรรมที่มีอำนาจนำและบรรทัดฐานของกลุ่มๆ นี้ให้ไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ดีที่สุด แล้วให้ชนกลุ่มน้อยตกอยู่ภายใต้การบริหารปกครอง

พิลลาลามาร์รีมองว่า ไม่ว่าจะกลุ่มไซออนนิสต์สายโลกวิสัยหรือกลุ่มชาตินิยมจัดฮินดูที่เคร่งศาสนามากๆ ก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าจะให้กลายเป็นรัฐศาสนาเทวนิยม พวกนี้มีอยู่น้อยมาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขาต้องการเปลี่ยนอินเดียจากเดิมที่มีความเป็นกลางระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ศาสนาต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ให้กลายเป็นแบบเดียวกับโมเดลของรัฐชาวยิวที่ให้สิทธิพลเมืองเท่าเทียมกับทุกกลุ่มแต่จะมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการปฏิบัติดีเป็นพิเศษ

นอกจากเรื่องอุดมการณ์ที่ไปกันได้แล้ว นักชาตินิยมฮินดูในอินเดียยังมองเห็นว่าอินเดียกับอิสราเอลมีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน คือการที่ทั้งสองประเทศต่างก็เป็นแหล่งกำเนิดของกลุ่มศาสนา (หรือบางคนก็อาจจะเรียกว่าเป็นชาติพันธุ์ศาสนา) ที่ไม่มีบ้านเกิดเมืองนอนที่อื่น ต่างจากชาวอาหรับมุสลิมหรือชาวคริสต์ตะวันตก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ประเทศใกล้เคียงต้องการแย่งชิงดินแดนของพวกเขาหรือไม่เช่นนั้นก็ทำลายพวกเขาให้สิ้นซาก ปัจจัยสุดท้ายคือการที่กลุ่มชาตินิยมมองว่าทั้งยิวและฮินดูต่างก็เป็นกลุ่มที่พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วก่อนที่จะได้มันมาในรูปของรัฐตัวเองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะโดยการเป็นเอกราชของอินเดียในปี 2490 หรือการก่อตั้งรัฐอิสราเอลในปี 2491

พูดสั้นๆ คือปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวชาตินิยมอินเดียชื่นชอบอิสราเอลเป็นเพราะอิสราเอลเป็นแบบอย่างของรัฐชาติพันธุ์เชิงเดี่ยวในยุคนี้ มีทั้งวัฒนธรรมโบราณ ความมั่งคั่งของยุุคสมัยใหม่ กำลังทางเทคโนโลยี และความสำเร็จด้านการทหาร สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ฝ่ายขวาฮินดูชื่นชม นอกจากเรื่องอุดมการณ์แล้วอินเดียมีความเห็นใจอิสราเอลในเรื่องการต่อกรกับการก่อการร้าย อีกทั้งการติดต่อค้าขายระหว่างผู้คนชาวอินเดียกับชาวอิสราเอลในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาก็ทำให้สังคมของทั้งสองประเทศนี้ใกล้ชิดกันมากขึ้น


เรียบเรียงจาก
Why is India’s Hindu Right Pro-Israel?, The Diplomat, 24-06-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net