Skip to main content
sharethis

ประชาไทชวนคุย “เข็มทอง” อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประเมินสถานการณ์พรรคก้าวไกล ทำไมก้าวไกลเลือกเน้นสู้เรื่องกระบวนการพิจารณาของ กกต.มากกว่าเนื้อหาคดี? แล้วพรรคจะถูกยุบหรือไม่? ถ้าก้าวไกลถูกยุบจะเกิดอะไรขึ้นต่อ?

  • กระบวนการทางกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ตามหลักนิติรัฐจะต้องมีความชอบธรรมทั้งในส่วนของ “กระบวนการ” และ “ผลลัพธ์” หากมีความผิดพลาดในส่วนของกระบวนการไต่สวนคดีศาลก็ควรจะยกคำร้องของ กกต.
  • อย่างไรก็ตาม คดียุบพรรคก้าวไกลนี้ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเพราะเป็นเพียงการเสนอให้แก้ไขกฎหมายตามกระบวนการทางรัฐสภาเท่านั้น
  • ถ้าศาลตัดสินไม่ยุบพรรคบรรยากาศทางการเมืองคงดีขึ้นและภาคเศรษฐกิจก็คงอยากเห็นสิ่งนี้
  • แต่ถ้าศาลตัดสินให้ยุบพรรคด้วยสภาวะที่ภาคประชาชนอ่อนพลังก็จะไม่เกิดชุมนุมขนาดใหญ่แบบปี 63-64 แล้วและฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็เห็นแล้วว่าการใช้อำนาจปราบปรามก็ไม่ได้ส่งผลร้ายต่อรัฐบาลแต่สยบฝ่ายต่อต้านได้

ในสถานการณ์ที่ผู้คนกำลังลุ้นชะตากรรมของพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.นี้ว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้จะรอดพ้นจากการถูกยุบพรรคหรือไม่ เพียงเพราะหาเสียงว่าพรรคมีนโยบายจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามกลไกรัฐสภา แต่ก็ถูกกล่าวหาว่ากำลังจะล้มล้างการปกครอง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ให้สัมภาษณ์ประเมินสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะมีคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลจากข้อกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองเพราะนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เข็มทองมีข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาคดีนี้ว่า คือจะมองว่าคดียุบพรรคของก้าวไกลนี้เป็นคดีที่ต่อเนื่องมาจากคดีที่ศาลมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 สั่งพรรคก้าวไกลหยุดการกระทำหรือจะมองว่าเป็นคนละคดีกันแยกจากกัน  และเรื่องนี้เป็นมุมที่พรรคก้าวไกลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มองต่างกันอยู่

เขาอธิบายว่า กกต.จะมองว่าทั้งสองคดีเป็นคดีต่อเนื่องกันจึงสามารถนำผลคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนมายื่นต่อศาลไปได้เลย ในขณะที่พรรคก้าวไกลก็ชี้ว่าในเมื่อมีมาตรา 92 และ 93 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ประกอบกับมีระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ดังนั้นการไต่สวนก็ต้องทำไปตามระเบียบนั้นให้ถูกต้องครบถ้วนตามกระบวนการด้วย

เข็มทองกล่าวว่า “กระบวนการ”  ในการพิจารณาทางกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ที่หากกระบวนการไต่สวนการรับฟังพยานหลักฐานมีความผิดพลาดศาลก็ต้องยกคำร้องไม่ว่าการกระทำจะผิดหรือไม่ทำผิดต้อง ถือว่ากระบวนการทั้งหมดนั้นเสียไป เพราะตามหลักนิติรัฐนิติธรรมกระบวนการกับผลลัพธ์ต้องมีความชอบธรรมทั้งคู่ พรรคก้าวไกลก็จะบอกว่า กกต.ทำคดีนี้โดยกระบวนการไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะกระบวนการไต่สวนไม่ได้รับฟังทั้งสองฝ่าย ไม่ตัดสินให้รอบคอบ

เข็มทองยกตัวอย่างถึงคดีตัวอย่างที่นับเป็นบรรทัดฐานในเรื่องกระบวนการได้ คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกพาดพิงว่าพรรครับบริจาคจากบริษัททีพีไอโพลีนและไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองตามวัตถุประสงค์ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกคำร้องด้วยเหตุเรื่องกระบวนการพิจารณาคือ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลเกินระยะเวลา 15 วันตามกฎหมายกำหนด

“น่าจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่รอดจากคำร้องยุบพรรค ก็จะเห็นว่าการยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ศาลก็ไม่ได้ยกเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ศาลเพียงแค่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการพิจารณาของ กกต.ไม่ชอบ ไปพลาดเรื่องกำหนดเวลา คำร้องนี้ก็เสียไป”

อย่างไรก็ตาม เข็มทองก็มองว่าคดีรัฐธรรมนูญจะมองในมุมทางกฎหมายก็ได้หรือว่าจะมองจากมุมทางการเมืองก็ได้เพราะมีมิตินี้ซ้อนอยู่ด้วย

ในส่วนประเด็นทางกฎหมายพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้เสียเวลาไปกับการเถียงว่าการแก้มาตรา 112 ทำได้หรือไม่ได้เพราะจบไปแล้วจากคำวินิจฉัยในคดีก่อน จึงเปลี่ยนมาให้ความสำคัญในส่วนของกระบวนการพิจารณาคำร้องที่อาจจะเข้าใจได้ยากกว่าเพราะเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมายที่ว่าควรจะมีกระบวนการอย่างหรือตีความกฎหมายอย่างไร

อีกทั้งทิศทางการสู้คดีนี้ก็มีความเป็นการเมืองอยู่ด้วย เช่น การเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในคดีอย่างสุรพล นิติไกรพจน์ ที่ขณะนี้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.อยู่ด้วย

เข็มทองมองว่าสุรพลถือเป็นคนที่มีจุดยืนทางการเมืองเป็นอนุรักษ์นิยม และยังเคยเป็นทั้งคณบดีคณะนิติศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้นอกจากน้ำหนักของเหตุผลในถ้อยคำที่ให้ต่อศาลแล้ว น้ำหนักของสถานะตัวผู้พูดเองก็ทำให้ศาลต้องคิดเหมือนกัน เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนในขณะนี้เองก็เป็นบุคลากรของ มธ.ด้วย ทั้ง อุดม รัฐอมฤติที่เคยคณบดีคณะนิติศาสตร์ และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก็เคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์

อีกทั้งคดีนี้ไม่ควรเป็นคดียุบพรรคมาแต่ต้นเพราะการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ตามช่องทางนิติบัญญัติไม่ใช่การล้มล้างการปกครองแต่บรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญไทยก็ไปยึดถือการแก้กฎหมายว่าเป็นการล้มล้าง แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ยังเคยยุบพรรคด้วยเรื่องเล็กน้อยกว่าเช่น ทำให้การกู้เงินในพรรคเป็นรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เข็มทองจึงเห็นว่าถ้าเป็นเรื่องทางกฎหมายตามหลักการจริงๆ  ก็ไม่มีเหตุให้ยุบพรรคได้ หรือถ้าเป็นเรื่องเทคนิคกฎหมายก็มีบรรทัดฐานอยู่ในคดีประชาธิปัตย์

“แต่ในทางการเมืองเราก็ไม่รู้ เอาการเมืองไปวิเคราะห์ศาลมันเมคเซนส์มั้ย แต่คนก็คิดว่ามันเมคเซนส์กว่าวิเคราะห์ทางกฎหมายเพราะศาลหมดสภาพความเป็นองค์กรทางตุลาการไปแล้วกลายเป็นองค์กรทางการเมืองแบบหนึ่ง เพราะมองโดยคำนวนทางการเมืองมากกว่าไปคิดทางกฎหมายแล้ว เป็นอะไรที่น่ากังวลอยู่”

ยุบหรือไม่ยุบ?

เขาประเมินว่า ถ้าศาลตัดสินไม่ยุบพรรค บรรยากาศทางการเมืองน่าจะดีขึ้นและทำให้เห็นว่าศาลสามารถตัดสินให้อยู่ในหลักการหรือกฎเกณฑ์ได้ แล้วก็บ้านเมืองเราสามารถประนีประนอมและรับความแตกต่างทางอุดมการณ์ได้ และภาคธุรกิจก็อาจจะต้องการให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้นอยู่แล้วด้วย

อีกทั้ง เข็มทองยังเห็นว่าศาลยังมีทางเลือกที่จะตัดสินไม่ยุบพรรคก้าวไกลและไม่ใช่เรื่องยากสำหรับศาล โดยเขายกตัวอย่างคดีซุกหุ้นของทักษิณ ชินวัตรเทียบกับคดีของพรรคก้าวไกลที่ศาลก็สามารถวินิจฉัยไม่ยุบพรรคได้เพราะก็เป็นเพียงการเสนอแก้กฎหมายตามกระบวนการของรัฐสภา

“ก็คงมีคำถามว่าครึ่งปีที่แล้วเพิ่งตัดสินไปเองว่าห้ามแก้ไขเป็นการล้มล้าง แต่ถ้าวันนี้จะตัดสินไม่ยุบพรรค เอาจริงๆ คนก็ไม่ไปเที่ยวถามหรอกว่าทำไมครึ่งปีที่แล้วคุณตัดสินมาแบบนี้แล้วมาเปลี่ยนใจ เพราะถ้าคุณยกมันคือยกก็จบ ไม่ต้องมานั่งกังวลอะไรอย่างนั้น คุณ(ศาล) เปลี่ยนบรรทัดฐานอะไรมาเยอะแยะในชีวิต คุณจะมากังวลอะไรกับบรรทัดฐานในคดีนี้คดีเดียวซึ่งคุณก็รู้อยู่แล้วว่าบรรทัดฐานมันผิด”

อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลจะตัดสินให้ยุบพรรค เข็มทองก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่คนเตรียมใจอยู่แล้ว ถ้าผลจะออกมาเช่นนี้คนก็ไม่รู้สึกแปลกใจ ไม่มีความหวัง และจะไม่เกิดความรุนแรงด้วย

“สิ่งที่ยากที่สุดที่อำนาจนิยมไทยเจอก็คือการประท้วงปี 63-64 แต่เมื่อตัดสินใจใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมจริงๆ ก็พบว่ามันไม่ได้เป็นผลร้ายกับรัฐบาล ในทางตรงกันข้ามสามารถสยบการชุมนุมได้อย่างเด็ดขาดราบคาบ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรที่ฝ่ายอำนาจนิยมไม่กล้าทำ”

เข็มทองสะท้อนบรรยากาศตรงนี้ว่า พลังภาคประชาชนก็อ่อนแรงลงมาก และเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าการชุมนุมขนาดใหญ่ที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้เพราะคนกลุ่มต่างๆ ทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่รักประชาธิปไตย ไปจนถึงกลุ่มคนรักทักษิณและพรรคเพื่อไทยด้วยที่เรียกรวมกันง่ายๆ ว่า “พลังของฝ่ายค้าน” สามารถรวมตัวกันได้ แต่ภาพแบบนี้ไม่มีแล้วในตอนนี้

“การชุมนุมใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งที่เขากลัวที่สุดมันไม่มี แต่ในทางตรงกันข้ามการยุบพรรคเป็นเครื่องมือที่ทำให้ฝ่ายค้านเดิมยอมสยบอำนาจอย่างได้ผล”

เข็มทองยกตัวอย่างของการใช้เครื่องมือยุบพรรคแล้วได้ผลก็คือ กรณีของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนที่ถูกยุบไปแล้วหลังจากนั้นมาพรรคเพื่อไทยก็ลดเพดานลงแล้วก็ไปตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แม้ว่าอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย แต่เรื่องการยุบพรรคก็เป็นปัจจัยหลักที่ใช้เป็นเหตุผลให้กับการลดเพดานลง

ทั้งนี้เมื่อถามว่า การเกิดชุมนุมใหญ่ตอนปี 63 ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและพรรคก้าวไกลก็ยังได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมามากกว่าตอนพรรคอนาคตใหม่ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คิดว่าพลังในการต่อต้านจะลดน้อยลง

เข็มทองเห็นว่ามีหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งก็คือ บรรยากาศแบบอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ที่นอกจากการใช้กฎหมายและคดีความต่างๆ มาปราบปรามความเห็นต่าง ยังมีการปรับตัวใช้วิธีอื่นๆ อย่างการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือการสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ที่กำลังรุมเร้าคนก็ทำให้พลังของคนที่จะออกมาต่อต้านหรือออกมาประท้วงลดลงไปและจะเข้าสู่สภาวะ “ซึม” ยาว ที่แม้จะไม่มีความเสี่ยงเกิดความรุนแรงทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันการเมืองไทยก็จะแย่ลงไปกว่าเดิม

ม.112 จะพูดถึงยากขึ้น?

เข็มทองมองว่าถ้าศาลตัดสินยุบพรรค สถานการณ์เรื่องมาตรา 112 คงไม่ต่างจากตอนนี้ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นเรื่องห้ามพูดไปแล้ว เขายกตัวอย่างว่า กระทั่งการประชุมของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ คนก็ไม่กล้าพูดชื่อมาตรา 112 ตรงๆ อยู่แล้ว แต่ไปเรียกว่าคดีที่มีความอ่อนไหวแทน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะกล้าคิดถึงเรื่องนี้หรือไปแตะเรื่องนี้จนกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว

แต่ถึงศาลจะตัดสินไม่ยุบพรรคก้าวไกล การพูดเรื่องมาตรา 112 ก็อาจจะไม่ได้ง่ายขึ้นเพราะมีคำวินิจฉัยเดิมอยู่แล้วว่าทำไม่ได้ก็จะยากเหมือนเดิมอย่างเช่นการรณรงค์ก็จะทำไม่ได้ แต่ความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองก็คงน้อยลง สถานการณ์ของเรื่องนี้ก็จะอยู่ที่เดิมเพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังครองอำนาจอยู่ดี การไม่ยุบพรรคก้าวไกลก็ไม่กระทบต่อการครองอำนาจของคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีอะไรต่างจากที่เป็นอยู่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net