Skip to main content
sharethis

ในวันพรุ่งนี้ (7 ส.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดพิจารณาวินิจฉัยและลงมติ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลให้ยุบพรรคก้าวไกล

ประชาไทชวนผู้อ่านย้อนดูคดียุบพรรคการเมืองในรอบเกือบ 20 ปี ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่

โดยในคดียุบพรรคการเมืองแต่ละครั้ง มีความแตกต่างตรงที่รายละเอียดของกฎหมายที่จะส่งผลต่อสิทธิทางการเมืองของอดีตกรรมการบริหารพรรค

ยุบไทยรักไทย

  • 30 พ.ค. 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน นาน 5 ปี หรือที่เรียกว่า "บ้านเลขที่ 111"
  • คดีนี้สีบเนื่องมาจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียน กกต.ว่า พรรคไทยรักไทย จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก อย่างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเล็กเมื่อปี 2549
  • โดย กกต.เห็นว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยกระทำความผิด จึงส่งอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค แต่ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ 9 คน เพื่อพิจารณาคดี
  • คำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย เป็นไปตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 เนื่องจากหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ยังให้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ต่อไป
  • โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้นเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ที่มา: ไทยพีบีเอส

ยุบพลังประชาชน

  • 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบ 3 พรรคการเมือง คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ด้วยข้อกล่าวหากระทำการที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค จำนวน 109 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หรือที่เรียกว่า "บ้านเลขที่ 109"
  • คดีนี้เป็นผลมาจากการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมากให้ใบแดง ยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เนื่องจากพบได้ว่ามีการกระทำที่น่าเชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
  • เช่นเดียวกับ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ถูก กกต.มีมติเสียงข้างมากส่งคำร้องไปยังอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคด้วย เพราะมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย
  • คำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งกำหนดไว้ว่า เมื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี เช่นเดียวกับกรณีของพรรคไทยรักไทย
  • คดีนี้ส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากการตัดสิทธิทางการเมือง
  • ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็ย้ายขั้วเปลี่ยนข้างไปเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจำนวน ส.ส. ในสภาเป็นอันดับรองลงมา ส่งผลให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 แทน
  • สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชน นำมาสู่การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2552 ที่เรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

ที่มา: เดอะสแตนดาร์ด, ไทยพีบีเอส

ยุบไทยรักษาชาติ

  • 7 มี.ค. 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
  • คดีนี้สืบเนื่องจาก กกต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ในการสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562
  • โดย กกต. ยกเหตุผลตามมาตรา 92 (2) แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ว่าการกระทำนี้อาจเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • คำตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติเกิดขึ้นในเวลาที่เหลืออยู่เพียง 17 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 โดยถือเป็นพรรคการเมืองแห่งที่ 3 ของฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกสั่งยุบ เป็นผลให้เขตเลือกตั้ง 100 เขต ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. ในนามของพรรคเพื่อไทย และไทยรักษาชาติเลย
  • ต่อมาจึงเกิดปรากฎการณ์ ผู้สมัคร สส.หลายคนจากพรรคไทยรักษาชาติ ประกาศตัวไปสนับสนุนและช่วยเหลือพรรคอื่นหาเสียง เพื่อย้ายฐานเสียงไปที่พรรคพันธมิตรที่อยู่ในขั้วเดียวกัน เนื่องจากกติกาในการเลือกตั้งปี 2562 กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยให้ประชาชนกากบาทเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเท่านั้น ประชาชนไม่มีสิทธิกากบาทเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบผ่านระบบบัญชีรายชื่อ

ที่มา: พีพีทีวี, บีบีซีไทย, ไอลอว์, ไทยพีบีเอส

ยุบอนาคตใหม่

  • 21 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จำนวน 16 คน โดยชี้ว่าเงินกู้ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ที่ได้ปล่อยให้กับพรรค 191.2 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามปกติการค้า ถือเป็น “ผลประโยชน์อื่นใด” ซึ่งพรรครับทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ตาม ม.172 เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสั่งให้ยุบพรรคตาม ม.92
  • คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณี ธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปล่อยเงินกู้ให้กับพรรคเพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 
  • สำหรับคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ว่า เมื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี และห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นเวลา 10 ปี
  • กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิจำนวน 16 คน ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค และ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ฯลฯ
  • แต่ในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ มีความแตกต่างจากพรรคอื่นๆ ที่เคยถูกยุบ ในเรื่องของการเพิกถอนสิทธิฯ เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้แคบลงกำหนดเพียงแค่ ”เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง”
  • ดังนั้นกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จะยังสามารถเคลื่อนไหวทางการเมือง แสดงความเห็นทางการเมือง ขึ้นเวทีปราศรัยได้เช่นเดิม เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้
  • พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคที่ชูจุดขายเรื่องการเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยในหลากหลายประเด็น อีกทั้งยังมีจุดเด่นเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานเสียง สิ่งนี้ทำให้ความนิยมของพรรคพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก กลุ่มคนที่เบื่อการเมืองแบบเดิมๆ และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต่อมาเมื่อมีการยุบพรรค คนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของคลื่นการชุมนุมประท้วงในปี 2563

    ที่มา: ไอลอว์, เดอะสแตนดาร์ด, เดอะรีพอร์ตเตอร์ 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net