Skip to main content
sharethis

ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสืบพยานคดี “19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร” ต่อหลังเคยต้องเลื่อนเพราะจำเลยยืนยันศาลต้องออกหมายเรียกหลักฐานเอกสารข้อมูลเดินทางของ ร.10 “สมยศ” ย้ำจำเป็นต้องใช้สู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ผู้ปราศรัยพูดเป็นความจริงหรือไม่

7 ส.ค. 67 ที่ศาลอาญารัชดา สมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 2563 เดินทางมาร่วมตามนัดสืบพยานในคดีที่พวกเขาตกเป็นจำเลยจากการรวมชุมนุม “19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร” ที่สนามหลวงเมื่อ 19 ก.ย.2563  โดยในคดีนี้อัยการตั้งข้อหาจำเลยบางส่วนด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และบางส่วนด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116

สมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ถูกตั้งข้อหาทั้ง มาตรา 112 และ มาตรา 116 กล่าวว่า คดีนี้ผู้ปราศรัยส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องที่รัชกาลที่ 10 ไปประทับอยู่ที่เยอรมัน โดยทางฝ่ายโจทย์ได้ฟ้องว่าเป็นการพูดเท็จ ทางฝ่ายจำเลยจึงต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นความจริงและขอให้มีการออกหมายเรียกพยานเอกสารไปที่บริษัทการบินไทยเพื่อขอตารางการบิน

สมยศกล่าวต่อว่า เอกสารนี้ก็มีอยู่ในบัญชีพยานตั้งแต่แรกในวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลย ศาลจึงต้องออกหมายเรียกเอกสารชิ้นนี้เพื่อให้ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเขาได้ย้ำใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ยืนยันว่าศาลต้องออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่เราจะใช้ซักค้านพยานฝ่ายโจทย์ว่า ระหว่างที่พวกเขาทำกิจกรรมชุมนุมที่สนามหลวง ในวันที่ 19 - 20 ก.ย. 2563 นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 ประทับอยู่ที่ประเทศไทยหรือไม่

“เราจะไม่สามารถ สืบ ไต่สวน ซักค้านพยานได้เลย เนื่องจากฝ่ายโจทย์เค้ากล่าวหาว่าสิ่งที่เราปราศรัยนี้มันไม่ถูก ไม่เป็นความจริง ดังนั้นเราก็จึงต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง ในกรณีที่เรายังไม่ได้หมายพยานนั้น เบื้องต้นศาลได้อ้างว่า ถ้าเปิดเผยข้อมูล อาจกระทบและทำให้เสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร”

ประเด็นที่สอง เขาเสนอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ นำภา 1 ในจำเลยคดีนี้เนื่องจากการคุมขังอานนท์ทำให้อานนท์ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้

“ถ้าอานนท์ยังถูกคุมขังเช่นนี้จะหมายความว่าเป็นการตัดสินล่วงหน้าแล้วว่า อานนท์นั้นมีความผิดขัดกับหลักที่ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนผู้ต้องหานั้นบริสุทธิ์”

สำหรับการสืบพยานในคดีนี้ ศาลลงวันนัดสืบพยานต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงธันวาคมปีนี้ ได้แก่ วันที่ 7-9, 21-23, 28-30 ส.ค., 11-13, 25-27 ก.ย., 16-18, 29-30 ต.ค., 1, 6-8, 13-15, 20-22 พ.ย., 3-4, 11-13, 17-20 ธ.ค. 2567

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานถึงคดีนี้ว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 นักกิจกรรมและประชาชนเข้าร่วมชุมนุม “19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และสนามหลวง ภายหลังการชุมนุมตำรวจได้ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมรวมทั้งหมด 22 คน โดยมีทั้ง สน.ชนะสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีในหลายข้อหา

เบื้องต้นตำรวจออกหมายจับแกนนำและผู้ปราศรัยรวม 7 คน ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอีกหลายข้อหาเช่น ทำให้โบราณสถานเสียหาย ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอื่นๆ แต่ภายหลังพวกเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมด้วยมาตรา 112 เพิ่มหลังเหตุการณ์วันที่ 17 พ.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม อีกท้งเจ้าหน้าที่ยังดำเนินคดีเพิ่มเติมกับผู้ร่วมปราศรัยและชุมนุมเพิ่มอีก 15 คนด้วยข้อหาตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ

ทั้งนี้ในการต่อสู้คดีของทางฝ่ายจำเลยได้ระบุในบัญชีพยานหลักฐานที่จะใช้สืบว่าต้องการให้เรียกเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ผู้ปราศรัยบางส่วนมีการกล่าวถึง รวมถึงบันทึกสืบพยานและคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องรัชกาลที่ 7 ให้ต้องชดใช้เงินคืนแก่กระทรวง แต่ศาลแพ่งไม่ส่งเอกสารให้

อีกทั้งยังมีเอกสารอีก 4 ฉบับ ที่ฝ่ายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกอีกแต่ศาลไม่ออกให้ ได้แก่ เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และของบริษัทการบินไทย, รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณราชการส่วนพระองค์ และ รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ทางฝ่ายจำเลยระบุเหตุที่ต้องการเอกสารหลักฐานเหล่านี้ว่า ทางฝ่ายโจทก์บรรยายฟ้องว่า คำปราศรัยของจำเลยแต่ละคนในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเท็จ ทำให้ฝ่ายจำเลยต้องการพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง แม้ว่ามาตรา 112 จะไม่มีข้อยกเว้นความผิดหากกล่าวความจริงหรือเป็นประโยชน์สาธารณะก็ตาม แต่ในคดีอัยการฟ้องข้อหาตามมาตรา 116 ด้วย ถ้าหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตก็จะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา

จำเลยในคดีนี้ทั้ง  22 คน ในส่วนที่มีเพียงข้อหามาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ จำนวน 15 คน ได้แก่  ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ณัทพัช อัคฮาด, ธนชัย เอื้อฤาชา, ธนพ อัมพะวัติ, ธานี สะสม, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, สิทธิทัศน์ จินดารัตน์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, ณัฐชนน ไพโรจน์, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, อะดิศักดิ์ สมบัติคำ, จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์ และแอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์

ส่วนจำเลย 7 คนที่อัยการฟ้องมาตรา 112 ร่วมกับ มาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ คือ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net