Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดปัตตานีนัดสอบคำให้การแม่ของลูกที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรม และ“อัสมาดี” สื่ออิสระที่ไปทำข่าวแต่ถูกกล่าวหาขัดขวางเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้างานกรณีคนแม่ไปรับศพลูกไปทำพิธีทางศาสนาตามหลักอิสลาม ทั้งคู่ให้การปฏิเสธ อัสมาดียันไปทำงานตามหน้าที่และเสรีภาพของสื่อ

วานนี้ (2 ก.ย. 67) Protection International เผยแพร่ข่าว ศาลจังหวัดปัตตานี นัดพิจารณาคดีของแมะดะ สะนิ  มารดาของฮัยซัม สมาแฮ ที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญในคดีความมั่นคง และอัสมาดี บือเฮง สื่ออิสระ จากกรณีที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยนัดครั้งนี้เป็นการสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐาน

อัยการเป็นโจทย์ฟ้องทั้งสองคนในข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามมาตรา  83, 138, 140 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ. 2519

โจทก์อ้างว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 แมะดะ สะนิ มาดาของฮัยซัม สมาแฮ ที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ และอัสมาดี บือเฮง ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่จากกรณีการนำศพฮัยซัม สมาแฮง ออกจากโรงพยาบาลปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการพิสูจน์บุคคล พิมพ์ลายนิ้วมือของศพเพื่อประกอบการสืบสวน เนื่องจากกรณีดังกล่าวนายฮัยซัม สมาแฮ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตรกรรมและเป็นถูกต้องหาคดีความความมั่นคง

หลังเสร็จการพิจารณาคดี อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องและขอใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้คดีต่อไป  หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 11 – 13 ธ.ค.2567 

ทนายความกล่าวต่อว่า คดีนี้เกิดจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมฮัยซัมซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจากนั้นนำศพโรงพยาบาลปัตตานีโดยอ้างว่าเพื่อชันสูตรพลิกศพ จึงเกิดการแย่งศพเพื่อที่จะนำไปสู่การทำพิธีทางศาสนาอิสลามตามหลักศาสนาที่กำหนดว่าจะต้องแล้วเสร็จใน 24 ชั่วโมง

อธิวัฒน์กล่าวว่า แมะดะ สะนิ จำเลยที่หนึ่งเป็นแม่ของผู้เสียชีวิตจากการที่ถูกวิสามัญฯ แต่ยังถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่อีก ส่วนตัวมองว่ายิ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของผู้สูญเสีย ส่วนอัสมาดีจำเลยที่สองก็เป็นสื่อมวลชนที่เข้าไปทำข่าวติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สามารถต้องกระทำได้เพื่อรวบรวมสถิติในกรณีวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นตามปกติในการทำงานอยู่แล้ว  

“กรณีดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริงที่คุยกันไปทั้งหมดเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอยากชวนทุกคนมาจับตามองร่วมกันว่าปลายทางของคดีนี้กระบวนการยุติธรรมจะสามารถที่จะคืนความยุติธรรมให้กับจำเลยทั้งสองได้หรือไม่อย่างไร ประเด็นนี้จะกลายเป็นคดีที่จะสร้างบรรทัดฐานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรณีของแม่ที่เป็นแม่ของผู้เสียชีวิตแล้วไปเอาศพลูกของตนเองไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจะเป็นอย่างไร และเสรีภาพของสื่อมวลชนในการที่จะเข้าไปทำข่าวคนที่จะไปสังเกตุการณ์เหล่านี้ควรที่จะได้รับการคุ้มครองหรือไม่อย่างไร โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะคืนความยุติธรรมให้กับแม่ที่เข้าไปรับศพลูกชายและกับคนที่เข้าไปสังเกตุการณ์รวบรวมเหตุการณ์วิสามัญที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดนี้ได้”อธิวัฒน์ระบุ

อัสมาดี บือเฮง สื่ออิสระติดตามประเด็นเก็บข้อมูลสถิติบุคคลที่ถูกวิสามัญฆาตรกรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วันนี้ตนได้เข้าไปยืนยันถึงเสรีภาพในการแสดงออกเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนกับศาล และยืนยันว่างานที่เขาไปทำไม่ผิด อีกทั้งในข้อเท็จจริงเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการไปรับศพ หรือตามที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าเป็นการแย่งศพ เขาจึงยืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องเพื่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

อัสมาดี บือเฮง

สื่ออิสระรายนี้กล่าวอีกว่าคดีลักษณะนี้ยังมีอีกคดีที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่นถูกดำเนินคดีจากการทำงาน เขาเห็นว่าคดีลักษณะนี้สร้างความกลัวต่อคนในพื้นที่ทำให้คนไม่กล้าไปค้นหาข้อเท็จจริง คนทำงานข่าวสิ่งที่เขาทำคือนำเสนอข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็แล้วแต่ให้สาธารณะได้เห็นก่อน เขามองว่าเรื่องนี้สำคัญต่อภาพใหญ่ในทางการเมืองดังนั้นการใช้กฎหมายจัดการหรือกลั่นแกล้งบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคงถือเป็นการทำลายพื้นที่สาธารณะ สร้างความกลัวให้กับชาวบ้านต่อเรื่องสิทธิในการแสดงออก 

อัสมาดียังแสดงความกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว แม่ ภรรยา และบ้านของเขาซึ่งเป็นร้านน้ำชาที่มีทั้งชาวพุทธและมุสลิมมาพบปะกัน เมื่อเกิดคดีแล้วถ้าชาวบ้านฟังเผินๆ ไม่รู้ว่าคดีที่เขาโดนคืออะไรแต่เมื่อมีคดีก็ถูกเข้าใจว่าเป็นคนไม่ดีของรัฐ ทำให้ภาพลักษณ์ของครอบครัวไม่ดีไปด้วย และยังทำลายความสัมพันธ์ที่มีอยู่กว่าคนอื่นจะเข้าใจว่าเขาโดนคดีเพราะอะไรก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเยียวยาความสัมพันธ์

“หลักในการทำงานของผมและเป้าหมายที่ผมเขียนผมระบุชัดเจนในโปรไฟล์ว่า เขียนเพื่อสิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเองและการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของชุมชน ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนคือความขัดแย้งที่ผ่านมามันทำลายความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนด้วยกันไม่ใช่แค่พุทธกับมุสลิม มุสลิมกับมุสลิม มลายูกับมลายูก็ทำลายความสัมพันธ์กันด้วย เพราะความรุนแรงมันหยั่งรากลึกทำให้คนหวาดระแวงกัน ผมเลยคิดว่างานเขียนมันจะช่วยทลายกำแพงตรงนี้” อัสมาดีกล่าว

สื่ออิสระรายนี้มองว่าถ้าฝ่ายรัฐได้อ่านก็จะเข้าใจว่าคนมุสลิมทำไมต้องจัดการศพให้เร็ว ทำไมแม่ต้องไปรับศพลูกชาย ถ้าอ่านด้วยความเป็นมนุษย์เจ้าหน้าที่รัฐก็จะเข้าใจว่าบริบทตรงนี้สำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่ควรมาโกรธคนที่เขียนข้อเท็จจริง ถ้าสิ่งที่เขียนไม่ใช่ข้อเท็จจริงก็ต้องโต้แย้งงานเขียนไม่ใช่โต้แย้งด้วยการจัดการทางกฎหมาย

“ผมยังยืนยันว่าจะทำงานเหมือนเดิมความเสี่ยงความกังวลเราผมจะจัดระเบียบตนเองได้เพื่อทำความจริงให้ปรากฎต่อไป”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net